กัมพูชา - ชาติพันธุ์
จากข้อมูลในปีค.ศ.2013 แสดงให้เห็นว่ากัมพูชามีจำนวนประชากรทั้งสิ้นราว 15.57 ล้านคน (THE WORLD BANK, 2016) จำแนกเป็นสัดส่วนตามกลุ่มชาติพันธุ์หลักได้ 4 กลุ่ม คือ ชาวเขมรร้อยละ 90 ชาวเวียดนามร้อยละ5 ชาวจีนร้อยละ 1 และชาวจามบางส่วน (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:29) นอกนั้นคือสัดส่วนของชนกลุ่มน้อยทั้ง 19 กลุ่มซึ่งสามารถจำแนกกลุ่มตามตระกูลภาษาได้เป็น 2 ตระกูล คือ
1. Austro-Thai หรือ Malayan-Polynesians ประกอบไปด้วย .Jorai และ Rhade (Frederic Bourdier, 2009)
2.Mon-Khmer ประกอบด้วย Kachac, Tampuon, Brao, Kreung, Kravet, Lun, Phnong,Stieng, Kraol , Mel ,Chong , Samre , Pear , Saoch, Souy , Khmer Khe , Kuy (Frederic Bourdier, 2009)
ทั้งนี้จากสัดส่วนของประชากรดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เขมรถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์เขมรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ที่เข้ามาแทนที่กลุ่มชาติพันธุ์มอญ ทั้งยังเป็นผู้สร้างอาณาจักรเขมรและรูปแบบการปกครอง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกัมพูชา กลุ่มชาติพันธุ์เขมรมองว่าตนเป็นหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย 3 กลุ่มซึ่งจำแนกตามเชื้อชาติดั้งเดิมและภาษา
1. ชาวเขมรในกัมพูชา (Khmer) ที่พูดภาษาเขมร (Frederic P. Miller,Agnes F. Vandome, John McBrewster(Ed.), 2009:1)
2. ชาวเขมรสุรินทร์(Khmer Surin) ที่ในอดีตเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศกัมพูชาแต่เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ส่วนนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย คนกลุ่มนี้ใช้ทั้งภาษาถิ่นและพูดภาษาไทยได้เป็นอย่างดี แต่ยังคงมีความใกล้ชิดกับชาวเขมรในกัมพูชา ขณะเดียวกันมีชาวเขมรสุรินทร์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาด้วยเหตุผลของการแต่งงาน (Frederic P. Miller,Agnes F. Vandome, John McBrewster(Ed.), 2009:1)
3. เขมรใต้(Khmer Krom) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาแต่ปัจจุบันดินแดนส่วนนั้นกลายเป็นพื้นที่ของเวียดนาม สามารถพูดได้ทั้งภาษาเขมรและภาษาเวียดนาม ชาวเขมรใต้จำนวนมากได้หลบหนีเข้ามายังเขตกัมพูชาในระยะที่ถูกรุกรานโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Frederic P. Miller,Agnes F. Vandome, John McBrewster(Ed.), 2009:1)
กลุ่มชาติพันธุ์ต่อมาที่มีจำนวนมากรองจากชาวเขมรคือ ชาวเวียดนาม จากข้อมูลของศูนย์อินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา คาดว่าชาวเวียดนามเหล่านี้อพยพเข้าสู่กัมพูชาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันหากเมื่อใดที่ภายในประเทศเวียดนามมีปัญหาด้านการเมืองจนกระทบต่อชีวิตผู้คน ชาวเวียดนามเหล่านี้ก็จะอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในกัมพูชา และยึดอาชีพหัตถกรรม ธุรกิจโรงแรมและการค้าต่างๆ เพื่อดำรงชีพ (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, ม.ป.ป. :86)
ส่วนข้อมูลอีกชุดหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวเวียดนาม เป็นชนกลุ่มน้อยใหญ่ที่สุดในกัมพูชา จำนวนประชากรชาวเวียดนามในปี ค.ศ.1998 คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของประชากรทั้งหมดในกัมพูชา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกัมพูชาและเวียดนามมีดินแดนติดต่อกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา หากเมื่อใดที่เวียดนามมีปัญหาระส่ำระสาย หรือมีข่าวว่าในกัมพูชามี “ขุมทรัพย์” ชาวเวียดนามก็จะพากันอพยพไปแสวงหาโชคลาภในกัมพูชา จึงทำให้มีจำนวนประชากรชาวเวียดนามในกัมพูชามากขึ้น ส่วนใหญ่อาศัย อยู่ในพนมเปญ กัณดาล และกำปงจาม ชาวเวียดนามนิยมเกาะกลุ่มกันเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตน (เขียน ธีระวิทย์ (บรรณาธิการ), 2543:56)
ส่วนชาวจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากเป็นอันดับ 3 ในกัมพูชา กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปฏิสัมพันธ์อันดีกับชาวเขมร อาจเป็นเพราะคนทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน ทั้งยังมีการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างชาวจีนและชาวเขมรอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากในช่วงปี ค.ศ.1956-1957 รัฐบาลของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ มีนโยบายสงวนอาชีพให้แก่ชาวเขมร จึงส่งผลให้ชาวจีนส่วนใหญ่แปลงสัญชาติเป็นชาวเขมร และหากมีบุตรก็จะได้รับสัญชาติเขมรโดยทันที (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, ม.ป.ป.:87) แต่กระนั้นก็ตามภายหลังการยึดอำนาจโดยนายพล ลอน นอล ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวจีนในบางส่วน อาทิ มีการปิดโรงเรียนและหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคของเขมรแดงนำโดยพอล พต เป็นที่ทราบดีว่าถือเป็นช่วงที่กัมพูชาเปลี่ยนประเทศแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ชีวิตของชาวจีนในกัมพูชาก็เช่นกัน ในช่วงสมัยดังกล่าวมีการยกเลิกการใช้ภาษาและวัฒนธรรมจีน
ต่อมาในปี ค.ศ.1979 -1989 เป็นช่วงเวลาที่เวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชา ทำให้ชาวจีนส่วนมากหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังข้อตกลงสันติภาพปารีส ได้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีน ได้ประกอบอาชีพและมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งพิมพ์ภาษาจีนเริ่มพิมพ์เผยแพร่ได้อีกครั้งภายหลังที่เป็นสิ่งต้องห้ามไปกว่า 20 ปี โรงเรียนสอนภาษาจีนเริ่มกลับมาเปิดทำการสอนอีกครั้ง (เขียน ธีระวิทย์ (บรรณาธิการ), 2543:56)
ส่วนชาวจามในกัมพูชาถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่มีจำนวนประชากรอยู่ในลำดับที่ 4 ซึ่งชาวจามส่วนใหญ่คือชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บริเวณโตนเลสาบ ในภาคตะวันตก ภาคใต้และภาคกลางของลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้จากบทความ “ชนกลุ่มน้อย “ชาวจาม” กับบทบาทการสร้างชาติในกัมพูชา” ชี้ให้เห็นว่า ชาวจาม เป็นเชื้อสายของคนที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 2,200 ปีมาแล้ว และก่อตั้งอาณาจักรจามปา ผ่านยุคที่รุ่งเรืองจนถึงการล่มสลายของอาณาจักรที่เคยครอบครองดินแดนตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน การทำสงครามระหว่างอาณาจักรจามปากับประเทศเพื่อนบ้านอาทิจีน และ ไดเวียต (Dai Viet) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4-5 ทำให้จามปาเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยและเหลือเขตแดนเพียงพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน ขณะที่สงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลให้ชาวจามบางส่วนอพยพลี้ภัยสู่พื้นที่ราบใกล้แม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว กัมพูชาและไทย และจากการอพยพลี้ภัยครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ.1835 ชาวจามในกัมพูชาได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองกัมพูชาโดยไม่มีข้อขัดแย้งกับชาวกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธหรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ (พลับพลึง คงชนะ และคณะ, 2548)
เมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยที่กัมพูชามีรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารประเทศ สถานะภาพการดำรงชีวิตของชาวจามล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของการเมือง อาทิ ในช่วงปี ค.ศ.1970-1975 ตรงกับสมัยของรัฐบาลลอน นอล มีการแต่งตั้งผู้นำชาวจามหลายคนให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งทางการเมืองและการทหาร มีการก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาวจาม เพื่อปลดปล่อยอาณาจักรจามปาจากการครอบครองของเวียดนาม แต่เมื่อเข้าสู่สมัยการปกครองในยุคเขมรแดงตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-1979 เป็นที่ทราบดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาอันโหดร้ายและก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของชาวกัมพูชา ชาวจามก็เช่นกัน ถูกห้ามใช้ภาษาจามและให้ยกเลิกการนับถือศาสนาอิสลาม รวมถึงการบังคับให้เลี้ยงและรับประทานหมู ทั้งยังมีการทำลายศาสนสถาน โรงเรียนสอนศาสนาและคัมภีร์อัลกุรอาน ส่งผลให้ชาวจามจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประทศเพื่อนบ้าน อาทิ ไทยและมาเลเซีย ต่อมาในปี ค.ศ.1979-1989 เป็นช่วงเวลาที่เขมรแดงสิ้นอำนาจลง มีบุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าชื่ออะไรและดำรงตำแหน่งในรัฐบาลใด เมื่อเข้าสู่ช่วงปีค.ศ.1989-1991 ชาวจามในกัมพูชามีการฟื้นฟูชุมชนของตนขึ้นมาใหม่มีการสร้างศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนารวมถึงได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการรับบริจาคคัมภีร์อัลกุรอานจากโลกอาหรับ ตลอดจนเงินสนับสนุนเพื่อส่งชาวจามไปประกอบพิธีฮัจญ์ (พลับพลึง คงชนะ และคณะ, 2548)
ขณะเดียวกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมาในบทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวจามในกัมพูชาได้รับการดูแลเป็นอย่างดีทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ การติดต่อกับต่างประเทศและการศาสนา ผู้นำมุสลิมจำนวนมากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุนเซน ได้กำหนดนโยบายให้ประชาชนกัมพูชาอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ โดยมีการส่งคืนมัสยิดสำคัญให้แก่ชุมชนมุสลิม การก่อตั้งสถาบันฮาลาล การยอมรับให้เยาวชนมุสลิมแต่งกายตามหลักการทางศาสนาในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน จัดให้มีห้องละหมาดในสนามบินนานาชาติพนมเปญและเสียมเรียบ ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่ส่งเสริมและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม (พลับพลึง คงชนะ และคณะ, 2548)
แต่กระนั้นก็ตามในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาสำคัญที่ชาวจามต้องประสบเมื่อปีค.ศ.2014 คือปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยระหว่างชาวจามกับชาวพนงในจังหวัดมณฑลคีรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกัมพูชาติดกับชายแดนเวียดนาม ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบายการทำสวนยาง และโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อลดความยากจนของชาวมุสลิมในพื้นที่ป่าอันถือเป็นที่อาศัยดั้งเดิมของชาวพนง จึงเป็นที่มาของความไม่พอใจและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ระหว่างชาวจามที่เป็นผู้มาอยู่ใหม่และชาวพนง กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่ ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ารัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาไร้สัญชาติของชาวพนงและชาวจามบางส่วนที่ยังรอคอยการแก้ปัญหาดังกล่าวจากรัฐบาล (สำนักข่าวชายขอบ TRANSBORDER NEWS, 2557)
แม้ในปัจจุบันเราจะไม่ค่อยได้ยินปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ในกัมพูชา ทั้งนี้อาจเนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักเป็นชาวเขมรมีถิ่นอาศัยและที่ทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ หรืออาจจะออกไปเป็นผู้ใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่จากกรณีปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวจามและชาวพนงแล้ว จึงก่อให้เกิดประเด็นคำถามต่อไปว่านอกเหนือจากชาวจามและชาวพนงแล้วยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ประสบปัญหาดังกล่าวและยังรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่อีกหรือไม่
บรรณานุกรม
Frederic Bourdier. (2009). Inter-ethnic Relationships and Specificity of Indeginous Populations in Cambodia. ใน ETHNIC GROUPS IN CAMBODIA (หน้า 284-395). Phnom Penh: Researchers from Center for Advanced Study (CAS).
Frederic P. Miller,Agnes F. Vandome, John McBrewster(Ed.). (2009). Ethnic Groups in Cambodia Ethnic group, Khmer Empire, Mon - Khmer languages,Chinese people, Hoklo people, Khmer Krom, Hakka people, Cantonese people. Mauritius: Alphascript Publishing.
Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia : an encyclopedia of faiths and cultures. Santa Barbara, California: ABC-CLIO, LLC,.
Population,total. (2016). เรียกใช้เมื่อ 27 September 2016 จาก THE WORLD BANK Web site: http://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL
เขียน ธีระวิทย์ (บรรณาธิการ). (2543). กัมพูชา ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กลุ่มชาติพันธุ์ในเขมรส่อเค้าขัดแย้งรุนแรงเชื่อรัฐบาลแบ่งแยกแล้วปกครองนโยบายหนุนปลูกยาง-ทำลายป่า. (14 กันยายน 2557). เรียกใช้เมื่อ 27 กันยายน 2557 จาก เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ TRANSBORDER NEWS : http://transbordernews.in.th/home/?p=537
พลับพลึง คงชนะ และคณะ. (2548). ชนกลุ่มน้อย “ชาวจาม” กับบทบาทการสร้างชาติในกัมพูชา. เรียกใช้เมื่อ 30 กันยายน 2559 จาก เว็บไซต์ประชาคมวิจัยจดหมายข่าวราย 2 เดือน: http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=3276
ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานราชอาณาจักรกัมพูชา. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.