กัมพูชา - ข้อมูลพื้นฐาน



ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

ที่ตั้ง ตั้งอยู่กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดกับประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และลาว (แขวง อัตตะปือและจำปาสัก) ทิศตะวันออกติดเวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง) ทิศตะวันตกติดประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด) และทิศใต้ติดอ่าวไทย

พื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงพนมเปญ

ประชากร 14.67 ล้านคน

หน่วยเงินตรา เรียล

ภาษาราชการ ภาษาเขมร

ศาสนา พุทธเถรวาท (มหานิกาย ร้อยละ 90 และธรรมยุตินิกาย)

ประมุข  พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี

ผู้นำรัฐบาล สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน

ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

เขตการปกครอง มีการแบ่งเขตการปกครอง ดังนี้:แบ่งเป็น 1 ราชธานี (พนมเปญ) และ 23 จังหวัด ได้แก่ กระแจะ เกาะกง กันดาล กัมปงจาม กัมปงชนัง กัมปงธม กัมปง สะปือ กัมปอต ตาแก้ว รัตนคีรี พระวิหาร พระตะบอง โพธิสัต บันเตียเมียนเจย ไปรเวง มณฑลคีรี สตึงเตรง สวายเรียง เสียมราฐ อุดรมีชัย ไพลิน แกบ และพระสีหนุ และแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์กลางการปกครองเรียกว่า (อำเภอเมือง) เรียกว่า “กรุง” นอกจากนี้ยังมีเมืองสำคัญที่มีฐานะเป็น “กรุง” อีก 3 แห่ง คือ กรุงปอยเปต (จ. บันเตียเมียเจย) กรุงบาเว็ต (จ. สวายเรียง) และกรุงสวง (จ.กำปงจาม)

 

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์กัมพูชายุคแรก

          ต้นกำเนิดของชาวกัมพูชายังคงเป็นประเด็นโต้แย้งกันในหมู่นักวิชาการ บ้างก็ว่าพวกเขามีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนใต้ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียปัจจุบัน บ้างก็ว่ามาจากทางตอนบนบริเวณภาคใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ หรือมาจากแถบอินเดีย อย่างไรก็ตามหม้อดินที่พบในถ้ำลางสเปียนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าผืนแผ่นดินแถบนี้มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่ากลุ่มชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำบาซักนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของชาวกัมพูชาในยุคปัจจุบัน

          ในทางประวัติศาสตร์ถือว่า สังคมกัมพูชาเริ่มพัฒนาเมื่อรับวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาผสมกับวัฒนธรรมพื้นเมือง แล้วเกิดการก่อตั้งรัฐที่เรียกว่า “ฟูนัน”  (ศตวรรษที่ 1-6) กระบวนการรับวัฒนธรรมฮินดูนั้นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่ชัดเจน มีเพียงตำนานพระทองนางนาคที่เล่าว่า รัฐนี้เกิดขึ้นจากพราหมณ์เกาฑิณยะผู้มีธนูวิเศษได้ปรากฏกายที่ชายฝั่งแถบนี้ ได้สมรสกับนางโสมาธิดาพระยานาค แล้วตั้งรัฐชื่อ “กัมโพช” ขึ้น มีหลักฐานที่สำคัญมาจากบันทึกของจีน กล่าวถึงการส่งบรรณาการอย่างสม่ำเสมอของฟูนัน แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าอาณาจักรฟูนันนั้นเป็นรัฐเล็ก นครรัฐ หรือเมืองก่อนนครรัฐ และยังเชื่อกันว่าฟูนันมีระบบชลประทานเพื่อใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาลุ่ม ขณะที่พื้นที่อื่นๆมีการปลูกข้าวนาดอน ปลูกเผือก มัน หาของป่า และล่าสัตว์

          หลังปี ค.ศ. 500 เป็นต้นมา อาณาจักรฟูนันก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนมาอยู่ลึกไปในแผ่นดินที่เรียกรวมๆ ว่า เจนละ ที่ตั้งอยุู่ทางตอนเหนือของฟูนัน มีอาณาเขตอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฟูนันพ่ายแพ้ต่ออำนาจของเจนละซึ่งเคยมีสถานะป็นเมืองขึ้นของฟูนัน และหลังจากนั้นไม่มีคณะทูตส่งบรรณาการไปยังจีนอีกเลย ทำให้คนรุ่นหลังขาดหลักฐานที่เป็นการจดบันทึกของชาวจีนเพื่อใช้ในการศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

          อย่างไรก็ตามในพงศาวดารราชวงศ์ถัง ในช่วงหลังปี ค.ศ. 706 มีการกล่าวถึงเรื่องราวของดินแดนแถบนี้อยู่บ้าง ได้แก่ อาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำ โดยเล่าถึงการแบ่งอาณาจักรออกเป็นสองส่วนทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเจนละบกเริ่มมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปีคริสต์ศตวรรษที่ 8 พัฒนาขึ้นเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่งและเป็นปึกแผ่น จุดเปลี่ยนของเจนละนั้นอาจอ้างอิงได้จากจารึกหลักหนึ่งของชวาที่บันทึกจากคำบอกเล่าของพ่อค้าอาหรับ เกี่ยวกับการที่กษัตริย์เขมรพ่ายแพ้ต่อทัพชวาของมหาราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์

 

กัมพูชายุคเมืองพระนคร

          พัฒนาการต่อมาจากอาณาจักรเจนละปรากฏอยู่ในจารึกปราสาทสด็อกก๊อกธม โดยระบุว่ามีพระราชาที่ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสกลกษัตริย์ ในราวปี ค.ศ. 802 แม้ไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้ถึงการสืบเชื้อสายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กับราชวงศ์แห่งอาณาจักรเจนละในช่วงก่อนหน้า แต่เชื่อว่าพระองค์เสด็จมาจากชวา มีผู้เสนอแนวคิดว่าครอบครัวของพระองค์ คงจะไปตั้งรกรากอยู่ที่ชวาในช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายในเจนละ และพระองค์อาจถูกราชสำนักไศเลนทร์ยึดตัวไว้เป็นประกัน

          ความสำคัญของการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 คือการเปลี่ยนอาณาจักรเขมรจากยุคแว่นแคว้นกระจัดกระจายมาสู่ยุคเทวราชาแห่งสมัยพระนคร มีหลักฐานชี้ชัดว่าการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไม่ได้มีสถานะอย่างปุถุชนคนธรรมดา แต่เป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่เกี่ยวพันกับพระศิวะ นั่นหมายความว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนความเชื่อของชาวเขมร กษัตริย์องค์ต่อๆ มาและประชาชนจากที่เคยบูชาผีบรรพบุรุษให้หันมายกย่องพระองค์ในฐานะปฐมวิญญาณแห่งบรรพบุรุษในยามที่พระองค์ล่วงลับ

          กษัตริย์ที่มีความสำคัญต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้แก่ พระเจ้าอินทรวรมัน ซึ่งครองราชย์โดยการยึดอำนาจจากชัยวรมันที่ 3 โอรสของปฐมกษัตริย์แห่งสมัยพระนคร พระองค์ทรงวางรูปแบบตรีกรณียกิจซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่กษัตริย์รุ่นต่อมา ซึ่งประกอบด้วย การสนับสนุนการชลประทาน โดยการสร้างบารายขนาดใหญ่, การยกย่องบิดามารดาและบรรพบุรุษ โดยสร้างเทวรูปประจำตัวคนเหล่านั้นไว้ในเทวาลัย การก่อสร้างเทวาลัยบนภูเขาให้มีรูปทรงพีระมิดขั้นบันได โดยตั้งใจให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์เอง

          แม้ชาวเขมรจะยึดถือความเชื่อเรื่องเทวราชา แต่ก็ใช่ว่ากษัตริย์ทุกพระองค์จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในหลายรัชสมัยอำนาจของกษัตริย์บางพระองค์ก็อ่อนแอ อาจด้วยบุคลิกภาพส่วนพระองค์และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

          พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร อาณาจักรเขมรในสมัยของพระองค์มีความเป็นปึกแผ่นชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับหลายรัชสมัยก่อนหน้านั้นซึ่งเต็มไปด้วยความแตกแยกปั่นป่วน บางช่วงมีผู้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์พร้อมกัน 2–3 พระองค์

          ความเข้มแข็งของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เห็นได้จากการขยายอาณาจักรเขมรให้กว้างไกลออกไปยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา พระองค์รบชนะในดินแดนของพวกจามทางตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม และยังทรงยกทัพไปรบยังดินแดนอันนัมทางตอนเหนือของเวียดนาม รวมถึงดินแดนมอญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของประเทศไทยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู

          ด้วยศรัทธาที่พระสุริยวรมันที่ 2 มีต่อพระวิษณุ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างปราสาทนครวัดอย่างใหญ่โตและแหวกขนบของการสร้างเทวาลัยในสมัยนั้น เพื่อบูชาเทพเจ้าและเตรียมเป็นที่สถิตของดวงพระวิญญาณของพระองค์เองเมื่อสิ้นพระชนม์

          ส่วนพุทธศาสนานั้นเริ่มมีอิทธิพลต่อขนบประเพณีและความเชื่อทางศาสนาของเขมรในยุคพระเจ้ายโศวรมัน (ค.ศ. 889 – 910 ) มาถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 แม้พระองค์จะนับถือพระศิวะ แต่ก็ทรงยอมรับพุทธศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลในราชสำนักเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกษัตริย์เขมรส่วนใหญ่มีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ บางพระองค์สนใจพุทธศาสนานิกายมหายาน

          พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสนพระทัยในพุทธศาสนาจึงทรงนำระบบพุทธราชามาปรับใช้ในการปกครอง ถือเป็นการปฏิวัติความเชื่อเรื่องเทวราชาที่มีมาแต่เดิม จากที่กษัตริย์เคยสัมพันธ์โดยตรงกับเทพเจ้า และราษฎรก็เชื่อว่าความสามารถนี้เชื่อมโยงกับฟ้าฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล และความอุดมสมบูรณ์มาสู่กษัตริย์ในพุทธศาสนาที่ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง มีจารึกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดเกล้าฯให้สร้างถนนทั่วราชอาณาจักร ซึ่งประชาชนเห็นว่านี่เป็นความเมตตากรุณาของพระองค์

 

กัมพูชายุคหลังเมืองพระนคร

          เนื่องจากความรุ่งเรืองของสมัยพระนคร ชี้วัดกันที่การสร้างปราสาท การเขียนจารึกบนแผ่นศิลา การวางชลประทาน รวมถึงราชสำนักตามแบบพราหมณ์ – ฮินดู ช่วงปี ค.ศ. 1431 – 1863 จึงเป็นช่วงเวลาที่ถูกระบุว่าเป็นยุคแห่งความเสื่อมของอาณาจักรเขมร เพราะนอกจากจะขาดหลักฐานที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเจริญและอำนาจของกษัตริย์เช่นในยุคก่อนหน้าแล้ว ยังเต็มไปด้วยบาดแผลจากการเป็นรัฐกันชนระหว่างสองอาณาจักร ได้แก่ สยามทางด้านตะวันตกและเวียดนามทางด้านตะวันออก

          ในปี ค.ศ. 1353 ทัพสยามบุกเข้าตีและได้ชัยชนะเหนืออาณาจักรเขมรเป็นครั้งแรก ก่อนที่เขมรจะโดนโจมตีซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ. 1431 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง ตั้งแต่เมืองละแวก ไปที่เมืองอุดง ก่อนที่จะมาปักหลักที่เมืองพนมเปญในปี ค.ศ. 1437 เนื่องจากมีทำเลที่เอื้อต่อการควบคุมเส้นทางการค้าทางน้ำมากกว่า โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากจีนผ่านทางอาณาจักรลาว เพราะเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำซาป และแม่น้ำบาซัก และที่สำคัญคือพนมเปญอยู่ห่างไกลจากกรุงศรีอยุธยา จึงน่าจะปลอดภัยกว่าทำเลเดิม ถือเป็นการเปลี่ยนสังคมเขมรจากที่มีศูนย์กลางเป็นดินแดนตอนในที่ใช้เพื่อการปลูกข้าว มายังริมฝั่งแม่น้ำที่มุ่งค้าขายเป็นหลัก

          อย่างไรก็ตาม ในช่วง 200 ปีต่อมาอาณาจักรเขมรต้องทำสงครามกับราชสำนักอยุธยาหลายครั้ง แม้จะได้ชัยชนะเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้เขมรตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ในขณะเดียวกันชาวเวียดนามได้เริ่มอพยพเข้ามายังเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งมีชาวเขมรตั้งรกรากอยู่ก่อนหน้านี้

          กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 สยามพ่ายแพ้ต่อทัพพม่าทำให้ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยึดนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยการแบ่งแยกและปกครอง โดยไม่มีดินแดนใดมีกำลังเพียงพอที่จะต่อกรกับสยามในยุคนั้น ซึ่งในขณะที่ทางตะวันตกเขมรถูกบีบด้วยอิทธิพลจากสยาม ในทางตะวันออกเขมรก็ต้องพบกับแรงกดดันจากเวียดนาม อาณาจักรเขมรถูกรุกรานและยึดครองครั้งแล้วครั้งเล่าโดยกองทัพสยามและเวียดนาม ซึ่งถือเป็นรื่องยากลำบากสำหรับกษัตริย์เขมรที่ต้องครองบัลลังก์ในสถานการณ์ที่เป็นรองประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน กษัตริย์เขมรบางยุคจึงหันมาใกล้ชิดราชวงศ์สยามเพื่อถ่วงดุลฝ่ายเวียดนาม ขณะที่บางพระองค์ก็เลือกเอาใจฝักใฝ่กับราชสำนักเว้ สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ฝ่ายสยามอย่างไรก็ตามการขาดอำนาจเด็ดขาดที่จะชี้ความเป็นไปของบ้านเมืองย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้อยู่ในตำแหน่งกษัตริย์ นักวิชาการบางรายวิเคราะห์ว่าผลกระทบจากการขยายอำนาจของสยามและเวียดนามทำให้ความศรัทธายำเกรงของกษัตริย์เขมรในสายตาประชาชนลดลง

          ขณะเดียวกันการยกตนขึ้นเป็นใหญ่เหนือดินแดนและประชาชนชาวเขมรของจักรพรรดิมินห์หมางแห่งเวียดนาม ก็สร้างความเจ็บแค้นและความรู้สึกเป็นปรปักษ์ให้แก่คนเขมร โดยเฉพาะนโยบายเปลี่ยนเขมรให้เป็นเวียดนาม ซึ่งมีทั้งการส่งคนเวียดนามเข้าปกครองคล้ายรูปแบบอาณานิคม การบังคับให้คนเขมรใช้ภาษาเวียดนาม รวมไปถึงการเกณฑ์กำลังคน ตอนปลายคริสต์สตวรรษที่ 19 เริ่มปรากฏการต่อต้านโดยการก่อกบฏ ซึ่งเวียดนามตอบโต้ด้วยการส่งทหารรับจ้างชาวจามมาปราบปราม

 

กัมพูชายุคอาณานิคม

          ตั้งแต่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลระหว่างสองชาติคือสยามและเวียดนาม มีบางช่วงเวลาเพียงสั้นๆเท่านั้นที่ชาวกัมพูชาสามารถอยู่โดยปลอดจากอำนาจของทั้งสองชาตินี้ได้แต่ในที่สุดก็กลับมาอยู่ใต้อิทธิพลอีก จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กัมพูชาก็ต้องเผชิญกับการคุกคามของฝรั่งเศสที่เข้ามาแสวงหาอาณานิคม และเข้ายึดครองทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชารวมกันไว้เป็นเขตปกครองของตนภายใต้ชื่อ อินโดจีนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสนั้นเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในเวียดนามก่อน แล้วจึงค่อยขยายเข้ามาในกัมพูชาโดยใช้ช่องว่างที่กัมพูชาตกเป็นประเทศราชของสยามในสมัยกษัตริย์หริรักษ์รามาธิบดีว่าจะสนับสนุนกัมพูชาให้ปลดแอกออกจากอำนาจสยามให้ได้ จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1860 เจ้านโรดมพรหมบริรักษ์ ผู้สืบทอดบัลลังก์ก็ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อยอมให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1863 แล้วมีราชสาส์นไปถึงกษัตริย์สยามในขณะนั้นคือ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญาเป็นรัฐในอารักขา ซึ่งทางพระจอมเกล้าก็ทำสนธิสัญญากับเจ้านโรดมขึ้นอีกฉบับเพื่ออ้างสิทธิ์ในการเป็นรัฐอารักขาของสยามเช่นกัน เรื่องนี้ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงเริ่มเข้ามากดดันสยามให้ยกเลิกสนธิสัญญานั้นเสีย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1867 สยามจึงยอมยกเลิกสนธิสัญญาฉบับนั้น แต่ก็ยังคงยืนยันสิทธิ์เหนือ 3 จังหวัดคือ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณว่ายังเป็นของสยามอยู่ นับแต่นั้นมาฝรั่งเศสก็เริ่มแผ่อำนาจเข้าไปในกัมพูชาอย่างเต็มที่ เริ่มจากการจัดระบบต่างๆ ให้แก่กัมพูชา การปฏิรูปการปกครองตามที่ฝรั่งเศสต้องการนั้นทำให้มีการปฏิรูประบบการเก็บส่วยภาษีเข้ารัฐใหม่มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย จึงเกิดการต่อต้านรัฐที่ยินยอมให้ฝรั่งเศสกดหัวไปจนถึงการต่อต้านชาวฝรั่งเศสลุกลามไปทั่ว แต่ฝรั่งเศสนั้นกลับกล่าวหาว่ากษัตริย์นโรดมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการต่อต้านฝรั่งเศสในครั้งนี้จึงบีบให้ทางการจัดการกับการต่อต้านให้เด็ดขาด ส่งผลให้พวกที่ต่อต้านและก่อจลาจลหลบหนีเข้ามาอยู่ในเขตการปกครองของสยามเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1904 กษัตริย์นโรดมก็สิ้นพระชนม์ลง เจ้าสีสุวัตถิ์ อนุชาของกษัตริย์นโรดมได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ขึ้นครองราชย์ ในปีนั้นเองพระองค์ได้ลงนามในสัญญายอมยกอำนาจการบริหารประเทศให้อยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือกัมพูชาโดยสมบูรณ์  ฝรั่งเศสจึงประกาศรวมกัมพูชาเข้าอยู่ในอินโดจีนฝรั่งเศสนับแต่นั้น

          ในปี ค.ศ. 1927 กษัตริย์สีสุวัตถิ์สิ้นพระชนม์ลง เจ้าสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ ซึ่งเป็นโอรสก็ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อ ในรัชสมัยนี้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ได้เริ่มแผ่อิทธิพลจากเวียดนามเข้ามาสู่กัมพูชา โดยกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งก่อตั้งโดย โฮจิมินห์ เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยกลุ่มประเทศอินโดจีนออกจากอำนาจฝรั่งเศส และต่อมาญี่ปุ่นก็เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในอินโดจีน

          หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1940 อินโดจีนก็ถูกญี่ปุ่นแผ่อำนาจเข้ายึดครองทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ยึดอำนาจปกครองไปจากผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสไปเสียทีเดียว ฝรั่งเศสจึงยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไปแต่อยู่ภายใต้การกำกับการของญี่ปุ่น ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 กษัตริย์สีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ สิ้นพระชนม์ลง ฝรั่งเศสจึงเลือกนัดดาของพระองค์คือ เจ้านโรดมสีหนุ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

          แม้ญี่ปุ่นจะยินยอมให้ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาต่อไป แต่ก็ลอบติดต่อกับกลุ่มผู้รักชาติชาวกัมพูชาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสโดยให้สัญญาว่าจะช่วยปลดปล่อยกัมพูชาออกจากอำนาจฝรั่งเศส โดยใช้กลุ่มนี้ให้คอยทำลายผลประโยชน์ของฝรั่งเศสลงเรื่อยๆ กระทั่งปี ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นจึงประกาศให้ฝรั่งเศสสิ้นสุดการปกครองเหนือกัมพูชาทั้งหมด แล้วสนับสนุนให้กัมพูชาจัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นโดยให้เจ้านโรดมสีหนุดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป และให้ ซัน ง็อก ทันห์ ซึ่งเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ญี่ปุ่นกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของกัมพูชา แต่เมื่อเยอรมันกับญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามในปีนั้นเอง ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามาครองอำนาจในกัมพูชาใหม่ ล้มรัฐบาลที่ญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นและจับกุม ซัน งอก ทันห์ ฝ่ายที่ต่อต้านฝรั่งเศสทั้งหมดต่างหลบหนีกันอย่างกระจัดกระจาย ซึ่งส่วนใหญ่นั้นข้ามมาฝั่งไทยก่อตั้งเป็นขบวนการเขมรอิสระ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเวียดมินห์ในการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส ส่วนกษัตริย์สีหนุมีท่าทีเข้าข้างฝรั่งเศสอย่างชัดเจนแม้จะอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นแผ่อำนาจจึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่พระองค์ก็พยายามเจรจาให้รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมให้กัมพูชาสามารถปกครองตนเองได้อยู่ตลอดมา จนเกิดเป็นกลุ่มทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่คอยเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกกลุ่มคือ กลุ่มเขมรเสรี ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการแผ่อำนาจเข้ามาในภูมิภาคนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มเขมรเสรีนี้ต่อต้านทั้งฝ่ายเขมรอิสระและกลุ่มของเจ้าสีหนุ

ในปี ค.ศ. 1946 กัมพูชาก็มีการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้น โดยฝรั่งเศสยอมให้กัมพูชามีอำนาจปกครองตนเองได้ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกและมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้น และในที่สุดฝรั่งเศสก็ยินยอมปลดปล่อยให้กัมพูชาเป็นอิสระในปลายปี ค.ศ. 1953

 

กัมพูชายุคการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

          กัมพูชาได้รับการประกาศเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการตามสนธิสัญญาเจนีวาในปี ค.ศ. 1955 และในปีเดียวกันนี้กษัตริย์สีหนุก็สละราชบัลลังก์ให้แก่พระบิดาของพระองค์คือ เจ้านโรดมสุรมฤต เพื่อพระองค์จะได้เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระ โดยก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า พรรคสังคมราษฎร์นิยม เพื่อลงเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งจนพระองค์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีนั้นเอง ในช่วงแรกๆ นั้นเจ้าสีหนุมีท่าทีที่เอาใจสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ แต่ต่อมาก็เริ่มเดินเกมการเมืองคบหากับประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์เช่น จีน และเกาหลีเหนือ เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ

          เมื่อสงครามเวียดนามได้เริ่มต้นขึ้นนั้นเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่สงครามที่แท้จริงของจีนและเวียดนามเหนือได้ถดถอยลงไปมาก เนื่องจากกัมพูชาไม่พอใจที่สหรัฐฯแอบใช้กัมพูชาเป็นที่เคลื่อนไหวในการทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์จนกระทบกระเทือนต่อกิจการภายใน  จึงพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เมื่อสหรัฐฯและเวียดนามใต้ผลักดันเวียดกงหรือเวียดนามเหนือจนถอยร่นไป พระองค์จึงยินยอมให้กลุ่มเวียดกงเข้ามาใช้กัมพูชาเป็นฐานที่มั่นและยอมเปิดเส้นทางให้จีนส่งอาวุธให้แก่เวียดกงผ่านทางกัมพูชา จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสีหนุมีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวกัมพูชาจำนวนมากที่นำประเทศเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดในพรรคของพระองค์ซึ่งมีนายพลลอนนอลเป็นแกนนำ ทำให้ในปี ค.ศ. 1966 เจ้าสีหนุสูญเสียเสียงสนับสนุนจากภายในพรรค และนายพลลอนนอลได้รับเสียงสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1970 นายพลลอนนอลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯก็ทำการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐโดยมีนายพลลอนนอลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐเขมร

          การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มฝ่ายซ้ายต่างๆ รวมไปถึงฝ่ายซ้ายที่เคยอยู่ในคณะรัฐบาลต่างหลบหนีการกวาดล้างของฝ่ายขวาตามความต้องการของสหรัฐฯ สงครามกลางกัมพูชาจึงเริ่มต้นขึ้น ภายหลังการรัฐประหารเจ้าสีหนุซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีนได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของลอนนอลโดย มีกลุ่มเขมรแดงที่นิยมจีนเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้เจ้าสีหนุยังประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่ปักกิ่ง ปฏิเสธรัฐบาลลอนนลที่ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนจากจีนจึงทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งมากขึ้นและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมากและสามารถเข้าไปแทรกซึมตามชนบทในกัมพูชาอย่างได้ผลตามแผนป่าล้อมเมืองที่เคยกระทำสำเร็จมาแล้วในจีน ส่วนสหรัฐฯซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับจีนนั้นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลลอนนอลอย่างเปิดเผยมากขึ้นทั้งการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในฐานที่มั่นของเขมรแดง และการอุดหนุนเงินและอาวุธ แต่อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1975 เขมรแดงก็สามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จ

          นโยบายกลุ่มเขมรแดงซึ่งนำโดย พอลพต มีแนวคิดต้องการสร้างรัฐใหม่ขึ้นมาทั้งหมดและโดดเดี่ยวประเทศตามแนวคิดของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของเจ้าสีหนุ พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในปี ค.ศ. 1976 ฝ่ายเขมรแดงจึงให้ เขียว สัมพัน อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระองค์และหนึ่งในแกนนำเขมรแดงขึ้นมาเป็นประมุขของรัฐแทน โดยมีพอลพตเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจการบริหารอย่างแท้จริง จากนั้นก็เดินหน้ากวาดล้างฝ่ายตรงข้าม กักบริเวณเจ้าสีหนุไม่ให้ติดต่อผู้ใด จัดการสังหารศัตรูทางการเมืองที่ต่อต้านเขมรแดงชนิดไม่ยอมให้หลงเหลือในกัมพูชาแม้แต่คนเดียว และเดินหน้าสร้างสังคมใหม่ตามอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อ และเปลี่ยนชื่อประเทศไปเป็น กัมพูชาประชาธิปไตย

          รัฐบาลพอลพตปกครองประเทศมาจนถึงปี ค.ศ. 1979 จึงถูกเขมรนิยมคอมมิวนิสต์อีกฝ่ายคือ ฝ่ายเฮงสัมริน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเข้ายึดอำนาจแล้วเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา โดยที่เขมรแดงยังไม่ยอมจำนนและพยายามทำการเคลื่อนไหวโดยเข้าร่วมกับกลุ่มของเจ้าสีหนุซึ่งได้ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นชื่อ พรรคฟุนซินเปก ซึ่งเป็นกลุ่มนิยมเจ้า และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาติประชาชนเขมร ของนายซอนซานซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายขวา ก่อตั้งแนวร่วมเขมรสามฝ่าย เพื่อรักษาเก้าอี้ในสหประชาชาติ โดยเขมรแดงได้ยุบพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาลงเพื่อให้รัฐบาลผสมนี้ได้รับการรับรองจากนานาชาติว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมของกัมพูชา

          เมื่อกลุ่มเขมรสามฝ่ายได้ถูกก่อตั้งขึ้นสำเร็จ สงครามกลางเมืองรอบใหม่ก็เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลเขมรสามฝ่ายกับฝ่ายเขมรเฮงสัมรินเพื่อผลักดันกำลังของเวียดนามออกจากกัมพูชา จนในที่สุดด้วยการกดดันของนานาชาติทำให้เวียดนามยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี ค.ศ. 1989 และเริ่มต้นใช้โต๊ะเจรจาแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้การสู้รบ จนสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพในปี ค.ศ. 1991 โดยให้มีการสถาปนาตำแหน่งกษัตริย์กลับมาใหม่ กัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศกลับมาเป็นราชอาณาจักรกัมพูชาโดยมีเจ้าสีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้ง

 

สังคม วัฒนธรรมและประเพณี

สังคมเขมร

          สังคมเขมรประกอบด้วยผู้คนจากหลายชาติพันธุ์ โดยคนเชื้อสายเขมรถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด และมีการตั้งถิ่นฐานกระจายไปทั่วทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรและทำการประมง โดยในช่วงหลายสิบปีมานี้ประชากรเชื้อสายเขมรจำนวนไม่น้อยอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่อย่างพนมเปญ พระตะบอง กำปงโสม และกำปงจาม แม้ว่าชาวเขมรจะเป็นกลุ่มชนที่มีอิทธิต่อการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศมากที่สุด แต่ฐานะทางเศรษฐกิจของพวกกลับมีฐานะยากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนเชื้อสายเวียดนามและจีน

          ชาวเวียดนามจัดเป็นกลุ่มชนที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองของประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในเมืองใหญ่และเขตรอบๆ ทะเลสาบหลวง กลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญอีกกลุ่มคือชาวมุสลิมเชื้อสายจาม ซึ่งอพยพจากเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งของแม่น้ำซาปกับแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในเขตตอนเหนือของกรุงพนมเปญ ส่วนชาวจีนในกัมพูชาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองทั้งเล็กและใหญ่ มักจะประกอบอาชีพค้าขายซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจสำหรับกัมพูชา

          ชนกลุ่มน้อยอื่นๆนั้นประกอบด้วยพวกขแมร์เลอ อันได้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 30 กลุ่มในกัมพูชา กลุ่มคนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตามภูเขาสูง มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองซึ่งแตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนเผ่า

 

วัฒนธรรมการกิน

          เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันทำให้กัมพูชามีพืชพันธุ์ธัญญาหารและมีอาหารการกินคล้ายคลึงกับไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอาหารจากฝรั่งเศส อินเดีย จีนและเวียดนาม 

          วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารของชาวกัมพูชาส่วนมากจะหาได้ในท้องถิ่นอันได้แก่พืชผักพื้นบ้าน เช่น โหระพา มะกรูด และเนื้อสัตว์อย่างเนื้อปลา ปลาน้ำจืดและปลาทะเลถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญรวมถึงเป็นแหล่งโปรตีนหลักของคนกัมพูชา และเนื่องจากกัมพูชามีแหล่งน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อุดมไปด้วยปลา อย่างโตนเลสาป ซึ่งผืนน้ำจะขยายกว้างใหญ่และมีปลาชุกชุมในช่วงฤดูฝน แต่จะแห้งเหือดลงเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนทำให้คนกัมพูชาเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับฤดูแห่งความขาดแคลนด้วนวิธีการถนอมอาหาร เช่น การทำปลาเค็ม ปลาตากแห้ง ปลาจ่อม และปลาร้าที่เรียกว่า ปรอฮก ส่วนเนื้อหมู เนื้อวัว เป็ด ไก่ แม้จะหากินได้แต่ก็มีราคาแพงกว่าอาหารประเภทปลา โดยเนื้อหมูนั้นนิยมนำมาทำเป็นไส้กรอกเขมรที่เรียกว่า ตวาโก

          นอกจากวัตถุดิบหลักอย่างปลาแล้ว กัมพูชายังมีผักและผลไม้หลากหลายชนิด จึงมีการนำผักชนิดต่างๆ มารับประทานในมื้ออาหารทั้งใช้เป็นส่วนผสมและเครื่องเคียง มังคุดและทุเรียนนั้นถือเป็นผลไม้ยอดนิยมในกัมพูชา ส่วนข้าวเจ้านั้นถือเป็นอาหารหลักของกัมพูชา นอกจากนี้ก็มีก๋วยเตี่ยว เรียกว่า กุยเตียว และขนมปังบาแกตแบบฝรั่งเศสเรียกว่า นมปัง ส่วนข้าวเหนียวจะถูกนำมาปรุงเป็นของหวานกินกับทุเรียน และยังมีขนมจีนที่เรียกว่า นมปันเจ๊าะ  

          มรดกทางวัฒนธรรมที่กัมพูชารับมาจากอินเดียก็คือการใช้เครื่องเทศปรุงรสและทำเครื่องแกง เช่น ประเภทแกงแดงกะทิ เรียกว่า กะหรี่ กินกับข้าวหรือนมปังหั่น นอกจากนี้นมปังยังใช้กินกับปลากระป๋องและไข่เป็นอาหารเช้า หรือเอาไปทำแซนด์วิซ ใส่แฮมหรือเนื้อย่าง ซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่งเศสที่รับมาจากในยุคอาณานิคม โดยปกติแล้วอาหารกัมพูชาจะปรุงรสด้วยเกรือง หรือเครื่องเทศบดเป็นผง เน้นการใช้พริกไทยให้รสเผ็ดร้อนมากกว่าการใช้พริกขี้หนู ปรุงรสให้กลมกล่อมด้วยกะปิและน้ำปลา แต่นอกจากนี้ก็มีตำรับอาหารของชนชั้นสูงในราชสำนักที่เรียกว่า อาหารชาววัง ซึ่งจะเน้นการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว หอม กระเทียม ฯลฯ เพื่อให้ได้อาหารที่มีกลิ่นหอมชวนรับประทานและรสชาติกลมกล่อม

          อิทธิพลจากอาหารตะวันออกโดยเฉพาะจีนเป็นที่มาของอาหารจำพวกก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารผัดต่างๆ กุยเตียว หรือก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงพิเศษแบบกัมพูชา เช่น หมี่กาตัง เป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่ราดหน้าแบบกวางตุ้ง หมี่โกลา เป็นเส้นหมี่ปรุงไม่ใส่เนื้อสัตว์ ใส่ซอสถั่วเหลืองและกระเทียม กินกับผักดองและไข่ บายซา เป็นข้าวผัดใส่กุนเชียงหรือเนื้อสัตว์ กระเทียม ซอสถั่วเหลือง อาหารเวียดนามนั้นก็มีอิทธิพลต่ออาหารกัมพูชา เช่น เนียม อาหารคล้ายปอเปี๊ยะสด บัญฮ็อย เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวนึ่งใส่ใบสะระแหน่ ถั่วลิสงบด ผักดองและไข่เจียวหั่น กินกับน้ำปลา เป็นต้น ส่วนกาแฟเขมรซึ่งนั้นปรุงด้วยนมข้นหวานเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันด้วยอิทธิพลจากไทยทำให้มีการใช้ครีมเทียมปรุงกาแฟมากขึ้น ซึ่งอิทธิพลของอาหารต่างชาติในกัมพูชานั้นปรากฏชัดเจนจากการขยายตัวของร้านอาหาร และแพร่หลายในรูปแบบของผู้ค้าแผงลอยตามริมถนนหนทาง

 

วัฒนธรรมการแต่งกาย

          ผ้านุ่ง หรือ สมปต ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่พบเห็นได้ทั่วไปในกัมพูชามาตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งการนุ่งห่มร่างกายช่วงล่างด้วยผ้าผืนเดียวแบบนี้ สามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคฟูนันที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากอินเดีย อาจจะมีการประยุกต์นุ่งแบบโจงกระเบน และเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันออกไปมาทอเป็นผ้านุ่งขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละกลุ่มคน

          ส่วนผ้ากรอมา ถือเป็นของจำเป็นสำหรับชาวเขมรยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวันอื่นๆ ผ้ากรอมามีทั้งที่ทำจากฝ้ายและไหม ส่วนใหญ่จะทอเป็นลายตารางหมากรุก โดยแต่ละจังหวัดของกัมพูชาจะผลิตผ้ากรอมาออกมาในรูปแบบเฉพาะของตน ผ้ากรอมีประโยชน์ใช้สอยมากมาย ไม่ว่าจะใช้กันแดด กันลม ห่มกันหนาว กางกันฝน ใช้พันแผลบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือนำมานุ่งเป็นโสร่ง ถกเขมรขึ้นมาแทนกางเกงขาสั้น นอกจากนี้ผ้ากรอมายังถูกนำมาใช้เป็นผ้าอเนกประสงค์ไว้ห่อหิ้วของสารพัดเช่น ห่อเด็กทารกอุ้มกระเตงไปทำงาน นำมาห่อของสำหรับการจ่ายตลาด หรือแม้กระทั่งนำมาผูกขึงเป็นเปลนอน

 

วัฒนธรรมดนตรีและการแสดง

          การดนตรีของกัมพูชาเฟื่องฟูอยู่ทั้งในราชสำนักและตามหมู่บ้าน มีทั้งดนตรีที่ใช้เพื่องานพิธีและเพื่อความบันเทิง เช่น การเล่นเพลงกอร์ในงานแต่งงาน เพลงอาเรียะในการทรงเจ้าเข้าผี การเล่นเพลงอาไยตอบโต้กัน และการเล่าเรื่องผ่านเพลงเจรียงจับไปย ส่วนในราชสำนักมีระบำ รำ โขน และนังซึ่งเป็นการแสดงคล้ายหนังใหญ่ ส่วนงานพิธีทางศาสนาจะใช้วงปินเปียต และวงโมเฮารี เล่นประกอบ

          นาฏศิลป์หลวงของเขมรนั้นมีความคล้ายคลึงกับนาฏศิลป์ไทยในราชสำนักมาก เนื่องจากนาฏศิลป์ของทั้งสองชาติมีการแลกเปลี่ยนและส่งต่ออิทธิพลให้กันและกันมาโดยตลอดจึงก่อให้เกิดศิลปะที่มีรูปแบบร่วมกันขึ้น

 

เทศกาลงานประเพณี

งานปีใหม่

          งานปีใหม่หรือสงกรานต์ ที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า บอน โจล ชนัม ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลงานประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันของประเทศในประชาคมอาเซียน อย่างประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และไทย งานปีใหม่ของกัมพูชาจัดขึ้นในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว ประมาณต้นเดือนเมษายน และจัดติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยกำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติ ในเทศกาลนี้จะมีการทำบุญตักบาตรและสรงน้ำพระที่วัดเพื่อให้โชคดีไปตลอดทั้งปี ทำพิธีรดน้ำดำหัวให้พรแก่กัน และถือเป็นโอกาสในการทำความสะอาดและตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

วันตรุษจีน

          ทางการกัมพูชาไม่ถือว่าวันตรุษจีนเป็นวันหยุดประจำปี แต่จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองในชุมชนชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนรวมทั้งชุมชนชาวเวียดนาม ประชาชนเชื้อสายจีนจะทำความสะอาดและตกแต่งบ้านเรือนร้านค้าอย่างสวยงามเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ ในวันปีใหม่ มีการทำอาหารพิเศษเพื่อกินในครอบครัว เชิดสิงโต จุดประทัด ส่วนในช่วงกลางคืน ประชาชนจะพากันไปที่วัดเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

พิธีแรกนา

          พิธีแรกนาของกัมพูชาจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก พิธีแรกนาเป็นพิธีพราหมณ์ที่ถือเป็นสัญญาณว่าฤดูแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว กษัตริย์จะเข้าร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจให้แก่ราษฎรในการทำไร่นา โดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะทรงประกอบพิธีด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีและข้าราชการ หากปีใดทรงติดพระราชกรณียกิจข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์รับบทเป็นพระยาแรกนา โดยมีราษฎรจากท้องที่ต่างๆ มายืนรอเพื่อร่วมชมงาน พิธีจะประกอบด้วยการแห่กระบวน พระยาแรกนาจับผ้าเสี่ยงทาย พระโคเสี่ยงทายของกิน เพื่อทำนายสภาพน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละปี

 

วันสารทเขมร

          ประเพณีการทำบุญให้บรรพบุรุษหรือญาติมิตรผู้ล่วงลับ หรือที่คนกัมพูชาเรียกว่า บอน ปรอ จุม เบน หรือที่ชาวไทยเชื้อสายเขมรเรียกว่า แซนโฎนตา ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญของกัมพูชา โดยจะเริ่มเทศกาลกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 จนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวกัมพูชาจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดทุกวัน เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่ายิ่งมีข้าวปลาอาหารไปถวายพระมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำนาได้ผลดี

          ผู้ไปทำบุญที่วัดส่วนใหญ่เป็นสตรี ทุกคนจะสวมเสื้อผ้าชุดวัฒนธรรมนิยม ส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม ถือถาดข้าวปลาอาหาร ธูปและเทียนไปถวายพระสงฆ์ โดยมีข้าวต้มมัดทั้งไส้กล้วย ไส้ถั่ว และไส้มะพร้าวเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในฐานะขนมพิเศษสำหรับเทศกาล ผู้เฒ่าผู้แก่จะนอนค้างที่วัด กลางคืนจะช่วยกันทำข้าวกระยาสารทแล้วนำไปวางไว้รอบๆ วัดเพื่อให้เปรตมากิน ส่วนใหญ่คนกัมพูชาจะนิยมไปทำบุญให้ครบเจ็ดวัดเพื่อที่ญาติได้รับบุญมากๆ นอกจากนี้คนกัมพูชาที่ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยตามประเทศต่างๆทั่วโลก จะจัดงานบอน ปรอ จุม เบน เป็นประจำทุกปี เพื่อให้คนกัมพูชาพลัดถิ่นได้มาพบปะและทำบุญร่วมกัน

 

วันประกาศอิสรภาพ

          วันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี ชาวกัมพูชาจะจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบการได้รับเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1953 ถือเป็นวันที่ชาวกัมพูชารู้สึกภาคภูมิใจในเสรีภาพและอธิปไตยของตนเอง โดยจะมีการตกแต่งถนนหนทางตลอดสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน และในวันที่ 9 จะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานด้วยการจัดขบวนพาเหรดไปตามถนนสายต่างๆ รวมทั้งจุดดอกไม้ไฟในช่วงค่ำคืน 

 

งานแข่งเรือประจำปี

          งานแข่งเรือประจำปีซึ่งคนกัมพูชาเรียกว่า บอน ออม ตุก หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักในชื่อ เทศกาลน้ำ (Water Festival) ทางราชการกำหนดให้เป็นวันหยุด 3 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 กำหนดวัดจัดงานนั้นขึ้นอยู่กับปฏิทินจันทรคติ และสัมพันธ์กับการเปลี่ยนช่วงฤดูกาล แม่น้ำโขงซึ่งไหลมาลงตรงทะเลสาบเขมรในช่วงก่อนหน้าจะเริ่มไหลย้อนกลับ ทำให้พื้นที่ทะเลสาบลดลง งานบอน ออม ตุก ถือเป็นงานประจำปีที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด มีกิจกรรมสำคัญคือการแข่งเรือบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง โดยมีเรือจากหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขัน

บรรณานุกรม

    เขียน ธีระวิทย์, และสุนัย ผาสุก. 2543. กัมพูชา ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองและการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

    แชนด์เลอร์, เดวิด พี. 2543. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคนอื่นๆ. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

    ดวงธิดา ราเมศวร์. 2555. ประวัติศาสตร์ประเทศในกลุ่มอาเซียน: ไทย ลาว พม่า กัมพูชา. กรุงเทพฯ : แพร-ธรรม.

    ธีระ นุชเปี่ยม. 2542. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา. กรุงเทพฯ : คบไฟ.

    มัลลิกา พงศ์ปริตร, บรรณาธิการ. 2544. ลาวและกัมพูชา. แปลโดย พวงนิล คำปังสุ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

    รัชดา ธราภาค. 2555. ราชอาณาจักรกัมพูชา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์

    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2556. กัมพูชา. กรุงเทพมหานคร: ชมรมโดมรวมใจ.