กัมพูชา - บรรณนิทัศน์



กิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์. (2553). การรักษาตามแนวพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคตเจ้าของกลุ่มชนภาษาตระกูลมอญ-เขมรในประเทศไทยและกัมพูชา. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

การศึกษาวิธีการรักษาและสืบสานการรักษาแนวพระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้าของกลุ่มชนภาษาตระกูญมอญ-เขมรในประเทศไทยและกัมพูชา พบว่า กลุ่มชนนี้มีวิถีชีวิตอันเป็นลักษณะเฉพาะ คือ การคงไว้ซึ่งความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ส่วนการรักษาและการสืบสานการรักษาพบว่า มีกลุ่มที่ใช้ยาสมุนไพรในการรักษา กลุ่มที่ใช้วิธีการรักษาโดยการเสก การเป่า หรือรดน้ำมนต์ และ กลุ่มที่ใช้บทสวดเพื่อระลึกถึงองค์พระพุทธไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้าในการรักษา โดยผู้ทำการรักษาได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโดยการเรียนรู้และจากประสบการณ์ตรงจากนั้นจึงมีการสืบทอดต่อไปยังชนรุ่นหลัง

 

โกรส์ลิเยร์, เบอร์นาร์ด-ฟิลลิปป์. (2545). นี่ เสียมกุก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

การศึกษาจารึกสั้นๆ ในบริเวณระเบียงประวัติศาสตร์ของนครวัด ซึ่งแปลจากภาษาเขมรว่า “นี่ เสียมกุก” อันเป็นการบ่งชี้ถึงกองทหาร “เสียม” ที่อยู่ร่วมในกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด โดยมีข้อสันนิษฐานว่า “เสียม” หมายถึงสยาม หรือคนไทย ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงอีกมากตามมา ซึ่งข้อถกเถียงเหล่านั้นได้รับการรวบรวมไว้ในเอกสารนี้ พร้อมทั้งข้อสันนิษฐานของโกรส์ลิเยร์ว่าเสียมกุก คือ กลุ่มคนที่อยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำชี-มูลหรือชาวส่วย ซึ่งเป็นผู้นำทางกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ระหว่างผ่านไปข้ามเทือกเขาหวูเหวนไปตีไดเวียด

 

เขียน ธีระวิทย์, และสุนัย ผาสุก. (2543). กัมพูชา ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองและการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การศึกษาภาพรวมของกัมพูชา แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทั้งป่าไม้และแหล่งน้ำที่มีสัตว์น้ำชุกชุม ประชากรและลักษณะสังคมที่ไม่มีลักษณะจำเพาะต่อการส่งเสริมความขัดแย้งที่รุนแรง แต่เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และภัยสงคราม การปฏิวัติทำให้เกิดความหวาดระแวงภัยคุกคามจากต่างชาติเป็นพิเศษ การศึกษาและศิลปวัฒนธรรมไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดความยากจนต้องพึ่งต่างชาติ

 

คาม ภวภูตานนท์. (2541). บทบาทของไทยและเวียดนามต่อปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา : 1993-ปัจจุบัน. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการระหว่างประเทศและการทูต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

การศึกษาการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาตั้งแต่ ค.ศ. 1993 อันเป็นปีที่มีการจัดการเลือกตั้งโดย UNTAC จนกระทั่งถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน (1998) โดยเน้นรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ของประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม บทบาทของไทยและเวียดนามที่เข้าแทรกแซงปัญหากัมพูชาในช่วงเวลาต่างๆ ปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการกำหนดและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกัมพูชา นโยบายต่างประเทศของกัมพูชาที่มีต่อประเทศทั้งสองและผลกระทบต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

โครสลีเย, แบณาร์ ฟิลิป, เรืองเดช ภูมิจิต, และ ณาราง นุด. (2548). อองโกร์นครน้ำ : แหล่งกำเนิดอารยธรรมขแมร์. บุรีรัมย์: มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

การรวบรวมบทความ 7 บทความ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาณาจักรเขมรโบราณกับทรัพยากรน้ำในด้านต่างๆ เช่น ด้านศาสนา การเกษตร รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งผู้เขียนให้ความเห็นว่าทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรเขมรโบราณเกิดความเจริญรุ่งเรือง

 

จันทรา อนุสรณ์วัฒนกุล. (2544). ภาพชีวิตครอบครัวชาวกัมพูชา: ชุมชนหมู่บ้านบริเวณรอบทะเลสาบเขมร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

การศึกษาหมู่บ้านสองแห่งริมทะเลสาบเสียมเรียบ พบว่า ครอบครัวเขมรให้ความสำคัญต่อความกตัญญูต่อพ่อแม่ การทำบุญแก่บรรพบุรุษ กฎแห่งกรรม คาถาอาคม ตามแนวความเชื่อพุทธผสมผี ลักษณะครอบครัวมาจากการแต่งงานที่ให้ความสำคัญต่อ “พันธุกรรมปิดประตูตีเมีย” ว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ และการตรวจสอบ “ดวงชะตาสมพงษ์” ว่าจำเป็น (ยิ่งกว่าความรักหรือความดีอื่นๆ) พิธีแต่งงานมีสองระดับตามความพร้อมของคู่สมรส เมื่อแต่งงานแล้ว ผู้หญิงมีบทบาทในการจัดการต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นสามีให้ริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ และควบคุมค่าใช้จ่ายของครัวเรือน

 

จิโต,  มาดแลน. (2546). ประวัติเมืองพระนคร (Angkor) ของขอม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน.

การศึกษาทางโบราณคดี จากจารึกและประติมากรรมของเมืองพระนครซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมและตีความหมาย ตั้งแต่การสร้างในยุคพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1432) การเปลี่ยนแปลงกษัตริย์ขอมและเมืองพระนครในแต่ละยุคที่มีจารึกกล่าวถึง จนกระทั้งช่วงที่เขมรย้ายเมืองหลวงแล้วไม่กลับมาใช้เมืองพระนครเป็นเมืองหลวงอีกเลย มีเพียงการมาใช้นครวัดเป็นศาสนสถานของประชาชนเขมร

 

ชา อวม, ไผ เผง และ โสม อิม. (2546). ประวัติศาสตร์กัมพูชา : แบบเรียนของเขมรที่เกี่ยวข้องกับไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.

หนังสือประวัติศาสตร์สำหรับสอนในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 7-9 ของกัมพูชาปัจจุบัน (พ.ศ. 2513) ซึ่งมุ่งเน้นให้นักเรียนรู้ถึงเหตุการณ์ความรุ่งเรืองของประเทศและส่งเสริมความรักชาติ นำเสนอแบ่งเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยก่อนเมืองพระนคร สมัยหลังเมืองพระนคร และสมัยใหม่ ซึ่งผู้แปลได้เขียนบทวิเคราะห์ว่า เป็นตำราประวัติศาสตร์ที่เน้นสร้าง “ชาตินิยม” และเห็นไทยหรือสยามเป้นคู่ขัดแย้งมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. (2556). เขตแดนสยามประเทศไทยกับลาวและกัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

การศึกษาเขตแดนระหว่างประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศกัมพูชา โดยการศึกษาของ อัครพงษ์ ค่ำคูณ ได้นำเสนอพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ผ่านความหมายและคำจำกัดความของคำว่า เขตแดน พรมแดน และชายแดน โดยอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการปรากฏตัวขึ้นของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ตลอดจนอนุสัญญา สนธิสัญญา และข้อตกลงฉบับต่างๆที่นำมาซึ่งการกำหนดและปักปันเส้นเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศ

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2552). ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ :  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

การศึกษาลักษณะการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมในประเทศไทยและกัมพูชา ทั้งนี้ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาปราสาทเขาพระวิหารซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีผลมาจากลัทธิชาตินิยม พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา

 

ชุมพล เลิศรัฐการ. (2536). กัมพูชาในการเมืองโลก บทบาทเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. กรุงเทพฯ: ธัญญา.

การศึกษาบทบาทของเจ้าสีหนุในฐานะผู้สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชาทั้งภายในประเทศและในเวทีโลก โดยเชื่อมโยงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย เวียดนาม และกัมพูชาจากอดีตจนถึงปีพ.ศ. 2536 และปัจจัยพื้นฐานทางการเมืองสมัยใหม่อันได้แก่ ขบวนการเขมรอิสระ เจ้าสีหนุ คอมมิวนิสต์อินโดจีนและเขมรแดง ตลอดจนสถานการณ์สงครามเย็น

 

แชนด์เลอร์, เดวิด พี. (2543). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

การศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุครับวัฒนธรรมอินเดีย ฟูนัน เมืองพระนคร ต่อเนื่องถึงยุคอาณานิคม โดยแสดงให้เห็นถึงลัทธิอนุรักษ์นิยมของชาวกัมพูชาที่ยึดโยงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์-บริวาร เอื้อต่อการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่รัฐบาลสีหนุ ลอนนอล พอลพต แต่จากที่ตั้ง ภูมิประเทศ และจุดอ่อนด้านประชากรทำให้กัมพูชาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ประเทศข้างเคียงมาก ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีปัญหาในระดับจิตวิทยานอกจากนี้ ผู้ปกครองกัมพูชามักอ้างอิงอารยธรรมเมืองพระนครเพื่อชูเป้าหมายสร้างความยิ่งใหญ่ของกัมพูชา

 

ณัฐพร ไทยจงรักษ์. (2548). สภาพการดำรงชีวิตของชาวเขมรระหว่าง พ.ศ. 2518-2522 : ศึกษา “ภูมิภาค” ตะวันออก ตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การศึกษาเปรียบเทียบสภาพการดำรงชีวิตของชาวเขมรภายใต้การปกครองของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยในภูมิภาคตะวันออก ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ และผลกระทบที่เกิดขึ้นพบว่า สภาพการดำรงชีวิตของประชาชนในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ค.ศ. 1975-1976 และ ค.ศ. 1977-1979

 

ดุสิตธร งามยิ่ง. (2552). ศึกษาเปรียบเทียบท่ารำนาฏศิลป์ไทยกับนาฏศิลป์กัมพูชา จากหลักฐานทางโบราณคดี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

การศึกษาเปรียบเทียบท่ารำนาฏศิลป์ไทยกับนาฏศิลป์กัมพูชาจากหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ โบราณวัตถุ และโบราณสถาน พบว่า ลักษณะท่ารำนาฏศิลป์ของไทยกับกัมพูชามีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างไปในแต่ละยุคสมัย เช่น ท่ารำในวัฒนธรรมทวารวดี กับวัฒนธรรมก่อนเมืองพระนคร และวัฒนธรรมเมืองพระนคร สมัยพุทธศตวรรษที่ 12-16 มีความคล้ายคลึงกัน วัฒนธรรมสุโขทัยกับวัฒนธรรมหลังเมืองพระนคร พุทธศตวรรษที่ 20 มีความแตกต่างกัน เนื่องจากเกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การสืบเนื่องทางวัฒนธรรม และการเกิดพัฒนาการภายในวัมนธรรมของตนเอง โดยมีสภาพแวดล้อม ศาสนา ค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรม เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความคล้ายคลึงกัน และความแตกต่างกัน

 

ดูมาร์เซย์, ชากส์. (2548). ย้อนรอยอารยะเมืองพระนคร : ถอดรหัสงานสถาปัตย์วิเศษแห่งกัมพุชประเทศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

การศึกษาเทคนิคทางสถาปัตยกรรมของปราสาทต่างๆ ในเมืองพระนคร โดยเฉพาะการสร้างบารายปราสาทบากอง แปรรูป นครวัด นครธม บันทายสรี นาคพัน

 

เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์. (2544). ศาสนาและพิธีกรรมในชุมชนหมู่บ้านบริเวณทะเลสาบเขมร ประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

การศึกษาชุมชนสองแห่งริมโตนเลสาป พบว่า ศาสนาและความเชื่อของชาวเขมรในชุมชนมีทั้งผีบรรพบุรุษ เจ้าโตนเลสาป ศาล เครื่องราง รอยสัก คาถา ดวงชะตา ฤกษ์ยาม ทำนายฝัน และยังมีความเชื่อในเรื่องการรักษาพยาบาล-ประกอบอาชีพ ส่วนพิธีกรรมก็มีทั้งพิธีกรรมพุทธ พิธีเกี่ยวกับชีวิต พิธีกรรมในอาชีพ ซึ่งพระสงฆ์และตาจารย์ (คล้ายมรรคทายกของไทย) มีอิทธิพลชี้นำให้ชาวบ้านปฏิบัติตามคำสอนและอิทธิพลของความเชื่อ-พิธีกรรมมีส่วนช่วยในการควบคุมทางสังคม อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่มีความเกรงกลัวอำนาจเหนือธรรมชาติลดลง

 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2552). สยามประเทศไทยกับ“ดินแดน”ในกัมพูชาและลาว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

การศึกษาเรื่องปัญหา “ดินแดน” ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาและลาว โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาดินแดนกัมพูชาในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และประเด็นการเรียกร้องดินแดนใน พ.ศ. 2483 พบว่า หลักในการดำเนินนโยบายของผู้ปกครองสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 คือความพยายามรักษาสถานะของสถาบันผู้ปกครองและดินดินแดนของสยามไว้  ส่วนการสละเมืองพระตะบอง หรือมณฑลบูรพานั้น คือการสละเชิงนโยบายของรัฐบาลสยาม นอกจากนี้ชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังรับรู้ดีถึงอาณาเขตประเทศ กระบวนการสร้างความรู้ว่าไทยเสียดินแดนเมื่อไหร่ อย่างไร จึงค่อยๆถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนการเรียกร้องดินแดน พ.ศ. 2483

 

ธิบดี บัวคำศรี. (2547). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

การศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชายุคใหม่ตั้งแต่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสทำให้เกิดการจัดองค์กรแบบใหม่ในสังคม สร้างปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบฝรั่งเศส พบว่า ปัญญาชนที่มีบทบาททางการเมืองกัมพูชา ตั้งแต่ต้นศตวรรษ 1990 ถึง 1991 อาจจำแนกได้ 3 รุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นมีบทบาทในช่วงเวลาต่างๆ กัน โดยมีความสืบเนื่องทางความคิดเกี่ยวกับ “นครวัด” ที่ถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “ชาติ” มาจนถึงปัจจุบัน

 

ธิบดี บัวคำศรี. (2547). เอกสารมหาบุรุษเขมร : การศึกษางานเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกัมพูชา. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การศึกษางานเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกัมพูชาเรื่อง เอกสารมหาบุรุษเขมร ซึ่งเรียบเรียงชำระ โดย เอง สต พบว่า เป็นงานเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกชาตินิยมทั้งแบบชาตินิยมผู้ใหญ่และชาตินิยมผู้น้อย โดยการเล่าทั้งเรื่องของผู้ใหญ่และเรื่องของผู้น้อย และในบางตอนก็ให้ผู้น้อยมีบทเด่นยิ่งกว่า ทำให้เอกสารมหาบุรุษเขมรมีส่วนสำคัญในการรวบรวมผู้น้อยให้เข้ามาอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ในชาติเดียวกัน ซึ่งสอดรับกับอุดมการณ์แบบพุทธิกสังคมนิยมที่ดำรงอยู่ในสมัยสังคมราษฎร์นิยมอันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเรียบเรียงชำระเอกสารมหาบุรุษเขมร

 

ธีระ นุชเปี่ยม. (2542). การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

การวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองกัมพูชา ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ซึ่งถือว่าส่งผลสำคัญต่อสังคมกัมพูชามาจนถึงปัจจุบัน โดยนำเสนอข้อมูลพัฒนาการเศรษฐกิจและการปกครองตั้งแต่ยุคฟูนัน เจนละ ถึงช่วงอาณานิคม ที่สะท้อนถึงผลกระทบของระบบการเมืองที่มีต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม อันมีลักษณะความแตกแยกเป็นพื้นฐานนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างชาวเขมรด้วยกันเองและสงคราม

 

นภดล ชาติประเสริฐ. (2540). เจ้านโรดม สีหนุ กับนโยบายความเป็นกลางของกัมพูชา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

การศึกษานโยบายต่างประเทศของกัมพูชาตั้งแต่ได้รับเอกราชถึง 18 มีนาคม พ.ศ.  2513 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลสีหนุก่อนถูกยึดอำนาจโดยนายพลลอนนอล พยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางท่ามกลางสงครามเย็น โดยเหตุที่กัมพูชามีศักยภาพจำกัดในการสร้างอำนาจต่อรองกับนานาประเทศที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถคงความเป็นกลางไว้ได้ในที่สุด

 

นวน เฆือน. (2543). ก้าวตรงไปยังทิศตะวันตกและอินโดจีนในปี 2000. สุรินทร์: อาศรมภูมิปัญญาสถาบันราชภัฏสุรินทร์.

งานเขียนประวัติศาสตร์ของนักเขียนกัมพูชา ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์กับไทยและเวียดนาม ในลักษณะที่ชี้ถึงภัยคุกคามจากประเทศทั้งสองต่อกัมพูชา ทั้งในอดีตและอนาคต ค.ศ. 2000

 

นาริสา เดชสุภา. (2544). เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านบริเวณรอบทะเลสอบเขมร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

การศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านสองแห่งริมทะเลสาบเสียมเรียบ คือ ภูมิกรอสังระเลิง และภูมิวัดอรัญ ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2544) พบว่า ชุมชนเขมรยังผลิตเพื่อยังชีพ แต่ก็ค่อยๆ เขาสู่ทุนนิยมแล้ว

 

พงษ์พันธ์ พึ่งตน. (2552). ปราสาทพระวิหาร : การเมืองวัฒนธรรมในกัมพูชายุคสังคมราษฎร์นิยมค.ศ. 1955-1970. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การศึกษากระบวนการสร้างความหมายและความสำคัญให้กับปราสาทพระวิหาร ในทัศนะและเงื่อนไขของชาวเขมรในยุคสังคมราษฎร์นิยม พบว่า สมเด็จสีหนุใช้การเผยแพร่เอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเพื่ออ้างความชอบธรรมของกัมพูชาบนพื้นฐานคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสร้างความสำคัญให้กับปราสาทผ่านการเผยแพร่อุดมการณ์ "สังคมนิยมพระพุทธศาสนา"  และเชื่อมโยงปราสาทเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร เพื่อสะท้อนภาพความมั่นคงของระบอบสังคมราษฎร์นิยม ที่เน้นความสอดประสานกันระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองดังในสมัยเมืองพระนคร

 

พรพิมล ตรีโชติ และคณะ. (2547). การค้าชายแดนไทยกับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ในส่วนของกัมพูชา มีการนำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองของกัมพูชาตั้งแต่พ.ศ. 2531-2545 ที่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์การค้าชายแดนที่แตกต่างกัน 2 ระยะ คือ ช่วง พ.ศ. 2531-2536 ที่เขมรสามฝ่ายยังต่อสู้กับรัฐบาลเฮงสำริน เป็นอุปสรรคในการค้าชายแดน กับช่วง พ.ศ. 2536-2545 กัมพูชาหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดโดย UNTAC มีสภาพการณ์เอื้อต่อการค้าชายแดนมากขึ้น มูลค่าการค้าและหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น พร้อมข้อเสนอกลยุทธ์ 7 อย่างที่ช่วยเสริมจุดแข้งในการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาจากผู้วิจัย

 

พระสุเธีย สุวณฺณเถโร (ยนต์). (2553). การศึกษาของคณะสงฆ์ในราชอาณาจักรกัมพูชา. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

การศึกษาพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา โดยศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาและสภาพปัญหาจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศกัมพูชา พบว่า กัมพูชาได้รับพระพุทธศาสนานับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยพัฒนาการของพระพุทธศาสนามีความผูกพันกับสภาพทางการเมือง ส่วนการจัดการศึกษาจะให้ความสำคัญด้านวิชาพระพุทธศาสนาอย่างเดียวในยุคต้น แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างการจัดการศึกษาค่อนข้างชัดเจน แต่ยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน เช่น ขาดการวางแผนนโยบายการจัดการศึกษาให้เป็นเอกภาพระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้อง

 

พระสุวรรณฐา อินฺทฺริยสํวโร (ลึม). (2553). ศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศไทยกับคณะสงฆ์ในประเทศกัมพูชา. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

การศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์กัมพูชาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน พบว่า สภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์กัมพูชาสมัยอดีต มีลักษณะบริหารจัดการศึกษาเหมือนกัน พระสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการจัดการศึกษาอยู่ในระบบโรงเรียนวัด ส่วนในปัจจุบัน พบว่า มีการแบ่งส่วนงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน คือ การศึกษาทางธรรม และการศึกษาทางโลก โดยการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยได้ดำเนินการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุงโครงสร้างบริหารจัดการศึกษา พัฒนาและขยายจัดการศึกษาไปตามภาคส่วนต่างๆ ส่วนการศึกษาของคณะสงฆ์กัมพูชา มีสภาพการบริหารจัดการศึกษาไม่มีความต่อเนื่องจากผลของสงครามกลางเมืองในประเทศและจากการบุกรุกของประเทศเพื่อนบ้าน

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์. 2556. รัฐและขบวนการอนารยะสังคมไทยในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร.กรุงเทพฯ: คบไฟ.

การศึกษาบทบาทของหน่วยงานรัฐและขบวนการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในกรณีปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน และผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากบริบทของนโยบายต่างประเทศของไทยในยุคหลังสงครามเย็นที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2552). สงคราม การค้า และชาตินิยมในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา. กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

การศึกษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นการทำความเข้าใจลักษณะอำนาจของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจารีตในอุษาคเนย์ สายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรแดง และมายาคติที่มีต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (2556). ประวัติศาสตร์ผู้คนบนเส้นทางพรมแดนเขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ: มติชน.

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนว่าด้วยการปรับตัวของกลุ่มคนบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาโดยเน้นไปที่ชุมชนหมู่บ้านบริเวณปราสาทเขาพระวิหารและใกล้เคียงตั้งแต่ 150 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและความหมายของเส้นพรมแดนในแต่ละยุคเวลา โดยมองผ่านวิถีชีวิต และการทำมาหากินของคนในพื้นที่

 

พูนทรัพย์ รงคุปตวนิช. (2541). ประวัติศาสตร์กรุงพนมเปญในฐานะเมืองหลวงของกัมพูชาระหว่างปี ค.ศ. 1865-1953. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

การศึกษาประวัติศาสตร์พนมเปญในฐานะเมืองหลวงของกัมพูชาระหว่างปี ค.ศ. 1865-1953 พบว่าพนมเปญมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การสร้างเมืองอย่างต่อเนื่องเริ่มจากชุมชนเล็กๆ บริเวณเขาพนม ขยายเป็นบ้านเมือง และมีบทบาทเพิ่มในช่วงที่ฝรั่งเศสเข้าปกครอง ซึ่งฝรั่งเศสเลือกใช้พนมเปญเป็นเมืองหลวงจึงมีการออกแบบวางผังเมืองใหม่ และดำเนินนโยบายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้พนมเปญมีความเจริญและมีความสำคัญขึ้นเป็นเมืองหลวง และกลายมาเป็นพื้นฐานของกรุงพนมเปญในปัจจุบัน

 

ภัตตาจารย์, กมเลศวร. (2547). ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน.

การศึกษาศาสนาพราหมณ์ของอาณาจักรขอมเมืองพระนคร พบว่า ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย แต่มีพัฒนาการของตนเองโดยผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นจึงมีรายละเอียดความเชื่อหลายอย่างที่แตกจ่างจากอินเดีย

 

ภูมิจิต เรืองเดช. (2551). การวิเคราะห์วรรณกรรมคำสอนของไทย-กัมพูชา และลาว. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

การศึกษาเปรียบเทียบอัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ และ การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ของวรรณกรรม คำสอนของไทย กัมพูชา และลาว พบว่า วรรณกรรมคำสอนของไทย กัมพูชา และลาว มีรากฐานที่มาจากความเชื่อถือศรัทธาในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยมีต้นเค้าคำสอน คือ พระไตรปิฎก แบบลัทธิลังกาวงศ์ เป็นการประยุกต์หลักคำสอนมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในส่วนของไทยและกัมพูชาจะมีบทร้อยกรองที่ใช้แต่งวรรณกรรมคำสอน และกลวิธีทางวรรณศิลป์ในวรรณกรรมที่ใกล้เคียงกัน แต่จะแสดงลักษณ์คำสอนต่างกัน

 

มัทนียา พงศ์สุวรรณ. (2547). การเสนอแนวทางการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จากการวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาตร์ในหนังสือแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาสตร์จากหนังสือแบบเรียนของกัมพูชาและไทยพบว่า มีเนื้อหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาด้านการสงครามมากที่สุด โดยในแบบเรียนของไทย กัมพูชาเป็นอาณาจักรที่เคยเจริญมาก่อน ต่อมาไทยยึดกัมพูชาเป็นประเทศราชได้ แต่กัมพูชาก็มักฉวยโอกาสที่ไทยอ่อนแอส่งกองทัพเข้าตีเมืองของไทยเสมอ ขณะที่ในแบบเรียนของกัมพูชา นำเสนอว่า ชนชาติไทยอพยพจากตอนใต้ของจีนมาอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ไทยมักยกทัพเข้ามารุกรานกัมพูชาส่งผลให้กัมพูชากลายเป็นประเทศอ่อนแอ และกษัตริย์กัมพูชาต่างมีความพยายามที่จะกู้เอาแผ่นดินที่ไทยยึดครองกลับคืนมา

 

วารุณี โอสถารมย์. (2544). จากสรกสู่ภูมิ: ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเสียมเรียบกับหมู่บ้านสองแห่งในลุ่มน้ำทะเลสาบเขมร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

การศึกษาภาพรวมของเสียมเรียบและข้อมูลหมู่บ้านสองแห่งริมทะเลสาบเสียมเรียบ พบว่า เสียมเรียบในช่วง พ.ศ. 2541 อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเขมรแดง โดยชาวบ้านยังมีวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตามกระแสทุนและการท่องเที่ยว มีการเพิ่มอาชีพใหม่ๆ เช่น เลี้ยงกบ นาฏศิลป์ ฯลฯ มีการรื้อฟื้นความเชื่อและประเพณีที่มีวัดและตวลตาเมือง (ศาลบรรพบุรุษ) เป็นศูนย์กลางขึ้นมา มีการรักษาพยาบาลอาศัยพื้นบ้านเป็นหลักเพราะการรักษาแผนปัจจุบันที่เป็นบริการของรัฐยังไม่ทั่วถึง ขณะที่คลินิกเอกชนผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง

 

วัชรินทร์ ยงศิริ. (2547). การค้าชายแดนไทยกับกัมพูชา ปัญหาที่ประสบในปัจจุบันและแนวทางแก้ไขในอนาคต. กรุงเทพฯ: หน่วยปฏิบัติการวิจัยแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การศึกษาหามาตรการเสริมสร้างการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยคำนึงถึงเส้นทางขนส่งจากชายแดนไทยสู่จังหวัดต่างๆ ของกัมพูชา และความเป็นไปได้ในการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนอุตสาหกรรมที่กัมพูชาได้ GSP เช่นสิ่งทอ พบว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกัมพูชามีการพัฒนาและขยายตัวอย่างไม่ราบรื่นนักเพราะมีอุปสรรคจากทั้งสองฝ่าย เช่น ปัญหาระบบการชำระเงิน เส้นทางคมนาคมและระเบียบการขนส่งสินค้าในกัมพูชา บ่อนการพนัน การสัญจรข้ามแดน เป็นต้น

 

ศานติ ภักดีคำ. (2543). กวีศรีกัมพุชเทศ: ความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์กวีเขมร.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

การศึกษาประวัติกวีเขมรที่มีชื่อเสียงในสมัยต่างๆ โดยมากเป็นกวีในสมัยอุดง และสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส โดยจัดเรียงลำดับตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์พร้อมภาคผนวกลักษณะคำประพันธ์สมัยกลาง และความใกล้เคียงของบทกวีกากีเขมรกับไทย

 

ศานติ ภักดีคำ. (2553). เขมร “ถกสยาม”. กรุงเทพฯ: มติชน.

การศึกษาทัศนะและความเห็นที่กัมพูชามีต่อไทยในเอกสารประวัติศาสตร์ภาษาเขมร โดยการตั้งคำถามและนำเสนอมุมมองรวมถึงทัศนคติของชาวกัมพูชาที่มีต่อประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชาในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งในแง่มุมของนักประวัติศาสตร์ แง่มุมของภาพยนตร์ แง่มุมของตำนานพื้นบ้านกัมพูชา แง่มุมของบทเพลงพื้นบ้าน แง่มุมของวรรณกรรมยุคอาณานิคมฝรั่งเศส และแง่มุมของนักวิชาการท้องถิ่นชาวเมืองพระตะบอง 

 

ศานติ ภักดีคำ. (2556). เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ: มติชน. 

การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคหลังการล่มสลายของเมืองพระนครผ่านการศึกษาเมืองโบราณต่างๆของกัมพูชา และหลักฐานที่พบ เช่น ศิลาจารึก ซึ่งแสดงให้เห็นภาพรวมของราชธานีของกัมพูชาสมัยหลังเมืองพระนครที่มีความเกี่ยวข้องกับไทย 3 แห่ง คือ เมืองละแวก เมืองอุดงค์มีชัย และกรุงพนมเปญ  ซึ่งเป็นราชธานีในปัจจุบัน

 

ศานติ ภักดีคำ. (2546). ความสัมพันธ์ระหว่างเพลงยาวกลบทและกลอักษรในจารึกวัดพระเชตุพนฯกับบทพากย์กลบทของกัมพูชา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบคำประพันธ์ของกัมพูชาประเภท “บทพากย์” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่า รูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3-4 ของไทย และมีรูปแบบใกล้เคียงกับบทกลอนของไทย จึงสรุปว่ารูปแบบคำประพันธ์ประเภทบทพากย์ 6-11 เขมรน่าจะได้รับอิทธิพลจากรูปแบบคำประพันธ์ประเภทกลอน (เพลงยาว) กลบทและกลอักษรของไทย โดยนำไปดัดแปลงเป็นบทพากย์แต่ละแบบ

 

ศานติ ภักดีคำ. (2544). พราหมณ์เขมรสมัยหลังเมืองพระนคร ในกัมพูชา : ภูมิลักษณ์ ประชาชนและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

การศึกษาสถานภาพของพราหมณ์เขมรในยุคหลังเมืองพระนคร ซึ่งชาวเขมรเปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนาเถรวาท จึงเหลือพราหมณ์ในราชสำนักเขมรจำนวนน้อยลง พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พราหมณ์ในราชสำนักเขมรยังเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในสังคม โดยเฉพาะด้านพิธีกรรมที่สามารถทำร่วมกันระหว่างพระสงฆ์กับพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์เป็นกรมขุนนางที่สำคัญควบคู่กับกรมสังฆการีของพุทธศาสนา

 

ศานติ ภักดีคำ. (2545). นครวัดทัศนะเขมร รวบรวมบทรจนาเกี่ยวกับปราสาทนครวัดโดยกวีและนักปราชญ์เขมร. กรุงเทพฯ: มติชน.

รวมบทความที่ถอดความจากภาษาเขมร เกี่ยวกับนครวัดในงานเขียนของปราชญ์กัมพูชา อันเป็นมุมมองในช่วงเวลาต่างๆ ทำให้เห็นว่าชาวกัมพูชามิได้ละทิ้งนครวัดอย่างสิ้นเชิงเมื่อย้ายเมืองหลวงออกไป ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองพระนครและมีหลักฐานแสดงความต่อเนื่องของการไปนครวัดเพื่อสักการะบูชา สร้างเสริม หรือบูรณะ บางส่วนของชาวกัมพูชาเองจนถึง ค.ศ. 1747

 

สมบูรณ์ สุขสำราญ. (2533). พุทธศาสนากับความชอบธรรมทางการเมือง: กรณีเปรียบเทียบประเทศไทย ลาว และกัมพูชา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

การศึกษาเปรียบเทียบบทบาทพุทธศาสนาต่อรัฐไทย ลาว กัมพูชา ในช่วง พ.ศ. 2493-2513 พบว่าตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ทั้งสามชาติ พุทธศาสนา พระสงฆ์ และรัฐ มีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันมาโดยตลอด ในส่วนของกัมพูชาผู้นำรัฐบาลตั้งแต่สีหนุ ลอนนอล ซอนซาน พอลพต และเฮงสัมริน ล้วนพยายามใช้พุทธศาสนาในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองการปกครองของกลุ่มตน แต่ก็ส่งผลให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐโดยกลุ่มทางศาสนาอย่างง่ายได้เมื่อมีเหตุให้เกิดคามขัดแย้ง หรือในช่วงที่อำนาจปกครองของรัฐอ่อนแอ

 

สีดา สอนศรี, บก. (2546). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

บทความของธีระ นุชเปี่ยม เรื่องการเมืองในกัมพูชา ในเล่มนี้ ให้ภาพกว้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของกัมพูชาตั้งแต่เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสถึงราว ค.ศ. 1996 เน้นบทบาทของผู้นำฝ่ายต่างๆ โดยในช่วงทศวรรษ 1990 กัมพูชาผ่านการเลือกตั้งทั่วไปตามแนวทางสันติภาพแล้ว แต่สภาวะความตึงเครียดในระบบการเมืองที่ยังมีความขัดแย้งและพร้อมต่อสู้ด้วยความรุนแรงยังคงมีอยู่ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง การบริหารราชการก็อ่อนแอขาดสิ่งที่จัดว่าเป็น “กลไกของรัฐ” อย่างระบบราชการซึ่งมีแต่ “คนของพรรค” ที่หวาดระแวงไม่ไว้วางใจกันอย่างลึกซึ้งเท่านั้น

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ, ทองน้อย สกลสุภา, และ เคียน ยน. (2553). เครื่องดนตรีกัมพูชาโบราณ. นครปฐม: สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

การศึกษารวบรวมเครื่องดนตรีโบราณของกัมพูชา ชนิดต่างๆ โดยทำการศึกษาลักษณะของเครื่องดนตรี ชื่อเครื่องดนตรีกัมพูชาโบราณ บันไดเสียง (Scale)  ระยะห่างของเสียง (Interval) ความถี่เสียง (Frequency) ของเครื่องดนตรีกัมพูชาตั้งแต่สมัยโบราณ และนำโน้ตดนตรีตะวันตกที่จำเป็นจำนวนหนึ่งมาใช้กับดนตรีกัมพูชาโบราณด้วย

 

อรอนงค์ น้อยวงศ์. (2541). กัมพูชา นโยบายต่างประเทศไทยสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

การศึกษาองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยต่อปัญหากัมพูชาในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531) พบว่า ท่าทีและพฤติกรรมของเวียดนามและการสนับสนุนของโซเวียต ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี 2530 ที่กอร์บาชอฟเป็นผู้นำโซเวียตและปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของไทยต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกัมพูชา

 

อดุลย์ ตะพัง. (2543). รายงานการวิจัยการเปรียบเทียบไตรภูมิกถากับไตรภูมิฉบับภาษาเขมร. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

การวิจัยเพื่อเปรียบเทียบไตรภูมิกถาของไทยกับไตรภูมิฉบับเขมรในด้านเนื้อความ ภาษา การนำเสนอ แนวความคิด จุดมุ่งหมายในการแต่ง และศึกษาอิทธิพลด้านวรรณกรรมระหว่างไตรภูมิกถากับไตรภูมิฉบับเขมรว่า มีความหมายสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง ผลของการเปรียบเทียบพบว่า มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของเนื้อความ คำศัพท์ที่ใช้บรรยายเนื้อเรื่อง และลำดับการนำเสนอ รวมถึงจุดประสงค์ในการแต่ง แต่โดยรวมแล้วสะท้อนอิทธิพลทางวรรณกรรมของไตรภูมิฉบับภาษาไทยต่อไตรภูมิฉบับภาษาเขมร

 

อุจ อุม, รัตนา. (2547). เศรษฐกิจวัฒนธรรม การทำนาของเกษตรกรในจังหวัดพระตะบอง พระราชอาณาจักรกัมพูชา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทำนาของเกษตรกรจังหวัดพระตะบองในอดีตก่อนการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน พบว่า เศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของเกษตรอาศัยน้ำเป็นแรงขับเคลื่อนการทำมาหากิน คือการปลูกข้าวโดยเฉพาะข้าวเจ้า เกษตรกรที่ทำนามีขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลมากจากความเชื่อดั้งเดิมที่ผสมผสานกันระหว่างความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ทำให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยา เป็นศูนย์รวมจิตใจ มีกิจกรรมร่วมกัน มีการเอื้ออาทรต่อกันฉันท์มิตรสหาย แต่ปัจจุบันพิธีกรรมความเชื่อบางอย่างเริ่มสูญสลายไปด้วยการแทนที่ของระบอบทุนนิยม     

 

อุดม เกิดพิบูลย์. (2551). กัมพูชายุคใหม่ วาระเศรษฐกิจและการเมือง. เชียงใหม่: บริษัทโชตนาพริ้นท์ จำกัด.

การศึกษาสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาในปัจจุบัน โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วนคือการศึกษาการเข้าร่วมระบบเศรษฐกิจโลกและระบบเศรษฐกิจภูมิภาคของกัมพูชา โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า อุตสาหกรรมการเกษตร และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาปรากฏการณ์เขมรแดงและการพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา

 

อุไรศรี วรศะริน. (2545). ประชุมอรรถบทเขมร: รวมบทความวิชาการของศาสตรจารย์เกียรติคุณดร.อุไรศรี วรศะริน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

การรวมบทความวิชาการเกี่ยวกับกัมพูชา 14 เรื่อง จำแนกเป็น 3 ภาค คือ ภาคจารึก ภาคภาษาศาสตร์ และภาคประวัติศาสตร์ โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ให้ความรู้เกี่ยวกับอาณาจักรศรีจนาศะ ภาพสลักรามเกียรติ์ตอนนาคบาศที่ปรากฏบนทับหลังสมัยลพบุรี ลัทธิเทวราชา ที่ผู้เขียนเสนอว่า เป็นลัทธิทางศาสนา (ไม่ใช่การปกครองอย่างที่เข้าใจกัน) และประวัติศาสตร์กัมพูชา ที่แปลจากงานของ M.Giteau (ส่วนก่อนประวัติศาสตร์ถึงเมืองพระนคร) ตลอดจนเนื้อหาข้อมูลจากจารึกที่ได้แปลความออกมา และความรู้เกี่ยวกับภาษาเขมรเชิงนิรุกติศาสตร์

 

Ayres, David M. (2003). Anatomy of a Crisis: Education, Development, and the State in Cambodia 1953-1998. Chiang Mai: Silkworm Books.

การศึกษาประวัติศาสตร์การศึกษาในกัมพูชาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ยุคเอกราช ยุคเขมรแดง จนถึงยุคปัจจุบัน พบว่า การศึกษาในยุคอาณานิคมได้สร้างผู้นำกัมพูชาที่มีแนวคิดในการสร้างชาติต่างๆกัน ทั้งยังมีส่วนผสมระหว่างการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนให้มุ่งสู่ความทันสมัย เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ และภูมิภาคนิยม ขณะที่พฤติกรรมทางการเมืองยังอยู่ในแบบดั้งเดิม ซึ่งยอมรับอำนาจของผู้นำรัฐ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากชนชั้นสูงของกัมพูชาเป็นผู้เลือกรับระบบการศึกษาตะวันตกเข้ามาในแบบที่มุ่งรักษาระบบสังคมเดิมไว้

 

Becker, Elizabeth. (1998). When the war Over: Cambodia and the Khmer RougeRevolution. New York: PublicAffairs.

การศึกษาสถานการณ์การเมืองยุคเขมรแดง พบว่าสหรัฐอเมริกาและเวียดนามมีส่วนในการเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของกัมพูชาจนกระทั่งรัฐบาลเขมรแดงได้ครองอำนาจ และการที่เขมรแดงมีแนวคิดขัดแย้งกับคอมมิวนิสต์อื่นนำไปสู่ปฏิการทำลายชีวิตครอบครัวและวิถีการผลิตของสังคมเดิมเพื่อมุ่งสู่สังคมใหม่ แต่ล้มเหลว

 

Brown, M., & Zasloff, J. J. (1998). Cambodia confounds the peacemakers 1979-1998. Ithaca, N.Y.: Cornell University Press.

การศึกษาสถานการณ์การเมืองกัมพูชาระหว่าง ค.ศ. 1979-1998 พบว่า มีกระบวนการต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลฮุนเซนและเจ้าสีหนุ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างช้าๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 และเกิดกระบวนการสร้างสันติภาพของนานาชาติจนนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี ค.ศ. 1993 แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกัมพูชายังไม่สงบ UNTAC จึงต้องดำเนินการกระบวนการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยจนเกิดการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1998

 

Buthdy, Sem. (2005). A Study of Election Related Political Violence as an Obstacle to Democratic Consolidation in Cambodia. Thesis (M.A.) Human Rights, Mahidol University.

การศึกษาแบบแผนความรุนแรงทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี ค.ศ. 2002 และการเลือกตั้งระดับชาติในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งมีทั้งการฆาตกรรม ข่มขู่ และหายสาบสูญ พบว่า ปริมาณปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นลดลงดูเหมือนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการใช้ความรุนแรง เนื่องจากสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่าสามสิบปีทำให้มีการปลูกฝังทัศนคติทางการเมืองที่ต้องอาศัยความรุนแรงเป็นหลักประกันความสำเร็จในการเลือกตั้ง ประกอบกับ UNTAC ล้มเหลวในการปลดอาวุธทุกกลุ่มการเมือง และความช่วยเหลือจากต่างชาติที่ให้รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ผูกติดเงื่อนไขในการลดความรุนแรงทางการเมือง

 

Chandler, David P. (1989). The Red Khmers and Domestic Politics in Cambodia. Bangkok: Chulalongkorn University.

การศึกษาการเมืองกัมพูชาในช่วงก่อนและระหว่างการปกครองของเขมรแดง พบว่า พื้นฐานและแหล่งที่มาของอำนาจแตกต่างกันระหว่างเจ้าสีหนุ กับเขมรแดง กล่าวคือ เจาสีหนุเป็นชนชั้นสูงของกัมพูชา ด้วยฐานะกษัตริย์จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชน และแสดงตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐกัมพูชา รวมถึงกระทำเหมือนกัมพูชาเป็นสมบัติของตน โดยผูกขาดอำนาจไว้และกระทำตามใจ ขณะที่เขมรแดงเชื่อในความถูกต้องของอำนาจที่ได้มาจากการต่อสู้ อุดมการณ์ที่ยึดถือร่วมกัน และประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของกัมพูชายุคเมืองพระนคร

 

Chandler, David P. (1991). The Land and People of Cambodia. New York: HarperCollinsPublishers.

เอกสารนำเสนอข้อมูลพื้นฐานและประวัติศาสตร์โดยสังเขปของกัมพูชาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงหลังกระบวนการสันติภาพกัมพูชา (ค.ศ. 1991)

 

Chandler, David P. 1991. The Tragedy of Cambodian History: Politics, War, and Revolution Since 1945. London: Yale University Press.

ประวัติศาสตร์กัมพูชาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงปี ค.ศ. 1979 เน้นช่วงสงครามกลางเมืองและการปฏิวัติที่นำไปสู่การปกครองของเขมรแดง ยุคพอลพต โดยอธิบายเหตุผลที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ ผลต่อประวัติศาสตร์กัมพูชา และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

Chandler, David P. (1996). Facing the Cambodian Past: Selected Essays 1971-1994. Chiang Mai: Silkworm Book.

รวมบทความกัมพูชาศึกษาตั้งแต่ยุคเมืองพระนคร เกี่ยวกับตำนานพระเจ้าขี้เรื้อน คำแปลจารึกนครวัด และแนวคิดความเชื่อทางศีลธรรมเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และงานศึกษาหลากหลายมุมเกี่ยวกับกัมพูชาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ก่อนอาณานิคม) ยุคอาณานิคมต่อเนื่องกับเขมรแดง และท้ายสุดเป็นการทบทวนงานเดิมของผู้เขียนเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมกัมพูชาตั้งแต่ยุคเอกราชถึงเขมรแดง

 

Chandler, David P. Ben Kiernan and Chanthou Boua, eds. (1988). Pol Pot Plans the Future: Confidential Leadership Documents from Democratic Kampuchea, 1976-1977. New Haven, Conn.: Yale University, Southeast Asia Studies.

งานแปลเอกสารสำคัญของเขมรแดง 8 ชิ้น ที่พบหลังในช่วงการปกครองของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา อันเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้แนวคิดและแผนการต่างๆ ของรัฐบาลเขมรแดงในช่วง ค.ศ. 1975-1979 โดยเฉพาะแผนการสร้างรัฐสังคมนิยม และการจำแนก ‘ศัตรู’ ของการปฏิวัติที่เป็นกลุ่มคนในระดับกลางและระดับล่างของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

 

Chandler, David. (2000). Voices from S-21: Terror and History in Pol Pot’s Secret Prison. Chiang Mai: Silkworm books.

การศึกษาเกี่ยวกับคุก S-21 หรือตวนแสลงค์ ยุคแขมรแดงว่าทำงานอย่างไร ใครคือศัตรูที่ถูกคุมขัง มีโครงสร้างการไต่สวนนักโทษอย่างไร การทรมานถูกนำมาใช้เมื่อใด พบว่า คุกลักษณะนี้มิใช่รูปแบบของคอมมิวนิสต์ทั่วไป แต่เกิดขึ้นในกัมพูชา ด้วยรูปแบบที่สืบต่อจากการดำเนินการไต่สวนนักโทษในอดีต ซึ่งในระบบนี้ผู้คุมหรือผู้ปฏิบัติงานใน S-21 ก็เป็นเหยื่อของความหวาดกลัวและการที่อาจกลายเป็นนักโทษคนต่อไปด้วย

 

Coe, Michael D. (2003). Angkor and the khmer Civilization. London : Thames and Hudson.

การศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเน้นอารยธรรมเมืองพระนคร ซึ่งเติบโตมาจากการได้รับอิทธิพลอินเดียและเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผู้คนในดินแดนมีผลผลิตส่วนเกินมากเพียงพอที่จะพัฒนาขึ้นเป็นอาณาจักรฟูนัน เจนละ และเมืองพระนคร ก่อนที่เมืองพระนครจะค่อยๆ เสื่อมลงด้วยสาเหตุร่วมหลายประการทั้งการเปลี่ยนศาสนา ผลกระทบจากการเติบโตของสยามและเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งทางการค้าชายฝั่งและคู่สงครามที่โจมตีเพื่อยึดครองกัมพูชา

 

Gottesman, Evan. (2003). Cambodia after the Khmer Rouge: Inside the Politics of Nation Building. New Haven: Yale University Press.

การศึกษาเกี่ยวกับการสร้างประเทศกัมพูชาขึ้นใหม่หลังการล้มล้างรัฐบาลเขมรแดง พบว่า การก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำฝ่ายต่างๆ ในกัมพูชา เป็นผลสืบเนื่องจากยุคเขมรแดงที่พยายามทำลายชนชั้นปัญญาชน และยกเลิกระบบเศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรมกัมพูชา ประกอบกับการทรกแซงของกองทัพเวียดนามในวันที่ 7 มกราคม 1979 ซึ่งเคยเป็นศัตรูในประวัติศาสตร์ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์โลกในทศวรรษ 1980 ซึ่งกัมพูชาดำรงอยู่ได้ด้วยกองทัพเวียดนามกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากโซเวียตที่เป็นมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งในสงครามเย็น

 

Heder, Stephen P. (1979). The Kampuchean-Vietnamese Conflict, from Southeast Asian Affairs 1979. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.

การศึกษาความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามในช่วง ค.ศ. 1977-1978 พบว่า ปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดนขยายตัวเป็นความขัดแย้งอย่างหนัก เนื่องจากความแตกต่างของโลกทัศน์ที่มาจากประสบการณ์พื้นฐานที่ต่างกันระหว่างคอมมิวนิสต์กัมพูชากับคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทั้งบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อีกทั้งยังอยู่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างจีนและโซเวียตที่หนุนหลังแต่ละฝ่ายอยู่

 

Heder, Stephen R. (1980). Kampuchea October 1979-August 1980 : The Democratic Kampuchea Resistance, the Kampuchean Countryside, and the Sereiker. Bangkok: n.p.

บทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองกัมพูชาในช่วงเดือน ต.ค. 1979 - ส.ค. 1980 โดยเน้นความอ่อนแอ

ทางการทหารและการเมืองของอดีตรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยที่ถูกเวียดนามโจมตีจนพ่ายแพ้ และผู้เขียนคาดว่าจะลดบทบาทต่อการเมืองกัมพูชาลงอย่างมาก ในขณะที่รัฐบาลขณะนั้นมีแนวโน้มต้องเผชิญกับการต่อสู้ของฝ่ายต่างๆ ที่ยังคงมุ่งหวังอำนาจในการปกครองกัมพูชา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลในการปกครองประเทศ

 

Heder, Stephen R. (1980). Kampuchean Occupation and Resistance : Kampuchea in Turmoil. Bangkok: Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University.

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกัมพูชาภายใต้ระบบการปกครองของรัฐบาลที่เวียดนามตั้งขึ้นพบว่า หลังการยึดครองกัมพูชาของกองทหารเวียดนามซึ่งต้องการอาหารจากกัมพูชาด้วย ภาวะขาดแคลนอาหารของกัมพูชายิ่งแย่ลง ทั้งจากสภาพอากาศ การอพยพกลับภูมิลำเนาของผู้คน ความอดยากทำให้แรงงานไม่แข็งแรง ขาดระบบช่วยเหลือด้านอาหารจากรัฐบาล ทำให้คนจำนวนมากอพยพออกไปตามแนวชายแดน กองกำลังเขมรแดงที่ไปอยู่ตามแนวชายแดน ก็ขาดอาหาร ยารักษาโรค และอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ส่วนขบวนการเขมรเสรีอื่นๆก็แตกแยกไม่สามารถต่อต้านเวียดนามได้ เจ้าสีหนุที่อาจเป็นผู้ประสานเขมรทุกฝ่ายก็เคยมีปัญหากับแต่ละฝ่าย จึงทำให้กัมพูชายากที่จะหลุดพ้นจากเวียดนาม

 

Heder, Stephen. (1980). Kampuchea: From Pol Pot to Pen Sovan to the Villages from International Conference on Indochina and Problems of Security and Stability in Southeast Asia. Bangkok: Institute of Asian Studies.

การศึกษากระบวนการส่งต่อความช่วยเหลือจากรัฐบาลสู้ประชาชนในระดับหมู่บ้านของกัมพูชาตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงยุคหลังเขมรแดง พบว่า ความช่วยเหลือต่างๆ มีการสูญเสียไปตามเส้นทางและการจัดการของหน่วยย่อยที่เกี่ยวข้อง จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อมีการส่งความช่วยเหลือจากนานาชาติผ่านกลไกแบบเดิมลงสู่หมู่บ้านก็จะประสบผลแบบเดียวกัน โดยสาเหตุเกิดจากการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะความรู้ไปในช่วงรัฐบาลเขมรแดง ทำให้กัมพูชาอ่อนแอทั้งระดับส่วนกลางและในหมู่บ้าน

 

Heder, Stephen. (1991). Pol Pot and Khieu Samphan. Clayton, Vic., Australia: Centre of Southeast Asian Studies, Monash University.

การวิเคราะห์การดำเนินงานของเขียว สัมพัน และความสัมพันธ์กับ พอลพต และเจ้าสีหนุว่า เขียวสัมพัน เป็นเผด็จการที่ร่วมกันทำลายล้างเหยื่อเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง

 

Heder, Steve and Judy Ledgerwood, eds. (1996). Propaganda, Politics, and Violence in Cambodia : Democratic Transition under United Nations Peace-keeping. Armonk, N.Y.: M.E. Sharpe.

งานรวบรวมบทความ 8 บทความเกี่ยวกับงานของ UNTAC ในกัมพูชาที่เสนอมุมมองอย่างน่าสนใจและก่อคำถามสำคัญเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ความรุนแรง ชาตินิยม หลักประกันความปลอดภัย ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสของกลุ่มเขมรแดง

 

Heder, Steven. (2004). Cambodian Communism and the Vietnamese Model : Imitation and Independence, 1930-1975. Bangkok: White Lotus.

การศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างคอมมิวนิสต์กัมพูชากับคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงปี 1930-1975 พบว่า ผู้นำของขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากแนวคิดมาร์ก-เลนิน ซึ่งส่งผ่านมาทางจีนและเวียดนามอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยอาวุธและสงคราม โดยมีผู้นำขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชาส่วนหนึ่งเลือกใช้โมเดลของคอมมิวนิสต์เวียดนามในการปฏิบัติการภายใต้การให้คำปรึกษาและความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากคอมมิวนิสต์เวียดนาม

 

Higham, Charles. (2001). The Civilization of Angkor. London: Weidenfeld & Nicolson.

การศึกษาพัฒนาการอารยธรรมเมืองพระนคร พบว่า แบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อนประวัติศาสตร์ (1500-1000 B.C.) ระยะที่ 2 รัฐปากแม่น้ำ (ค.ศ. 150-550) ระยะที่ 3 เจนละ (ค.ศ. 550-800) ระยะที่ 4 เมืองพระนคร (ค.ศ. 800-1432) ซึ่งมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องกันแต่ละช่วง และมีความสัมพันธ์ระหว่างความก้าวหน้าของวิถีการผลิตกับระบบบริหารจัดการของสังคม

 

Hong, Lim Siv. (1996). Potentials and Constraints of Local Women’s Organization in Cambodia. Thesis (M.R.D.M.) Rural Development Management, Khon Kaen University.

การศึกษาศักยภาพและข้อจำกัดของการพัฒนาองค์กรสตรีท้องถิ่นกัมพูชา 3 องค์กรที่ก่อตั้งมานานกว่า 4 ปีพบว่า มีปัจจัยที่สร้างความเข้มแข็ง ได้แก่ การส่งเสริมของรัฐบาล สภาพสังคมที่เอื้อต่อการยอมรับบทบาทของสตรี มีแหล่งทุนสนับสนุน บุคลากรขององค์กรมีอุดมการณ์และความเข้าใจที่ชัดเจน ระบบบริหารจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพและเป้าหมายชัดเจน ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค คือ แหล่งทุนเน้นให้ทุนกิจกรรมจึงขาดค่าบริหารจัดการองค์กร และทุนเพื่อสวัสดิการแก่บุคลากร ขาดแผนพัฒนาบุคลากรในองค์กร รวมทั้งแนวทางการทำงานยังเน้นการพัฒนา “สตรี” มากกว่าการคำนึงถึง “ความสัมพันธ์หญิงชาย” (Gender) กับการพัฒนา

 

Hun, Pen. (2008). The revival of Cambodian classical dance after 1979. Thesis (M.A.) Southeast Asian Studies Chulalongkorn University.

การศึกษาวิวัฒนาการของนาฏศิลป์กัมพูชาตั้งแต่คริสต์ศักราชที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โดยเน้นที่ยุคหลังสมัยเขมรแดง พบว่า การฟื้นฟูนาฏศิลป์ของกัมพูชาเป็นผลมาจากการสนับสนุนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักรำ และชนชั้นสูง อย่างไรก็ตามนาฏศิลป์กัมพูชาก็ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายอย่างใหม่ คือการที่นาฏศิลป์ถูกทำให้เป็นสินค้า และความกดดันด้านอื่นๆ จากกระแสโลกาภิวัตน์

 

Kersten, Carool, tr. (2003). Strange Events in the Kingdoms of Cambodia and Laos (1635-1644). Bangkok: White Lotus.

การศึกษาการขยายอาณานิคมของดัตช์ ช่วง ค.ศ. 1635-1644 ในเขตกัมพูชาและลาว พบว่า บริษัท อินเดียตะวันออกของดัตช์เข้ามาตั้งสำนักงานที่กัมพูชาเพื่อทำการค้า อันจัดเป็นจุดเริ่มของการถูกผนวกเข้าสู่กระแสโลก และการแข่งขันการค้าในกัมพูชาระหว่างดัตช์กับโปรตุเกสในระยะต่อมาก็ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางการเมืองของกัมพูชา

 

Ledgerwood, J., Mortland, C. A., & Ebihara, M. (1994). Cambodian culture since 1975 : homeland and exile. Ithaca, N.Y.: Cornell University Press.

รวมบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมกัมพูชาสมัยใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา ในหลายด้าน ได้แก่ วรรณกรรม ดนตรีพื้นเมือง การรื้นฟื้นการแสดงสวมหน้ากาก วัดพุทธศาสนาในปารีส คณะสงฆ์ในสหรัฐอเมริกา ภาษิต และคำอุปมาเกี่ยวกับเขมรแดง

 

Locard, Henri. (2004). Pol Pot’s Little Red Book: The Sayings of Angkar. Chiang Mai: Silkworm Books.

การศึกษาเนื้อหาจากหนังสือเล่มเล็กที่ผู้นำเขมรแดงจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของ “องค์การ” ยึดถือตาม ซึ่งสะท้อนอุดมการณ์และแนวทางปฏิบัติงานภายใต้รัฐบาลเขมรแดง ในช่วง ค.ศ. 1975-1979

 

Ly, Vanna. (2004). Experience of the “New People” during the Khmer Rouge Regime and its Effect on their Lives in the Present Time. Thesis (M.A.) Southeast Asian Studies, Chulalongkorn University.

การศึกษาประสบการณ์ของ “ประชาชนใหม่” ในช่วงสมัยเขมรแดงซึ่งต้องเผชิญกับการสังหารชีวิตภาวะขาดอาหาร การถูกใช้งานหนักเกินกำลัง การถูกทรมาน การเลือกปฏิบัติ คำขู่ว่าจะถูกสังหาร การสูญเสียญาติพี่น้องและเพื่อน และการสูญเสียทรัพย์สมบัติและโอกาสในชีวิต พบว่าผู้รอดชีวิตจากช่วงสมัยเขมรแดงยังคงจดจำ ระลึกถึง และมีฝันร้ายเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้น ภาพทั้งหมดในความทรงจำของเขาส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวของคนเหล่านั้น

 

Martin, Marie Alexandrine. (1994). Cambodia: A Shattered Society. Berkeley:University of California Press.

การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของกัมพูชาตั้งแต่การเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเรื่อยมาจนถึงยุคเอกราช สงครามกลางเมืองและความพยายามสร้างสันติภาพ โดยเน้นเรื่องราวทางชาติพันธุ์วรรณาที่ผู้เขียนสัมภาษณ์จากผู้อพยพชาวกัมพูชาที่ค่ายผู้อพยพบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และที่ฝรั่งเศส พบว่า เงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์และผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ มีส่วนสำคัญต่อชะตากรรมของกัมพูชา ขณะที่ความพยายามของนานาชาติในการช่วยนำสันติภาพมาสู่กัมพูชายังไม่มีท่าทีจะบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย

 

Mom, Theavy. 2003. Factors for Women’s Success in Obtaining Parliamentary Positions in Cambodia. Thesis (M.A.) Human Rights, Mahidol University.

การศึกษาปัจจัยความสำเร็จของผู้หญิงในการชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนปี ค.ศ. 1998 พบว่าปัจจัยสำคัญมี 2 ด้านคือ ปัจจัยด้านตัวบุคคลและปัจจัยด้านสังคม ซึ่งผู้สมัครหญิงที่ประสบความสำเร็จอยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี มีการศึกษาระดับสูง มีประสบการณ์ทำงานหลายปีในพรรคการเมืองหรือทำงานกับกลุ่มคนรากหญ้า และมีเครือข่ายทางการเมืองที่ดี และได้รับการสนับสนุนด้วยแนวทางที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประกันว่า จะไม่มีความรุนแรงในระหว่างการเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยทางสังคม เช่น การสนับสนุนจากสามีและครอบครัว การสนับสนุนของสื่อมวลชน เป็นต้น

 

Morris, Stephen J. (1999). Why Vietnam Invaded Cambodia: Political Culture and the Causes of War. Stanford, California: Stanford University Press.

การศึกษาสาเหตุที่เวียดนามบุกยึดกัมพูชาในปี ค.ศ. 1978 โดยใช้เอกสารจากโซเวียตด้วย และเน้นมุมมองของเวียดนามต่อความสัมพันธ์กับกัมพูชา โซเวียต และจีน พบว่า การกระทำดังกล่าวมาจากแรงขับเคลื่อนทางอุดมการณ์ที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งค่านิยม ทัศนคติและการรับรู้ที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตามการดำเนินการของสหรัฐต่อภูมิภาคนี้ในช่วง ค.ศ. 1973-1975 ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเวียดนามในการบุกกัมพูชา

 

Ngoun, Kimly. (2006). The legend of Preah Ko Preah Keo and its influence on the Cambodian people's perception of the Thais. Thesis (M.A.) Southeast Asian Studies, Chulalongkorn University.

การศึกษาการรับรู้ของชาวกัมพูชาที่มีต่อชาวไทยตามที่ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องพระแก้ว-พระโคในฉบับต่าง และอิทธิพลของตำนานที่มีผลต่อการรับรู้เกี่ยวกับชาวไทยของหนุ่มสาวชาวกัมพูชาในกรุงพนมเปญที่ได้รับการศึกษา พบว่า ตำนานเรื่องพระโคพระแก้วทุกฉบับเสนอภาพโดยทั่วไปของคนไทยเชิงลบ ไทยถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมของกัมพูชา โดยตำนานดังกล่าวมักเป็นที่นิยมและส่งอิทธิพลเมื่อเกิดความปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตามหนุ่มสาวชาวพนมเปญที่ได้รับการศึกษาในปัจจุบันมีการรับรู้ต่อชาวไทยทั้งในด้านบวกและด้านลบ แต่การรับรู้ในด้านลบนั้นก็ไม่ได้เป็นผลมาจากตำนาน

 

Osborne, Milton E. (2004). Before Kampuchea: Preludes to Tragedy. 2nd ed. Bangkok: Orchid.

การศึกษาเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1966 ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกัมพูชาที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในปี 1975 และต่อเนื่องถึงปี 1979 ที่ถูกเวียดนามยึดครอง โดยเน้นบทบาทของเจ้าสีหนุต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว