ติมอร์เลสเต - ชาติพันธุ์



          ติมอร์เลสเตเป็นประเทศเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนหมู่เกาะขนาดเล็ก มีพื้นที่ราว 14,847 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ อาทิ ชาวจีน ชาวอาหรับ ชาวอินโดนีเซีย คนเหล่านี้บางส่วนเข้ามาทำการค้าขายบางส่วนเป็นผู้อพยพ เข้ามาตั้งรกรากสร้างครอบครัวโดยแต่งงานกับชาวพื้นเมืองและมีทายาทอยู่ในพื้นที่ (Andrea Katalin Molnar, 2010:9)  ปัจจุบันติมอร์เลสเตมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 16 กลุ่ม กระจายตัวอาศัยในอำเภอต่างๆ รัฐบาลได้จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามตระกูลภาษา คือ

          1.กลุ่มออสโตรนีเชียน (Austronesian Affrinity) ประกอบด้วย 1.1 Tetun Terik 1.2 Mambai  1.3 Tetum Prasa 1.4 Kemak 1.5 Tokodede 1.6 Galoli 1.7 Naueti 1.8 Idate 1.9 Raklunga 1.10 Baikenu 1.11 Atoni 1.12 Waima’a 1.13 Midiki ในจำนวน 13 กลุ่มนี้มีกลุ่ม Tetun Terik และ Mambai เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด (พรชัย สุจิตต์, 2557:15)

          2.กลุ่มปาปวน (Papuan Affinity) ประกอบด้วย 2.1 Makasai 2.2Bunak 2.3 Fataluku           2.4 Makalero (พรชัย สุจิตต์, 2557:15)

          วัฒนธรรมการสร้างหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองบางกลุ่มเช่น Tetum Prasa และ Mambai มีลักษณะเด่นที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติคือการสร้าง Uma luli คือบ้านที่เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในหมู่บ้าน สิ่งของต่างๆ ทุกชิ้นที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจะถูกเก็บไว้ใน Uma luli นี้ และหากว่าหมู่บ้านใดมีการย้ายสถานที่ตั้งของหมู่บ้าน เมื่อไปถึงสถานที่ใหม่นั้นจะต้องสร้าง Uma luli เป็นหลังแรกก่อนที่จะสร้างบ้านหลังอื่น (Andrea Katalin Molnar, 2010:10-11)     

          รูปแบบสังคมของชาวติมอร์อยู่ในลักษณะชายเป็นใหญ่ ประเด็นปัญหาจากวัฒนธรรมทางสังคมลักษณะนี้คือการละเมิดสิทธิสตรี เช่น การที่ภรรยาถูกทำร้ายร่างกายจากสามี เนื่องจากหญิงชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นฝ่ายพึ่งพิงสามีในการดำรงชีวิต (CULTURAL SURVIVAL, 2016) ดังนั้นภรรยาจึงต้องจำนนต่อปัญหาดังกล่าวอย่างไม่มีทางเลือก กระทั่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.2010 รัฐสภาแห่งชาติของติมอร์เลสเตได้ผ่านกฏหมายต่อต้านความรุนแรงภายในครอบครัว (Law Against Violence) ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.2010 นายซานานา กุสเมา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีขณะนั้นได้ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานของสหประชาชาติ เผยแพร่ความสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในติมอร์เลสเต (พรชัย สุจิตต์, 2557:47-48) ทั้งนี้ช่องทางในการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดนอกจากกฎหมายและความร่วมมือจากทุกฝ่ายแล้ว สตรีชาวติมอร์ควรถูกผลักดันให้มีการศึกษาและมีอาชีพ เพื่อความสามารถในการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพิงแต่ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น

 

บรรณานุกรม

    Andrea Katalin Molnar. (2010). Timor Leste Politics,history,and culture. Newyork: Routledge.

    CULTURAL SURVIVAL. (2016). Observations on the State of Indigenous. เรียกใช้เมื่อ 04 July 2016 จาก www.culturalsurvival.org Web site: https://www.culturalsurvival.org/sites/default/files/media/uprreporttimor-leste2016.pdf

    พรชัย สุจิตต์. (2557). แนะนำประเทศติมอร์เลสเต. กรุงเทพมหานคร: เมืองโบราณ.