ติมอร์-เลสเต - ศิลปะการแสดง



          ติมอร์ตะวันออกมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 16 กลุ่มมีศิลปะการแสดงที่หลากหลายเช่น Soro tais, Sau batar,Foti raba, Likurai,Bidu, Tebedai, Tabe-tabe เป็นต้น (Jacqueline Siapno, 2012:427) การแสดงของแต่ละกลุ่มย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่ลักษณะร่วมประการหนึ่งคือ นักแสดงมักแต่งกายโดยใช้ผ้าพื้นเมืองหรือภาษาเตตุมเรียกว่า Tais เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ทั้งนี้ในแต่ละอำเภอจะมีลวดลายและเอกลักษณ์ในการทอแตกต่างกัน เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของผู้ทอและผู้สวมใส่ (พรชัย สุจิตต์, 2557:46) เครื่องประดับในการแต่งกายของผู้แสดงทั้งชายและหญิงมีความหมายสื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง เป็นสิ่งนำทางชีวิตให้พบกับแสงสว่าง (Anne Richter and Bruce W. Carpenter, 2011)

          การแสดงพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่มีอยู่แพร่หลายในติมอร์เลสเตคือ Likurai นักแสดงเป็นผู้หญิง ในอดีตจัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักรบชายกลับจากศึกสงคราม มีเครื่องดนตรีให้จังหวะ คือกลองขนาดเล็ก การแสดงของชาวติมอร์เป็นการแสดงประกอบเครื่องดนตรีและเนื้อร้อง ทั้งนี้ในส่วนของเครื่องดนตรีนั้นเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากทั้งโปรตุเกสและอินโดนีเซีย ผู้นำเข้าเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้าย Fado ของโปรตุเกส และ Gamelan (กาเมลัน) ของอินโดนีเซีย ทั้งนี้เราจะสังเกตได้ว่า Gamelan เป็นเครื่องดนตรีที่เสมือนเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของประเทศในภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเพลงและเครื่องดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญในสัญลักษณ์ของชาติ อาทิ เพลงชาติ และเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเอกราช (WIKIPEDIA The Free Encyclopedia, 2016)

          นอกจากศิลปะการแสดงและเครื่องดนตรีพื้นเมืองแล้ว ชาวติมอร์ยังให้ความนิยมกับเพลงและการเต้นฮิปฮอป,แร็พ,เร็กเก้ เครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ กีต้าร์ ถูกนำเข้ามาโดยเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส ปัจจุบันนักร้องที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคมชาวติมอร์ คือ Teo Batiste Ximenes ผู้เติบโตมาในสังคมออสเตรเลีย มีลักษณะการแต่งเพลงเฉพาะตัวโดยใช้ทำนองเพลงพื้นบ้านคล้ายกับเพลง มีผู้ชมเป็นชาวติมอร์ที่อพยพไปยังออสเตรเลียและในค่ายผู้อพยพทั่วโลก (WIKIPEDIA The Free Encyclopedia, 2016)     

          แม้ว่าปัจจุบันติมอร์เลสเตจะได้รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาประทะประสานกับวัฒนธรรมภายในในประเด็นของศิลปะการแสดงและเครื่องดนตรีต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามการแสดงพื้นเมืองยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ และมีการจัดแสดงในวันสำคัญต่างๆ อาทิเช่น เทศกาลเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปีที่ติมอร์เลสเตได้รับเอกราชจากโปรตุเกส และงานรื่นเริงต่างๆ ทั้งนี้อาจเนื่องจากในช่วงระยะเวลายาวนานกว่าที่ดินแดนแห่งนี้จะเป็นอิสระและได้ปกครองตนเองอย่างแท้จริงก็คือเมื่อ ค.ศ.2002 มานี้เอง ดังนั้นการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อความภาคภูมิใจในชาติของตนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวติมอร์และรัฐบาลไม่ควรมองข้ามในประเด็นนี้ไป

บรรณานุกรม

    Anne Richter and Bruce W. Carpenter. (2011). Gold Jewellery of the Indonesian Archipelago. เรียกใช้เมื่อ 01 July 2016 จาก books.google.co.th Web site: https://goo.gl/d01RCR

    Jacqueline Siapno. (August 2012). Dance and Martial Arts in Timor Leste: The Performance of Resilience in a Post-Conflict Environment," in Special Issue on "Transnational Choreographies. Journal of Intercultural Studies, 33(4), 427-443.

    WIKIPEDIA The Free Encyclopedia. (16 April 2016). Music of East Timor. เรียกใช้เมื่อ 01 July 2016 จาก wikipedia Web site: https://en.wikipedia.org/wiki/Music_of_East_Timor

    พรชัย สุจิตต์. (2557). แนะนำประเทศติมอร์เลสเต. กรุงเทพมหานคร: เมืองโบราณ.