ติมอร์เลสเต - ประวัติศาสตร์



         ความหมายของชื่อประเทศเกิดใหม่แห่งนี้ อาจยังมีความสับสนระหว่าง ชื่อเก่าคือ ติมอร์ตะวันออก และชื่อใหม่คือ  ติมอร์เลสเต อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อท้ายจาก ตะวันออกมาเป็นเลสเต แต่ความหมายยังคงเป็นความหมายเดียวกันเพียงแต่คำว่า เลสเต นั้นคือภาษาโปรตุเกสที่แปลว่าตะวันออก ทั้งนี้ชื่อดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์จากช่วงล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ ตามการลงนามในข้อตกลง เซนเทนเซีย อาร์บิทรัล (Sentencia Arbital) ปีค.ศ.1915 (สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และ อรพรรณ ลีนะนิธิกุล,ผู้แปล, 2555:91) ที่แบ่งเกาะติมอร์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านตะวันออกเป็นส่วนการปกครองของโปรตุเกส เรียกว่า ติมอร์ตะวันออก หรือ ติมอร์เลสเต ในปัจจุบัน  ขณะที่ด้านตะวันตกเป็นส่วนการปกครองของเนเธอร์แลนด์ เรียกว่า ติมอร์ตะวันตก

ติมอร์เลสเตภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส

          ชาวโปรตุเกสเดินทางมายังเกาะติมอร์ในปีค.ศ.1518 มีบันทึกกล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ว่า “ที่นั่นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้จันทน์ขาวที่ชาวมัวร์ในอินเดียและชาวเปอร์เซียถือว่าเป็นไม้มีค่ายิ่ง” (สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และ อรพรรณ ลีนะนิธิกุล,ผู้แปล, 2555:71) ต่อมาในปีค.ศ.1566 มีมิชชันนารีนิกายโรมันคาทอลิกเดินทางเข้ามาและมีการตั้งป้อมปราการบนเกาะติมอร์ มีแรงจูงใจสำคัญคือ ไม้จันทน์ พืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก (Andrea Katalin Molnar, 2010:28) ชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ได้แต่งงานกับชาวพื้นเมือง ทายาทที่เป็นลูกครึ่งจากการแต่งงานนี้เรียกว่า “โทปาส” (Topasses) หรือ “ชาวโปรตุเกสดำ”

          ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 โปรตุเกสพยายามใช้ความรุนแรงเข้าครอบครองเกาะติมอร์หนักขึ้น อาจเป็นเพราะความต้องการไม้จันทน์และทรัพยากรทางธรรมชาติบนเกาะในขณะนั้น เนื่องจากดินแดนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งปี โดยการเพาะปลูกจะหมุนเวียนสลับกันไปเพื่อรักษาสภาพดิน เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มันแกว มันเทศ และผลไม้ชนิดต่างๆ ประกอบกับการเลี้ยงสัตว์ของชาวพื้นเมืองตามไหล่เขา เช่น เลี้ยงหมู แพะ แกะ และ ควาย (สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และ อรพรรณ ลีนะนิธิกุล,ผู้แปล, 2555:79)    

          โครงสร้างการปกครองชองชาวติมอร์ในขณะนั้นมีการเชื่อมโยงแบบเครือญาติ ถือเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นยากที่โปรตุเกสจะบ่อนทำลายได้ ดังนั้นนโยบายของโปรตุเกสในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือ การทำลายระบบแลกเปลี่ยนระหว่างเครือญาติในท้องถิ่นและสร้างรากฐานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งยังมีการระดมกำลังแรงงานในการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้จากการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ชาวพื้นเมืองเริ่มเกิดความไม่พอใจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคมเป็นเวลายาวนานกว่า 16 ปี ส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวติมอร์เป็นจำนวนมาก  แต่ติมอร์ยังคงอยู่ภายใต้อาณานิคมของโปรตุเกสต่อไปจนกระทั่งภายหลังการบุกเข้าตั้งฐานทัพของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

          แม้ภายหลังการถอนฐานทัพของทหารญี่ปุ่น เจ้าอาณานิคมโปรตุเกสพยายามที่จะเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1974 มีการปฏิวัติขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารของโปรตุเกส กอปรกับดินแดนต่างๆ ที่เป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในขณะนั้นทำสงครามต่อต้านกับรัฐบาล ส่งผลให้ทหารโปรตุเกสหลายพันคนเสียชีวิต ด้วยความไม่มั่นคงของกองทัพรัฐบาลใหม่ของโปรตุเกสจึงมีนโยบายให้เอกราชแก่ประเทศที่อยู่ภายใต้อาณานิคมรวมถึงติมอร์ตะวันออกในขณะนั้นด้วย และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ส่งผลให้พรรค Revolution Front For An Independent East Timor(FRETILIN) ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 พรรค FRETILIN ได้ประกาศจัดตั้งและมีชื่อประเทศอย่างเป็นทางการและสอดคล้องกับระบอบการปกครองว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก (วัชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์, 2543: 86) ทั้งนี้ยังไม่ได้รับรองความเป็นรัฐหรือการเป็นเอกราชจากสหประชาชาติ จึงเป็นช่องทางให้อินโดนีเซียพยายามเข้าแทรกแซงและส่งกองทัพเข้าบุกยึดในที่สุด   

 

ติมอร์เลสเตภายใต้การยึดครองของอินโดนีเซีย

          แม้ว่าภายหลังการเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมโปรตุเกสที่พยายามครอบครองดินแดนแห่งนี้มาเป็นเวลานานกว่า 400 ปี จะทำให้ติมอร์เลสเตมีโอกาสจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่อินโดนีเซียพยายามเข้าแทรกแซงกิจการภายในเพื่อรวมติมอร์เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ด้วยความหวาดระแวงว่าติมอร์เลสเตจะกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เนื่องจากบริบททางการเมืองขณะนั้นทั่วโลกกำลังหวาดเกรงภัยดังกล่าว ส่งผลให้ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1975 กองทัพอินโดนีเซียบุกเข้ายึดติมอร์เลสเตจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1999   เป็นระยะเวลายาวกว่า 24 ปี ในขณะเดียวกันเป็นห้วงเวลาแห่งการต่อสู้อันทรมานของชาวติมอร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากตลอดระยะเวลาดังกล่าวกองทัพอินโดนีเซียปราบปรามกลุ่มต่อต้านด้วยความรุนแรง ส่งผลให้ชาวติมอร์บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากราว200,000 คน การปราบปรามทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะจนกระทั่งกลุ่ม FRETILIN ต้องทำการรบแบบกองโจรเข้าตั้งฐานที่มั่นอยู่ตามป่าเขา เพื่อซุ่มต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซีย

 

ติมอร์เลสเตกับการต่อสู้เพื่อเอกราช

          เมื่อกองทัพอินโดนีเซียบุกเข้ายึดติมอร์เลสเตในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1975 นั้นได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวติมอร์เป็นอย่างมาก มีการสังหารหมู่ประชาชน เผาทำลายที่อยู่อาศัย กราดยิงสัตว์เลี้ยง ในห้วงระยะเวลาดังกล่าวมีผู้คนล้มตายไปกว่า 200,000 คน และมีผู้อพยพลี้ภัยไปติมอร์ตะวันตกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวติมอร์มีผู้นำคนสำคัญคือ นายซานานา กุสเมา ผู้นำพรรค FRETILIN ได้ทำการตอบโต้กองทัพอินโดนีเซียด้วยอาวุธและการสู้รบแบบกองโจร ส่วนการต่อสู้ภายนอกประเทศมีนายโฮเซ่ รามอส – ฮอร์ต้า เป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องและขอความช่วยเหลือจากนานาชาติผ่านทางสหประชาชาติ และทุกวิถีทางที่เขาจะทำได้    

          ในช่วงของการต่อสู้เพื่อเอกราชนั้นชาวติมอร์เกิดการแบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มต้องการแยกตัวเป็นเอกราช หรือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในติมอร์ตะวันออก เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่ม FALINTIL เป็นกองกำลังติดอาวุธของ FRETILIN เริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1974 เพื่อต่อสู้กับโปรตุเกสจนกระทั่งถึงอินโดนีเซีย และ 2. กลุ่มต่อต้านการเรียกร้องเอกราชหรือกลุ่ม MILITIA เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ต้องการให้ติมอร์เลสเตเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ซึ่งกองทัพอินโดนีเซียเป็นผู้จัดตั้งขึ้นโดยร่วมกับชาวติมอร์กลุ่มหนึ่ง เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นการต่อสู้จึงยืดเยื้อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี ค.ศ.1998 ซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ส่งผลให้นายบีเจ ฮาบีบี ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน (วัลลภ พิริยวรรธนะ, 2558:13-14)

          ในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.1988 นายบีเจ ฮาบีบี มีการให้สัมภาษณ์ว่าจะให้ติมอร์ตะวันออกมีสิทธิพิเศษในการปกครองตนเอง แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของอินโดนีเซียไปก่อน ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1999 มีการลงประชามติ ผลปรากฏว่ามีชาวติมอร์มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 98 และมีผู้ต้องการเป็นเอกราชถึงร้อยละ 78 เป้นเหตุให้กลุ่ม MILITIA เกิดความไม่พอใจและก่อความรุนแรงขึ้นส่งผลให้วันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1999 สหประชาชาติต้องส่งกำลังนานาชาติเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น(วัลลภ พิริยวรรธนะ, 2558:13-14)

 

 ติมอร์เลสเตภายหลังได้รับเอกราช

          ภายหลังการได้รับเอกราชจากการถูกบุกยึดโดยกองทัพอินโดนีเซีย ติมอร์เลสเตยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากในช่วงของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชนั้น ทรัพยากรทางธรรมชาติได้ถูกทำลายลงโดยการเผาของกองทัพอินโดนีเซีย เพื่อกำจัดกลุ่ม FALINTIL ที่ซุ่มกำลังเพื่อเตรียมการโจมตีอยู่ในเขตป่าเขา ส่งผลให้ที่ทำกินและสินค้าเศรษฐกิจเช่น ไม้จันทน์ ถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก

          ภายหลังได้รับเอกราชติมอร์เลสเตมีผู้นำคนสำคัญอย่าง นายซานานาน กุสเมา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกและตระหนักในความสำคัญกับการปรองดองของคนในชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม MILITIA ที่เคยต่อต้านและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียกร้องเอกราชของประเทศ ปัจจุบันติมอร์เลสเตเป็นประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอยู่ในขั้นตอนสมัครเข้ามเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศอย่างต่อเนื่องโดยมีประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ ตาอูร์ มาตัน รูอัก         

 

บรรณานุกรม

    Andrea Katalin Molnar. (2010). Timor Leste. Newyork: Routledge.

    วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์. (มีนาคม 2543). ก่อนกำเนิดติมอร์ตะวันออก โฮเซ่ รามอส - ฮอร์ต้า. สารคดี, 16(18), 82-92.

    วัลลภ พิริยวรรธนะ. (มกราคม-มิถุนายน 2558). กว่าจะเป็นติมอร์ - เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) วันนี้. เอเชียพิจาร, 2(3), 119-165.

    สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ. (2555). ติมอร์ตะวันออก : เส้นทางสู่เอกราช. (อรพรรณ ลีนะนิธิกุล, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.