ติมอร์เลสเต - ประเพณีพิธีกรรม



          งานประเพณีและพิธีกรรมของติมอร์เลสเตส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ และวันสำคัญในการเรียกร้องเอกราช ส่วนพิธีกรรมของชาวพื้นเมืองนั้นยังคงมีกระทำอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติ แสดงออกถึงความต้องการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ แม้ว่าจะถูกกองทัพอินโดนีเซียเผาทำลายไปเป็นจำนวนมากในช่วงปีค.ศ.1975-1999 พิธีกรรมดังกล่าวนี้สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ มีชื่อเรียกว่า Tara Bandu กระทำขึ้นเพื่อปกป้องสายน้ำซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของชาวบ้านในอำเภอ Uato-Carbau ใช้ยังชีพ โดยมีระยะเวลาในการประกอบพิธี 3 วัน มีการเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วยเนื้อควาย เป็นควายที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เชื่อกันว่าหากกระทำพิธีนี้แล้ว แหล่งน้ำทุกแห่งในหมู่บ้านจะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งนี้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำของชาวบ้านเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนอุปกรณ์จับสัตว์น้ำขนาดใหญ่เป็นสิ่งต้องห้ามเนื่องจากเป็นข้อตกลงของทุกคนในหมู่บ้าน หากนำมาใช้จะได้รับโทษตามกฏของหมู่บ้านและอาจถูกลงโทษจากอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติอันเกิดจากพิธีกรรม Tara Bandu นี้ก็เป็นได้ (Janak Rogers, 2015)

          นอกจากพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติแล้ว ชาวติมอร์ยังมีงานรื่นเริง เช่น เทศกาลเฉลิมฉลองตลอดจนงานเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ เช่น ระลึกถึงเอกราช วันกู้อิสรภาพ วันชาติ   วันวีรบุรุษแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ

          เทศกาลเฉลิมฉลองครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2015 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีที่ได้รับเอกราชจากโปรตุเกสในปีค.ศ.1975 แม้ว่าหลังจากนั้นจะต้องต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซียเป็นระยะเวลายาวนานถึง 24 ปีก็ตาม ในงานเฉลิมฉลองดังกล่าวมีผู้นำประเทศ นักการเมืองคนสำคัญ และประชาชนชาวติมอร์ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ การเดินสวนสนามโดยคณะทหาร มีการเชิญธงชาติติมอร์เลสเตขึ้นสู่ยอดเสาพร้อมบรรเลงเพลงชาติ ทั้งนี้ความหมายของธงชาติมีความต่างกันไปตามแต่ละสีที่อยู่บนผืนธง กล่าวคือ สีแดง หมายถึง การต่อสู้ของชาติเพื่อการปลดปล่อย สีเหลือง หมายถึง ร่องรอยของอาณานิคมในประวัติศาสตร์ติมอร์เลสเต สีดำ หมายถึง การขัดขวางความก้าวหน้าและการเผยแพร่ความรู้ที่ต้องเอาชนะให้ผ่านไป ดวงดาวสีขาว หมายถึง อนาคตและความสุขของชาวติมอร์ (เฉลิมฉลอง 40 ปี เอกราช "ติมอร์ เลสเต", 2015)   

          วันสำคัญและมีการเฉลิมฉลองกันทั่วไปอย่างน้อย 4 วัน คือ วันกู้อิสรภาพ วันชาติ  วันวีรบุรุษแห่งชาติ และวันเยาวชนแห่งชาติ วันกู้อิสรภาพตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ มีการเฉลิมฉลอง ทั่วทั้งเมือง ทั้งยังมีการแข่งขันกีฬาและการจัดขบวนพาเหรด ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ให้ประชาชนได้กระทำร่วมกันเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันที่ได้รับอธิปไตยคืนจากองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ.2002 (สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์, 2016)

          วันชาติติมอร์เลสเตตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงการได้รับเอกราชจากโปรตุเกส เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1975 แม้ว่าภายหลังจากนั้นชาวติมอร์จะต้องต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซียอีกกว่า 24 ปี (สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์, 2016)

          วันวีรบุรุษแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 7 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่อินโดนีเซียส่งกำลังทหารเข้ายึดติมอร์เลสเต ภายหลังจากติมอร์เลสเตได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเพียง 1 สัปดาห์ (สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์, 2016)

           วันเยาวชนแห่งชาติตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ สุสานซานตาครูส เหตุการณ์ในครั้งนั้นผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนรุ่นหนุ่มสาวเพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่ติมอร์เลสเต แต่ในท้ายที่สุดพวกเขาเหล่านี้ถูกกราดยิงโดยทหารจากกองทัพอินโดนีเซีย ณ สุสานแห่งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน เมื่อปี ค.ศ. 1991 (สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และ อรพรรณ ลีนะนิธิกุล,ผู้แปล, 2555: 17)

บรรณานุกรม

    Janak Rogers. (17 February 2015). Ancient traditions protect the environment in East Timor. เรียกใช้เมื่อ 04 July 2016 จาก Deutsche Welle Web site: http://www.dw.com/en/ancient-traditions-protect-the-environment-in-east-timor/a-18260999

    เฉลิมฉลอง 40 ปี เอกราช "ติมอร์ เลสเต". (20 ธันวาคม 2015). (Thaibunterng ThaiPBS ) เรียกใช้เมื่อ 04 กรกฎาคม 2016 จาก Youtube Web site: https://www.youtube.com/watch?v=ZI_7hT8U1DQ

    สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ. (2555). ติมอร์ตะวันออก : เส้นทางสู่เอกราช. (อรพรรณ ลีนะนิธิกุล, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์. (2016). The ASEAN Way ติมอร์-เลสเต. เรียกใช้เมื่อ 24 June 2016 จาก books.google.co.th Web site: https://goo.gl/dC9nDy