ติมอร์เลสเต - ศาสนาและความเชื่อ



        ติมอร์เลสเตตั้งอยู่บนภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านความเชื่อและศาสนานั้นมีความคล้ายคลึงกับชาวฟิลิปปินส์คือประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ขณะเดียวกันมีความแตกต่างอย่าเด่นชัดจาก อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศหมู่เกาะประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ขณะที่ชาวติมอร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งมีความทับซ้อนอยู่กับความเชื่อดั้งเดิมตามตำนานโบราณเกี่ยวกับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้ให้กำเนิดเกาะแห่งนี้ จากตำนานโบราณกล่าวว่า เด็กชายผู้หนึ่งพบไข่จระเข้ เมื่อไข่นั้นฟักเป็นตัว ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ด้วยกัน หากแต่ในเวลาต่อมาจระเข้ได้ลาจากโลกนี้ไปก่อนและกลายเป็นเกาะติมอร์ ทั้งนี้ลักษณะทางกายภาพของเกาะมีความสอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าว เนื่องจากผอมยาวคล้ายรูปร่างของจระเข้ ความเชื่อนี้ยังคงฝังแน่นอยู่ในสังคมติมอร์จนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าในช่วงปีค.ศ.2009-ค.ศ.2012 มีข่าวอยู่เนืองๆ ว่าผู้คนได้รับอันตรายทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจระเข้น้ำเค็ม แต่ชาวติมอร์ยังคงยึดมั่นในความเชื่อดังกล่าวและไม่มีใครกล้าทำร้ายหรือล่าจระเข้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเกาะ (พรชัย สุจิตต์, 2557:13) 

          ปัจจุบันแม้ว่าติมอร์เลสเตมิได้กำหนดให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกถึงร้อยละ 98 ของประชากรทั้งหมด ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์มีอยู่ราวร้อยละ 1 ขณะที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามมีอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1 อย่างไรก็ตามศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวติมอร์อย่างเข้มข้นยากที่จะแยกออกจากกันได้

 

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

          ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้าสู่ติมอร์เลสเตตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยการนำของบาทหลวง Antonio Taveira (Andrea Katalin Molnar, 2010:19) แม้ว่าขณะนั้นชาวติมอร์มีความเชื่อพื้นถิ่นของตนอยู่แล้ว แต่ก็มิได้ต่อต้านการเผยแผ่ศาสนาใหม่ที่เข้ามายังดินแดนแห่งนี้ กระทั่งเวลาต่อมาเมื่อกองทัพอินโดนีเซียบุกเข้ายึดติมอร์เลสเตในปีค.ศ.1975 ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกลายเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านอำนาจของอินโดนีเซีย โดยการที่ชาวติมอร์หันมานับถือศาสนาคริสต์มากกว่าศาสนาอิสลามที่กองทัพอินโดนีเซียนำเข้ามาเผยแผ่เพื่อพยายามกลืนกลายชาวติมอร์ให้มีลักษณะร่วมกับอินโดนีเซีย

          ในช่วงที่ติมอร์เลสเตถูกยึดครองโดยกองทัพอินโดนีเซีย เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีบทบาทในชีวิตของชาวติมอร์มากขึ้น เนื่องจากชาวติมอร์ถึงร้อยละ 90 ได้หันมารับนับถือศาสนาดังกล่าว ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1991 ณ สุสานซางตาครูส ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมรัฐในการกราดยิงประชาชน โบสถ์ Motael คือสถานที่รวมพลเพื่อเดินชบวนเรียกร้องร้องเอกราช (สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และ อรพรรณ ลีนะนิธิกุล,ผู้แปล, 2555:(17)) อีกทั้งในระยะเวลาต่อมาบิชอปคาร์ลอส เบโล บิชอปศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ยังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ.1996 ร่วมกับโฮเซ รามอส ออร์ตา จากการเขียนจดหมายเรียกร้องให้มีการลงประชามติและช่วยเหลือคนติมอร์เลสเตที่ถูกกองทัพอินโดนีเซียโจมตี (วันชัย สันติวิทยาพิทักษ์ และ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์, 2543:84) สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนของนานาชาติในการเรียกร้องเอกราชของชาวติมอร์ทั้งยังเป็นการกดดันรัฐบาลและกองทัพอินโดนีเซีย ให้คืนความเป็นอิสระแก่ติมอร์เลสเตโดยเร็วอีกด้วย

          ดังนั้นสำหรับชาวติมอร์แล้วศาสนาคริสต์ไม่ใช่ศาสนาใหม่อีกต่อไปแต่กลับกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญที่ใช้ต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซีย ศาสนานี้ยังคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบันและมีจำนวนศาสนิกชนมากที่สุดในประเทศ

บรรณานุกรม

    Andrea Katalin Molnar. (2010). Timor Leste. Newyork: Routledge.

    พรชัย สุจิตต์. (2557). แนะนำประเทศติมอร์เลสเต. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.

    วันชัย สันติวิทยาพิทักษ์ และ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์. (มีนาคม 2543). ก่อนกำเนิดติมอร์ตะวันออก โฮเซ่ รามอส - ฮอร์ต้า. สารคดี, 16(18), 82-92.

    สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ. (2555). ติมอร์ตะวันออก : เส้นทางสู่เอกราช. (อรพรรณ ลีนะนิธิกุล, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.