ติมอร์-เลสเต - อาหาร
ติมอร์เลสเตเป็นประเทศหมู่เกาะ วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารคือ เครื่องเทศ ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของประเทศในภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่า การิล หรือ แกงที่มีส่วนผสมหลักคือกะทิและเครื่องเทศ จะเป็นอาหารยอดนิยมในติมอร์เลสเตที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส แต่อย่างไรก็ตามข้าวยังคงเป็นอาหารหลักของคนในดินแดนนี้ (สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์, 2016:30)
อาหารของชาวติมอร์สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ อาหารมังสวิรัติ และ อาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ วัตถุดิบในการปรุงอาหารส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น เครื่องเทศชนิดต่างๆ กะทิ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ข้าวโพดและเผือก ส่วนเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อแพะ และเนื้อปลา มีเมนูยอดนิยม นอกจากอาหารคาวแล้วชาวติมอร์ยังนิยมรับประทานของหวานเป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส (WIKIPEDIA The Free Encyclopedia, 2016)
ติมอร์เลสเตเป็นประเทศหมู่เกาะ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางทะเล แต่ในส่วนของทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายเป็นวงกว้างเนื่องจากการเผาทำลายของกองทัพอินโดนีเซียในช่วงปีค.ศ.1975-1999 ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นทุ่งหญ้าและไร่กาแฟ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น ทั้งยังมีความแตกต่างกันมากระหว่างฤดูฝนกับฤดูร้อน ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ สภาพอากาศมีความแห้งแล้งสูงส่งผลต่อการลดต่ำลงของผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร
อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาสำคัญด้านอาหารของชาวติมอร์ที่ประสบมาเป็นระยะเวลายาวนานคือการขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวนแห้งแล้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถเจริญเติบโตได้เท่าที่ควร ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงนับว่าเป็นฤดูกาลอันหิวโหย(Hunger Season)ของชาวติมอร์เลยก็ว่าได้ ขณะที่บางครอบครัวมีความสามารถในการสะสมเสบียงอาหาร แต่สำหรับชาวติมอร์ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีวิธีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวโดยการบริโภคเปลือกต้นสาคูตากแห้ง แต่วิธีการดังกล่าวกลับส่งผลให้เยาวชนอายุต่ำกว่าห้าปีประสบกับโรคขาดสารอาหารเรื้อรังถึงราวร้อยละ 54 (WIKIPEDIA The Free Encyclopedia, 2016)
แม้ว่าประเด็นปัญหานี้จะได้รับการให้ความสำคัญจากรัฐบาลและสหประชาชนผ่านทางนโยบาย Timor-Leste launched the U.N.’s Zero Hunger Callenge (ELENI LENTZ-MARINO, 2014) เพื่อพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติ ดังนั้นปัญหานี้ยังคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน แต่รัฐบาลยังคงยกให้เป็นประเด็นสำคัญของชาติในการแก้ไข
บรรณานุกรม
ELENI LENTZ-MARINO. (24 July 2014). Hunger in Timor-Leste. เรียกใช้เมื่อ 01 July 2016 จาก Borgenmagazine: http://www.borgenmagazine.com/hunger-timor-leste/
WIKIPEDIA The Free Encyclopedia. (26 June 2016). Cuisine of East Timor. เรียกใช้เมื่อ 24 June 2016 จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Cuisine_of_East_Timor
สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์. (2016). The ASEAN Way ติมอร์-เลสเต. เรียกใช้เมื่อ 24 June 2016 จาก books.google.co.th Web site: https://goo.gl/dC9nDy