เวียดนาม - ศิลปะการแสดง



          เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ย่อมมีศิลปะการแสดงอันหลากหลาย ทั้งที่จัดแสดงเพื่อความรื่นเริงและเป็นไปเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ อย่างไรก็ตามหากกล่าวถึงศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศนี้ เราไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึง การแสดงหุ่นกระบอกน้ำ ไปได้ แม้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการแสดงประเภทหุ่นกระบอกตลอดจนหุ่นเชิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่หุ่นกระบอกของประเทศเวียดนามถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของประเทศตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นวิถีการดำรงชีวิตในอดีตของชาวเวียดนามเหนือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านในขณะนั้นสามารถรังสรรค์ให้ผิวน้ำกลายเป็นเวทีทำการแสดง  หุ่นกระบอกขนาดใหญ่ มีวิธีการเชิดหุ่นที่น่าสนใจ มีเนื้อหาในการแสดงเชื่อมโยงระหว่างความรักในเทพนิยายของชาวเวียดนามและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเวียดนาม  

          ทั้งนี้ประวัติความเป็นมาของการแสดงหุ่นกระบอกน้ำในเวียดนาม มีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ลี้ (Ly Dynasty (1010-1225) พบร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับศิลปะการแสดงชนิดนี้ที่ศาลาริมน้ำในจังหวัด       Ha Tay การแสดงดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาขึ้นในลุ่มแม่น้ำแดง (M.H. Syed (Editorial Coordinator), 2007) ในอดีตนั้นเป็นการแสดงที่มีขึ้นและรับชมกันในหมู่บ้าน ต่อมามีการตั้งเป็นคณะเพื่อทำการแสดงเพื่อถ่ายทอดศิลปะอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวเวียดนามที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีคณะแสดงอยู่เป็นจำนวนไม่มาก ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ คณะหุ่นกระบอกน้ำทังลอง (Thang Long Water Puppet Theatre) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1969 อยู่ในความดูแลของสำนักงานวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวฮานอย สถานที่แห่งนี้มีลักษณะคล้ายโรงละครตั้งอยู่ใจกลางเมืองฮานอยเมืองหลวงของเวียดนาม  ถือเป็นสถานที่สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากภายในโรงละครสามารถรองรับผู้เข้าชมได้เป็นจำนวนมากถึง 500 คน มีเวทีการแสดงเป็นพื้นน้ำประกอบแสงสีเสียงทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกตื่นตาตื่นใจ (Thang Long Water Puppet Theatre, 2016)  

          เนื้อหาในการแสดงนอกจากมีความเชื่อมโยงระหว่างความรักในเทพนิยายของชาวเวียดนามกับความภาคภูมิใจในความเป็นชาติแล้ว ยังนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวเวียดนาม มีวิธีการในการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดและทัศนะคติในการดำรงชีวิตของชาวเวียดนาม ทั้งยังแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน ถือเป็นวิธีการนำเสนอที่ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป

          ตัวละครสำคัญประกอบไปด้วย จู๊เต๊ว นางฟ้า ชายชรา หญิงชรา ชาวนา เด็กเลี้ยงควาย ไก่ฟ้า และมังกร ตัวละครเหล่านี้ล้วนอยู่ในรูปของหุ่นกระบอกที่ทำจากไม้และเคลือบด้วยสีกันน้ำ เมื่อถึงเวลาทำการแสดงจะมีผู้เชิดหุ่นอยู่ด้านหลังเวทีโดยมีม่านบางๆ กั้นไว้เพื่อให้ผู้เชิดสามารถมองเห็นตัวหุ่นได้จากด้านหลัง โดยหุ่นกระบอกน้ำ 1 ตัว ต่อผู้เชิด 1 คน ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของ นาย เหงวียนวันแขว ช่างศิลป์คณะหุ่นกระบอกน้ำจังหวัดนามดิ๋งชี้ให้เห็นว่า “การฝึกเชิดหุ่นนั้นไม่ง่าย เพราะหุ่นบางตัวหนักเป็นสิบกิโลกรัมและต้องเชิดในน้ำ ถือว่ายากที่สุดคือต้องฝึกการเชิดหุ่นใต้น้ำ ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นเชือกที่ผูกได้อย่าชัดเจน หุ่นหลายตัวมีเชือกที่ใช้ควบคุมหลายเส้น ดังนั้นต้องจำให้ดีว่าอันไหนใช้ก่อนอันไหนใช้หลัง อีกอย่างคือเวทีแสดงนั้นน้ำต้องสูงพอดีและไม่เย็นมาก” (สถานีวิทยุเวียดนาม ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศแห่งชาติ, 2556) คำบอกเล่าดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ ถวี่ นักเชิดหุ่นกระบอกน้ำคณะทังลองที่ทำการแสดงมาเป็นระยะเวลากว่า 7-8 ปี เธอชี้ให้เห็นว่า “แม้ต้องยืนเชิดหุ่นในน้ำวันละหลายรอบ นานหลายชั่วโมง แต่ก็มีใจรัก เพราะอยากสืบสานศิลปะแขนงนี้ต่อไปในฐานะของคนรุ่นใหม่ ซึ่งกว่าจะเชิดหุ่นได้ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก และขณะทำการแสดงต้องมีจิตวิญญาณของหุ่นแต่ละตัว เพื่อเชิดหุ่นให้เคลื่อนไหวตามบทบาทอย่างสมจริง” (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, 2556)

            อย่างไรก็ตามแม้เราจะพบว่าศิลปะการแสดงประเภทหุ่นเชิดของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ หุ่นละครเล็กของไทย หุ่นกระบอกของพม่า หุ่นกระบอกของอินโดนีเซีย แต่หุ่นกระบอกน้ำของเวียดนามนับว่ามีความแตกต่างอย่างเด่นชัดเนื่องจากเป็นการแสดงของหุ่นที่มีเวทีการแสดงเป็นพื้นน้ำ วัสดุที่นำมาทำหุ่นเป็นไม้และวัสดุกันน้ำ ดังนั้นจึงถือเป็นภูมิปัญญาของ บรรพบุรุษที่เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส เนื่องจากดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าศิลปะการแสดงประเภทนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีน้ำท่วมทางภาคเหนือของเวียดนาม แต่ผู้คนยังสามารถรังสรรค์การแสดงบนผิวน้ำขึ้นมาได้ และถูกส่งต่อให้กลายเป็นมรดกของชาติทั้งยังกลายเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตตลอดจนทัศนคติของผู้คนที่ถ่ายทอดผ่านเนื้อหาในการแสดง แม้ว่าเพลงและคำร้องจะเป็นภาษาเวียดนาม แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการรับชมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากคณะผู้แสดงมีวีการในการนำเสนอที่ทำให้เรารับรู้ได้ถึงเนื้อหาในการดำเนินเรื่อง ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในความประทับใจของผู้ชมที่มีต่อการแสดงหุ่นกระบอกน้ำ ถึงขั้นมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า “ถ้าไปเวียดนามไม่ได้ไปชมหุ่นกระบอกน้ำถือว่ายังไปไม่ถึง” (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, 2556)  

บรรณานุกรม

    M.H. Syed (Editorial Coordinator). (2007). World Infopedia Vietnam. New Delhi: Parmil Mittal.

    Thang Long Water Puppet Theatre. (2016). Thang Long Water Puppet Theatre. Retrieved August 24, 2016, from Thang Long Water Puppet Theatre Web site: http://www.thanglongwaterpuppet.org/?/en/About/

    สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. (13 พฤษภาคม 2556). หุ่นกระบอกน้ำ มรดกวัฒนธรรมเวียดนาม. เรียกใช้เมื่อ 24 สิงหาคม 2559 จาก YouTube Web site: https://www.youtube.com/watch?v=UWYnaU16Rwg

    สถานีวิทยุเวียดนาม ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศแห่งชาติ. (16 มิถุนายน 2556). หุ่นกระบอก ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวเวียด. เรียกใช้เมื่อ 20 สิงหาคม 2559 จาก สถานีวิทยุเวียดนาม ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศแห่งชาติ: https://goo.gl/ZcV7MI