เวียดนาม - ศาสนาและความเชื่อ



         เวียดนามเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและความเชื่อ เนื่องจากมีประชากรเป็นจำนวนมากถึง 87.84 ล้านคน 54 กลุ่มชาติพันธุ์ 3 ตระกูลภาษา ทั้งยังสามารถจำแนกเป็นกลุ่มภาษาย่อยได้อีก 8 กลุ่ม จากผลสำรวจโดยรัฐบาลพบว่าในเวียดนามมีศาสนาอยู่ทั้งสิ้น 12 ศาสนา หากแต่ในจำนวนนี้มี 6 ศาสนาที่มีความโดดเด่นและมีสัดส่วนของศาสนิกชนค่อนข้างแน่ชัด คือ พระพุทธศาสนา 10-50%  ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค 8-10% นิกายโปรเตสแตนต์ร้อยละ 1-2%  เกาได๋ร้อยละ 2.5-4% หัวเหาร้อยละ 1.5-3% ศาสนาอิสลามน้อยกว่าร้อยละ 0.1% (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:341) ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติราว 73.2% (WIKIPEDIA The Free Encyclopedia, 2016) ทั้งนี้ในปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามมิได้มีการกำหนดให้ศาสนาหรือความเชื่อใดเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะขัดกับหลักการปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อันสืบเนื่องมาจากภายหลังการรวมประเทศระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ในปี ค.ศ.1975 ทำให้เวียดนามมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จวบจนกระทั่งปัจจุบัน  

          แม้ในระยะแรกที่มีการรวมประเทศ จะส่งผลให้สถานะของแต่ละศาสนาดำรงอยู่ด้วยความยากลำบาก เพราะรัฐบาลมิได้ตระหนักในความสำคัญของศาสนาทั้งยังมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลอีกด้วย แต่เมื่อเข้าสู่ปีค.ศ.1986 รัฐบาลเวียดนามตระหนักในความสำคัญด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงก่อให้เกิดนโยบาย Doi Moi ทำให้เวียดนามมีการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจมากขึ้นทั้งยังมีการผ่อนปรนในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา รวมถึงการลดทอนความเข้มงวดในเรื่องการนับถือศาสนาของประชาชน   ส่งผลให้ในปัจจุบันศาสนาและความเชื่อต่างๆ สามารถดำรงอยู่ได้ และมีศาสนิกชนตลอดจนศาสนสถานต่างๆ เพื่อประกอบพิธีกรรมอย่างเปิดเผย  

           แม้ว่าในบางระยะเราอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาในเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลมิได้กำหนดให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติดูจะมิได้ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของศาสนาต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันยังคงมีศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ตามเมืองต่างๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะวัดในพระพุทธศาสนา แม้ช่วงเวลาหนึ่งเคยมีการริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดของวัดโดยรัฐบาล มีการบังคับพระสงฆ์ให้เป็นทหาร ทั้งยังห้ามชายชาวเวียดนามบรรพชาอุปสมบทเป็นสามเณรและพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่เพียงแต่พระพุทธศาสนาที่ยังคงดำรงสถานะได้ ขณะเดียวกันยังมีศาสนาเกาได๋ อันเป็นศาสนาที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการผนวกรวมเอาหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และลัทธิเต๋า เข้าด้วยกัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่พบได้เฉพาะในเวียดนามเท่านั้น ศาสนาดังกล่าวมีจุดยืนในการต่อต้านการปกครองภายใต้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หากแต่ยังคงสถานะอยู่ได้ในปัจจุบันทั้งยังมี  ศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในเวียดนามตอนใต้ อันเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาดังกล่าว  

          ปัจจุบันทั้งพระพุทธศาสนาและเกาได๋ถือเป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนให้ความสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย หากแต่ยังเป็นรองจำนวนผู้นับถือความเชื่อดั้งเดิมในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากถึง 54 กลุ่ม ขณะเดียวกันการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้แม้ว่าบางพิธีกรรมจะไม่ได้รับการอนุญาตให้กระทำ แต่ยังคงมีบางพิธีกรรมที่รัฐบาลอนุญาตให้กระทำได้ เช่น การประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ในพิธีเสนบ้านและเสนเรือนตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ เพื่อรักษาโรค เป็นสิ่งที่รัฐบาลอนุญาตให้กระทำได้ในปัจจุบัน เว้นแต่พิธีเสนเมืองอันเป็นพิธีกรรมสำคัญที่ทางรัฐได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1954

          ส่วนศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์นั้นแม้ว่าจะมีจำนวนศาสนิกชนรองจากพระพุทธศาสนาแต่กระนั้นก็ตาม อิสลามิกชนในเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวจาม ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบชายฝั่ง ส่วนน้อยเป็นชาวเวียดนามอาศัยอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ขณะที่ศาสนาคริสต์ในเวียดนามสามารถจำแนกได้เป็น 2 นิกาย คือนิกายโรมันคาทอลิก และ นิกายโปรเตสแตนต์ ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ขณะที่ส่วนน้อยนับถือโปรเตสแตนต์

อย่างไรก็ตามนิกายโรมันคาทอลิก ถือว่าเป็นนิกายหนึ่งที่มีภูมิหลังสำคัญทางการเมือง เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเป็นผู้นำเข้ามาเผยแผ่ในเวียดนาม แม้ว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ฝรั่งเศสมีเป้าหมายเพียงทำการเผยแผ่คริสต์ศาสนาเป็นหลัก แต่ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทางการเวียดนามได้พยายามลดทอนและกำจัดบาทหลวงชาวฝรั่งเศส เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่การกระทำดังกล่าวยิ่งทำให้เวียดนามตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสเร็วขึ้นและกินระยะเวลายาวนานตั้งแต่ค.ศ.1884 – 1954

          ต่อมาภายหลังการได้รับเอกราชเป็นที่ทราบดีว่าเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ในส่วนของเวียดนามใต้นั้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลโง ดินห์ เซียม ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้เคร่งครัดในนิกายโรมันคาทอลิก ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาในการช่วงชิงพื้นที่ทางศาสนาระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในปี ค.ศ.1963 เมื่อเข้าสู่ปีค.ศ.1977 อันเป็นช่วงเวลาภายหลังการรวมประเทศ รัฐบาลได้ประกาศในรัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแก่ประชาชน แต่ขณะเดียวกันให้อยู่ภายใต้ความคุมของรัฐบาล

          อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปัญหาระหว่างรัฐกับชาวคริสต์ในประเด็นการถือครองที่ดิน เพื่อนำมาสร้างเป็นที่พักอาศัยและโบสถ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ยังคงเป็นข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐมองว่าที่ดินเหล่านั้นที่คริสต์ศาสนิกชนถือครองเพื่อนำมาทำเป็นโบสถ์ คือพื้นที่ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของรัฐ ข้อพิพาทดังกล่าวนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อคริสต์ศาสนิกชนผู้อาศัย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่เวียดนามประสบมาตลอดคือเสรีภาพด้านศาสนา ทั้งนี้ประเด็นปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นที่น่าติดตามและรอการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เป็นที่น่าพอใจและเกิดประโยชน์ต่อทั้งรัฐและคริสต์ศาสนิกชนต่อไป (Jesudas M.Athyal, Editor, 2015:342)   

          ดังที่กล่าวมานี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อในเวียดนาม แม้ว่าจะมีอยู่อย่างหลากหลาย มีประวัติความเป็นมาและภาพรวมที่แตกต่างกัน แต่ในข้อเขียนนี้ขอยกเพียง พระพุทธศาสนา ศาสนาเกาได๋ และความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ มากล่าวถึง เพื่อนำเสนอภาพรวมของศาสนาและความเชื่อดังกล่าวตามลำดับพอสังเขป  

 

พระพุทธศาสนา

           เวียดนามเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อ ทั้งนี้ศาสนาพุทธคือหนึ่งในบรรดาศาสนาที่ดำรงอยู่คู่ดินแดนแห่งนี้มาเป็นเวลายาวนานกว่าพันปี มีผู้ชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาของศาสนาดังกล่าวไว้อย่างหลากหลาย อาทิ  ฟื้น ดอกบัว ชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ใน 2 ระยะ โดยในระยะแรกนั้นอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3  เวียดนามได้รับอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาจากอาณาจักรจามปา สันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรโบราณตั้งอยู่ระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ อาณาจักรดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมในการนับถือพระพุทธศาสนาจากชาวปัลลาวะ ซึ่งเป็นผู้อพยพมาจากทางตอนใต้ของอินเดีย แต่ในส่วนนี้มิได้กล่าวถึงว่าเป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหรือมหายาน  ขณะที่ในระยะที่ 2 มีบุคคลสำคัญคือ พระวินีรุจิ เป็นผู้นำพระพุทธศาสนานิกายเธียน หรือ เซ็น เข้ามาเผยแผ่ยังประเทศเวียดนามในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นพระที่ชาวเวียดนามให้ความเลื่อมใสศรัทธา กระทั่งในเวลาต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งพระสังฆราชนิกายเธียนองค์แรกของเวียดนาม (ฟื้น ดอกบัว, 2554:290-291)

          คำอธิบายอีกชุดหนึ่งเกี่ยวกับการเข้ามาของพระพุทธศาสนาในเวียดนามโดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ ชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่เวียดนามใน 2 เส้นทาง คือ ทางเรือและทางบก ทางเรือนั้น เป็นการเดินทางของพระภิกษุจากอินเดียเข้ามายังดินแดนแห่งนี้เพื่อจาริกแสวงบุญโดยเรือของพ่อค้า ส่วนทางบก เป็นการเดินทางของพระสงฆ์จากประเทศจีน สำหรับบุคลผู้นำพระพุทธศาสนานิกายเธียนเข้ามาเผยแผ่ในเวียดนามนั้น ทั้งฟื้น ดอกบัว และ พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ กล่าวตรงกันถึง พระวีนีตรุจิ(พระวินีรุจิ) เข้ามายังดินแดนแห่งนี้ราว ค.ศ. 544 ทั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเธียนในเวียดนาม (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, 2557:24-25)

          อย่างไรก็ตามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานอยู่ในเวียดนามจนกระทั่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีบางช่วงเวลาที่ถูกต่อต้านจากรัฐด้วยการใช้ความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงในเวียดนามใต้ที่รัฐบาลของประธานาธิบดี โง ดินห์ เซียม และสมาชิกตระกูลโง กระทำต่อ  พุทธสถานและพุทธศาสนิกชนในปี ค.ศ. 1963 นำไปสู่การจุดไฟเผาตนเองของพระติ๊ชกวางดึ๊ก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1963 และตามมาด้วยการจุดไฟเผาตนเองของพระภิกษุอีก 4 รูป สามเณร 1 รูป แม่ชี 1 ท่าน รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำดังกล่าวเพื่อต่อต้านการปราบปรามชาวพุทธของรัฐบาลทั้งสิ้น 7 ราย แต่ก็มิได้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ยุติลง จนกระทั่งในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1963 ประธานิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี้ ได้ทำการปราศรัยประณามการกระทำของรัฐบาลเวียดนามทั้งยังแสดงจุดยืนว่า “รัฐบาลสหรัฐจะไม่อดทนต่อการกระทำอันป่าเถื่อนนี้” ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อสถานะและความมั่นคงของรัฐบาลอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน และในท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาได้หันไปให้การสนับสนุนกองทัพเวียดนามเพื่อทำการโค่นล้มรัฐบาลโง ดินห์ เซียม ถือเป็นการสิ้นสุดบทบาทและอำนาจทางการเมือง รวมถึงความรุนแรงที่กระทำต่อพระพุทธศาสนาไปในคราวเดียวกัน (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, 2557:105)

          ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเวียดนามมีทั้งมหายาน เถรวาท และผสมผสานระหว่างมหายานกับเถรวาท ในส่วนของนิกายเถรวาทนับว่ามีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีภิกษุณี หรือ หญิงที่บวชเป็นพระมากที่สุดในโลกราว 22,000 รูป (ฉัตรสุมาลย์, 2556:217) ทั้งพระภิกษุและภิกษุณีได้รับการศึกษาทางด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยดึกซู มหาวิทยาลัยเว้เหงียม และมหาวิทยาลัยหว่านฮั่งห์ ทั้งยังมีวัดอันเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามเมืองต่างๆ อยู่หลายแห่ง เฉพาะในนครโฮจิมินห์มีมากถึง 150 แห่ง สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามปกติ (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, 2557:132)

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเข้าสู่เวียดนามมาเป็นเวลากว่าพันปี ทั้งยังเคยถูกกวาดล้างอย่างหนักโดยรัฐบาล หากแต่ในปัจจุบันศาสนาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในเวียดนาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพลังศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนและการผ่อนปรนของรัฐบาลในการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา จึงทำให้พระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่และมีการเผยแพร่ในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งปัจจุบัน  

 

ศาสนาเกาได๋    

          เกาได๋ เป็นชื่อเรียกในภาษาเวียดนาม หมายถึง หอคอยสูงหรือสถานที่อันเป็นที่สถิตย์ของพระผู้เป็นเจ้า อันมีพระนามว่า “Cao Dai Tien Oug Dai Bo Tat Ma-Ha-tat”ที่ศาสนิกชนในศาสนาดังกล่าวเชื่อว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล ทั้งนี้ เกาได๋ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Dai Dao Tam Ky Pho Do”  หมายถึง ศาสนาอันยิ่งใหญ่แห่งยุคที่ 3 ของแสงสว่างและความรอดพ้น ศาสนาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรวมเอาศาสนาหลักทั้ง 3 ศาสนาที่มีอยู่ในเวียดนาม ได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ และลัทธิเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การพ้นทุกข์ของมนุษย์ ขณะเดียวกันถือเป็นการนำไปสู่การกำเนิดใหม่ของศาสนาในเวียดนามตั้งแต่ปี        ค.ศ.1926 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน (Md.Shaikh Farid, 2006)

          เกาได๋เป็นศาสนาที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นที่สุดในประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีการรวมเอาหลักการของพระพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ และลัทธิเต๋าเข้าด้วยกัน  มีพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดคือศาสดาของทั้ง 3 ศาสนา เกาได๋ถือกำเนิดขึ้นในจังหวัดไตนินห์ ทางตอนใต้ของเวียดนามในปี ค.ศ. 1926 โดยมีผู้ก่อตั้งคนสำคัญ คือ            โงห์ วันเทียว สันนิษฐานว่าบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในช่วงที่เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส มีผู้ร่วมก่อตั้งคือ เกากวิน กู ฟามกงตั๊ก และ เกาฮวยสัง นอกจากนี้ศาสนาดังกล่าวยังเข้าไปมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่สมัยอาณานิคมจวบจนปัจจุบัน ในการต่อต้านรัฐบาลเจ้าอาณานิคม รัฐบาลโง ดินห์ เซียม และรัฐบาลในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, 2557:88)

          หลักการสำคัญของศาสนาเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับลัทธิเต๋าและขงจื๊อตลอดจนความเชื่อในสิ่งลี้ลับของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คือ การเคารพในบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ปฏิบัติดีและศรัทธาในความยุติธรรม เชื่อว่าความตายยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุดของชีวิตมนุษย์หากแต่เป็นขั้นต่อไปของชีวิต แม้ว่าร่างกายจะสูญสิ้นแต่วิญญาณยังคงอยู่ และจะกลับไปรวมกับเทพเจ้าสูงสุดของศาสนา (Md.Shaikh Farid, 2006)

          ส่วนการประกอบพิธีกรรม จะกระทำในวัดอันถือเป็นศาสนสถานสำคัญ ภายในมีรูปเคารพของศาสดาทั้ง 3 ศาสนา รวมถึงสัญลักษณ์สำคัญ คือ ภาพดวงตาบนวัตถุทรงกลม อันหมายถึงดวงตาข้างซ้ายของพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะเด่นในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคือการจำแนกพื้นที่ระหว่างหญิงและชาย ทั้งยังมีรูปแบบในการสักการะพระผู้เป็นเจ้าที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นการยืน การนั่ง และการปักธูป ปัจจุบันจำนวนผู้นับถือศาสนาเกาได๋ในเวียดนามยังไม่เป็นที่แน่ชัด หากแต่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ของประชากรทั้งหมด จำนวนนี้ยังมิได้รวมชาวเวียดนามผู้นับถือศาสนาเกาได๋ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป (Nation TV, 2558)

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าเกาได๋จะเป็นศาสนาใหม่ในประเทศเวียดนามถือกำเนิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี หากแต่มีความโดดเด่นในประเด็นของการรวมเอาหลักความเชื่อและศาสดาของทั้ง 3 ศาสนา อันได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ และลัทธิเต๋าเข้าด้วยกัน แต่กระนั้นก็ตามเกาได๋ยังมิได้รับการรับรองจากรัฐบาล ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากศาสนาดังกล่าวมีท่าทีในการต่อต้านระบอบการปกครองสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ขณะที่ปัจจุบันศาสนาเกาได๋ยังคงมีศาสนิกชนให้การสนับสนุนและเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ศาสนสถานสำคัญในจังหวัดไตนินห์ นอกจากเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางวัฒนธรรมของประเทศเวียดนามอีกด้วย

 

ลัทธิหว่าหาว

          หว่าหาว(Hoa Hao) แปลว่าความปรองดองอันสูงสุด ลัทธินี้ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1939 ทางตอนใต้ของเวียดนาม โดย เฮือน ผู่ โซว (Hyun Phu So) ผู้เกิดในตระกูลเกษตรกรชนชั้นกลาง มีความสามารถในการรักษาโรคให้แก่คนในหมู่บ้าน เน้นเรื่องการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ยังคงอิงอยู่กับหลักการทางพระพุทธศาสนาและการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:109)  

          ลัทธิดังกล่าวได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจึงถูกปราบปรามหลายครั้ง จนกระทั่งทำให้  เฮือน ผู่ โซว ผู้นำของลัทธิในขณะนั้นถูกจับกุมตัวและต้องลี้ภัยไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่กระนั้นก็ตามเขายังคงดำเนินงานทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากชาวนาในเวียดนามใต้  ต่อมาเมื่อสิ้นสุดยุคอาณานิคมเวียดนามใต้เข้าสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นำโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโง ดินห์ เซียม และสมาชิกตระกูลโง ผู้เคร่งครัดในการนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ทั้งยังสนับสนุนให้ประชาชนเวียดนามใต้หันมานับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกับสมาชิกในตระกูล มีการจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเฉพาะห้ามการเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะ จึงก่อให้เกิดการต่อต้านจากพุทธศาสนิกชนรวมถึงผู้นับถือลัทธิหว่าหาว นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆกระทั่งยุติลงในปี ค.ศ.1963 เมื่อรัฐบาลยุติบทบาทและอำนาจทางการเมือง  

          แม้ภายหลังการรวมประเทศระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ในปีค.ศ.1975 ลัทธิหว่าหาวยังคงเป็นที่จับตามองของรัฐบาลเพื่อลดทอนบทบาททางศาสนาและการเมือง แต่ต่อมาภายหลังการปฏิรูปประเทศตามนโยบาย Doi Moi ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นรวมไปถึงเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา และในท้ายที่สุดในปี ค.ศ.1999 ลัทธิหว่าหาวได้รับการยอมรับจากรัฐบาลว่ามีสถานะเป็นศาสนาหนึ่งที่มีอยู่ในเวียดนาม ปัจจุบันลัทธิดังกล่าวจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มหัวรุนแรงที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และ กลุ่มสายกลางซึ่งยอมอยู่ภายใต้อำนาจรัฐสังกัดในกรมศาสนาของรัฐบาล (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, 2557:90)    

 

ความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ

          กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มักศรัทธาในความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ชาวไทดำก็เช่นกัน ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไทจัดอยู่ในกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้  อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม ชาวไทดำมีความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ คนกลุ่มนี้เข้ามาตั้งรกรากในดินแดนแถบนี้เป็นเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว ส่วนในประเด็นของความเชื่อและศาสนา สันนิษฐานว่า เนื่องจากถิ่นอาศัยของชาวไทดำเป็นบริเวณหุบเขา จึงส่งผลให้อิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียไม่สามารถแผ่เข้ามายังชุมชนแห่งนี้ได้ ดังนั้นชาวไทดำจึงมีความเชื่อและศาสนาดั้งเดิมของตนเอง ทั้งยังเป็นกลุ่มที่คงแบบแผนของสังคมและวัฒนธรรมชนชาติไทก่อนพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลที่สมบูรณ์ที่สุดกลุ่มหนึ่ง (สุมิตร ปิติพัฒน์, 2546)

          แม้ภายหลังปีค.ศ.1945 เวียดนามเหนือได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยม ส่งผลให้พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนาถูกลดทอนลง แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อของชาวไทดำยังคงมีการสืบทอดจนกระทั่งปัจจุบัน  ได้แก่ ความเชื่อเรื่องขวัญและผี ในสังคมไทดำความเชื่อในสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากจะแยกออกจากกัน เนื่องจากเป็นความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติเช่นเดียวกันและเชื่อว่าทั้งสองสิ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในกลุ่ม

         ชาวไทดำ เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีขวัญ โดยเฉพาะมนุษย์ ขวัญเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ร่างกายเคลื่อนไหวดำเนินชีวิตประจำวันและทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อใดก็ตามที่ขวัญออกจากร่าง ร่างกายของผู้นั้นอาจเจ็บป่วย และหากขวัญไม่กลับเข้าร่างอาจทำให้ผู้นั้นเสียชีวิตลงในที่สุด ส่วนความเชื่อเรื่องผีของชาวไทดำนั้น สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้  1.ผีฟ้าหรือผีแถน  2.ผีเมืองและผีบ้าน 3.ผีบรรพบุรุษ 4.ผีป่า ผีข่วง แม้ว่ามีการจัดประเภทของผีตามความสำคัญแต่ยังคงมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อบูชาตลอดจนเซ่นสังเวยต่อผีในทุกระดับตามโอกาสอันเหมาะสม (สุมิตร ปิติพัฒน์, 2546:26)

           ปัจจุบันชาวไทดำยังคงศรัทธาในความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และยังคงประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อดังกล่าว เช่น พิธีเสนบ้าน พิธีเสนเรือ พิธีปัดตง พิธีเกี่ยวกับผีมด ตลอดจนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษตามความเชื่อดั้งเดิมทั้งสิ้น

 

สรุป

           แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามมิได้มีการกำหนดให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เนื่องจากขัดกับหลักการปกครองตามรูปแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หากเราย้อนกลับไปพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาจะพบว่า ความมั่นคงของแต่ละศาสนาขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของผู้นำทางการเมืองในขณะนั้น แม้ว่าปัจจุบันประชาชนภายในประเทศยังคงสามารถยึดถือปฏิบัติตามหลักศาสนาและความเชื่อที่ตนเคารพนับถือได้อย่างเปิดเผย แต่ในบางระยะเราจะพบว่ามีรายงานข่าวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประชาชนภายในประเทศอยู่เนืองๆ เช่น ในปีค.ศ.2014 นายไฮเนอร์ บีลเฟลด์ ทูตพิเศษด้านเสรีภาพในความเชื่อและการนับถือศาสนาของสหประชาชาติ ได้รับคำบอกเล่าพยานรายหนึ่งว่า ในเวียดนามยังคงมีการละเมิดเสรีภาพทางศาสนา โดยการถูกข่มขู่จากตำรวจ การควบคุมในบ้านพัก กระทั่งการทำลายศาสนสถานต่างๆ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2557)

          แต่กระนั้นก็ตามสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาในเวียดนามก็มิได้มีปรากฏต่อสายตาชาวโลกอย่างที่เคยเป็นมาในปีค.ศ.1963 ขณะเดียวกันศาสนาและความเชื่อเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในเวียดนามจวบกระทั่งปัจจุบัน ทั้งยังมีศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงท่าทีผ่อนปรนของรัฐบาลที่มีต่อศาสนาและความเชื่อต่างๆ ภายในประเทศ

บรรณานุกรม

    ASTV ผู้จัดการออนไลน์. (31 กรกฎาคม 2557). ทูตสหประชาชาติเผยเวียดนามยังคงละเมิดเสรีภาพทางศาสนา. เรียกใช้เมื่อ 1 กันยายน 2559 จาก เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์: http://www.manager.co.th/Indochina/ViewNews.aspx?NewsID=9570000087062

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.

    Md.Shaikh Farid. (1 June 2006). CAODAI : A SYNCRETISTIC RELIGION OF VIETNAM. เรียกใช้เมื่อ 1 September 2016 จาก https://www.academia.edu/567334/Caodaism_A_Syncretistic_Religion_of_Vietnam

    Nation TV. (27 พฤษภาคม 2558). "เกาได๋" ศาสนาลูกผสมแห่งเวียดนาม. เรียกใช้เมื่อ 25 สิงหาคม 2559 จาก Nation TV Web site: http://www.nationtv.tv/main/program/SawasdeeAsian/378457484/

    WIKIPEDIA The Free Encyclopedia. (9 August 2016). Religion in Vietnam. เรียกใช้เมื่อ 15 August 2016 จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Religion_in_Vietnam

    ฉัตรสุมาลย์. (2556). พระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.

    ทีวีไทย. (2553). ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม. พันแสงรุ้ง. กรุงเทพฯ: ทีวีไทย.

    พระธรรมปิฎก. (2540). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.

    พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ. (2557). พระพุทธศาสนาในเวียดนาม. กรุงเทพฯ: หจก.เม็ดทรายพริ้นติ้ง.

    ฟื้น ดอกบัว. (2554). ประวัติพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.

    สุมิตร ปิติพัฒน์. (2546). ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ดอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.