เวียดนาม - พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ในเวียดนามมีอยู่ราว 23 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของรัฐ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ก่อตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ละแห่งเป็นได้ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินและแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนตลอดจนผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัย พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ส่วนใหญ่มีเนื้อหาในการจัดแสดงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชและวีรบุรุษของชาติ เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติเวียดนาม พิพิธภัณฑ์ทหาร พิพิธภัณฑ์สตรี พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา เป็นต้น พิพิธภัณฑ์บางแห่งตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์ เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม จัดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดย่อส่วนจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนามที่ฮานอย เนื่องจากตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งเนื้อหาในการจัดแสดงยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ชาติ อิสรภาพ วีรบุรุษและวีรสตรีในการทำสงครามกับ เจ้าอาณานิคมและผู้รุกรานกลุ่มต่างๆ เพื่อเอกราชของชาติ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ในเมืองเว้ ราชธานีเดิมสมัยราชวงศ์เหงวียนของเวียดนาม คือ พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม นับเป็นพิพิธภัณฑ์เก่าแก่แห่งหนึ่งของเวียดนาม สร้างขึ้นในปีค.ศ.1915 เพื่อนำเสนอประติมากรรมต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์จามและอาณาจักร จามปาในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม และการเข้ามาของศาสนาฮินดูยังดินแดนแถบนี้ผ่านทางเทวรูปของเทพเจ้า เช่น พระศิวะ เป็นต้น (Marilyn Seow and Laura Jeanne Gobal,Editors, 2004:167)
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ยังคงเปิดให้ประชาชนภายและนักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างต่อเนื่อง ดังที่กล่าวมาแล้วว่าในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนามมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวบรวมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 54 กลุ่มในเวียดนามไว้อย่างครบถ้วน ดังนั้นในบทความนี้จึงขอขยายความถึงพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งพอสังเขป เพื่อชี้ให้เห็นถึงประวัติการก่อตั้งและนิทรรศการถาวรที่ทำการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม (National Museum of Vietnamese History)
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก สร้างขึ้นโดยเจ้าอาณานิคมชาวฝรั่งเศส เคยเป็นสถาบันการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีของเจ้าอาณานิคมในปีค.ศ.1910 ต่อมาตัวอาคารได้รับการปรับปรุงจนแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1932 ขณะนั้นมีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันออก (East Art Museum) สิ่งของและผลงานต่างๆที่นำมาจัดแสดงล้วนอยู่ในดุลยพินิจของฝรั่งเศสทั้งสิ้น หากแต่ภายหลังปีค.ศ.1954 เมื่อเวียดนามมีชัยชนะเหนือเจ้าอาณานิคมและได้รับเอกราช พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลายเป็นของรัฐบาลเวียดนาม สิ่งของและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดแสดงล้วนแล้วแต่อยู่ในดุลยพินิจของรัฐบาลเวียดนามทั้งสิ้น และเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีค.ศ.1958 จนกระทั่งปัจจุบัน (Marilyn Seow and Laura Jeanne Gobal,Editors, 2004:174)
ภายในอาคารมีการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุกว่า 7,000 ชิ้น สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วงวัฒนธรรมหว่าบิ่นและบั๊คเซิน (Hoa Binh and Bac Son Culture) โบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ กลองดงเซิน สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son Culture) มีอายุราว 500 -300 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์สมัยราชวงศ์เหงวียน ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนามที่ปกครองประเทศภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนที่สถาบันกษัตริย์จะสิ้นสุดลงในปีค.ศ.1945 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา (Vietnam Museum of Ethnology)
พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาของเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1997 ในเมืองฮานอย เป็นองค์กรสำคัญในการอนุรักษ์และทำการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของเวียดนาม จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 54 กลุ่ม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับว่ามีความโดดเด่นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเน้นการจัดแสดงเรื่องราวของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อทุกกลุ่มชาติพันธุ์ของรัฐบาล ทั้งนี้หากพิจารณาย้อนกลับไปในปีค.ศ.1954 ชาวเวียดนามนำโดยกลุ่มเวียดมินห์ ต้องต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช การต่อสู้ครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่ร่วมต่อสู้ คือ ชาวไทยดำ ดังนั้นเอกราชของเวียดนามจึงมิใช่ว่าได้มาโดยการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์เวียดเพียงกลุ่มเดียว ขณะเดียวกันได้มาด้วยความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังคงเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุที่นำมาจัดแสดงกว่า 1,500 ชิ้น แบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนทั้งภายในอาคารและกลางแจ้ง ทั้งนี้นิทรรศการที่จัดแสดงภายในอาคาร ประกอบไปด้วย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เครื่องแต่งกาย ภาพจำลองประเพณีพิธีกรรมตลอดจนรูปภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยจำแนกตามกลุ่มภาษาที่มีในเวียดนามทั้งสิ้น 5 กลุ่ม คือ 1. ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Language Family) 2.ไท-กะได (Thai – Kadai Language Family) 3. ออสโตรนีเชียน (Austronesian Language Family) 4. ม้ง – เย้า (Mong – Yao Language Family) 5. Sino – Tibetan Language Family (Marilyn Seow and Laura Jeanne Gobal,Editors, 2004:180-181)
ส่วนกลางแจ้งนั้นจัดแสดงแบบจำลองบ้านขนาดจริงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ราว 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม Tay กลุ่ม Yao กลุ่ม Viet กลุ่ม Cham แสดงถึงความหลากหลายของสถาปัตยกรรม เช่น บ้านและศาลากลางบ้าน ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนาม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและสังคมของชาวพื้นเมือง ยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ตอนต้น (นิรมล เมธีสุวกุล, 2554)
ดังที่กล่าวมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นได้ทั้งแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยว ของประชาชนภายในประเทศและชาวต่างชาติที่สนใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเวียดนาม ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังกลายเป็นตัวแทนของประเทศและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของตน
อย่างไรก็ตามเวียดนามจัดว่าเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์น่าสนใจเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างชาติและอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันยังมีพิพิธภัณฑ์ภัณฑ์อีกหลายแห่งที่นำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างออกไป เช่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา ที่นำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังคงพร้อมเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจจากทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสถึงความเป็นพหุสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลายในภูมิภาคนี้
บรรณานุกรม
Marilyn Seow and Laura Jeanne Gobal,Editors. (2004). MUSEUMS of Southeast Asia. Singapore: Archipelago Press.
นิรมล เมธีสุวกุล. (2,9 กรกฎาคม 2554). ชาติพันธุ์ในเวียดนาม. พันแสงรุ้ง. กรุงเทพฯ: ทีวีไทย.