เวียดนาม - ประเพณีพิธีกรรม



          เวียดนามเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถึง 54 กลุ่ม ส่วนใหญ่ยังคงศรัทธาในความเชื่อดั้งเดิมอันเป็นสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ในขณะเดียวกันมีบางส่วนนับถือศาสนาต่างๆ เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม และเกาได๋ ฯลฯ ดังนั้นประเพณีและพิธีกรรมในเวียดนามจึงมีความหลากหลายไปตามความเชื่อและศาสนาที่ประชาชนเคารพนับถือ ทั้งยังมีวันสำคัญของชาติเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวเวียดนาม เช่น วันที่ 2 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันชาติของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อรำลึกถึงการประกาศเอกราชให้กับดินแดนแห่งนี้โดย โฮจิมินห์ ณ จตุรัสบาดิ่ญ ในกรุงฮานอย

          นอกจากนี้ในหนังสือสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ของ วิทย์ บัณฑิตกุล ได้รวบรวมวันสำคัญ เทศกาลงานประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ที่มีในเวียดนามไว้ 17 รายการ คือ 1.เต็ดเฮงียนด๋าน 2. เต็ดจุงเวียน 3.เต็ดดวานเง๊าะ 4.เต็ดจุงทู 5.เต็ดห่านทึก 6.เทศกาลตลาดนัดเคาวาย 7.เทศกาลลิม 8.เทศกาลบูชากษัตริย์หุ่ง 9.ประเพณีชนควาย 10.ประเพณีบูชาจู่ด่งตื่อ 11.เทศกาลจั่วเฮือง 12.เทศกาลจั่วเถ่ย 13.เทศกาลชมจันทร์  14.เทศกาลโบหม่า 15.เทศกาลแข่งช้าง 16.เทศกาลโก่ลวา 17.เทศกาลจั่วแก่ว (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:146-160)

          วิทย์(2555) ได้ขยายความถึงเทศกาลงานประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ตามลำดับไว้พอสังเขป หากตั้งข้อสังเกตจาก 5 ลำดับแรกจะพบว่าพยางค์แรกของชื่องานขึ้นต้นด้วยคำว่า “เต็ด” โดยทั่วไปแล้วเราทราบว่า “เต็ด” คืองานเฉลิมฉลองสำคัญของเวียดนาม ทั้งนี้ตามความหมายที่แท้จริงแล้ว “เต็ด” คือ การเริ่มต้นใหม่ ความชื่นบานของฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลแห่งรุ่งอรุณของปี (มนธิรา ราโท, 2556) เฉกเช่นเดียวกับเทศกาลปีใหม่ของชาวเวียดนาม “เต็ดเฮงียนด๋าน” หรือ ตรุษเต็ด ถือเป็นเทศกาลสำคัญของชาวเวียดนามทั้งประเทศ และสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมจีนที่ยังคงเด่นชัดอยู่ในวัฒนธรรมเวียดนาม เนื่องจากวันปีใหม่ของชาวเวียดนามยึดตามปฏิทินทางจันทรคติแบบจีน ดังนั้น เต็ดเฮงียนด๋าน หรือ ตรุษเต็ด จึงตรงกับวันตรุษจีน ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง 

          ส่วนพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายนั้น พิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทนับว่ามีความน่าสนใจในประเด็นของการคงไว้ซึ่งความเคารพที่มี่ต่อบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ กลุ่มสำคัญ คือ ชาวไทดำและไทขาว มีความโดดเด่นเนื่องจากวิธีการและขั้นตอนของพิธีกรรม ล้วนสอดแทรกการให้ความสำคัญกับเพศสภาวะและลำดับชั้นทางสังคมไว้อย่างแยบคาย

 

เต็ดเฮงียนด๋านของชาวเวียดนาม

          เต็ดเฮงียนด๋าน เทศกาลแรกแห่งรุ่งอรุณของปี หรือ เทศกาลปีใหม่ มีขึ้นในช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ตามปฏิทินทางจันทรคติของแต่ละปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญทั้งยังเป็นเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเวียดนามได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและเทพเจ้าที่ตนเคารพนับถือ ด้วยเครื่องเซ่นไหว้และอาหารนานาชนิด ทั้งยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและการพบปะสังสรรค์กันภายในครอบครัวตลอดจนบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพนับถือ บรรยากาศของเทศกาลอบอวลไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริงดังความเชื่อที่ว่าเป็นรุ่งอรุณแห่งปี

          ชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับเทศกาลดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนการมาถึงของ เต็ดเฮงียนด๋าน บรรยากาศการเฉลิมฉลองเริ่มขึ้นด้วยการแสดงความเคารพต่อองค์เทพ คือ การบูชาองค์ต๋าว หรือ เทพเจ้าแห่งครัว ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้มีหน้าที่รายงานความเป็นไปของโลกมนุษย์ต่อเทพบนสวรรค์ ขณะที่ในส่วนของการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับนั้น มีขึ้นก่อนถึงวันปีใหม่ โดยแต่ละครอบครัวจะจัดเตรียมอาหารคาวหวานอย่างเต็มกำลังเพื่อนำไปเซ่นไหว้ ณ สุสานบรรพบุรุษของตน ทั้งยังเป็นวันที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อรอต้อนรับปีใหม่ มีการทำความสะอาดและตกแต่งบ้านเรือนอย่างสวยงามด้วยไม้มงคลต่างๆ อาทิ ฮวาด่าว คือ ดอกเหมยหรือดอกไม้สีชมพู ฮวามาย คือ ดอกไม้สีเหลือง และเกยเกิ๊ต หรือ ส้มจี๊ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ (มนธิรา ราโท, 2556)

         เมื่อวันรุ่งขึ้นมาถึงในเวลา 24.00 น. ถือเป็นการเข้าสู่เทศกาลเต๊ดเฮงียนด๋าน มีสัญลักษณ์สำคัญคือการจุดพลุและปะทัดเพื่อยืนยันว่ารุ่งอรุณแห่งปีได้มาถึงแล้ว มีการเฉลิมฉลองด้วยกันสามวัน เริ่มต้นจาก วันที่ 1 ถือเป็นวันไหว้และเป็นเต็ดของบิดา มีการสังสรรค์กันในครอบครัว ส่วนวันที่ 2 เป็นเต็ดของมารดา และวันที่3 เป็นเต็ดของครูอาจารย์ ชาวเวียดนามมักถือโอกาสแสดงความกตัญญุตาต่อผู้มีพระคุณและบุคคลอันเป็นที่รักในวันที่สามของเทศกาล โดยการเดินทางพบปะเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านตลอดจนบุคคลต่างๆ ที่ตนเคารพนับถือเพื่อแสดงความขอบคุณในความอนุเคราะห์ที่มีต่อกันมา (มนธิรา ราโท, 2556)

          ทั้งนี้ในเช้าวันแรกของปีชาวเวียดนามมีพิธีการสำคัญเรียกว่า การซงเดิ๊ด คือความเชื่อเกี่ยวกับตัวบุคคลผู้มาเยือนครอบครัวเป็นคนแรกในเช้าวันดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นผู้นำมาซึ่งความโชคดีตลอดจนโชคลาภวาสนาต่างๆของเจ้าของบ้าน  ดังนั้นจึงมักมีการเชิญสุภาพบุรุษที่มีครอบครัวแล้วและไม่ได้อยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ที่สำคัญต้องเป็นผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจตลอดจนหน้าที่การงานด้านต่างๆ เพื่อมาอวยพรและเป็นผู้มาเยือนคนแรกของครอบครัว

          นอกจากนี้ชาวเวียดนามยังให้ความสำคัญในเรื่องเสียงที่สามารถทำนายถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนในปีนั้นๆ คือ เสียงแรกที่ได้ยินในเช้าวันปีใหม่ เช่น เสียงไก่ขัน เชื่อว่าเป็นสัญญาณของการทำงานหนักและผลผลิตตกต่ำ เสียงสุนัขเห่า เชื่อว่าเป็นสัญญาณแห่งการไว้วางใจและซื่อสัตย์ เป็นต้น (ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์, (บรรณาธิการ), 2541:92)

          ปัจจุบันเทศกาลเต็ดเฮงียนด๋านของชาวเวียดนามยังคงมีการจัดขึ้นทุกปีและเป็นเทศกาลสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ จากข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ชาวเวียดนามพยายามกระทำแต่สิ่งที่เป็นมงคลทั้งยังไม่ละเลยที่จะแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าและความกตัญญุตาต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ที่สำคัญคือต่อบิดามารดาและครูอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ปีใหม่ของชาวเวียดนามจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของคนทั้งประเทศ รัฐบาลได้ประกาศให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นทุกครอบครัวจึงมีโอกาสพบปะสังสรรค์และกระทำแต่สิ่งอันเป็นมงคลร่วมกันตั้งแต่วันแรกของปี

 

ประเพณีและพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนาม

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มพูดภาษาตระกูลไท-กะได สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai group) ทั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนามจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มไตหรือไต่ (Tay) 2. กลุ่มไทหรือถาย(Thai) กลุ่มหลังนี้มีประชากรหลักเป็นชาวไทขาวและไทดำ ในส่วนของประเพณีและพิธีกรรมนั้นล้วนมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ที่ปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน ประเพณีและพิธีกรรมสำคัญของชาวไทขาวนั้น คือ พิธีกรรมบูชาแถน หรือ แถนกินปาง ส่วนประเพณีพิธีกรรมสำคัญของชาวไทดำนั้น คือ พิธีเสนบ้านและเสนเรือน ทั้ง 3 พิธีกรรมนี้ยังคงได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้สามารถกระทำได้จนกระทั่งปัจจุบัน

          พิธีกรรมบูชาแถน หรือ แถนกินปาง เนื่องจากชาวไทขาวยังคงมีความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ เช่น ผีป่า ผีน้ำ ผีบ้าน ผีเมือง และวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องแถน ชาวไทขาวเชื่อว่าตนมีความเชื่อมโยงกับแถน หากขาดแถนมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เช่นเดียวกับการขาดบรรพบุรุษ ดังนั้นพิธีกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้น เพื่อเซ่นสรวงบูชาทำให้ แถน อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติพอใจและบันดาลความสุขสมหวังแก่ชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งยังนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แก่ผลผลิตทางการเกษตร  

          พิธีกรรมดังกล่าวมีขึ้นเป็นประจำทุกปีในวัน 10 ค่ำเดือน 3 ที่บ้านห้วยหน้า เมืองไลเจิว ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม แม้ว่าในเมืองดังกล่าวจะมีชาวม้งและชาวเย้า อาศัยอยู่ด้วย มิได้มีแต่ชาวไทขาวเพียงกลุ่มเดียว แต่ประเพณีและพิธีกรรมดังกล่าวยังคงจัดขึ้นและดำเนินไปอย่างราบรื่นในทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพในการดำรงอยู่ของประเพณีพิธีกรรมท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในพื้นที่  ขณะเดียวกันปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการของเมืองไลเจิว เพื่อให้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นทุกปี นอกจากจะกระทำขึ้นเพื่อบูชาแถนตามความเชื่อของชาวไทขาวแล้ว ในวันประกอบพิธียังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศอีกด้วย (ทีวีไทย, 2554)

         ในพิธีแถนกินปางชาวไทขาวทุกคนทั้งหญิงและชายจะสวมชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้นำในการประกอบพิธีเป็นผู้หญิง เรียกว่า ร่างทรงแถน หรือ ล่ามแถน มีการบรรเลงดนตรีและร่ายรำเพื่ออัญเชิญแถน แม้ว่าในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์พิธีกรรมดังกล่าว มีขึ้นด้วยความเชื่อความเคารพศรัทธาอย่างแรงกล้าในการบูชาแถนและบรรพบุรุษ  ขณะที่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พิธีกรรมดังกล่าวถูกลดทอนลงและได้รับการฟื้นฟูในภายหลัง ปัจจุบันพิธีกรรมดำเนินไปควบคู่กันระหว่างความต้องการฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมแบบดั้งเดิมของรัฐบาลกับความศรัทธาในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติที่ตนเคารพนับถือ ดังนั้นปัจจุบันพิธีกรรมดังกล่าวจึงใช้ระยะเวลาในการประกอบพิธีเพียงหนึ่งชั่วโมง และเสมือนว่ามีขึ้นเพื่อแสดงเป็นตัวอย่างแก่ผู้เข้าชม (ทีวีไทย, 2554)

          ทั้งนี้นอกจากการบูชาแถนแล้ว พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับแถนยังมีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของชาวไทขาวในเรื่องการรักษาโรค แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาโรคต่างๆ ด้วยยาและวิธีการทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่ถูกพัฒนาด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ แต่ชาวไทขาวยังคงใช้วิธีการรักษาตามความเชื่อเกี่ยวกับแถนควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเลือกที่จะรักษาตามรูปแบบของแพทย์แผนปัจจุบันก่อนหากยังไม่ทุเลาลง ชาวไทขาวจะจัดพิธีกรรมเพื่อบูชาแถนโดยมี “ล่ามแถน” เป็นผู้นำในการประกอบพิธี หากแถนพอใจ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในเร็ววัน (ชาติพันธุ์ในเวียดนาม, 2554)   

          ส่วนประเพณีและพิธีกรรมสำคัญของชาวไทดำนั้น คือ พิธีเสนบ้าน และ เสนเรือน ชาวไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อในอำนาจลี้ลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับชาวไทขาว ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อบูชาสิ่งที่ตนนับถือ แม้ว่าในอดีตชาวไทดำจะมี พิธีเสนเมือง เป็นพิธีกรรมยิ่งใหญ่เพื่อบูชาผีเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่าหากกระทำแล้วจะทำให้ชาวเมืองอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์ภัยและโรคระบาด แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ส่งผลให้พิธีเสนเมืองต้องถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปีค.ศ.1954 จนกระทั่งปัจจุบัน แต่พิธีเสนบ้านและเสนเรือนยังคงได้รับอนุญาตและสนับสนุนให้กระทำได้ในปัจจุบัน

          พิธีเสนบ้าน เป็นพิธีกรรมสำคัญที่กระทำขึ้นตามคำสั่งของบรรพบุรุษด้วยความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงผี ที่ว่าหากมีพิธีกรรมนี้แล้วผีบ้านจะไม่มารังควานสมาชิกภายในบ้าน ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงจะอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคระบาดและโรคร้ายทั้งปวง ผลผลิตทางการเกษตรจะอุดมสมบูรณ์และเจริญงอกงาม

          พิธีเสนบ้านของชาวไทดำกระทำขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือน 10 มีการประกอบพิธีทั้งสิ้น 3 วัน ยึดเอาบริเวณศูนย์กลางของบ้านเป็นปะรำพิธี มีการปักเสาเพื่อเป็นเครื่องหมายการตั้งถิ่นฐานของคนในหมู่บ้าน และเป็นที่สถิตของผีเจ้าเชื้อหรือเจ้าเสื้อผู้ตั้งบ้านคนแรก ใช้หมูและควายในหมู่บ้านเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ผู้เข้าร่วมพิธีมีเฉพาะหมอกระทำพิธีและผู้ชายในหมู่บ้านเท่านั้น ในพิธีหมอจะทำการเชิญผีบ้านมารับเครื่องเซ่นสังเวย จากนั้นจึงเชิญผีคนตายในหมู่บ้านเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ประกอบพิธีกรรมจะมีการปักตาเหลว(เฉลว) ไว้หน้าหมู่บ้าน และห้ามคนนอกเข้าออกหมู่บ้านเป็นระยะเวลา 3 วัน (สุมิตร ปิติพัฒน์, 2545:54)  

          พิธีเสนเรือน เป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวไทดำเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ด้วยความเชื่อว่าครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขได้ เนื่องจากความเมตตาและได้รับการดูแลจากผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน ดังนั้นในพิธีกรรมนี้ชาวไทดำจึงกระทำการเซ่นสังเวย เพื่อเป็นการรำลึกและตอบแทนพระคุณของผีบรรพบุรุษตามความเชื่อดังกล่าวข้างต้น

          พิธีเสนเรือน ถือเป็นพิธีกรรมใหญ่และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวไทดำเป็นอย่างยิ่ง ชาวไทดำแต่ละครอบครัวต้องจัดพิธีกรรมดังกล่าวขึ้นปีละ 1 ครั้ง หรือ 2-3 ปี ต่อครั้ง ตามความพร้อมของแต่ละครอบครัว ในพิธีกรรมนี้ใช้เครื่องเซ่นสังเวยเป็นหมูตัวผู้ที่เลี้ยงไว้ในครอบครัว มีผู้นำในการประกอบพิธีกรรมคือ หมอเสน ทั้งนี้พิธีกรรมดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อครอบครัวนั้นๆ ได้ปรึกษากับหมอเสนเพื่อกำหนดวันเสนเรือน เมื่อกำหนดวันแล้วในเช้าวันนั้นจะกระทำการเชือดหมูตัวผู้ที่เลี้ยงไว้ จากนั้นจะนำไปชำแหละใน ห้องกะลอฮ้อง หรือ ห้องผีเรือน แล้วนำทั้งหมูดิบและหมูสุกวางบนโตกเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวย เมื่อพร้อมแล้วเจ้าของบ้านผู้ทำพิธีจะนำหมากพลูและข้าวสารไปเชิญ หมอเสน มาประกอบพิธี (สุมิตร ปิติพัฒน์, 2545:55)

          เมื่อหมอเสนมาถึงจะทำพิธีเชิญผีมารับเครื่องเซ่นสังเวย ตามรายชื่อผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวที่มีการจดไว้ในสมุด หรือเรียกว่า ปั๊บผีเรือน เมื่อพิธีสิ้นสุดลงเจ้าของเรือนจะมอบหมูดิบ ข้าว และอาหารให้กับหมอเสนเพื่อเป็นค่าตอบแทน ในพิธีเสนเรือนนี้ครอบครัวที่เป็นผู้จัดพิธีจะมีการเชิญเพื่อนบ้านมาร่วมรับประทานอาหาร คล้ายกับเป็นการพบปะสังสรรค์ไปในคราวเดียวกัน (สุมิตร ปิติพัฒน์, 2545:55)  

           ดังที่กล่าวมานี้ในส่วนประเพณีและพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขาวและไทดำในเวียดนาม ล้วนมีจุดร่วมกันของพิธีกรรมอยู่ตรงที่การเซ่นสรวงบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วยความเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต ในส่วนของชาวไทขาวนั้น กระทำขึ้นเพื่อบูชาแถน เพื่อให้แถนเกิดความพอใจและบันดาลความอุดมสมบูรณ์ต่อชีวิตผู้คนและชุมชน ขณะที่พิธีกรรมเสนบ้านและเสนเรือนของชาวไทดำ กระทำขึ้นเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษทั้งของชุมชนและของแต่ละครอบครัว เพื่อหมุดหมายเดียวกันกับการที่ชาวไทขาวบูชาแถน

         ส่วนในประเด็นของเพศสภาวะนั้นเราอาจสังเกตได้ว่าพิธีแถนกินปางของชาวไทขาวมีผู้ประกอบพิธีกรรมหลักและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ขณะที่การประกอบพิธีกรรมของชาวไทดำในพิธีเสนบ้านนั้น มีผู้นำหลักในการประกอบพิธีเป็นผู้ชาย อีกทั้งยังอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นสามารถเข้าร่วมพิธีได้ ดังนั้นในประเด็นของเพศสภาวะในการประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขาวและไทดำ จึงเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจศึกษาต่อไปกับคำถามที่ว่า ใครเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้เลือกเพศของผู้นำในการประกอบพิธีกรรม และ เพศสภาวะที่ต่างกันส่งผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ภายใต้ความเชื่อและความศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมหรือไม่อย่างไร

          ขณะที่จุดร่วมกันของเต็ดเฮงียนด๋านกับพิธีแถนกินปาง เสนบ้านและเสนเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขาวและไทดำนั้น มีประเด็นร่วมกันที่การสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพในเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันความเชื่อในผลตอบแทนที่ผู้กระทำการบูชาจะได้รับคือ ความมั่นคงในการดำรงชีวิต

          อย่างไรก็ตามหากเรามองการสืบทอดทางประเพณีและพิธีกรรมเป็นการปฏิบัติเพื่อการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างคนกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเพื่อให้ต่างฝ่ายเกิดความพอใจในสิ่งที่ตนต้องการ มุมมองนี้อาจกลายเป็นการลดทอนคุณค่าในประเพณีและพิธีกรรมลงอย่างสิ้นเชิง หากแต่ในทางกลับกันเราไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่าประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้คือการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ในความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของเวียดนาม ดังนั้นการประกอบประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ จึงเป็นการแสดงออกทางรูปธรรมเพื่อบูชานามธรรมอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์เหนือธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่สุดแล้วแต่ทรรศนะของแต่ละบุคคลที่จะมอบคุณค่าให้แก่ประเพณีและพิธีกรรมอย่างไร หากแต่ในส่วนของชาวเวียดนามรวมถึงชาวไทขาวและไทดำ ได้มอบคุณค่าให้แก่งานเทศกาลเต็ดเฮงียนด๋าน พิธีแถนกินปาง พิธีเสนบ้านและเสนเรือน ว่าเป็นเทศกาลและพิธีกรรมที่สำคัญยิ่งในวิถีการดำรงชีวิตและยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน

บรรณานุกรม

    ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ , (บก.). (2541). หน้าต่างสู่โลกกว้าง. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง จำกัด.

    ชาติพันธุ์ในเวียดนาม. (2554). พันแสงรุ้ง. กรุงเทพฯ: ทีวีไทย.

    มนธิรา ราโท. (28 มกราคม 2556). บทความพิเศษ "ตรุษเต๊ดปีใหม่ของเวียดนาม". เรียกใช้เมื่อ 15 สิงหาคม 2559 จาก เว็บไซต์ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย: http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1239

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. กรุงเทพฯ: บริษัททวีพริ้นท์ (1991) จำกัด.

    สุมิตร ปิติพัฒน์. (2545). ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ โอ.เอสพริ้นติ้งเฮ้าส์.