เวียดนาม - ประวัติศาสตร์



ยุคโบราณ

ยุคหิน

มีการค้นพบวัฒนธรรมยุคหินเก่าในพื้นที่ประเทศเวียดนาม เช่น หัวกะโหลกมนุษย์ ขวานหิน การขุดพบโบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเวียดนามมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยยุคหินเก่า และในปลายสมัยยุคหินเก่า สันดอนปากแม่น้ำยังมิได้ตื้นเขิน มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเชิงเขาหินปูนรอบๆ ที่ราบ อาศัยอยู่ในถ้ำที่กว้างขวางใกล้แม่น้ำและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปลาและสัตว์ต่างๆ ใช้ก้อนกรวดทรายในลำธารทำเครื่องมือใช้สอย (เหวียน, 2552) และค่อยพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้สืบต่อกันมาช้าๆ และมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต่อมาในยุคหินใหม่ มีศูนย์กลางวัฒนธรรมสมัยหินใหม่อยู่ที่จังหวัดฮว่าบิญ และอำเภอบั๊ก เซิน (Bac Son) ในจังหวัดหล่างเซิน (Lang Son) โดยค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ เตาไฟ เตาถ่าน ร่องรอยการทำงานหาร เปลือกหอย กระดูกต่างๆในถ้ำหลายแห่ง หลักฐานสำคัญที่ถูกพบคือขวานบั๊กเซินที่ทำจากหินที่ถูกเกลามาอย่างดีแล้ว (วิทย์, 2550)

ยุคโลหะ

มีการพบหลักฐานยุคโลหะในบริเวณที่ราบสูงและที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง วัฒนธรรมสำคัญในยุคนี้คือวัฒนธรรมดองซอน (Dong Son) เป็นกลองมโหระทึกทำด้วยสำริดมีการสลักลวดลายหน้ากลองและตัวกลอง กลองสำริดนี้ถูกพบทั้งในจีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมร่วมกัน โดยกลองสำริดที่เวียดนาม ถูกพบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางตอนเหนือของประเทศจึงถูกตั้งชื่อว่าดองซอน ตามสถานที่ที่ได้ค้นพบจึงเรียกว่า วัฒนธรรมดองซอน ซึ่งนอกจากกลองแล้ว ยังมีการค้นพบเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งโบราณวัตถุบางชิ้นเป็นเครื่องมือที่ทำด้วยทองแดง ต่อมาทำด้วยโลหะผสม เครื่องมือหินมีการขัดเกลาเป็นอย่างดี มีการพบแม่พิมพ์หินทรายสำหรับใช้ทำขวาน (เหวียน, 2552) พบเครื่องมือทำเกษตร ภาชนะ อาวุธ เครื่องดนตรี พร้า หวด เคียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการปลูกข้าว (วิทย์, 2550)

 

สมัยหลากหลายอาณาจักร : ก่อนการรวมเป็นอาณาจักรเดียว

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าบริเวณที่ราบริมฝั่งทะเลของของเวียดนามเหนือและมณฑลกวางตุ้งบางส่วนในปัจจุบัน เคยมีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น หลากเวียด (Lac Viet) ประกอบด้วยชนเผ่า 15 ชนเผ่า แต่ละเผ่ามีที่ทำกินเฉพาะ ทำนานในนาที่มีน้ำเจิ่ง มีการสักตามตัวเป็นรูปสัตว์น้ำ เคี้ยวหมาก ย้อมฟันดำ ใช้สากตำข้าว มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับพวกเต็ยเอิว (Tay Au) เป็นกลุ่มที่อยู่บริเวณเขตเวียดบั๊ก (Viet Bac) และบางส่วนในมณฑลกวางสีของประเทศจีนในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มเต็ยเอิว นี้เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธ์ไต่ (Tay) หนุ่ง (Nung) และจ้วง (Choang) ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ปัจจุบัน โดยกลุ่มหลากเวียด และกลุ่มเต็ยเอิวมีการทำสงครามกันเป็นครั้งคราว จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์ถุกฟ้าน (Thuc Phan)  ของพวกเต็ยเอิวได้รับชัยชนะในสงคราม และสามารถรวบรวมดินแดนหลากเวียด ตั้งอาณาจักรได้ในช่วง 258 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าอานเยือง (An Duong) ก่อตั้งราชสำนักและกองทัพที่เข้มแข็ง และย้ายเมืองหลวงไปที่บริเวณที่ราบบริเวณโก๋ลวา ห่างจากเมืองฮานอยปัจจุบันออกไป 20 กิโลเมตร มีการสร้างกำแพงกั้นรอบเมือง 3 ชั้น มีคูน้ำกว้างเชื่อมกับแม่น้ำ มีหอคอยป้องกันศัตรูที่เข้ามารุกรานอาณาจักร

 

เวียดนามใต้การปกครองของจีน : นำมาสู่การปลดแอกจากจีนได้สำเร็จ

ในช่วงศตวรรษที่ 3 กลุ่มฮั่นในจีนได้พยายามรวมกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ รวมทั้งเข้ามาโจมตีอาณาจักรนามเวียด (Nam Viet) หรือ นามเหย่ (Nam Yue) (ผุสดี, 2541) ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ในช่วง 111 ปีก่อนคริสตกาล แล้วผนวกพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือตอนเหนือของเวียดนามลงไปเกือบถึงเส้นขนานที่ 18 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจีน และเปลี่ยนชื่ออาณาจักรเป็น ยาวจี๋ (Giao Chi) โดยจีนได้ส่งขุนนางเข้ามาปกครอง และนำแนวคิดของจีนเข้ามาเผยแพร่ แต่คนพื้นเมือพยายามรักษาอัตลักษณ์เดิมของตน และพยายามก่อการกบฏต่อต้านจีน แต่จีนก็สามารถปราบปรามได้ ต่อมาในสมัยราชวงศ์สุยของจีนได้ย้ายเมืองหลวงไปที่ต๋งบิ๋ญ ซึ่งก็คือฮานอยในปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ช่วงปี ค.ศ. 618 เศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้พัฒนาขึ้น มีการก่อตั้งสำนักปกครองประเทศราชในภาคใต้ จัดระบบการปกครองให้เป็นระเบียบ เป็นช่วงที่อิทธิพลลัทธิขงจื๊อและเต๋าข้ามาเผยแพร่ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 874-883 ได้เกิดกบฏในประเทศจีนและราชสำนักอ่อนแอ ชาวเวียดนามในยุคนั้น จึงพยายามต่อสู้ปลดแอกจากการปกครองของจีน จนปี ค.ศ. 938 ฝ่ายเวียดนามได้รับชัยชนะ และโงเกวี่ยนสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 939 แต่หลังจากโงเกวี่ยนตาย ขุนนาง 12 คนก็เวียดนามก็แบ่งเป็นส่วนต่างๆและสู้รบกันเอง จนในปี ค.ศ. 967 ดิญโบ่ลี้ญ (Dinh Bo Linh) สามารถรวบรวมเวียดนามได้ และตั้งตนเป็นกษัตรย์ พร้อมตั้งชื่อประเทศใหม่ว่า ด่ายโกเวียด (Dai Co Viet) ตั้งเมืองหลวงที่ ฮวาลือ (Hoa Luu) หลังจากนั้นแม้จะเจอการรุกรานจากจีนทางเหมือและจากกลุ่มจามจากทางใต้ ด่ายโกเวียดก็สามารถต่อต้านผู้มารุกรานได้ (วิทย์, 2555)

 

ยุคกษัตริย์และราชวงศ์

ยุคต่อมาได้จัดการการปกครองแบบราชวงศ์ด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด มีระบบเจ้าขุนมูลนางและขุนนาง ราชวงศ์แรกกของเวียดนามคือราชวงศ์ลี้ (Ly) สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1009 ในปีต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองทังลอง ซึ่งก็คือฮานอยในปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นด่ายเหวียด (Dai Viet) ในปี ค.ศ. 1225 ราชวงศ์เจิ่น (Tran) ได้พัฒนาจนด่ายเหวียดเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว เช่น การจัดการทางการเกษตร การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม การจัดระบบถือครองที่ดิน การเก็บภาษี การพัฒนาการค้าขาย และการพัฒนาทางด้านการศึกษา การรวบรวมวรรณคดีเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นต้น สิ่งที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการปกครองในยุคนี้ คือระบบความคิดแบบขงจื๊อที่ช่วยให้สังคมอยู่เป็นระเบียบ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ราชวงศ์หมิงของจีนได้ผนวกด่ายเหวียดเข้ากับจักรวรรดิจีนและวางระบบการปกครองโดยตรง พร้อมทั้งตั้งกองทัพเป็นเครือข่ายทหารติดต่อกันทั่วเพื่อควบคุมความเป็นระเบียบ ราชวงศ์หมิงพยายามทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงทำให้เกิดการกบฏอยู่บ่อยครั้ง จนสุดท้ายผู้นำสามัญชนชื่อ เลเหล่ย (Le Loi) ตั้งตนเป็นกษัตริย์ใช้นามว่า พระเจาบิ่ญดิ่ญเวือง (Binh Dinh Vuong) ได้รวบรวมกำลังและขับไล่จีนออกไปได้

ต่อมาราชวงศ์เลเริ่มเสื่อมอำนาจลง เนื่องจากผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม ข้าราชการขุนนางมีการฉ้อราชบังหลวง ราชสำนักใช้จ่ายไปกับของฟุ่มเฟือย มีการซื้อขายตำแหน่งราชการ และข้าราชการก็ไปขูดรีดกับประชาชน ในช่วงนั้นอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ตระกูลตรินห์ (Trinh) ซึ่งอยู่ทางเหนือ และตระกูลเหงียน (Nguyen) ซึ่งอยู่ทางใต้  โดยเป็นสองตระกูลที่ทำให้ญวนต้องมีการสู้รบแย่งชิงดินแดนกันเองเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1620–ค.ศ. 1674 ซึ่งสุดท้ายแล้วราชวงศ์เหงียนที่มีกำลังน้อยกว่าก็สามารถรวมเวียดนามเป็นหนึ่งเดียวได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากโปรตุเกสในเรื่องยุทธภัณฑ์ และมีความจงรักภักดีของประชาชนเป็นกำลังสำคัญ และมีการขับไล่กลุ่มชาวจามออกไปจากเวียดนาม จึงทำให้กลุ่มชาวจามต้องย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในกัมพูชา (DGE.Hall) และต่อมาในคริสต์ศวรรษที่ 18 ได้มีกลุ่มเต็ยเซิน (Tay Son) เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน สามารถต่อสู้กับกลุ่มของตระกูลตรินห์และตระกูงเหงียนจนชนะ และรวบรวมเวียดนามเหนือและใต้เข้าไว้ด้วยกันและสถาปนาราชวงศ์เลกลับมาอีกครั้ง

พระเจ้ากวางจุง (Quang Trung) ซึ่งได้ขึ้นปกครองเวียดนามในยุคนั้น ประสบความสำเร็จในเรื่องของการวางระบบทหาร เศรษฐกิจ การปฎิรูปการศึกษา แต่ผู้สืบทอดอำนาจคนต่อมาก็ไม่มีอำนาจมากพอ เหวียญแอ๋ญ (Nguyen Anh) จึงถือโอกาสเข้ามาสู้รบกับกลุ่มเต็ญเซิน และขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนกับการยกเมือท่าสำคัญ คือ เมืองดานัง และเกาะโกนเซิน ให้แก่ฝรั่งเศส ให้สิทธิ์ทางการค้ากับฝรั่งเศสและกีดกันการค้ากับชาติยุโรปอื่นๆ เหวียญแอ๋ญได้รับชัยชนะ และตั้งตนเป็นกษัตริย์ญาลอง (Gia Long) สถาปนาราชวงศ์เหงวียน และตั้งเมืองหลวงที่เมืองเว้ (Hue) ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และใช้ระบบศักดินา ในช่วงนั้นเวียดนามได้เจอปัญหาการกบฏของกลุ่มชาวนาและชาวบ้านบ่อยครั้ง กษัตริย์ยอมรับความยิ่งใหญ่ของจีน และเริ่มขยายอิทธิพลไปยังลาวและเขมร ซึ่งส่งผลให้ปกครองไม่ทั่วถึง และราชวงศ์เริ่มอ่อนแอลง จึงเป็นช่องทางให้ฝรั่งเศสเข้ามาในเวียดนามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

 

สมัยอาณานิคม : การกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีน

ในช่วงที่อิทธิพลของชาติตะวันตกที่ออกล่าดินแดนในเอเชียเป็นอาณานิคม เช่น สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ สำหรับทางฝรั่งเศสเองก็ต้องการพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส เพื่อเป็นทางผ่านให้ฝรั่งเศสเข้าไปทำการค้าหรือแสวงหาประโยชน์จากจีนอีกทีหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1858 กองทัพฝรั่งเศสได้เข้าโจมตีเมืองดานังเป็นที่แรก และค่อยๆ ผนวกบริเวณอื่นเข้ามา รัฐบาลฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากับกษัตริย์และขุนนาง ส่วนทางขุนนางและกลุ่มชนชั้นปกครองก็ต้องการประนีประนอมกับฝรั่งเศสเพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้ แต่กลุ่มชาวบ้านกลับมีความรู้สึกต่อต้านฝรั่งเศสและพยายามที่จะลุกขึ้นสู้ แม้พระเจ้าตึดึ๊ก (Tu Duc) กษัตริย์เวียดนามในขณะนั้นพยายามจะขอความช่วยเหลือจากจีน แต่จีนเองก็เจอกับการคุกคามจากอังกฤษเช่นกัน ฝรั่งเศสยังเลือกใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการปกครองเวียดนาม โดยให้มิชชันนารีคอยแจ้งความเคลื่อนไหวแก่ฝรั่งเศสและปลุกระดมชาวคาทอลิกในเวียดนามให้มาต่อสู้กับชาวเวียดนามด้วยกันเอง ต่อมาพระเจ้าตึดึ๊กสิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาทส่งผลให้ราชสำนักอ่อนแอ ชนชั้นสูงขัดแย้งกันในเรื่องการดำเนินนโยบายกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงเร่งเข้ายึดเมืองดานังและกรุงเว้ ขุนนางจึงยอมตกลงทำสัญญากับทางฝรั่งเศส โดยยอมรับข้อตกลงของฝรั่งเศสในทุกเงื่อนไข ในปี ค.ศ. 1883 และฝ่ายราชสำนักจีนก็เลี่ยงที่จะเกิดปัญหากับทางฝรั่งเศส จึงขอยกเลิกสิทธิ์ที่จีนครอบครองเวียดนามทั้งหมดไป

ฝรั่งเศสแบ่งการปกครองของเวียดนามออกเป็นสามเขต โดยมีรัฐบาลของแต่ละเขต เพื่อเลี่ยงไม่ให้เวียดนามรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่เป็น

  1. โคชินจีน (Cochinchina) จัดการปกครองตามแบบอาณานิคมฝรั่งเศส
  2. ตังเกี๋ย (Tonkin) เป็นดินแดนกึ่งอาณานิคม และกึ่งอารักขา
  3. อันนัม (Annam) ให้อยู่ในอารักขา

 

การต่อต้านฝรั่งเศส : จุดเริ่มต้นของขบวนการชาตินิยม

ฝรั่งเศสให้เวียดนามเป็นแหล่งผลิตและแหล่งระบายการค้าของฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสผูกขาดควบคุมการปกครองและเศรษฐกิจของเวียดนาม ใช้มาตรการภาษีและกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ชาวนาเกิดความยากจนลง และในช่วงนั้นก็ส่งผลให้เกิดกลุ่มชนชั้นกรรมกรขึ้นมา ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1949-1918 ฝรั่งเศสเกณฑ์คนเวียดนามให้ไปช่วยรบในสงครามและต้องการเงินไปทำสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงส่งเสริมให้ชาวเวียดนามปลูกยางพารา ทำเหมืองถ่านหิน ดีบุก ตะกั่ว เพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศฝรั่งเศสกดขี่ค่าแรงของชาวเวียดนามมาก เมื่อได้กำไรก็เอากลับประเทศ ยิ่งนับวันการปกครองของฝรั่งเศสยิ่งทำให้ชาวเวียดนามอดอยากยากจนมากขึ้น จึงเริ่มเกิดการเคลื่อนไหวของชาวเวียดนาม เช่น การออกสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาแสดงการต่อสู้เพื่อชาติ การลอบทำร้ายข้าหลวงชาวฝรั่งเศสในเวียดนาม นำมาสู่การรวมกลุ่มเป้นขบวนการชาตินิยมในเวลาต่อมา โดยในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กลุ่มปัญญาชนได้เริ่มตั้งคำถามต่อการปกครองของฝรั่งเศส จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสแต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้เวียดนามเป็นเอกราช  

 

การเข้ามาของญี่ปุ่นภายใต้ “วงศ์ไพบูลย์แห่งมาหาเอเชียบูรพา”และการสิ้นสุดราชวงศ์ในเวียดนาม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) ญี่ปุ่นได้แผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มชาติยมบางส่วนชื่นชมในความสามารถของญี่ปุ่นที่เป็นประเทศในเอเชียที่สามารถเอาชนะรัสเซียในการทำสงครามได้ ในขณะที่รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสก็ได้ยอมแพ้ให้แก่ญี่ปุ่น ชาวเวียดนามจึงถือโอกาสก่อการกบฏเพื่อปลดแอกจากฝรั่งเศส แต่ผู้ก่อการกบฏก็ถูกปราบและถูกจับและถูกสังหารไปกว่า 20,000 คน (เหงวียน, 2552) ในช่วงปี ค.ศ. 1941-1945 รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสได้ตกลงกับญี่ปุ่นที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในเวียดนามร่วมกัน ญี่ปุ่นต้องการให้เวียดนามเป็นเส้นทางเข้าไปยังมณฑลยูนนานของจีน (เชิดเกียรติ, 2540) และญี่ปุ่นก็ต้องการเงินเพื่อนำไปทำสงคราม เกิดการกดขี่ชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

ความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามยิ่งยากจนลง ในช่วงปี ค.ศ. 1940-1944 ราคาสิ่งขอเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 400  (เหงวียน, 2552) และเวียดนามก็ต้องถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดตัดเส้นทางคมนาคม เพื่อตัดเส้นทางขนส่งเสบียงกองทัพญี่ปุ่น ญี่ปุ่นพยายามหาทางให้ชาวเวียดนามสนับสนุน จึงหลอกกลุ่มชาตินิยมเวียดนามว่าหากร่วมมือกับญี่ปุ่น ซึ่งนักชาตินิยมบางรายเชื่อในความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นและคิดว่าญี่ปุ่นจะช่วยให้เป็นเอกราชจากฝรั่งเศส แต่โฮจิมินห์ ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์เวียดนามในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือกับญี่ปุ่น จากนั้นก็นำมาสู่การตั้งกลุ่มแนวร่วมเวียดมินห์ หรือ สันนิบาตเพื่อเอกราชของชาวเวียดนาม (Vietnam Doc Lap Mihn Hoi-Viet Mihn) เป็นการนำทุกชนชั้นมารวมตัวกัน โดยที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการนำเวียดนามเป็นเอกราชจากทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

 

ยุคเอกราช

หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสพยามที่จะกลับมาปกครองเวียดนามเป็นอาณานิคมอีกครั้ง แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่มเวียดมินห์ได้ปลุกระดมมวลชนให้ก่อการกบฏ โดยเฉพาะการต่อสู้แบบกองโจรในที่ราบสูงและเวียดนามชั้นใน ก่อกวนทางการเมืองในเมืองใหญ่ ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยในทุกอำเภอ มีการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อปลดปล่อยแห่งชาติ โดยมีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ ให้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว และสามารถเข้ายึดเมืองต่างๆ ในเวียดนามได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นได้ยื่นข้อเสนอให้จักรพรรดิบ๋าวด่าย (Bao Dai) ซึ่งเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของญี่ปุ่นนั้นสละราชสมบัติในวันที่ 23 สิงหาคม 1945 กลายเป็นประชาชนธรรมดาชื่อว่านายวิ้ญถวี่ (Vinh Thuy) และนำมาสู่การล้มเลิกระบบกษัตริย์/จักรพรรดิในเวียดนาม ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ได้ประกาศเอกราชของเวียดนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน 1945 ณ จัตตุรัสบ่าดิ่ญ

 

ยุคสงครามเวียดนาม: การกลับมาสู่การแบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ฝ่าย

หลังการประกาศเอกราช และการเลือกตั้งในวันที่ 8 กันยายน 1945 ที่ส่งผลให้รัฐบาลโฮจิมินห์ปกครองประเทศเวียดนามอย่างชอบธรรม แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้เข้าโจมตีไซง่อน (โฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน) ในคืนวันที่ 22 กันยายน 1945 และต้องประสบกับการเข้ามาของกลุ่มเจียงไคเชคทางตอนเหนือ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์จึงประกาศให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประเทศ แม้ฝรั่งเศสจะถูกชาวเวียดนามต่อต้านอย่างหนัก แต่ต่อมากได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในนามฝ่ายสัมพันธมิตร และสามารถเข้ายึดครองศูนย์กลางได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาจึงได้ไปเจรจากับกลุ่มเจียงไคเชคที่ยึดเวียดนามทางตอนเหนือ เส้นขนานที่ 16 แลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ประเทศจีน ยกเส้นทางรถไฟจากฮานอย-ยูนนาน และเขตพิเศษไฮฟองให้จีน และให้สถานะพิเศษแก่ชาวจีนที่อยู่ในอินโดจีน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามไม่ได้มีส่วนร่วมกับการตกลงดังกล่าวเลย รัฐบาลเวียดนามจึงเริ่มแผนการต่อสู้โดยวางแผนที่จะไล่กลุ่มของเจียงไคเชคออกไปก่อนแล้วค่อยจัดการกับฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสยังหวังที่จะกลับมามีอำนาจในอินโดจีน และเวียดนามก็มุ่งที่จะบรรลุสู่การเป็นเอกราช จึงนำมาสู่สงครามอินโดจีนซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างเวียดนามและฝรั่งเศส ตั้งแต่ปีค.ศ. 1946 - 1954 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามที่เดียนเบียนฟู

ระหว่างศึกสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสมี่แผนที่จะเชิญตัวอดีตจักรพรรดิบ๋าวด่ายกลับมาปกครองในเวียดนามใต้ของฝรั่งเศส เพื่อให้บ๋าวด่ายเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของฝรั่งเศสที่จะมาต่อสู้กับโฮจิมินห์ทางฝั่งเหนือ แต่จักรพรรดิบ๋าวด่ายยืนยันกับางฝรั่งเศสว่าตนจะกลับมาเป็นจักรพรรดิต่อเมื่อเวียดนามได้รับเอกราชและมีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (สุด, 2550) แผนการเชิญจักรพรรดิบ๋าวด่ายกลับมาของฝรั่งเศสจึงไม่ประสบผลสำเร็จ และแม้ว่าฝรั่งเศสจะได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟูอย่างราบคาบ แม้จะมีอาวุธมากกว่าก็ตาม จนนำมาสู่การเจรจาตกลงที่เจนีวา ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จะแบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน ตรงเส้นขนานที่ 17 ส่วนใต้อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส และส่วนเหนืออยู่ในการปกครองของโฮจิมินห์ และในเวลาต่อมาฝรั่งเศสยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในเวียดนามใต้และเสมือนเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา

 

หลังสงครามสิ้นสุด : สู่การเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ในขณะที่เวียดนามใต้อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา เวียดนามเหนือปกครองโดยระบอบสังคมนิคม สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำประชาธิปไตยก็แต่งตั้งโงดิญเดี่ยม (Ngo Dinh Diem) เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกาปกครองเวียดนามอย่างกดขี่ บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิก สั่งห้ามมีแนวคิดเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง สหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ให้มีการเลือกตั้งตามที่ตกลงในสนธิสัญญาเจนีวา อีกทั้งยังระดมกองกำลังไปปราบปรามกลุ่มเวียดมินห์ในเวียดนามเหนือ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ การสู้รบระหว่างสหรัฐอเมริกาในเวียดนามใต้กับกลุ่มเวียดมินห์ในเวียดนามเหนือได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทั้งสองเวียดนามอย่างมหาศาล จนนำมาสู่การลงนามในสนธิสัญญาปารีส ให้สหรัฐอเมริกายอมรับในอธิปไตยของเขตแดนเวียดนาม และยอมรับการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวของคณะปฏิวัติซึ่งนำโดยโฮจิมินห์ วันที่ 29 มีนาคม 1973 สหรัฐอเมริกาจึงถอนทัพทั้งหมดออกไป แต่หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาทำท่าจะละเมินข้อตกลงในสนธิสัญญาปารีสทำให้ประชาชนในเวียดนามใต้ไม่พอใจ และรวมตัวกันต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในวันที่ 30 เมษายน 1975 เวียดนามเหนือสามารถเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีที่เมืองไซง่อนในเวียดนามใต้ได้ และขับไล่กองทัพสหรัฐอเมริกาออกจากเวียดนาม นำมาสู่การรวมเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว และตั้งชื่อเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Social Republic of Vietnam) ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเพียงหนึ่งเดียวจวบจนปัจจุบัน

บรรณานุกรม

    เขียน ธีระวิทย์. (2542). เวียดนาม สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ: งานวิจัยชุดเอเชีย โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

    เชิดเกียรติ อัตถากร. (2540). ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

    เหวียนคักเวียน. (2545). เวียดนามประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร. (เพ็ชรี สุมิตร, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

    ไมเคิล ลีเฟอร์. (2558). พจนานุกรมการเมืองสมันใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (จุฬาพร เอื้อรักสกุล, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

    จามะรี เชียงทอง. (2546). “การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และความรู้พื้นถิ่นในไทย เวียดนาม และลาว” เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 2 เรื่องชาติ และชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).

    ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2552). เวียดนาม: การเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (ค.ศ. 1997-2006). ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (พ.ศ.2540-2550) (หน้า 501-589). กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์.

    ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (2558). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ค.

    ศูนย์อินโดจีนศึกษา. (n.d.). ข้อมูลพื้นฐานสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา.

    สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. (n.d.). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สุด จอนเจิดสิน. (2550). ประวัติศาสตร์เวียดนาม ตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.