เวียดนาม - ชาติพันธุ์
เวียดนาม หรือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งอยู่บนดินแดนภาคพื้นทวีปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ทั้งหมดราว 331,212 ตารางกิโลเมตร พรมแดนด้านทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับอ่าวตังเกี๋ยและทะเลจีนใต้ ทิศตะวันตกติดกับลาวและกัมพูชา ทิศเหนือติดต่อกับจีน ทิศใต้ติดต่อกับอ่าวไทย มีจำนวนประชากรราว 87.84 ล้านคน กลุ่มชาติพันธุ์เวียด หรือ Kinh เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดถึง 73.59 ล้านคน ทั้งนี้ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ถึง 54 กลุ่ม (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:339) สามารถจำแนกได้ 3 ตระกูลภาษา คือ
1. ตระกูลออสโตรเอเชียน (Austro - Asian) สามารถจำแนกตามกลุ่มภาษาย่อยได้ 5 กลุ่ม คือ
1.1 กลุ่ม Viet – Muong มี 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ Kinh, Mường , Thổ , Chứt (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
1.2 กลุ่ม Mon – Khmer มี 21 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ Khmer, Ba-na, Xơ Đăng , Hrê , Cờ Ho , Mnông , X’Tiêng , Khơ Mú ,Bru , Cơ Tu , Giẻ Triêng , Tà Ôi , Mạ , Co , Chơ Ro , Xinh Mun , Kháng , Mảng , Brâu , Rơ Măm , Ơ Đu (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
1.3 กลุ่ม Tay –Thai มี 8 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ Tày , Thái , Nùng , Sán Chay , Giáy , Lao , Lự ,. Bố Y (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
1.4 กลุ่ม Hmong – Dao มี 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ Hmong, Dao, Pà Thẻn (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
1.5 กลุ่ม Kadai มี 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ La Chí, Cờ Lao, La Ha, Pu Péo (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
2. ตระกูลออสโตรนีเชียน (Austronesian) มีกลุ่มภาษาย่อย 1 กลุ่ม คือ Malayo – Polynesian ประกอบด้วย 5 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ Gia Rai, Ê Đê, Chăm, Ra Glai, Chu Ru (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
3. ตระกูลชิโน-ทิเบตัน สามารถจำแนกตามกลุ่มภาษาย่อยได้ 2 กลุ่ม คือ
3.1 กลุ่ม Han มี 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ Hoa, Sán Dìu, Ngái (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
3.2 กลุ่ม Tibeto – Birman มี 6 กลุ่มชาติพันธุ์ Hà Nhì, Phù Lá, La Hủ, Lô Lô, Cong, Si La (DANG NGHIEM VAN , 1993:5)
จากจำนวนของกลุ่มชาติพันธุ์และการจำแนกตามกลุ่มภาษา แสดงให้เห็นว่าเวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้กระจายตัวอาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ แต่ละกลุ่มมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ทั้งนี้จากบทความ “วัฒนธรรมเวียดนาม : วัฒนธรรมแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย” ของ ฝ่าม ดึ๊ก เซือง ได้ชี้ให้เห็นว่า เวียดนามคือแหล่งรวมความหลากหลายทางภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และรูปแบบทางวัฒนธรรมแตกต่างกัน โดยภาพรวมนั้นสามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ วัฒนธรรมภูเขา วัฒนธรรมที่ราบลุ่ม วัฒนธรรมทะเล (ฝ่าม ดึ๊ก เซือง.แปลโดย สิริวงษ์ หงสวรรค์, 2553:31)
ปัจจุบันความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมในเวียดนามมีมากเกินกว่าที่เราจะนำมากล่าวให้ครบภายในบทความชิ้นนี้เพียงชิ้นเดียว แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาตลอดจนภาษาและวัฒนธรรมของ กลุ่มชาติพันธุ์ไท พอสังเขป แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้จะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรไม่มากแต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งสามารถขยายความได้ดังต่อไปนี้
กลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนาม
กลุ่มชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามมีจำนวนประชากรราว 1.55 ล้านคน การแบ่งกลุ่มทางภาษาศาสตร์โดยยึดตามภาษาพูดนั้น พิเชฐ สายพันธ์ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพบว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ไท-กะได ทั้งหมดอยู่ในเวียดนาม ในระบบภาษาศาสตร์แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามภาษาพูด คือ 1.ภาษาตระกูลไทสาขากลาง 2.ภาษาตระกูลไทสาขาเหนือ 3.ภาษาตระกูลไทสาขาตะวันตกเฉียงใต้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท น่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบนี้มาก่อน หลังจากนั้นจึงกระจายตัวอออกไปยังที่ต่างๆ (พิเชฐ สายพันธ์, 2554)
ทั้งนี้ จากบทความ “ เดียนเบียนฟู (เมืองแถง) ในประวัติศาสตร์ลายลักษณ์และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กลุ่มไทในเวียดนาม” ของ พิเชฐ สายพันธ์ กล่าวถึงบรรพบุรุษของชาวไท โดยการอพยพย้ายถิ่นของปู่ลานเจืองจากเมืองลอทางเหนือของเวียดนาม ลงมายังเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือเช่นกัน และตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนแห่งนี้ มีศูนย์กลางการปกครองที่ “ปอมลานเจือง” หรือ “เนินเขา A1” (พิเชฐ สายพันธ์, 2552:158) ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทและชาวเวียดนามทั้งประเทศ เนื่องจาก ชาวไท เชื่อว่า เนินเขาแห่งนี้คือสุสานของปู่ลานเจือง บรรพบุรุษของชาวไทในเวียดนาม ขณะที่ชาวเวียดนามทั้งประเทศให้ความสำคัญกับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากในปีค.ศ.1954 สถานที่แห่งนี้คือ สมรภูมิรบเดียนเบียนฟู ที่ทำให้ประเทศเวียดนามนำโดยกลุ่ม เวียดมินห์ มีชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในการต่อสู้เพื่อเอกราช ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญใน 2 นัยยะ ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไท คือ มิได้เป็นเพียงถิ่นอาศัยมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของเวียดนามอีกด้วย
การจำแนกกลุ่มย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม – สังคมไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชาวไทสามารถจำแนกกลุ่มย่อยได้ตามภาษาพูดและลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมบางประการ ได้ 3 กลุ่ม คือ ไทดำ ไทขาว และ ไทแดง ทั้งนี้ชาวไทมักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มในหุบเขาซึ่งเอื้อต่อการทำการเกษตรแบบนาดำ ได้ผลผลิตสูงกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ทำนาบนที่สูง ส่งผลให้ให้ชาวไทในอดีตสามารถสร้างองค์กรทางการเมืองและขยายอำนาจทางการเมืองได้ค่อนข้างมั่นคงกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น ชาวเย้า ชาวม้ง และขมุ เป็นต้น (ยุกติ มุกดาวิจิตร, 2557:25)
กลุ่มชาติพันธุ์ไทที่มีบทบาทและมีชื่อเสียงทางการเมืองของเวียดนาม คือ ชาวไทดำและไทขาว ปัจจุบัน เนื่องจากสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชในปีค.ศ.1954 ณ สมรภูมิเดียนเบียนฟู เป็นการต่อสู้บนพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ส่งผลให้ชาวไทดำและไทขาวมีส่วนเข้ามาเป็นตัวแปรในการต่อสู้ (พิเชฐ สายพันธ์, 2553) โดยการที่ชาวไทดำเข้าร่วมกับกลุ่มเวียดมินห์เพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่เวียดนาม ขณะที่ชาวไทขาวเข้าร่วมกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อต่อสู้กับกลุ่มเวียดมินห์ ท้ายที่สุดเมื่อสงครามสิ้นสุดลงผลปรากฏว่ากลุ่มเวียดมินห์เป็นฝ่ายชนะ ดังนั้นจึงส่งผลต่อสถานภาพความเป็นอยู่ของชาวไทขาวที่เคยเป็นแนวร่วมของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส เช่น การถูกลดทอนและยกเลิกการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เนื่องจากตั้งแต่ภายหลังปี ค.ศ.1945 เวียดนามเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ พิธีกรรมตามแบบจารีตดั้งเดิมจึงถูกลดทอนกระทั่งห้ามปฏิบัติในบางพื้นที่ กระทั่งพิธีกรรมใหญ่ๆของชาวไทขาว เช่น พิธีเสนเมือง ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญที่ไม่สามารถนำกลับมาปฏิบัติได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ยังคงมีพิธีเสนบ้าน ที่ทางการอนุญาตให้กระทำได้ และกระทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและนำเสนอภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่มีอยู่ในเวียดนาม (นิรมล เมธีสุวกุล, 2554)
อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้วว่าภายหลังปีค.ศ.1945 เวียดนามเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้พิธีกรรมต่างๆ ถูกลดทอนลงกระทั่งห้ามปฏิบัติ แต่เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ.1986 รัฐบาลดำเนินนโยบายโด่ยเหมย เพื่อเปิดประเทศทางด้านเศรษฐกิจให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก มีการเปิดโอกาสให้คนแต่ละกลุ่มมีสิทธิในการปฏิบัติตามความเชื่อและศาสนาของตน อีกทั้งโครงสร้างทางการเมืองยังยอมรับในความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควร ดังนั้นการเปิดโอกาสทางการเมืองที่รัฐบาลเวียดนามมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์นี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ (นิรมล เมธีสุวกุล, 2554)
บรรณานุกรม
DANG NGHIEM VAN . (1993). ETHNIC MINORITIES IN VIETNAM. Hanoi: THE GIOG.
Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.
นิรมล เมธีสุวกุล. (2,9 กรกฎาคม 2554). ชาติพันธุ์ในเวียดนาม. พันแสงรุ้ง. กรุงเทพฯ: ทีวีไทย.
ฝ่าม ดึ๊ก เซือง.แปลโดย สิริวงษ์ หงสวรรค์ . (2553). วัฒนธรรมเวียดนาม : วัฒนธรรมแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง, 31-46.
พิเชฐ สายพันธ์. (2552). เดียนเบียนฟู (เมืองแถง) ในประวัติสาสตร์ลายลักษณ์และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กลุ่มไทในเวียดนาม. ใน ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, เวียดนามหลากมิติ (หน้า 157-194). กรุงเทพมหานคร: บริษัท เลค แอนด์ ฟาวด์เท่น ปริ้นติ้ง จำกัด.
พิเชษฐ์ สายพันธ์. (2553). การบรรยายเรื่อง จากเมืองแถนเป็นเดียนเบียนฟู การเมือง ชาติพันธุ์ ข้ามรัฐ - กลืนรัฐ กลุ่มไทในเวียดนาม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทดำ:รากเหง้าวัฒนธรรม - สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.