เวียดนาม - ข้อมูลพื้นฐาน



สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Social Republic of Vietnam) ตั้งอยู่บริเวณทะเลจีนใต้เป็นประเทศที่มีสภาพอากาศหลากหลาย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับพันปี และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวที่รับเอาอิทธิพลวัฒนธรรมจีนเข้ามาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต และยังคงมีจารีตวัฒนธรรมที่รับตกทอดมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวเวียดนามจวบจนปัจจุบัน

 

ลักษณะภูมิประเทศ

ที่ตั้ง

ประเทศเวียดนามตั้งเรียงเป็นแนวยาวตามฝั่งตะวันตกของทะเลจีนใต้ มีลักษณะรูปร่างเป็นตัว S มีขนาดพื้นที่ 331,0210 ตารางกิโลเมตร (CIA The world factbook, 2015) เป็นผืนดิน 310,070 ตารางกิโลเมตร และผืนน้ำ 21,140 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นแนวชายแดนยาวถึง 4,639 กิโลเมตร และมีพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกยาว 3,444 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อโดยรอบ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับประเทศจีน
  • ทิศใต้             ติดกับทะเลจีนใต้และอ่าวไทย
  • ทิศตะวันออก     ติดกับทะเลจีนใต้ และอ่าวตังเกี๋ย
  • ทิศตะวันตก      ติดกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา      

 

เทือกเขาสำคัญ

  • เทือกเขากั้นเขตแดน

คือเทือกเขาอันนัม เป็นแนวเขตกั้นแดนระหว่างเวียดนามกับลาวและกัมพูชา มีความยาว 1,100 กิโลเมตร ยอดเขาสูง 2,819 เมตร ทอดตัวจากบริเวณที่ราบสูงเจินนิญ ทางเหนือของประเทศลาว ยาวลงมาจนถึงเวียดนามตอนใต้

  • ยอดเขาที่สูงที่สุด

ภูมิประเทศเวียดนามทางตอนเหนือและตอนกลางของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีภูเขาประปราย ยอดเขาที่สูงที่สุดของเวียดนามคือยอดเขาฟานซีปัน ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นหลังคาอินโดจีน มีความสูง 3,143 เมตร (vietnambirding, ม.ป.ป.) ตั้งอยู่เมืองซาปา จังหวัดหล่าวกาย อยู่บริเวณแม่น้ำดำกับแม่น้ำแดง อยู่บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภาคเหนือ (วิทย์, 2555)

 

แม่น้ำสำคัญ

เวียดนามเป็นประเทศที่มีแม่น้ำใหญ่และแม่น้ำสายเล็กไหลผ่านกว่า 2,800 สาย ตั้งแต่ภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ โดยเวียดนามมีแม่น้ำสายสำคัญ ดังนี้

  • แม่น้ำแดง

มีความยาว 1,149 กิโลเมตร ต้นกำเนิดแม่น้ำมาจากเทือกเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ไหลเข้าสู่เวียดนามทางภาคเหนือที่จังหวัดหล่าวกาย ไหลลงสู่อ่าวตังเกี๋ย

  • แม่น้ำดำ

มีความยาวส่วนที่อยู่ในเวียดนาม 527 กิโลเมตร (ความยาวจากจีน910 กิโลเมตร)อยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ไหลลงมาจากมณฑลยูนนานประเทศจีน เข้าสู่จังหวัดลายเจิว เป็นแม่น้ำสาขาสายหนึ่งจากแม่น้ำแดง

  • แม่น้ำโล

มีความยาว 470 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายใหญ่ของเวียดนาม บริเวณมีความกว้างที่สุดมีขนาด 39,000 กิโลเมตร ไหลมาจากมณมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ไหลมายังเวียดนามทางตอนเหนือ ไหลมาจังหวัดห่าซาง จังหวัดเตียนกวาง และจังหวัดฟู้เถาะ

  • แม่น้ำโขง

เป็นแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาว 4,909 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดมีพื้นที่ 795,000 ตารางกิโลเมตร มีต้นสายไหลมาจากทิเบต ผ่านมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ยาวมายังประเทศพม่า เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนไทย-ลาว กัมพูชา ไหลยาวมาที่บริเวณตอนใต้ของเวียดนามแตกออกมาเป็นแม่น้ำสายเล็กสายน้อย เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ตั้งแต่บริเวณโฮจิมินห์ซิตี้จนถึงชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำเกษตรกรรม และไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ (วิทย์, 2555)

 

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิประเทศของเวียดนามโดยรวมเป็นเทือกเขาสูงกั้นระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ทางตอนเหนือและใต้ และเนื่องจากรูปทรงประเทศเวียดนามเป็นแนวยาวลงมา ทำให้แต่ละภูมิภาคมีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ความหลากหลายทางชีวภาพก็แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมีมากมายและหลากหลาย โดยแบ่งตามพื้นที่ (วิทย์, 2555) ดังนี้

  • ภาคเหนือ

มีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น เนื่องจากได้รับอิทธิพลกระแสอากาศจากขั้วโลกพัดผ่านไซบีเรียและจีน มายังเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคม จะเป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวที่สุด ซึ่งอาจมีอุณหภูมิลดลงถึง 0 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเดือนมิถุนายนจะเป็นช่วงที่ร้อนสุด มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 39 องศาเซลเซียส

  • ภาคกลาง

มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี และมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนกับฤดูฝน อุณหภูมิตลอดทั้งปีอยู่ระหว่าง 20-40 องศาเซลเซียส

  • ภาคใต้

ภูมิอากาศค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี และมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนกับฤดูฝน อุณหภูมิตลอดทั้งปีอยู่ระหว่าง 26-39 องศาเซลเซียส

 

เมืองหลวงและเมืองสำคัญ

  1. เมืองหลวง

คือ เมืองฮานอย (Ha Noi ) ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง มีขนาดพื้นที่ 921 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองราชการ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางบริหารประเทศ และเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจค้าของภาคเหนือ (ศุนย์อินโดจีนศึกษา, ม.ป.ป.)

  1. เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

          คือนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) มีประชากรราว 3.4 ล้านคน (World Atlas, 2015)เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของชาวเวียดนาม มีขนาดพื้นที่ 20,095 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจการค้าที่สำคัญของเวียดนาม ทั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติและเมืองท่าสำคัญ จนได้รับสมญานามว่า “ไข่มุกแห่งเอเชียตะวันออก”

  1. เมืองสำคัญทางภาคเหนือ

ลักษณะภูมิประเทศทางภาคเหนือ เป็นพื้นที่ภูเขาสูง โดยมีเทือกเขาฟานซีปัน (Fansipan) เป็นเทือกเขาที่สูงที่สุด และเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์เนื่องจากมีแม่งน้ำกุง (Cung) ไหลบรรจบกับแม่น้ำแดงเป็นดินดอนสามเหลี่ยมอุดมสมบูรณ์ (Red River Delta)

  • กวางบินห์ (Quang Binh)มีขนาดพื้นที่ 5,899 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองท่าสำคัญของทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยังเป็นแหล่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
  • ไฮฟอง (Hai Phong) มีขนาดพื้นที่ 1,519 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเคมี วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่อเรือ ซึ่งถือเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคเหนือ
  1. เมืองสำคัญทางภาคกลาง

ลักษณะภูมิประเทศภาคกลางมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสูงเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ เนินทราย และทะเลสาบ

  • ถัวเทียน-เว้ (Thua Thien-Hue) มีขนาดพื้นที่ 5,009 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเวียดนาม
  • ดานัง (Da Nang) มีขนาดพื้นที่ 1,256 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยว เป็นเมืองท่าที่มีประวัติศาสตร์การค้าที่สำคัญของภาคกลาง
  1. เมืองสำคัญทางภาคใต้

ลักษณะภูมิประเทศภาคใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และมีที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์

เป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “กู๋ลองยาง” (Cuu Long Giang)

  • ด่องไน (Dong Nai) เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ถั่วเหลือง กาแฟ อ้อย และยาสูบ
  • เตี่ยงยาง (Tien Giang) มีขนาดพื้นที่ 2,367 ตารางกิโลเมตร อยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และมีดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชและผลไม้เขตร้อน เช่น ข้าว ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น
  • บาเรีย-หวุงเต่า (Ba Ria-Vung Tua)มีขนาดพื้นที่ 1,975 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดินและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ
  1. เมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์
  • เว้ เป็นเมืองเล็กๆ อยู่ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เล (Le)
  • เดียนเบียนฟู เป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งห่างจากกรุงฮานอยไปทางทิศตะวันตก ห่างจากชายแดนลาวเพียง 35  กิโลเมตร มีลักษณะเป็นที่ราบล้อมด้วยภูเขาสูง และเป็นที่ตังของหมู่บ้านชนเผ่าไทดำ ในอดีต เดียนเบียนฟู เคยเป็นสมรภูมิรบในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1946-1954 เป็นการสู้รบกันระหว่างกองทัพของอาณานิคมฝรั่งเศส กับกองทัพเวียดมินห์ ซึ่งเวียดมินห์ก็เป็นฝ่ายชนะทั้งๆ ที่มีอาวุธพร้อมน้อยกว่า ปัจจุบันได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งชัยชนะในวาระครบรอบ 30 ปีของชาวเวียดนาม และการรบครั้งนั้นได้มีชาวไทดำเข้าร่วมรบด้วย
  • ดานัง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำห่าน (Han) เป็นจังหวัดที่มีเมืองท่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ พัฒนามาจากหมู่บ้านชาวประมงจนกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ในปัจจุบัน  ดานังถูกเลือกให้เป็นเมืองท่าสำหรับการขนส่งสินค้าจากตะวันตกในช่วงคริสศ์ตวรรษที่ 19 จนกลายเป็นเมืองธุรกิจตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนี้ในปี 1965 ดานังก็เป็นบริเวณที่นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาชุดแรกยกพลขึ้นบก และใช้ดานังเป็นฐานทัพในการโจมตีเวียดนามเหนือ
  • ฮอยอัน (Hoi An) เป็นเมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 1999 เมืองฮอยอันอยู่ห่างจากเมืองดานังไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำทูโบ่น ห่างจากชายฝั่งทะเลตอนใต้ไม่ไกล มีประวัติศาสตร์เป็นเมืองท่าสำหรับการค้า ต่อมาน้ำตื้นเขิน จึงย้ายไปเมืองท่าไปที่ดานังแทน
  • นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Mihn City) มีชื่อเดิมว่าเมืองไซง่อน (Sai Gon) ปัจจุบันเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนามดังที่กล่าวไปในข้างต้น เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในอดีต ไซง่อน เคยเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการต่างๆ ของฝ่ายฝรั่งเศสเพื่อเข้ายึดอินโดจีนเป็นอาณานิคม และเคยเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ในยุคที่เวียดนามแบ่งประเทศออกเป็นเหนือ-ใต้ ในปี 1954 หลังจากการรวมประเทศของเวียดนามในปี 1975 ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโฮจิมินห์ซิตี้ตามชื่อผู้นำปฏิวัติ โดยในปัจจุบันมีสถานะเป็นเขตบริหารแบบนครพิเศษ และได้รับการขนานนามว่า “ไข่มุกแห่งตะวันออกไกล” เนื่องจากเป็นเมืองริมแม่น้ำขนาดใหญ่

 

ธงชาติเวียดนาม

          ธงชาติเวียดนามออกแบบโดย เหวียน ฮิ้ว เทียน นักปฏิวัติคนสำคัญของเวียดนามในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2498 ในฐานะธงชาติของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ประเทศเวียดนามเหนือ) และหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนามและนำมาสู่การชาติเวียดนามเหนือ-ใต้ ธงดังกล่าวก็ถูกนำมาเป็นธงชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2519 จวบจนปัจจุบัน

ธงชาติเวียดนาม ถูกเรียกโดยทั่วไปว่า “ธงแดงดาวเหลือง” ตามลักษณะของธง คือ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นหลังเป็นสีแดง และมีสัญลักษณ์ดาวสีเหลืองทองห้าแฉก ดวงใหญ่อยู่ตรงกลางผืนธง โดยความหมายของธงชาติเวียดนามนั้นมีการเปลี่ยนแปลงความหมายไปจากเดิม (Wikipedia, 2556) ดังนี้

 

สี/สัญลักษณ์

ความหมายเดิม

ความหมายใหม่

หลังการรวมชาติเวียดนาม

สีแดง

การต่อสู้เพื่อกู้เอกราชของชาวเวียดนาม

การปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ

สีเหลือง

สีของชาวเวียดนาม

 

การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์

ดาวห้าแฉก

ชนชั้นต่างๆ ที่อยู่ในสังคมเวียดนาม ประกอบด้วย นักปราชญ์ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้า และทหาร

 

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์

  • เหงวียน จ๋าย (Nguyen Triai)

ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญทางวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นผู้วางระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของเวียดนาม เหงวียน จ๋าย เป็นผู้ที่นำระบบบริหารในราชสำนักจีนมาปรับใช้ เช่นการสอบจองหงวนเพื่อเปิดรับผู้มีความสามารถเข้ามารับราชการโดยไม่จำกัดชนชั้น และเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ต่อต้านกองทัพราชวงศ์หมิง (สุเจน, 2556)

  • โฮจิมินห์

เป็นนักปฏิวัติชาวเวียดนาม ซึ่งชาวเวียดนามถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการประกาศอิสรภาพของเวียดนาม โฮจิมินห์ เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1890 เป็นบุตรคนรองของเหงียญ ซิญ ซัก ปัญญาชนของเวียดนาม เติบโตมากับการรับวัฒนธรรมทั้งของวียดนามและฝรั่งเศส ได้เข้ามาข้องแวะทางการเมือง เมื่อต้องไปเป็นล่ามให้กับชาวนาที่ถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกดขี่ โฮจิมินห์จึงเริ่มหาหนทางไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเปิดโลกทัศน์ของตน และได้สมัครไปเป็นลูกเรือบนเรือเดินสมุทรฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม จากนั้นได้ศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส และได้ติดต่อกับชาวเวียดนามผู้รักชาติที่อยู่ฝรั่งเศส พยายามเรียกร้องอิสรภาพของเวียดนามจากชาติตะวันตก หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษตามลำดับ หลังจากนั้นก็เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเมื่อรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คเริ่มการปราบปรามคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์จึงเข้ามาลี้ภัยที่จังหวัดนครพนม

โฮจิมินห์กลับเข้าเวียดนามอีกครั้งในปี ค.ศ. 1941 ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสแพ้ในสงครามโลก โฮจิมินห์จึงถือโอกาสรวบรวมชาวเวียดนาม และก่อตั้งกลุ่มเวียดมินห์ วางแผนที่จะสู้กับฝรั่งเศส เพื่อเตรียมสำหรับประกาศเอกราชให้แก่ชาวเวียดนาม โฮจิมินห์เข้าถึงชาวบ้านระดับล่าง ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านและมีการบอกต่อ จนสามารถรวบรวมชาวบ้านได้เป็นจำนวนมาก หลังจากชัยชนะของกลุ่มเวียดมินห์และหลังการสละราชสมบัติของจักรพรรดิบ๋าว ด่าย จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนาม เวียดนามได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการหลังสงครามที่เดียนเบียนฟู และกลายเป็นประธานาธิบดีของเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นผู้นำสำคัญที่สามารถรวมเวียดนามใต้รวมกับเวียดนามเหนือได้สำเร็จ โฮจิมินห์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1969 สิริอายุ 79 ปี ปัจจุบันร่างของโฮจิมินห์ถูกบรรจุอยู่ในโลงแก้ว เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เดินทางมาเคารพที่จัตตุรัสบาดิงห์ (Wikipedia, 2558)

 

ประชากรเวียดนาม

เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อดูจากอัตราประชากรในปี 1925 ซึ่งเป็นช่วงยุคการปกครอบของอาณานิคมฝรั่งเศส ขณะนั้นเวียดนามมีประชากร 17 ล้านคน ต่อมาในปี 1975 หลังการรวมประเทศเวียดนาม มีจำนวนประชากร 30 ล้านคน ต่อมาในปี 1979 ทางการเวียดนามมีการสำรวจสำมะโนประชากรได้ 52.76 ล้านคน ต่อมาในปี 1989 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เวียดนามประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่ผ่านไปได้สามปีมีประชากร 61.4 ล้านคน (เขียน, 2542) และปัจจุบันเวียดนามปีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 94 ล้านคน โดยเป็นประเทศมีประชากรมากเป็นอันดับ 15 ของโลกและเป็นอันดับที่3 ของอาเซียนรองจากอินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ (CIA The world factbook, 2015) นอกจากนี้เวียดนามยังคงมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย

  1. กลุ่มชาวเหวียต (Việt)หรือ กินห์ (Ginh) เป็นประชากรส่วนใหญ่ของชาวเวียดนามคิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 86.2  (World Atlas, 2015) ของประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่กระจายทั่วประเทศ
  2. กลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 54 กลุ่ม (เขียน, 2542) เช่น
  • ไต่ (Tay) ร้อยละ 1.9 (World Atlas, 2015) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่อยู่ในตอนเหนือของเวียดนามได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง (จามะรี, 2546) ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเนินเขาเช่น ที่จังหวัดเลากาย (Lao Cai) กาวบั่ง (Cao Bang) เซินลา (Son La) กว๋างนินห์ (Quang Ninh) เป็นต้น ทำอาชีพเพาะปลูกตามที่ราบต่ำและที่ราบสูง (เขียน, 2542)
  • ไท (Thai) ร้อยละ 1.7 (World Atlas, 2015) ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามหุบเขา และแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตร ปลูกข้าว (เขียน, 2542)
  • เหมื่อง (Muong)  ร้อยละ 1.5 (World Atlas, 2015) อาศัยอยู่ในเขตภูเขา เช่น ในหว่าบิ่นห์ (Hoa Binh) และแท็นห์ฮว้า มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก (เขียน, 2542)
  • ฮวา (Hua) ร้อยละ 1.1(World Atlas, 2015) คือกลุ่มชาวจีนส่วนใหญ่จะเข้ามาอยู่รวมกลุ่มกันในเมือง เช่น นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ฮานอย (Hanoi) ไฮฟอง (Haiphong) เป็นต้น (เขียน, 2542)
  • นุง (Nun) ร้อยละ 1.1 (World Atlas, 2015) ส่วนใหญ่ตั้งหลักแหล่งตามเชิงเขา เช่น ในจังหวัด ก่าวบั๊ก หลั่งเซิน ห่าเตวียน เป็นต้น นิยมปลูกข้าวเป็นหลัก (เขียน, 2542)
  • กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวม ร้อยละ 4.1 (CIA Factbook, 2015) เช่น ม้ง เขมร (Khmer) (วิทย์,2555)ชาวจาม (Cham) (ธัญญาทิพย์, 2552) ไย้ (Giay) เกาลาน (CaoLan) (สุมิตร, 2556) ปูแป๊ว (Pu-Peo) เบริว (Brau) เรอมัม (Ro-Mam) (เขียน, 2542) เป็นต้น

 

สกุลเงิน

  • สกุลเงิน ด่อง (Dong)
  • ตัวย่อเงินตราที่ใช้สากล คือVND

 

ภูมิหลังสังคมและวัฒนธรรมเวียดนาม

          เวียดนามเป็นสังคมเกษตรกรรม ด้วยภูมิประเทศอันมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงเป็นสังคมที่มีฐานวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อน และในอดีต เวียดนามเคยอยู่ใต้การปกครองของจีนมานานถึง 1,000 ปี ทำให้เวียดนามรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนเข้ามา ทั้งในด้านการศึกษา แนวความคิด ยุทธศาสตร์การสงคราม ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม อีกทั้งแนวความคิดขงจื๊อที่ให้ความสำคัญต่อผู้มีการศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง-ผู้ถูกปกครอง ผู้ใหญ่-ผู้น้อย บิดามารดา-บุตร พี่-น้อง ครู-ศิษย์ และในยุคต่อมา เมื่อเวียดนามถูกฝรั่งเศสเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมเป็นเวลากว่า 100 ปี เวียดนามก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ทั้งแนวคิดทางการเมือง ระบบการศึกษา ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม อาหาร วัฒนธรรมการบริโภค การแต่งกาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของที่เวียดนามที่ต้องทำสงครามสู้รบกับจีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาในช่วงสมัยต่างๆ ทำให้ชาวเวียดนามมีสำนึกในความรักชาติปกป้องชาติ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยในอดีตอีก และอีกปัจจัยหนึ่งคือภูมิประเทศต้องประสบกับภัยธรรมชาติประจำ ส่งผลให้ชาวเวียดนามมีจิตสำนึกรักชาติ อดทน ขยันหมั่นเพียร ซึ่งกลายมาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม และส่วนสำคัญอีกประเด็นคือการรู้จักปรับตัวของชาวเวียดนาม ที่สามารถปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้กับทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่เริ่มคลายอุดมการณ์สังคมนิยมที่เคร่งครัดโดยมีผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งจึงนำไปสู่การเปิดรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและเริ่มสร้างสัมพันธ์กับนานาประเทศ (ธัญญาทิพย์, 2552)

 

การเมือง-การปกครอง

  • ภาพรวมการเมือง-การปกครองของเวียดนามปัจจุบัน

เวียดนามปกครองโดยระบอบสังคมนิยมมีระบบพรรคเพียงพรรคการเมืองเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ฉบับปี 1992 กำหนดว่า “พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพลังนำของรัฐและสังคม” โดยมีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำสูงสุด และมีคณะกรมการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำของพรรคที่มีบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจกำหนดแนวทางและนโยบายของพรรค ซึ่งกลุ่มผู้นำในคณะกรมการเมืองนี้จะได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกลางพรรคฯ ในการประชุมสมัชชาพรรค โดยในทุกๆ 5 ปี จะมีการประชุมใหญ่ของพรรค เป็นการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเพื่อทบทวนนโยบายที่ผ่านมาในทุกด้าน และเป็นการกำหนดทิศทาง นโยบายของพรรคและของประเทศ สำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ในการประชุมสมัชชาพรรค จะมีการพิจารณาคัดเลือกผู้นำพรรค และพิจารณาผู้ที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลซึ่งก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประมุขแห่งรัฐซึ่งก็คือประธานาธิบดี โดยจะมีการประกาศแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติเรียบร้อยแล้วโดยในการเลือกสมาชิกสภาแห่งชาตินี้จะมีสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากเวียดนามทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีของเวียดนามมีสถานะเป็นประมุขของรัฐซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีบทบาททางการเมือง ส่วนนายกรัฐมาตรีและคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ที่มีบทบาทนำนโยบายมาปฏิบัติจริง (ธัญญาทิพย์, 2552)ปัจจุบันผู้นำของเวียดนามคือ นายเหงียน เติ๊น สุง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2006 และนายเจือง เติ๊น ซาง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2011 โครงสร้างการปกครองแบ่งออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ

  • การแบ่งเขตการปกครอง

เวียดนามแบ่งเขตการปกครองออกเป็น59 จังหวัด และ 5 เทศบาลนคร คือ ฮานอย โฮจิมินห์ ไฮฟอง ดานัง และเกินเธอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ม.ป.ป.) โดยแบ่งเทศบาลนครย่อยออกเป็น เขต (quận) และอำเภอ (huyện) หรือเมืองระดับอำเภอ (thị xã) แขวง (phường) ตำบล (xã) และเมืองระดับตำบล (thị trấn) (Wikipedia, 2558)

 

เศรษฐกิจ

  • นโยบายโด๋ย เม้ย (Do Moi)

หลังจากเวียดนามรวมประเทศในปี 1976 รัฐบาลได้สร้างการบริหารประเทศตามรูปแบบอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างเคร่งครัด และหลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา จึงส่งผลให้สังคมเวียดนามประสบปัญหาเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ต่อมาในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามจึงประกาศใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหม่ชื่อว่า“โด๋ย เม้ย” หมายถึง การบูรณะหรือการดำเนินการใหม่ในด้านเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ประกาศใช้นโยบายดังกล่าวในที่ประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1986 และถูกนำมาประกาศย้ำอีกครั้งในการประชุมสภาครั้งที่ 7 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1991 หลังการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับนี้ ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย (ไมเคิล, 2548) เช่น การพัฒนาระบบศึกษาให้ทั่วถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาและจีนการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้เวียดนามจะเปิดประเทศและมีการปรับระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเสรีให้เข้ากับกระแสโลก แต่ขณะเดียวกัน เวียดนามก็ยังคงรักษาระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์และรัฐบาลเป็นผู้ดูแลเศรษฐกิจทั้งเรื่องการค้าและการลงทุนโดยตรง

 

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามปัจจุบัน

หลังจากเวียดนามประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโด๋ย เหม่ย เวียดนามสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ในหลายด้าน โดยเฉพาะย่างยิ่งในด้านการค้า การลงทุน การเงิน การธนาคาร และสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง (ธัญญาทิพย์, 2552) เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO : World Trade Organization) ในวันที่ 11 มกราคม ปี ค.ศ. 2007 (WTO, 2015) ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม โดยวางแผนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ในช่วงระยะแรกจึงเริ่มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่วนในภาคเกษตรกรรม เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรกรรมได้เป็นอันดับต้นๆของโลก โดยมีพื้นที่เพาะปลูกบริเวณที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง (Red River Delta) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ และยังมีบริเวณที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ (วิทย์, 2555)

 

  1. สินค้าส่งออก
    1. ด้านเกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ

ด้วยสภาพภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์ของเวียดนาม ส่งผลให้สินค้าด้านเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ข้าว กาแฟ พริกไทย โดยเวียดนามเป็นประเทศที่สามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้มากเป็นอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่สำคัญ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างมูลค่าในการส่งออกได้อย่างมหาศาล

                       2. ด้านอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันเวียดนามให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลมีนโยบายที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีประเทศอุตสาหกรรมให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมของเวียดนามมีจุดเด่นในด้านทักษะแรงงานทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพอุตสาหกรรมส่งออกส่วนใหญ่ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนังรถยนต์ จักรยานยนต์  เหล็ก เป็นต้น

 

  1. สินค้านำเข้า

สินค้านำเข้าของเวียดนามประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เสื้อผ้า รถจักรยานยนต์ และเวชภัณฑ์ แม้เวียดนามสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านี้ แต่ก็ต้องนำเข้าสินค้าบางส่วนที่ราคาไม่สูง นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าสินค้า-ผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ เครื่องจักร ปริโตเลียม เหล็ก เหล็กกล้า วัตถุดิบสิ่งทอและเครื่องหนัง อิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ยสำหรับการเกษตร โดยรัฐบาลจะมีการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ม.ป.ป.)

         

ปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามปัจจุบัน (ธัญญาทิพย์, 2552)

  • การว่างงานที่ทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายส่งแรงงานเวียดนามไปทำงานต่างประเทศ
  • การคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่พรรคที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านคอรัปชั่น ในปี 2005 เพื่อความโปร่งใสของระบบรัฐ
  • ความล่าช้าของการจัดการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ การประสานงานล่าช้า กฎและระเบียบที่ไม่มีความชัดเจน
  • ปัญหายาเสพติดและการแพร่เชื้อ HIVs
  • โรคระบาดที่เข้ามาโดยที่รัฐยังไม่ได้เตรียมรับมือ เช่น โรคซาส์ (SARS) ไข้หวัดนก (H5N1)
  • ภัยธรรมชาติ เช่น ในแต่ละปีพายุใต้ฝุ่นจะเข้ามา 10-15 ลูก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชุมชนและการเพาะปลูกข้าว

 

สังคม-วัฒนธรรม

  • เทศกาล

เทศกาลส่วนใหญ่ของเวียดนามในปัจจุบันเป็นเทศการตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางประเพณีตกทอดมาจากจีนตั้งแต่สมัยก่อน เช่น

  • เต๊ดเวียนด๋าน (Tet Nguyen Dan)

เรียกย่อๆ ว่า “เต็ด” หรือวันตรุษเวียดนาม หรือที่คนไทยเรียกกันในชื่อตรุษญวนเป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของเวียดนามนับอิงตามปฏิทินจันทรคติของจีน ตรงกับช่วงปลายเดือนมกราคมหรือเดือนกุมภาพันธ์ตามปฏิทินสากล พิธีกรรมหลักในวันเต๊ดจะคล้ายกับประเพณีตรุษจีนของจีน เริ่มต้นจากวันส่งท้ายปีเก่าจะต้องทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อให้ถือว่านำสิ่งที่ไม่สะอาดออกไปให้หมดและเตรียมพร้อมต้อนรับปีใหม่ ในตอนเที่ยงคืนทุกบ้านจะทำพิธีเชิญบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วมาร่วมฉลองในวันขึ้นปีใหม่ เพราะเชื่อกันว่าช่วงระหว่างวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่วิญญาณได้รับอนุญาตให้ไปไหนก็ได้ การทำพิธีเชิญบรรพบุรุษ คือการตั้งโต๊ะกลางแจ้ง มีดอกไหม้ ธูปเทียน ขนม ไก่ต้ม ส่วนในบ้านจะมีการเตรียมแท่นบูชาและเตรียมอาหารไหว้สำหรับบรรพบุรุษที่จะมาอยู่ร่วมฉลองช่วงปีใหม่ประมาณ 3-7 วันและเมื่อถึงเวลาก็จะอัญเชิญกลับ

สำหรับวันปีใหม่จะเป็นวันที่ชาวเวียดนามถือกันมาก ในเรื่องของข้อห้ามเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี เช่น การพูดคำหยาบหรือสิ่งไม่ดี ไม่โกรธ ไม่โมโห ไม่ทำอะไรที่ไม่ดี เพราะอาจทำให้พบกับโชคร้ายตลอดทั้งปี ควรทำอะไรที่เป็นสิ่งมงคล เช่น สวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ พูดในสิ่งที่ดี ไม่ปัดกวาดบ้านเป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่บรรพบุรุษจะนำสิ่งดีๆมาให้ และห้ามทำจานหรือแก้วในบ้านแตกเด็ดขาดขนมที่เป็นของไหว้ประจำเทศกาลเต๊ดคือ “บ๊าญจึง” (Banh Chung) เป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วเอาไปต้มจนสุก ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง จึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานในบ้านที่ต้องคอยดูแลหม้อที่ต้มและคอยเติมน้ำไม่ให้น้ำแห้ง (พิษณุ, 2556)

  • เต๊ด จุง เหวียน (Tet Trung Nguyen)

เป็นเทศกาลวันสารท หรือเรียกอีกอย่างว่า สาโตวองเญิน (Xa Toi Vong Nhan) คล้ายกับประเพณีในวันสารทจีนที่มีการตั้งโต๊ะไหว้ทำทานให้ผีและวิญญาณเร่รอน โดยมีการนำข้าวต้ม ถั่วคั่ว  กระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่วัดหรือโคนต้นไทร หลังเสร็จพิธีก็จะนำอาหารที่ไหว้แล้วให้แก่เด็กหรือคนเร่รอน ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองจะนำไปเผาเพื่อส่งให้วิญญาณเร่ร่อนที่อยู่อีกโลกหนึ่ง (วิทย์, 2555)

 

อาหาร

อาหารหลักของชาวเวียดนาม ประกอบด้วยข้าว-แป้งและผักสดเป็นหลัก ซึ่งแป้งและข้าวก็เป็นอาหารหลักของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว ลักษณะเด่นของอาหารเวียดนามอีกอย่างหนึ่งคือ มีผักสดพืชสมุนไพร และน้ำจิ้ม อยู่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเคียงในรายการอาหารต่างๆ อาหารเวียดนามมีความแตกต่างหลากหลายตามแต่ละภูมิภาค (พิษณุ, 2556) และมีการประยุกต์รูปแบบและรสชาติมาจากอาหารจีนและอาหารฝรั่งเศส(วิทย์, 2555) เช่น

  • เฝอ(phở) ถือเป็นอาหารของชาวเวียดนามเหนือแท้ มีต้นกำเนิดที่จังหวัดนามดิ่ญ ราวปลายศตวรรษที่ 19 (พิษณุ, 2556) เป็นอาหารที่พัฒนามาจากก๋วยเตี๋ยวของจีน จนมีลักษณะเฉพาะของเวียดนามเอง เป็นเส้นเล็กยาวและเหนียวนุ่ม
  • บั๊ญ (bánh) หรือ ขนมปังฝรั่งเศส
  • บุ๊น (bún) คือ ขนมจีน คนเวียดนามเหนือส่วนใหญ่นิยมรับประทาน กับจ๋า (Cha) ซึ่งแปลว่าหมูย่าง โดยชาวเวียดนามเรียกเป็นชื่อรวมว่า บุ๊นจ๋า หมายถึง ขนมจีนหมูย่าง
  • แนมจัว (Nam Chua) คล้ายกับแหนม คืออาหารที่มาจากการนำเนื้อหมูมาซอยเป็นเส้นเล็กๆ คลุกข้าวสุก ใส่กระเทียมและเครื่องเทศ แล้วนำมาห่อด้วยใบมะยม และห่อใบตองอีกชั้นมัดให้แน่นเก็บไว้จนมีรสเปรี้ยว แล้วค่อยนำมารับประทาน (พิษณุ, 2556)

 

ชุดประจำชาติ

ชุดประจำชาติเวียดนาม เรียกว่า “อ๋าวส่าย” เป็นชุดของสตรี มีลักษณะเป็นชุดผ้าแพรที่มีชายเสื้อยาวถึงข้อเท้า ใส่คู่กับกางเกงผ้าแพรขายาวซึ่งจะสวมใส่อยู่ด้านใน และได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องแบบของนักเรียนหญิงในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการสวมใส่ชุดอ๋าวสายกันอย่างแพร่หลาย และมีการปรับเปลี่ยนการออกแบบให้เหมาะกับยุคสมัยเรื่อยมาจนกระทั่งในยุคหลังสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศเวียดนามกำลังอยู่ในภาวะลำบากจากสงคราม โฮจิมินท์ ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการคอมมิวนิสต์และเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น มีนโยบายให้เลิกใส่ชุดอ๋าวส่าย เนื่องจากต้องใช้ผ้าในการตัดเย็บมากกว่าเสื้อผ้าทั่วไป จึงเป็นการสิ้นเปลือง แต่ต่อมาในช่วงที่มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รัฐบาลเวียดนามจึงรณรงค์ให้ประชาชนกลับมาใส่ชุดอ๋าวส่าย และยังกำหนดให้ภาครัฐและโรงเรียนต้องใส่ชุดอ๋าวส่ายเป็นเครื่องแบบ และจัดประกวดสาวงามอ๋าวส่ายในประเทศ และมิสอ๋าวส่ายที่โตเกียว จึงทำให้ชุดอ๋าวส่ายเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศเวียดนาม และสามารถดึงให้สตรีชาวเวียดนามหันมาสวมใส่ชุดอ๋าวส่ายกันมากขึ้น (สุภัททา, 2556)

 

  • ศิลปะ
  • หุ่นกระบอกน้ำ (Water Puppet)

เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวเวียดนามมีถิ่นกำเนิดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ฉากจะเป็นซุ้มที่ตกแต่งตามแบบสถาปัตยกรรมเวียดนาม ซุ้มจะทำด้วยไม้ไผ่ ทำเป็นผืนแบบมูลี่กางพรางไว้เรี่ยกับผิวน้ำ มีช่องหัวท้ายและตรงกลางให้ตัวหุ่นลอดออกมาเคลื่อนไหวได้ ตัวหุ่นทำจากไม้ที่มีน้ำหนักเบาแม้จะอยู่ในน้ำ และเวลาเชิดต้องระวังไม่ให้เห็นไม้ออกมาจากน้ำ  (Wikipedia, 2558) การแสดงจะออกมาเป็นชุดๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตการทำมาหากิน และศิลปะพื้นบ้านของชาวเวียดนาม

 

ภาษา

  1. ภาษาราชการของประเทศเวียดนาม
  • ภาษาราชการ คือ ภาษาเวียดนาม หรือ เตียงเวียด (Tiếng Việt, Việt ngữ) เป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์กำกับมีทั้งภาษากลางและภาษาในสำเนียงท้องถิ่น ภาษาเวียดนามถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) เป็ตตระกูลย่อยของภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) สาขาเหวียด-เหมื่อง (Viet-Muong) ซึ่งเป็นสาขาภาษาเดียวในตระกูลออสโตรเอเชียติกที่พัฒนามีวรรณยุกต์ขึ้นใช้เป็นหน่วยเสียงในภาษา (สุริยา, 2531) มีความใกล้เคียงกับภาษาจีน และมีการใช้คำยืมจากภาษาจีนหลายคำ ซึ่งเป็นผลจากการรับอิทธิพลจากจีนตั้งแต่สมัยอดีต (ราชบัณฑิตยสถาน, 2558)อัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90.3 (ธัญญาทิพย์, 2552) ส่วนในเรื่องการใช้อักษร เวียดนามมีพัฒนาการในการใช้ตัวอักษรในภาษาเขียน ดังนี้
  1. อักษรจื๋อโญ(chữ nho, 字儒) เป็นอักษรเดิมของเวียดนาม มีลักษณะเป็นอักษรจีนโบราณถูกใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งยุคก่อนอาณานิคม ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากจีน
  2. อักษรจื๋อโนม(chữ nôm, 字喃) เป็นอักษรที่ทางเวียดนามพัฒนาขึ้น โดยดัดแปลงจากอักษรจี
  3. อักษรโกว๊กหงือ (quốc ngữ) เป็นอักษรแบบโรมันที่ถูกปรับเปลี่ยนในสมัยอาณานิคมโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และถูกใช้จนกระทั่งปัจจุบัน โดยคำว่า quốc ngữ แปลว่า อักษรประจำชาติ (Wikipedia, 2558)

 

  1. ภาษาอื่นๆ

    นอกจากภาษาเวียดนามที่เป็นภาษาราชการแล้วแล้ว ยังมีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ธัญญาทิพย์, 2552) ส่วนภาษาอื่นๆ ที่ถูกใช้ในเวียดนาม เช่นภาษาฝรั่งเศส จีน ขแมร์ และภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ภาษาจาม เป็นภาษาพูด อยู่ในภาษากลุ่มมาลาโย-โพลีเนเซีย ตระกูลออสโตรนีเซียน

 

ศาสนาและความเชื่อ

     ด้วยเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามไม่มีการระบุถึงศาสนาประจำชาติอีกทั้งพิธีกรรมส่วนใหญ่ของชาวเวียดนามปัจจุบัน ยังเป็นพิธีกรรมที่ได้รับการปฏิบัติตกทอดตามชุดความเชื่อแบบจีน ในลัทธิขงจื้อและเต๋ามาตั้งแต่อดีตซึ่งก็ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนาโดยตรง ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้ ตราบเท่าที่เสรีภาพนั้นไม่สั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล จากการสำรวจพบว่าชาวเวียดนามกว่าร้อยละ 80.8 ไม่ได้ระบุถึงศาสนาที่นับถือ ส่วนประชากรบางกลุ่มที่มีการระบุถึงการนับถือศาสนา ได้แก่

  • ศาสนาพุทธร้อยละ 9.3
  • ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ6.7
  • ฮวา เฮา (Hoa Hao)ร้อยละ 1.5

เป็นกลุ่มนิกายศาสนาที่ก่อตั้งทางตอนใต้ของเวียดนามเมื่อปีค.ศ. 1939 (Haohao, ม.ป.ป.) ในระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่ม ฮวา เฮาสามารถสร้างความศรัทราจากในหมู่คนนับหมื่นจากการรักษาโรคให้หายได้โดยพลังศรัทธาที่มาจากตัวผู้เข้ารับการรักษาเอง แต่ก็ถูกรัฐบาลโงดินห์เหยี่ยมที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาปราบ และกลุ่มก็ถดถอยอย่างรวดเร็ว (ไมเคิล, 2548)

  • เจา ได (Cao Dai) ร้อยละ 1.1

เป็นกลุ่มกึ่งศาสนาที่ก่อตั้งทางตอนใต้ของเวียดนาม เมื่อปี ค.ศ. 1952 (หนังสือพิมพ์มติชน, 2550) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีต้นกำเนิดมาจากพนักงานกลุ่มหนึ่งในไซง่อน-โชลอนที่อ้างว่ามีอำนาจลึกลับสามารถติดต่อกับเจา ได ผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวาล และสามารถเรียกศรัทธาจากชาวเวียดนามได้กว่า 4 แสนคน และเป็นกลุ่มกำลังสำคัญที่ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากที่เวียดนามรวมประเทศเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามแล้ว กลุ่มเจา ได ก็เหลือสมาชิกเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น (ไมเคิล, 2548)

  • ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ 0.5
  • ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.1

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

  1. การเข้าเป็นสมาชิก ASEAN
  • ASEAN

เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ในปี ค.ศ.1995 โดยเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 เหตุผลส่วนหนึ่งที่เวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะต้องการการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจและต้องการปรับนโยบายประเทศ ซึ่งได้เริ่มปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เริ่มต้นจากการปรับความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี และค่อยๆ พัฒนาสู่ระดับพหุภาคีในเวลาต่อมา (ธัญญาทิพย์, 2552) อีกทั้งการเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนาม ช่วยให้เวียดนามมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศจากสมาชิกอาเซียน และเป็นบันได้ไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกของ (APEC) และเตรียมที่จะเข้าสู่ (WTO) ในเวลาต่อมา (Wikipedia, 2558)

 

  1. ความสัมพันธ์ต่อนานาชาติในปัจจุบัน
    1. ความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

แม้ในอดีตเวียดนามจะมีความสัมพันธ์กับจีนที่ไม่ราบรื่น เนื่องจากการพยายามเข้ายึดครองเวียดนามของจีนในสมัยอดีต แต่เวียดนามได้ปรับความสัมพันธ์กับจีน โดยประกาศนโยบายส่งเสริมการสร้างมิตรภาพกับประเทศจีนนับตั้งแต่การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 6 ในปี ค.ศ. 1986 จากนั้นก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์จนนำไปสู่การเยือนประเทศของผู้นำทั้งสองอย่างเป็นทางการ และได้ปรับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1991 ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินต่อมาจนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 ทั้งสองได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนทางน้ำ เขตเศรษฐกิจเฉพาะ ข้อตกลงร่วมมือกันใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ และความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างสำนักข่าวเวียดนามและสำนักข่าวจีน ใน ค.ศ.ปี  2004 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านการประมง (ธัญญาทิพย์, 2552)

 

  1. ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งชาติที่ถือเป็นศัตรูของชาวเวียดนามตั้งแต่ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยสหรัฐอเมริกาเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนามด้วย หลังจากที่เวียดนามรวมประเทศและเปลี่ยนเป็นรัฐสังคมนิยม สหรัฐอเมริกาได้คว่ำบาตรการค้าการลงทุนกับเวียดนามเป็นเวลานาน แต่หลังจากที่เวียดนามมีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ “โด๋ เหม่ย” จากนั้นสหรัฐอเมริกาก็ได้ยกเลิกการคว่ำบาตรเวียดนามในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1994 และได้บรรลุข้อตกลงให้มีการตั้งสำนักงานเพื่อติดต่อกันสำหรับการค้นหาทหารอเมริกันที่สูญหายในสงครามเวียดนาม ในเดือนพฤษภาคม 1994 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1995 และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา วิลเลี่ยม โคเฮน (William Cohen) ได้มาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งระบุว่า สหรัฐอเมริกาจะมุ่งเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกับเวียดนาม การพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามเองต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ และสหรัฐเมริกาก็เป็นหนึ่งในชาติที่จะเข้ามาลงทุนในด้านอุตสาหกรรมโดยเวียดนามได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาในเดือนกรกฎาคม ในปี 2000ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การค้าและการลงทุนต่างชาติ (ไมเคิล, 2548)

 

2.4 ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

          ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับเวียดนามในปี ค.ศ. 1977 ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย - เวียดนาม ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมาก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก และเวียดนามยังให้ความสนใจในการพัฒนาหมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยพำนักในช่วงกอบกู้เอกราช เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และทางเวียดนามยังได้สนับสนุนงบประมาณ 350,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 สร้างโรงเรียนสอนภาษาเวียดนามที่จังหวัดนครพนม (หรือที่เรียกว่า “ศูนย์มิตรภาพนครพนม-ฮานอย”) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-เวียดนาม โดยจังหวัดนครพนมได้ทำพิธีเปิดศูนย์มิตรภาพฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 (สถานกงสุลไทย นครโฮจิมินห์, 2558)

บรรณานุกรม

    สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    Countries in the world (ranked by 2014 population). (2014). Retrieved ตุลาคม 14, 2558, from Worldometers: http://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/

    Fan Si Pan. (n.d.). Retrieved ตุลาคม 6, 2558, from Vietnam Birding: http://www.vietnambirding.com/fansipan.aspx

    The World Fackbook : Vietnam. (2015). Retrieved ตุลาคม 14, 2558, from Central Intelligence Agency: https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/vm.html

    Vietnam. (2015). Retrieved ตุลาคม 20, 2558, from WTO: https://www.wto.org/english/thewto_e/countries_e/vietnam_e.htm

    Vietnam Fast Facts. (2015). Retrieved ตุลาคม 14, 2558, from World Atlas: http://www.worldatlas.com/webimage/countrys/asia/vietnam/vnfacts.htm#page

    Vietnam Geo. Statistics. (2015). Retrieved ตุลาคม 14, 2558, from World Atlas: http://www.worldatlas.com/webimage/countrys/asia/vietnam/vnlandst.htm#page

    เขียน ธีระวิทย์. (2542). เวียดนาม สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ: งานวิจัยชุดเอเชีย โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

    เชิดเกียรติ อัตถากร. (2540). ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    เหวียนคักเวียน. (2545). เวียดนามประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร. (เพ็ชรี สุมิตร, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

    ไมเคิล ลีเฟอร์. (2558). พจนานุกรมการเมืองสมันใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (จุฬาพร เอื้อรักสกุล, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    ข้อมูลประเทศและเขตเศรษฐกิจ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. (2558). Retrieved พฤศจิกายน 25 , 2558, from East Asia Watch: http://www.eastasiawatch.in.th/information.php?id=14

    ความสัมพันธ์ไทย – เวียดนาม. (5 ตุลาคม 2558). เข้าถึงได้จาก เว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ : http://www.thaiembassy.org/hochiminh/th/relation

    จามะรี เชียงทอง. (2546). เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 2 เรื่องชาติ และชาติพันธุ์,. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).

    ธงชาติเวียดนาม. (2558). เรียกใช้เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2558 จาก Wikipedia: https://goo.gl/OdUVUe

    ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2552). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (พ.ศ.2540-2550). ใน เวียดนาม: การเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (ค.ศ. 1997-2006) (หน้า 501-589). กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์.

    ประเทศเวียดนาม. (2558). Retrieved ตุลาคม 14 , 2558, from Wikipedia: https://goo.gl/xYi6P3

    ภาษาเวียดนาม. (2558). Retrieved พฤศจิกายน 25, 2558, from Wikipedia: https://goo.gl/kO6jWE

    ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (2558). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ค.

    ศูนย์อินโดจีนศึกษา. (n.d.). ข้อมูลพื้นฐานสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา.

    สุด จอนเจิดสิน. (2550). ประวัติศาสตร์เวียดนาม ตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย.

    สุมิตร ปิติพัฒน์ และคณะ. (2546). ไย้ ไต และเกาลาน: กลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนามเหนือ. กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    หุ่นกระบอกน้ำ. (2558). Retrieved ตุลาคม 10, 2558, from Wikipedia: https://goo.gl/IIb2nG