เวียดนาม - บรรณนิทัศน์
ชื่อเรื่อง แผนการศึกษาเพื่อปวงชนของชาวเวียดนาม (1990-2000)
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางสาวธารทิพย์ ภิรมย์อนุกูล
ปริญญา สารนิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีที่พิมพ์ 2548
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาแผนการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศเวียดนามปี 1990-2000 พัฒนาการทางการศึกษาตั้งแต่ก่อนปี 1990-2000 จากการศึกษาพบว่าสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปฏิรูประเทศตามนโยบายเศรษฐกิจและปัญหาในระบบการศึกษา คือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องนำแผนการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศเวียดนามปี 1990-2000 มาใช้ เนื่องจากปัญหาจำนวนนักเรียนและคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับก่อนวัยเรียนต่ำ จำนวนการเข้าเรียนน้อยลง นักเรียนระดับประถมศึกษามีการลาออกกลางคัน ประชาชนไม่รู้หนังสือ รัฐบาลจึงประกาศใช้กฎหมายการศึกษาที่มีความเป็นสากลและดำเนินมาตรการตามแผนการศึกษาเพื่อปวงชน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคนิคจากองค์กรต่างชาติ เช่น ยูเนสโก ยูนิเซฟ โครงการเพื่อพัฒนาขององค์กรสหประชาชาติและธนาคารโลก เป็นต้น แม้ว่าเวียดนามจะสามารถดำเนินแผนได้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ประสบปัญหาลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศที่ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการติดต่อคมนาคมระหว่างพื้นที่ และปัญหาการกระจายทรัพยากรที่ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้การศึกษาในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และบริเวณที่ราบสูงและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่รัฐมุ่งหมายไว้ จึงต้องนำแผนใหม่ขึ้นมาใช้
ชื่อเรื่อง หุ่นน้ำ : พัฒนาการของโรงหุ่นแห่งชาติและศิลปะทางการของประเทศเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นายศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล
ปริญญา วิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต
สาขาวิชา มานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีที่พิมพ์ 2545
ประเด็นเนื้อหา
“หุ่นน้ำ” ศิลปะการแสดงของชาวบ้านบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแดง ที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์หมู่บ้านชนบทมายาวนาน ในปี ค.ศ. 1965 หลังจากที่เวียดนามเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส รัฐสังคมนิยมได้ก่อตั้งโรงหุ่นแห่งชาติ และพัฒนาหุ่นน้ำชาวบ้านเพื่อประดิษฐ์สร้าง ยกระดับให้กลายเป็นศิลปะการแสดงประจำชาติ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาใน 2 ประเด็น คือ หุ่นน้ำกลายมาเป็นการแสดงประจำชาติได้อย่างไร และ รูปแบบ เนื้อหาของหุ่นน้ำที่ผ่านการผลิตซ้ำของรัฐได้สะท้อนหรือสร้างความหมายใหม่แก่ผู้ชมในปัจจุบันอย่างไร เป็นการศึกษาโดยใช้แนวคิดประเพณีประดิษฐ์และวิธีการศึกษาภาคสนามทางมานุษยวิทยามาเป็นกรอบศึกษา โดยเลือกการแสดงของโรงหุ่นแห่งชาติในฐานะสิ่งประดิษฐ์ของรัฐมาเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ และเฝ้าติดตามชมการแสดงและสัมภาษณ์นักเชิดหุ่นรุ่นต่างๆของโรงหุ่นแห่งชาติ จำนวน 6 รุ่น ภายใต้ระยะเวลาของการศึกษาภาคสนามตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 – เดือนกุมภาพันธ์ 2545 การศึกษาเสนอว่า รัฐได้เลือกชุดการแสดงบางชุดจากคณะหุ่นน้ำชาวบ้านมาผลิตซ้ำและพัฒนาให้กลายมาเป็นการแสดงของรัฐ ทั้งหมด 16 ชุด โดยเพิ่มเติมดนตรี สีสันตัวหุ่น แสงเสียง เป็นต้น โดยโรงหุ่นน้ำของรัฐที่อยู่เมืองอื่นๆ ต่างก็ยึดเอารูปแบบและเนื้อหาดังกล่าวมาเป็นแม่แบบในการนำเสนอ โดยเนื้อหาทั้ง 16 ชุด สะท้อนให้ผู้ชมในปัจจุบัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้เห็นภาพความความเป็นเวียดนามผ่านภาพลักษณ์ขิงชาวชนบทที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทำนา หาปลา เลี้ยงเป็น เป็นต้น ซึ่งถือเป็นภาพอีกด้านหนึ่งของชาวเวียดนามที่ไม่ได้มีแต่เรื่องการสู้รบดังที่เคยรับรู้เกี่ยวกับเวียดนามในอดีต
ชื่อเรื่อง “ปัจจัยโฮจิมินห์” ในความสัมพันธ์ไทยเวียดนาม (THE “HO CHI MIHN FACTOR” IN THAI-VIETNAMESE RELATIONS)
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นายเหียน ก๊วก ตว๋าน
ปริญญา วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (สหสาขาวิชา)
มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีที่พิมพ์ 2550
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาบทบาทของโฮจิมินห์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม รวมทั้งศึกษาถึงทัศนคติของผู้นำไทยที่มีต่อโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศ การศึกษานี้เป็นการศึกษาตามแนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพ สิบค้นศึกษาจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล โดยศึกษาภาคสนามในพื้นที่จังหวัดนครพรม และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โฮจิมินห์เคยอาศัยอยู่ โดยสิ่งปลูกสร้างของโฮจิมินห์ยังคงอยู่ในพื้นที่ และบริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังเคยเป็นถานที่สำหรับปฏิบัติการผู้รักชาติเวียดนาม ผลจากการศึกษาพบว่าโฮจิมินห์เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของประเทศไทยที่มีต่อเวียดนาม อีกทั้งยังมีบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและชาวเวียดนาม สำหรับทัศนคติของผู้นำไทยต่อโฮจิมินห์และเวียดนามในช่วงสิ้นสุดสงครามโลก ช่วงระหว่างปี 1945-1948 ขบวนการเสรีไทในขณะนั้นมองว่าโฮจิมินห์ เป็นตัวแทนของกลุ่มเวียดมินห์ผู้รักชาติและเสียสละเพื่อชาติ และได้ให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเวียดมินห์ของโฮจิมินห์อย่างเต็มที่ ต่อมาในช่วงที่เข้าสู่สงครามเย็น รัฐบาลไทยซึ่งเป็นรัฐบาลทหารในขณะนั้นกลับมองว่าโฮจิมินห์และเวียดมินห์เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ อันเป็นภัยต่อความมั่นคง ความสงบสุข และความเป็นประชาธิปไตยของภูมิภาค และมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามในประเทศไทยด้วย และเมื่อโฮจิมินห์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็ได้รับการยกย่องเชิดชูจากชาวเวียดนามในประเทศไทย กลับยิ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารของไทยยิ่งระแวงภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ยิ่งขึ้น ลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น มุมมองต่อโฮจิมินห์และเวียดนามของรัฐบาลไทยก็เปลี่ยนแปลง มีการปรับทัศนคติต่อโฮจิมินห์ ยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ มีการสร้างหมู่บ้านโฮจิมินห์เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยมาพักพิงในจังหวัดนครพนมและอุดรธานี และถือเป็นหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม อันเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของประเทศไทยและประเทศเวียดนาม
ชื่อเรื่อง การเปรียบเทียบรูปแบบกลองมโหระทึกในประเทศไทย ประเทศจีน และประเทศเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นายพรพล ปั่นเจริญ
สาขาวิชา โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัย ศิลปากร
ปีที่พิมพ์ 2550
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบลวดลายคนสวมขนนกและลายนกบินที่ปรากฏอยู่บนหน้ากลองมโหระทึกที่ถูกพบในประเทศ โดยเปรียบเทียบอ้างอิงจากหนังสือภาพกลองมโหระทึกที่พบในประเทศจีนและประเทศเวียดนาม กลองมโหระทึกเป็นศิลปะโบราณวัตถุที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของผู้คนตั้งแต่ในช่วง 2,000-3,000 ปีก่อน กลองมโหระทึกถูกพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน โดยประเทศจีน และประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ถูกพบกลองมโหระทึกมากที่สุด ส่วนในประเทศไทยถูกพบอยู่ทั่ว 4 ภูมิภาค รวมทั้งหมด 34 ใบ ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบกลองมโหระทึกที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลรูปแบบมาจากประเทศจีนและประเทศเวียดนาม
ชื่อเรื่อง สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเทศกาล “Tet” ในวิถีชีวิตชุมชนเมืองเวียดนามบนโฆษณาทางวีดิทัศน์
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางเหงียน ธิ ทานห์ ทรา (Mrs. Nguyen Thi Thanh Tra)
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา สื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัย เชียงใหม่
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเของชาวเวียดนามผ่านเทศกาลเต๊ด (Tet) หรือชื่อเต็มๆ ว่า “Tet Nguyen Dan” เป็นเทศกาลวันปีใหม่ของเวียดนาม ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญต่อชาวเวียดนาม ผู้ศึกษาจึงเห็นว่าเป็นเทศกาลที่จะสามารถเห็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเวียดนามได้ชัดเจนที่สุด โดยศึกษาผลสะท้อนจากการนำเสนอของสื่อโฆษณา ซึ่งส่งผลให้สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมีความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลของหลายปัจจัยในสังคม
ชื่อเรื่อง กระบวนทัศน์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัยนายบุณยสกฤษฎ์ อเนกสุข
ปริญญา ดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชา ไทศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2549
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษากระบวนทัศน์ในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามศึกษาโดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสหวิทยาการจากการเก็บข้อมูลเอกสาร การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์คนในท้องถิ่นที่มีส่วนต่อการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ โดยมีพื้นที่ที่ใช้ในการศึกษาและได้ผลการวิเคราะห์ ดังนี้ ในพื้นที่ประทศไทย ได้แก่ กลุ่มกินข้าวเซาเฮือน หมู่ที่ 7 บ้านซะซอม ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และชุมชนครีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการศึกษาพบว่ามี 2 กระบวนทัศน์ คือ กระบวนทัศน์ของรัฐจะเน้นความสำคัญในเรื่องการสร้างมูลค่าและรายได้จากการท่องเที่ยว และกระบวนทัศน์ของคนในท้องถิ่นที่เห็นว่าได้รักษาความเป็นชุมชนทั้งด้านกายภาพและด้านวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ โครงการท่องเที่ยวแบบอนุลักน้ำฮา แขวงหลวงน้ำทา ผลการศึกษาพบว่ามีกระบวนทัศน์การสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม กับการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคอย่างยั่งยืน และในพื้นที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้แก่ จังหวัดเถื่อเทียนเว้ และอ่าวฮาลองกับพิพิธภัณฑ์เชิงนิเวศน์ฮาลอง จังหวัดกวางนิงห์ ผลการศึกษาพบว่ามีกระบวนทัศน์การใช้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งเงินทุนและเป็นองค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมให้อยู่อย่างยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของชาติอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 3 ประเทศ มีกระบวนทัศน์การท่องเที่ยวในจุดที่เหมือนกันคือ นโยบายจากรัฐส่งผลให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ-วัฒนธรรม และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรถูกแยกส่วนกัน และภาครัฐเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนามูลค่าการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงควรมีการเปลี่ยนแปลงฐานคติของรัฐให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่แท้จริง โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วม ตลอดจนสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในภูมิภาคร่วมกัน
ชื่อเรื่อง การก่อตัวและพัฒนาการของลัทธิชาตินิยมในเวียดนามที่สะท้อนในวรรณกรรมช่วงค.ศ. 1900-1954
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นายด่าว มิง จุง (Mr. Dao Minh Trung)
ปริญญา บัณฑิตวิทยาลัย
สาขาวิชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (สหสาขาวิชา)
มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีที่พิมพ์ 2547
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษางานวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการก่อตัวและพัฒนาการลัทธิชาตินิยมเวียดนามซึ่งมีความสัมพันธ์กับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากความเป็นอาณานิคม โดยการศึกษาเรื่องลัทธิชาตินิยมนั้น ได้ปรากฏให้เห็นได้ชัดในประเทศอาณานิคม ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 แม้ว่าลัทธิชาตินิยมแต่ละประเทศจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ลัทธิชาตินิยมของทุกประเทศนั้น เป็นผลจากการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอาณานิคม ซึ่งของประเทศเวียดนามก็เป็นกลุ่มลัทธิชาตินิยมในรูปแบบขบวนการกู้ชาติ การศึกษางานวรรณกรรมของวิทยานิพนธ์นี้ เป็นการวิเคราะห์พิสูจน์ให้เห็นว่า ลัทธิชาตินิยมในช่วงปี ค.ศ. 1900-1945 มีรูปแบบความเป็นลัทธิชาตินิยมที่ต่างกับความรักชาติแบบดั้งเดิม โดยวรรณกรรมได้สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีปัญญาชนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเมืองนั้น มีบทบาทสำคัญในการสร้างและปรับแต่งแนวคิดชาตินิยม
ชื่อเรื่อง เพศสภาพศาสนาและบทบาททางสังคมของภิกษุณีเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางสาวหนึ่งฤทัย พาอ้อ
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา ภาษาเวียดนาม
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2554
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาความเป็นผู้หญิงของภิกษุณีเวียดนามที่มีความสัมพันธ์กับบริบทสังคมวัฒนธรรมเวียดนาม โดยทำความเข้าใจในเรื่องเพศสภาพศาสนาและบทบาททางสังคมของภิกษุณีเวียดนาม ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ศึกษาบริบททางสังคมวัฒนธรรมเวียดนามที่มีความสัมพันธ์กับเพศสภาพของภิกษุณีเวียดนาม 2. ศึกษาสถานภาพของภิกษุณีเวียดนามในบริบทพุทธศาสนาและพุทธเถระสมาคมเวียดนามและ 3. ศึกษาปฏิบัติการและปฏิสัมพันธ์ของภิกษุณีเวียดนามที่มีต่อศาสนาและสังคมวัฒนธรรมเวียดนาม ซึ่งศึกษาโดยใช้แนวคิดเพศสภาพ (Gender) และแนวคิดโครงสร้าง-ผู้กระทำการ (Structure-Agency) เป็นแนวคิดหลักในการศึกษาใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพเน้นการศึกษาเอกสารและการทำงานสนามเชิงมานุษยวิทยาโดยศึกษาภิกษุณีวัดฟึกฮว่า เขตบิ่งเติน นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เพื่อเป็นกรณีศึกษาปฏิบัติการและปฏิสัมพันธ์ของภิกษุณีเวียดนามที่มีต่อศาสนาและสังคมเวียดนาม
เพศสภาพของภิกษุณีเวียดนาม มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมเวียดนาม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อ เต๋า และความเชื่อในศาสนาพุทธ ที่รับมาจากจีนและอินเดีย ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และรัฐชาติเวียดนาม จนเป็นลักษณะเฉพาะในแบบของเวียดนาม ซึ่งบริบททางสังคมทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อการประกอบสร้างความเป็นภิกษุณีเวียดนาม และเมื่อเวียดนามเข้าสู่ยุครัฐชาติสมัยใหม่ ก็มีการจัดตั้งพุทธเถรสมาคมอย่างเป็นทางการ โดยเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลสังคมนิยมโดยตรง และได้กำหนดกรอบวิสัยทัศน์ “ธรรมะ ประเทศชาติ สังคม” ซึ่งกลายเป็นทิศทางในปฏิบัติการของคณะสงฆ์เวียดนามรวมทั้งสถานภาพบทบาทและหน้าที่ของภิกษุณีด้วย ขณะเดียวกันภิกษุณีในฐานะของ“ผู้กระทำการ” ก็ได้ใช้บริบทโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมดังกล่าว มากำหนดพื้นที่ในการสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ให้กับสังคมวัฒนธรรมเวียดนามไปตามบริบทด้วยเช่นกัน
ชื่อเรื่อง ภาพลักษณ์สตรีเวียดนามใน ทวี้ เกี่ยว
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นายนุสรัต รยะสวัสดิ์
ปริญญา อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา วรรณคดีเปรียบเทียบ
มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีที่พิมพ์ 2547
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาเนื้อหา ลักษณะการประพันธ์ และศึกษาวิเคราะห์ภาพลักษณ์บทบาทสตรีเวียดนามจาก วรรณคดีเอกของเวียดนามเรื่อง ทวี้เกี่ยว แต่งโดย เหงียนยู ผลการศึกษาพบว่าเป็นวรรณคดีเอกที่มีความดีเด่นด้านวรรณศิลป์ในเรื่องของการใช้ภาษาและสหบทที่ส่งผลให้บทประพันธ์มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น และมีการใช้ฉันทลักษณ์ที่มีจุดเด่น และได้รับการยอมรับจนบทประพันธ์นี้กลายเป็นหนึ่งในวิถีประชาของอาเซียน ส่วนผลการศึกษาในเรื่องภาพลักษณ์และบทบาทสตรีที่ปรากฎในวรรณกรรมนั้น พบว่าเป็นการนำเสนอภาพของสตรีเวียดนามที่ดำเนินตามขนบธรรมเนียมปฏิบัติแบบขงจื๊อ ซึ่งชาวเวียดนามเรียกว่า “ตามต่อง” กล่าวคือ เมื่อเป็นลูกสาวต้องเชื่อฟังบิดา เมื่อเป็นภรรยาต้องเชื่อฟังสามี และเมื่อเป็นมารดาต้องเชื่องฟังบุตรชาย และสตรีเวียดนามมีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม โดยยกย่องสตรีที่ให้ความสำคัญกับภาระหน้าที่มากกว่าความต้องการส่วนตัว และมีความกล้าเผชิญชะตากรรมซึ่งเป็นภาพลักษณ์สำคัญของสตรีเวียดนาม
ชื่อเรื่อง การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เชิงพื้นที่: กรณีศึกษาผู้หญิงเวียดนามในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ถูกย้ายที่ตั้งใหม่ในส.ป.ป. ลาว
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางสาววรรณทวี สุภานุวงศ์
ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา สตรีศึกษา
มหาวิทยาลัย มหาาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีที่พิมพ์ 2554
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาทำความเข้าใจผู้หญิงเชื้อสายเวียดนามใน สปป.ลาว ที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดกลางหนองน้ำใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์และถูกย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่จัดสรรใหม่ในเขตรอบนอกเนื่องจากนโยบายพัฒนาตัวเมืองของภาครัฐ พวกเธอได้นิยามคำว่าบ้าน (home/place) และบ้านเกิดเมืองนอน (home/land) ที่สัมพันธ์กับการสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ (spatial identity) ขอตนเองขึ้นมาใหม่ได้อย่างไรเมื่อต้องทิ้งบ้านย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ และยังต้องเผชิญความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศภาวะในครอบครัวของผู้หญิงภายใต้กรอบปิตาธิปไตย (patriarchy) หรือชายเป็นใหญ่ แบบขงจื๊อของชาวเวียดนาม การศึกษาชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพทางมานุษยวิทยาสตรีนิยม (feminist anthropology) ในประเด็นเพศภาวะและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สัมพันธ์กับกระบวนการสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ของผู้หญิงเวียดนามในชุมชนที่ถูกย้ายเป็นหลัก
จากการศึกษาพบว่าสาเหตุของการโยกย้ายที่ทางสังคมของชาวบ้านในชุมชนแออัดกลางนครหลวง เกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาตัวเมืองของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนิยามผู้หญิงเชื้อสายเวียดนาม ที่ถูกนิยามให้ผู้ติดอยู่กับบ้าน (home/place) และบ้านเกิดเมืองนอน (home/land) ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำ (memories) และชุดประสบการณ์ที่ผู้หญิงใช้ตีความอัตลักษณ์ที่ผูกติดอยู่กับพื้นที่ (spatial identity) รวมทั้งยังมีระบบคุณค่าของกฎจริยธรรมแบบเวียดนามตามอุดมการณ์ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง (family-centered ideology) ควบคุมการตัดสินใจของผู้หญิงในการเลือกทำสิ่งต่าง ๆอีกทั้งพื้นที่บ้าน (home/place) ยังเป็นสถานที่ที่มีการสืบทอดกรอบวัฒนธรรมปิตาธิปไตยแบบขงจื๊อครอบงำความคิดความเชื่อ ทำให้ผู้หญิงเวียดนามอพยพกลุ่มนี้ประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตน ในบทบาทของเม่และเมียที่ดีขึ้นมา
แม้ว่าผู้หญิงเวียดานามกลุ่มนี้จะมีสถานะเป็นแม่ค้า ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่เมื่ออยู่ในครอบครัวก็ต้องอยู่ในภาวะไร้ตัวตน (selfless) เพราะระบบครอบครัวชาวเวียดนามในแบบชายเป็นใหญ่ที่ผู้หญิงมีอำนาจในการต่อรองน้อย แต่สำหรับในพื้นที่ตลาดนั้น ผู้หญิงกลุ่มนี้มีฐานะเป็นแม่ค้าชาวเวียดนามผู้เก่งกาจ และมีความภาคภูมิใจในบทบาทตน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงออกมาเพื่อการหาเลี้ยงชีพและครอบครัว และตลาดยังเป็นพื้นที่ที่เธอสามารถตัดสินใจได้เองในเรื่องของการค้าขายและการจัดการสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ได้รับการยอมรับจากลูกค้า ดังนั้น เมื่อนโยบายพัฒนาเมืองของรัฐเข้ามาในพื้นที่ของเธอ ก็ย่อมส่งผลต่อผู้หญิงเวียดนามกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การย้ายที่อยู่เท่านั้น แต่เป็นการย้ายออกจากความทรงจำ (memories) และความสัมพันธ์ทางสังคม (social relation)ของผู้หญิงเวียดนามกลุ่มนี้ด้วย
ชื่อเรื่อง วัฒนธรรมกาแฟ : ความหมายในสังคมบริโภคนิยมเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางสาวพิธว์สิริ ธเนศกุลวัฒนา
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (สหสาขาวิชา)
มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีที่พิมพ์ 2552
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาความหมายของวัฒนธรรมกาแฟของชาวเวียดนามปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพและการวิเคราะห์ข้อมูลระดับทุติยภูมิ ข้อมูลภาคสนาม และการสัมภาษณ์ ผู้ศึกษาเลือกศึกษาจากการบริโภคกาแฟยี่ห้อไฮแลนด์ ซึ่งเป็นยี่ห้อกาแฟชื่อดังที่ชาวเวียดนามรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยศึกษาความหมายที่แฝงอยู่กับการบริโภคกาแฟยี่ห้อนี้ จากการเลือกเข้าร้านกาแฟไฮแลนด์ ที่เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ เมืองใหญ่ของเวียดนาม ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่คนหลีกหนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่เข้ามานั่งพักที่ร้านกาแฟ ร้านกาแฟไฮแลนด์ก็มีการออกแบบสไตล์ยุโรปให้ร้านดูน่าสนใจ รวมทั้งมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดดึงดูดกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ การศึกษาพบว่าการเลือกเข้าร้านกาแฟและการบริโภคกาแฟยี่ห้อต่างๆ เชื่อมโยงถึงการบ่งบอกชนชั้นของกลุ่มบริโภค วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟของชาวเวียดนามปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสบริโภคนิยม
ชื่อเรื่อง การสร้างอุดมการณ์ชาติเวียดนามผ่านการศึกษาภาคบังคับระหว่างปี ค.ศ. 1975-2003
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางสาวหทัยรัตน์ มั่นอาจ
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา ภูมิภาคศึกษา
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีที่พิมพ์ 2549
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาเวียดนามที่มีต่อการสร้างอุดมการณ์ชาติเวียดนามศึกษากระบวนการจัดการศึกษาภาคบังคับเวียดนามในมิติการสร้างอุดมการณ์ชาติศึกษาถึงผลของการสร้างอุดมการณ์ชาติที่มีต่อการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติเวียดนาม โดยศึกษาประเด็นทั้งหมดจากการศึกษาระดับประถามศึกษา เนื่องจากเป็นระดับชั้นการศึกษาที่สามารถเข้าถึงประชาชนเวียดนามได้มากที่สุด ผลการศึกษาพบว่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาเวียดนามในช่วงก่อนการร่วมชาติในปี ค.ศ. 1975 ในช่วงวคจารีต การศึกษาเวียดนามได้รับอิทธิพลมาจากอุดมการณ์ขงจื๊อที่เป็นการศึกษาของชนชั้นปกครอง ในสมัยต่อมา ช่วงที่เวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นระบบการศึกษาของเจ้าอาณานิคม หลังจากนั้นการศึกษาก็ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยม และส่งผ่านอุดมการณ์ทางการเมือง กล่าวคือ ระบบการศึกษาที่เจ้าอาณานิคมออกแบบขึ้นมานั้น ส่งผลย้อนกลับมาต่อต้านเจ้าอาณานิคมเสียเอง ยุคหลังจากนั้น เมื่อเวียดนามรวมชาติเป็นรัฐได้สำเร็จ การศึกษาถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อส่งผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐ ตามแนวทางมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ และอุดมการณ์ชาตินิยม ระบบการศึกษาภาคบังคับถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการสร้างความรับรู้เรื่องชาติขึ้นมาใหม่ ทั้งเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้เป็นรับรู้ในชุดความรู้เดียวกัน โดยส่วนกลางเป็นผู้กำหนดหลักสูตรและเนื้อหา การกำหนดกิจกรรรมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และการเขียนตำราเรียนขึ้นมาใหม่ ผ่านชุดความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ วีรบุรุษ วัฒนธรรม ส่งผลต่อกระบวนการสร้างแนวคิดและทัศนคติของการเป็นประชากรในระบบสังคมนิยมเวียดนาม หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1986ซึ่งเป็นช่วงที่เวียดนามเริ่มเปิดประเทศ เนื้อหาในตำราเรียนจึงมีการปรับเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมอัตลักษณ์บางอย่างขึ้นมา ระบบการศึกษาเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเพื่อสอดรับกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่กำลังเกิดขึ้นในเวียดนาม
ชื่อเรื่อง(ปริญญานิพนธ์) การศึกษาเปรียบเทียบสำนวนเวียดนามกับสำนวนไทย
ผู้เขียน/ผู้วิจัย วูถิกิมจี
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา ภาษาไทย
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์
ปีที่พิมพ์ 2550
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาเปรียบเทียบสำนวนเวียดนามกับสำนวนไทยที่มีความหมายตรงกันหรือคล้ายกันในด้านที่มาและวิธีการใช้สำนวนและภาพสะท้อนทางธรรมชาติและวิถีชีวิต ใช้วิธีวิจัยโดยวิธีพรรนาวิเคราะห์ จากการรวบรวมเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสำนวนเวียดนามและสำนวนไทย จำนวน 205 สำนวน ผลการศึกษาเปรียบเทียบสำนวนของไทยและเวียดนาม พบว่าสำนวนเวียดนามมีความหมายคล้ายคลึงกับสำนวนไทยบางประการ จำนวน 98 สำนวน สำนวนที่ต่างกัน จำนวน 67 สำนวน และที่เหมือนกัน 40 สำนวน ซึ่งสะท้อนภาพทางธรรมชาติของทั้งสองประเทศโดยพบว่าภูมิศาสตร์ของประเทศไทยและเวียดนามมีลักษณะภูมิศาสตร์ ทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชที่คล้ายคลึงกัน ส่วนภาพสะท้อนวิถีชีวิต ทั้งเวียดนามและไทย คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พึ่งพาธรรมชาติในการทำมาหากิน มีการตั้งถิ่นฐานในชนบทที่ใกล้แหล่งน้ำพื้นที่อุดมสมบูรณ์ รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ สร้างบ้านที่มั่นคงแข็งแรง มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีและค่านิยมขิงคนส่วนใหญ่ เพื่ออบรมสั่งสอนให้คนในครอบครัวและสังคมในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
ชื่อเรื่อง การทูตวัฒนธรรมของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากช่วงทวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน :กรณีศึกษาประเทศไทยและประเทศเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นางซุม ทิ เฟือง
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (สหสาขาวิชา)
มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีที่พิมพ์ 2549
ประเด็นเนื้อหา
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงที่จีนเริ่มแสดงความเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการทหาร ในขณะเดียวกันเวทีโลกก็เริ่มกล่าวถึงภัยคุกคามทางการเมืองของจีนในด้านการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน การรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีนนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อจีนโดยเฉพาะผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การที่จีนเลือกใช้ด้านวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือทางการทูต เช่น ประวัติศาสตร์จีน วัฒนธรรมเฉพาะของจีน ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจจีนในแง่ที่เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมมายาวนาน และน่าศึกษาซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดความรู้สึกว่าจีนเป็นภัยคุกคาม
สำหรับประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ถือเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความสัมพันธ์กับทางการจีนมาตั้งแต่สมัยอดีตจวบจนปัจจุบัน ทำให้การทูตเชิงวัฒนธรรมของจีนสามารถดำเนินการและได้รับการยอมรับจากทั้งไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับจีนของไทยและเวียดนาม มีชุดภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน กล่าวคือ ประเทศไทยยอมรับการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของจีนและคนกระตือรื้อร้นที่จะเรียนภาษาจีนมากขึ้น ในขณะที่เวียดนามยังมองจีนในแง่ของการสานสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่า
ชื่อเรื่อง รอยร้าวในชีวิตของชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในเขตพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศเวียดนาม
ผู้เขียน/ผู้วิจัย นายเล กวาง ซุง
ปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชา การพัฒนาอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีที่พิมพ์ 2550
ประเด็นเนื้อหา
ค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยศึกษาในหมู่บ้านขนาดเล็กของชนเผ่าบานา (Bahnar) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาม้ง-เขมร บริเวณที่ราบสูงตอนกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เปิดเผยแหล่งที่มาและกระบวนการสร้างความแข็งแกร่ง การให้เหตุผลของนโยยบายการพัฒนาและเพื่อพัฒนาโปรแกรมสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในที่ราบสูงเวียดนาม 2. เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสัมคม ผลกระทบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการพัฒนาและโปรแกรมการพัฒนานี้ 3. เพื่อสำรวจการปฏิบัติตนของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการผลกระทบด้านลบของนโยบายการพัฒนาและโปรแกรมการพัฒนา โดยพิจารณาจากทฤษฎีทางสังคมซึ่งถูกนำมาใช้ในนโยบายการพัฒนาโปรแกรมพัฒนา ผู้สนับสนุนผลของการพัฒนาและประสบการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้โปรแกรมการพัฒนา การศึกษานี้พบว่าที่ราบสูงภาคกลางถูกจำกัดความว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่ล้าสมัย ดั้งเดิม ไม่เจริญ การศึกษานี้ยังได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของนโยบายการพัฒนาและโปรแกรมพัฒนาที่สร้างขึ้นโดยนักสังคมนิยมของเวียดนามเพื่อให้เกิดความสามัคคี ความสัมพันธ์ทางสังคม พฤติกรรมทางสังคม และความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลับส่งผลกระทบกับรูปแบบและวิธีการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุขได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทุกข์ยากยิ่งขึ้น
ชื่อหนังสือ รายงานวิจัย การเตรียมบุคลากรเข้าสู่ภาคแรงงาน : การศึกษาเปรียบเทียบไทยและเวียดนาม 1980-2525
ผู้แต่ง พศิน แตงจวงและคณะ
สังกัด ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงาน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีที่พิมพ์ 2551
ประเด็นเนื้อหา
ศึกษาเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานสภาพการเตรียมบุคลากรไทยและเวียดนาม เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงปี 1980-2025 เพื่อวิเคราะห์ วิพากษ์ และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายภายในประเทศและระหว่างประเทศในอนาคต ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน มีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เจาะลึก โดยสัมภาษณ์ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ อธิการบดี คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาผู้ใหญ่ นักศึกษา ผู้จัดการสถานประกอบการ พนักงาน โดยการสังเกต เยี่ยมเยือน รับฟัง พูดคุย ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งข้อมูลจากธนาคารโลก,UNESCO, ILO, ADB และอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ถึงการคาดการณ์ในปี 2025
ผลการวิจัยพบว่า การเตรียมบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงปี 1980-2025 ในด้านประชากร ประเทศไทยมีประชากรน้อยกว่าประเทศเวียดนาม 20 ล้านคน ซึ่งอาจจะถึงกว่า 30 ล้านคนในปี 2025 ทำให้เวียดนามมีปริมาณประชากรในวัยแรงงานมากกว่า ในขณะที่ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าเวียดนาม อีกทั้งประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาก่อนเวียดนาม ประชากรไทยมีระดับการศึกษาสูงเกินกว่าที่จะมาทำงานในระบบอุตสาหกรรมโรงงาน ส่วนผู้ที่ทำงานในโรงงานนั้นก็เป็นผู้ที่ทำงานมานานมีทักษะประสบการณ์ทำงาน ทำให้แรงงานไม่สามารถยอมรับอัตราค่าแรงที่ถูกได้อีกต่อไป รวมทั้งประเทศไทยมีอัตราการเติมโตทางเศรษฐกิจก่อนเวียดนามค่าครองชีพสูง ค่าแรงก็ย่อมปรับเพิ่มตาม ในขณะที่ประเทศเวียดนามแม้พัฒนาอุตสาหกรรมช้ากว่าไทย แต่เวียดนามได้เปรียบในด้านแรงงงานมากกว่า เนื่องจากประชากรเวียดนามมีความอดทน มุ่งมั่น ทุ่มเท มากกว่าคนไทย ชาวเวียดนามมุ่งที่จะศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะได้ไปแข่งขันในระดับโลก ทั้งๆ ที่ประเทศเวียดนามมีความพร้อมน้อยกว่าประเทศไทย เวียดนามมีการส่งนักเรียนเข้าไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการและได้เหรียญทองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่เวียดนามจะรวมประเทศ และปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามกำลังส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย จากผลการศึกษาข้างต้น จะเห็นได้ว่าไทยกำลังจะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น หากไทยต้องการแข่งขันกับเวียดนามทางด้านการผลิต ไทยจะต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยทำให้เครื่องจักรในโรงงานสามารถผลิตได้ในปริมาณเพิ่มมากขึ้น หรือผลิตสินค้าได้มีคุณภาพสูง ซึ่งก็จะต้องใช้แรงงานทักษะสูงด้วยเช่นกัน จึงต้องเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
ชื่อหนังสือ เวียดนามหลัง 1975
ผู้แต่ง ดร. ธีระ นุชเปี่ยม
สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า
ปีที่พิมพ์ 2537
ประเด็นเนื้อหา
ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนามตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1975 ศึกษาพัฒนาการของสังคมนิยมเวียดนามภายหลังการยุติสงครามอินโดจีน เน้นในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเวียดนาม เนื่องจากในปี 1975 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับระบอบคอมมิวนิสต์เวียดนาม แม้ว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเวียดนามให้หลุดพ้นจากการคุกคามของจักรวรรดินิยม แต่หลังจากที่กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์สามารถสามารถปฏิวัติรวมเวียดนามได้สำเร็จในปี 1975 ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ความนิยมต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของประชาชนเวียดนามเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากรากฐานอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์นั้น ต่อต้านระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือทุนนิยม แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่เวียดนามเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เวียดนามต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างสถาบันทางการเมือง นโยบายของชาติ และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ชื่อหนังสือ ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม
ผู้แต่ง โจเซฟ บัตตินเจอร์
ผู้แปล เพ็ชรี สุมิตร
สำนักพิมพ์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
ปีที่พิมพ์ 2522
ประเด็นเนื้อหา
แปลจากหนังสือเรื่อง Vietnam, A Political History ของ Joseph Butinger และรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจาก The Smaller Dragon (1985) และ Vietnam A Dragon Embattled (1967) เนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการเมืองของประเทศเวียดนาม ไล่ตั้งแต่ในยุคที่เวียดนามอยู่ใต้การปกครองของจีน จนกระทั่งถึงยุคอาณานิคม และยุคที่เวียดนามเข้าสู่สงครามเย็น โดยในหนังสือได้แบ่งยุคการเมืองออกเป็น 3 ภาค ประกอบด้วย ภาคที่ 1 เวียดนามภายใต้การปกครองของจีน จนกระทั่งได้เป็นเป็นอิสระจากจีน หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงที่ชาติตะวันตกกำลังล่าอาณานิคมในเอเชีย ซึ่งก็มีบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนา และกลุ่มพ่อค้าที่เริ่มเข้ามาในเวียดนาม ภาคที่ 2 เวียดนามก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นสังคมเวียดนามต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของขบวนการต่อสู้เพื่อชาติที่ขาวเวียดนามลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเข้ามาในเวียดนาม หลังจากที่เวียดนามเป็นเอกราชได้ซักพัก ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามาในเวียดนาม และเข้าสู่สงครามกลางเมืองอีกครั้ง ภาคที่ 3 เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม หลังจากนั้นก็เข้าสู่ในช่วงที่เวียดนามประสบปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองและเข้าสู่การเผชิญกับกลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดทางการเมืองจากจีนที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเวียดนาม และสหรัฐอเมริกาก็เข้ามามีบทบาทในเวียดนามใต้ รวมทั้งการต่อต้านคอมมิวนิสต์เวียดนาม จนนำเวียดนามเข้าสู่สงครามเย็น แบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ฝ่าย
ชื่อหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม 1-2
ผู้แต่ง ดี.จี.อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) , ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2549 (พิมพ์ครั้งที่ 3)
ประเด็นเนื้อหา
เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สมัยรัฐโบราณ-ยุคอาณาจักร/จักรวรรดิ-ยุคอาณานิคม-ยุคแห่งลัทธิชาตินิยมและการเรียกร้องเอกราชจากอาณานิคม จนถึงยุคที่ทุกชาติได้รับเอกราชและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เนื้อหาเกี่ยวกับประเทศเวียดนามในหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชุดนี้ ประกอบด้วยเนื้อหาประวัติศาสตร์ในช่วงยุคต่างๆ แบ่งตามภาคและบทต่างๆ ในหนังสือ ดังนี้ ภาคที่ 1 หัวข้อ “จุดเริ่มต้นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16” ในบทที่ 1 เป็นเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชนชาติต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสมัยโบราณที่พบร่องรอยวัฒนธรรมยุคหินกลาง หรือวัฒนธรรมบักเซินและหว่าบินเฮียน เรียกตามชื่อตำบลที่ค้นพบเครื่องมือยุคนี้ในบริเวณตังเกี๋ย และวัฒนธรรมโลหะดองซอน ซึ่งเป็นกลองสำริดถูกพบในบริเวณตังเกี๋ยเช่นกัน ในบทที่ 2 สมัยเริ่มประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรัฐเก่าแก่คือฟูนันและลินยี่ ซึ่งดินแดนบางส่วนเป็นพื้นที่บริเวณเมืองเว้ในอันหนำเหนือ ในบทที่ 8 อาณาจักรจามปา (บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม) บทที่ 9 อันหนำและตังเกี๋ย (บริเวณลุ่มแม่น้ำแดงและแม่น้ำตังเกี๋ย) บททึ่ 11-12 กล่าวถึงเศรษฐกิจภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงก่อนและหลังจากที่อาณานิคมเข้ามาในภูมิภาค ภาคที่ 2 “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคเริ่มแรมยุโรปขยายอำนาจ” บทที่ 23 อันหนำและตังเกี๋ย ค.ศ. 1620 – ค.ศ. 1820 เป็นช่วงของการต่อสู่ระหว่างตะกูลตริ่นห์และตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นสองตระกูลผู้ปกครองเวียดนามในยุคนั้น และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคสถาปนาจักรวรรดิโคจินจีน (โคจินไชน่า) อันหนำและตังเกี๋ย ของอาณานิคมฝรั่งเศส
ภาคที่ 3 “ยุคสมัยยุโรปขยายการครอบครองดินแดน” บทที่ 36 เวียดนามและการขยายดินแดนของฝรั่งเศสในอินโดจีน ค.ศ. 1820 - ค.ศ.1870 ภาคที่ 4 “ลัทธิชาตินิยมกับการท้าทายอำนาจครอบงำยุโรป” บทที่ 44 การปกครองของฝรั่งเศสและลัทธิชาตินิยมในอินโดจีน ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในชาติอินโดจีนที่เกิดกลุ่มขบวนการชาตินิยมต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศส บทที่ 46 โฉมหน้าทางเศรษฐกิจของการยึดครองของชาวยุโรป เศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เป็นหนึ่งในอินโดจีนของฝรั่งเศส บทที่ 48 ผลกระทบจากญี่ปุ่น ช่วงสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บทที่ 49 หลังสงคราม ค.ศ. 1949 – ค.ศ. 1950 เวียดนามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศส ในช่วงหลังยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นหมดอำนาจลง และสุดท้าย บทที่ 50 ยุคของการได้รับเอกราชซึ่งเป็นช่วงที่ชาติต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผชิญกับปัญหาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนได้รับเอกราช และเป็นช่วงแห่งการฟื้นฟูประเทศของเวียดนาม และชาติต่างๆ ในภูมิภาค
ชื่อหนังสือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (หนังสือชุดประชาคมอาเซียน)
ผู้แต่ง วิทย์ บรรฑิตกุล
สำนักพิมพ์ สถาพรบุ๊คส์
ปีที่พิมพ์ 2555
ประเด็นเนื้อหา
ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเวียดนาม หรือสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นข้อมูลย่อโดยสังเขปของหัวข้อต่างๆ ดังนี้ แผนที่ประเทศเวียดนาม แผนที่ประชาคมอาเซียน ประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ และตำนานของเวียดนาม แบ่งเป็น ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคภายใต้การปกครองของจีน ยุคกษัตริย์เรืองอำนาจ ยุคฝรั่งเศสเข้ารุกราน เวียดนามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เวียดนามหลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็น และรวมสองเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว การเมืองการปกครองของเวียดนามในปัจจุบัน โครงสร้างเศรษฐกิจและแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม ภูมิศาสตร์-ทรัพยากร-เมืองและสถานที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ของเวียดนาม คนเวียดนามชนกลุ่มต่างๆ การแต่งกาย และเทศกาลงานประเพณีของเวียดนาม
ชื่อหนังสือ ประวัติศาสตร์เวียดนามในแบบเรียนชั้นประถม
ผู้แต่ง รศ.ดร. ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์
สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ
ปีที่พิมพ์ 2550
ประเด็นเนื้อหา
ข้อมูลประวัติศาสตร์ของเวียดนามในแบบเรียนระดับชั้นประถมของเวียดนาม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ในมุมมองของ “คนใน” เป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่กระทรวงศึกษาธิการเวียดนามบรรจุอยู่ในแบบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สังคม ระดับชั้นประถมศึกษา โดยมีเนื้อหาประวัติศาสตร์เวียดนามช่วงต่างๆ เช่น สมัยระบอบศักดินา สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ช่วงแห่งชัยชนะจากการต่อสู้ที่เดียนเบียนฟู ช่วงการเข้ามาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาพรวมเนื้อหาเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ และศัตรูภายนอกที่เข้ามารุกรานเวียดนาม นับตั้งแต่การต่อสู้กับการรุกรานของจีน การเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส การเข้ามาของอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรพบุรุษของชาวเวียดนามร่วมกันต่อสู้เพื่อชาติมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งถูกถ่ายทอดทั้งในแบบเรียนของรัฐและพิพิธภัณฑ์ของเวียดนาม กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาติที่ถ่ายทอดสู่เยาวชนผ่านการศึกษาในระดับชั้นประถม ซึ่งการศึกษานี้เป็นกลไกที่รัฐใช้เพื่อการสร้างภาพประวัติศาสตร์เรื่องชาติเวียดนามให้อยู่ในจิตสำนึกของประชาชนในชุดความรู้เดียวกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่การนำเสนอชุดความรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแบบเรียนเท่านั้น แต่ยังปรากฏให้เห็นถึงการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านพิพิธภัณฑ์ของเวียดนาม
ชื่อหนังสือ ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Movement in Vietnam)
ผู้แต่ง เชิดเกียรติ อัตถากร
สำนักพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ปีที่พิมพ์ 2540
ประเด็นเนื้อหา
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยมีเนื้อหาบอกเล่าตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับสำนึกชาตินิยมของชาวเวียดนามที่มีมาตั้งแต่สมัยจารีต เนื่องจากยุคนั้นเวียดนามอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนหลายครั้ง จึงต้องพยายามที่จะให้ตนสามารถเทียบเท่ากับจีน และต่อมาในสมัยการเข้ามาของอาณานิคมฝรั่งเศส ต่อมาในช่วงคริสต์วรรษที่ 20 ก็เกิดขบวนการชาตินิยมเริ่มเริ่มก่อตัวต่อต้านฝรั่งเศส จากนั้นเป็นช่วงที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาในเวียดนามและเริ่มมีพัฒนาการขึ้น โดยเริ่มจากช่วงแรก ในช่วง ค.ศ. 1930 – 1939 เป็นช่วงที่กลุ่มคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องการหาแนวทางปฏิวัติ จากนั้นในปี ค.ศ. 1940 -1945 เป็นช่วงของคอมมิวนิสต์แนวร่วมมวลชนเพื่อเอกราช ซึ่งในระหว่างช่วงนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในเวียดนาม ต่อมาเกิด “ขบวนการเวียดมินห์” มีการปฏิวัติจนเวียดนามสามารถประกาศเอกราชได้ในปี ค.ศ. 1945
ชื่อหนังสือ เหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม
ผู้แต่ง ธัญญาทิพย์ ศรีพนา Trinh Dieu Thin
สำนักพิมพ์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีที่พิมพ์ 2548
ประเด็นเนื้อหา
เหวียต เกี่ยว (Viet kieu) ในภาษาเวียดนาม หมายถึง ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศเวียดนาม หรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยอยู่นอกประเทศในทุกช่วงสมัย แต่ส่วนใหญ่มักจะถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงชาวเวียดนามที่ออกไปอยู่ต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของเวียดนาม และมาสู่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบในช่วงปี 1976 สำหรับชาวเหวียต เกี่ยว ในประเทศไทย มีอพยพเข้ามาหลายกลุ่ม โดยทางราชการมักจะเรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มญวนเก่า (อพยพมาช่วงก่อนสงครามโลก) และกลุ่มญวนใหม่ หรือญวนอพยพ (อพยพมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) โดยเนื้อหาในหนังสือกล่าวถึงการเข้ามาประเทศไทยของชาวเวียดนามในยุคต่างๆ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการกู้ชาติเวียดนาม และการเคลื่อนไหวในสยาม นโยบายของรัฐบาลไทยต่อชาวเวียดนามตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน การส่งเหวียต เกี่ยว กลับประเทศเวียดนาม วิถีชีวิตของเหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยและเวียดนาม และชาวเหวียต เกี่ยว กับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นถึงปัจจุบัน
ชื่อหนังสือ เวียดนามในทัศนะฝรั่งเศส : การสำรวจเชิงวิเคราะห์ผลงานวิชาการภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับเวียดนาม ระหว่าง ค.ศ. 1884 - 2000
ผู้แต่ง อนันท์ธนา เมธานนท์
สำนักพิมพ์ ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง
ปีที่พิมพ์ 2547
ประเด็นเนื้อหา
สำรวจเชิงวิเคราะห์ผลงานวิชาการฝรั่งเศสที่เกี่ยวกับเรื่องประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1884 จนถึง ค.ศ. 2000 โดยศึกษาแนวทาง ทัศนคติ และการรับรู้เรื่องราวประเทศเวียดนามของนักวิชาการฝรั่งเศส ผ่านการประมวลจากเอกสาร และประเภทหนังสือต่างๆ การศึกษาครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าทัศนะและอุดมคติเรื่องเกี่ยวกับเวียดนามของนักวิชาการฝรั่งเศสไม่สอดคล้องกับของทางการฝรั่งเศส ทัศนะของนักวิชาการมีความรู้สึกชื่นชมในอารยะธรรมเวียดนาม แสดงตนเป็นผู้ปกป้องจารีตของเวียดนามและเป็นมิตรกับชาวเวียดนาม และมีผลกับการกำหนดนโยบายปกครองในยุคนั้น ผลงานศึกษาต่างๆ ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้จักเวียดนามที่เป็นชาติอารยะ อีกทั้งผลงานวิชาการภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับเวียดนามยังเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องเวียดนามของระดับสากลอีกด้วย