บรูไน - ประวัติศาสตร์



เมื่อชื่อบรูไนเริ่มปรากฎในประวัติศาสตร์

          บรูไนเริ่มปรากฏตัวบนประวัติศาสตร์โลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5  โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบรูไนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่กะลาสีเรือชาวจีน ในฐานะเมืองท่าทางการค้าเมืองหนึ่งในเขตทะเลจีนใต้ นามว่า “โบนี” (Boni) หรือชื่ออื่นๆ เช่น โปโล โปนี โปลี บุนไล เป็นต้น (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 35) และหลังจากนั้นบรูไนก็เจริญเติบโตขึ้นมาในฐานะรัฐการค้าตามแนวกระแสลมโดยที่เมื่อเรือจีนล่องมาจนถึงชายฝั่งเวียดนามแล้ว ก็สามารถอาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพายังบรูไนได้

          นอกจากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของจีนเองก็ได้บันทึกถึงดินแดนที่มีชื่อว่าโบนีแห่งนี้ว่าเป็นรัฐแห่งขุนเขาด้านใต้แล้ว ชื่อของบรูไนก็ได้มีปรากฎในชื่อว่า วิชัยปุระ (Vijayapura) ว่าเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรศรีวิชัยที่มีที่มั่นอยู่ที่เกาะสุมาตราในเขตประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน

          ในช่วงศตวรรษที่ 10 ได้ปรากฎหลักฐานการติดต่อค้าขายกันระหว่างโบนีและจักรวรรดิ์จีนในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty) และต่อมาในช่วงคริสศตวรรษที่ 14 ชื่อบรูไนได้ปรากฎในนามของ เบอรูเน็ง (Beruneng) (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 35) ซึ่งปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า “เนการาเกอร์ตากามา” (Negarakretagama) ซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นในสมัยอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) ในช่วงเวลาที่อาณาจักรมัชปาหิตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวาได้เรืองอำนาจสูงสุด และมีปรากฎการส่งเครื่องบรรณาการประจำปีด้วยหมาก

 

รัฐสุลต่านแห่งบรูไนได้เริ่มขึ้น

          ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในขณะที่ทางฝากฝั่งมะละกาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น บรูไนก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นควบคู่กันไป และในช่วงเวลานั้น อาวัง อลัก เบตาตาร์ ผู้ครองนครบรูไนในขณะนั้นได้เปลี่ยนตัวเองมานับถือศาสนาอิสลาม และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกตามประวัติศาสตร์ของบรูไน นามว่า สุลต่านมูฮัมหมัดซาห์ (Sultan Muhamad Shah) ทำให้อิสลามที่เผยแพร่มาจากมะละกาได้ลงหลักปักฐานที่เกาะบอร์เนียวอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าศาสนาอิสลามจะได้เข้ามายังบรูไนในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นก็ตาม

          พระองค์มีพระธิดาพระองค์หนึ่งชื่อ รัตนาเทวี (Ratna Dewi) ซึ่งภายหลังได้สมรสกับ อ๋องซำปิง ชาวจีนที่ได้เดินทางมายังบรูไนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1375 อ๋องซำปิงได้เป็นตัวแทนในการติดต่อการค้าและส่งส่วยให้กับจักรพรรดิ์หงอู๋แห่งราชวงศ์หมิงและอ๋องซำปิงได้เติบใหญ่จนกลายเป็นขุนนางและแผ่ขยายอิทธิพลของจนไปทั่วทั้งบอร์เนียวเหนือ

          หลังจากที่สุลต่านมูฮัมหมัดซาห์สิ้นพระชนม์ลง บุตรชายของพระองค์นามว่า อับดุลมาจิดฮัสซัน ได้ขึ้นเป็นสุลต่านองค์ต่อมา ซึ่งชื่อของสุลต่านอับดุลมาจิดฮัสซันได้ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีนในฐานะที่ได้มีการส่งทูตและเครื่องบรรณาการไปยังประเทศจีน โดยมีปรากฏสุสานของทูตคนดังกล่าวที่นานจิง ประเทศจีน และภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสุลต่านพระองค์นี้ ได้เกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์กันเกิดขึ้น เปตาห์เบอร์ไบ (Petah Berbai) ได้ขึ้นเป็นสุลต่านองค์ต่อมา นามว่า สุลต่านอาห์หมัด (Sultan Ahmad)

          ในช่วงเวลาดังกล่าวอ๋องซำปิงได้เดินทางกลับไปยังเมืองจีน และได้ทำข้อตกลงกับจักรพรรดิหยงเล่อ (Yongle Emperor) ว่าบรูไนและพื้นที่แถบแม่น้ำกินาบาตังงัน (Kinabatangan) เป็นอิทธิพลของจีน และให้ฝังร่างของเขาไว้ที่ประเทศจีน ส่วนลูกชายของอ๋องซำปิงได้เดินทางกลับมายังบรูไนและสืบทอดอิทธิพลของอ๋องซำปิงต่อมา ส่วนบุตรสาวของอ๋องซำปิงได้สมรสกับสุลต่านอาห์หมัด และได้ให้กำเนิดบุตรสาว ซึ่งต่อมาบุตรสาวคนดังกล่าวได้สมรสกับสุลต่าน ซารีฟอาลี (Sultan Sharif Ali) และด้วยเหตุนี้เองทำให้ราชวงศ์บูรไนในปัจจุบันนับถืออ๋องซำปิงในฐานะบรรพบุรุษของราชวงศ์

 

ยุคทองของบรูไนและการเข้ามาของตะวันตก

          ยุคทองของบรูไนในเริ่มขึ้นในสมัยของสุลต่านโบลเกียห์ (Sultan Bolkiah) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรบรูไนได้แผ่ขยายอิทธิพลกว้างไกลครอบคลุมไปทั่วถึงเกาะบอร์เนียวและหมู่เกาะซูลู ปาลาวัน และไกลไปถึงเกาะลูซอน ในขณะที่ตัวสุลต่านเองก็ได้เสด็จไปเยือนชวาและมะละกาอีกด้วย

          ในช่วงรัชสมัยของสุลต่านโบลเกียห์ (ค.ศ. 1485-1524) กองเรือของเฟอร์ดินัน แมกเจแลน (Ferdinand Magellen) นักเดินเรือชาวสเปนได้เดินทางมาถึงบรูไน และได้มีการบรรยายถึงความงดงามของราชสำนักบรูไนและยืนยันว่าบรูไนเป็นเมืองมโหฬารที่สุดของเกาะบอร์เนียว (รงค์ วงษ์สวรรค์, 2527: 57)  โดยในบันทึกได้มีการบันทึกถึงการต้อนรับและสภาพของบ้านเรือนในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงยุคทองของบรูไนได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวของเฟอร์ดินัน แมกเจแลน ไม่มีโอกาสได้เดินทางมาถึงบรูไน เนื่องจากถูกชาวพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ฆ่าตายเสียก่อน

          ท้ายที่สุด สเปน กลายเป็นภัยคุกคามของบรูไน เมื่อสเปนสามารถยึดครองและตั้งฐานที่มั่นที่อ่าวมะนิลาได้แล้วในปี ค.ศ. 1578 สเปนได้แผ่ขยายอิทธิพลและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพื้นที่โดยรอบ และได้เข้าโจมตีบรูไนด้วยวิทยาการทางสงครามที่ทันสมัย และยึดครองบรูไนได้เป็นผลสำเร็จในสงครามที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของบรูไนในชื่อ “สงครามกัสติลา” (Perang Kastila) โดยสเปนอ้างเหตุว่าบรูไนได้สนับสนุนให้ชาวมะนิลาและเกาะลูซอนกระด้างกระเดื่องต่อสเปน สเปนครอบครองบรูไนไม่นานนักก็ถอนตัวออกไป เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากชาวบรูไน อีกทั้งสเปนไม่ชินกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน จึงทำให้บรูไนกลับมาเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง แต่กระนั้นเองบรูไนก็ยังคงต้องเข้าสู่ยุคสงครามอีกครั้งหนึ่ง

 

ยุคสงครามกลางเมือง

          เมื่อสเปนถอนตัวออกจากบรูไน ส่งผลให้อาณาจักรซูลูที่เดิมขึ้นต่อบรูไนประกาศเอกราช และการที่อาณาจักรซูลูกลายเป็นอาณาจักรอิสระ ประกอบกับอิทธิพลของสเปนยังคงอยู่ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทำให้บรูไนไม่สามารถขยายดินแดนขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเช่นเคย

          ซูลูกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ของบรูไนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อซูลูที่แต่เดิมเป็นอาณาจักรที่ร่วมมือกันผลิตและหาสินค้าเอื้อซึ่งกันและกันได้มาเป็นภัยคุกคาม โดยซูลูได้เข้ามาแทกแซงในข้อพิพาทเรื่องการสืบสันตติวงศ์ในบรูไน โดยในช่วงรัชสมัยของสุลต่านฮาญีมูฮัมหมัดอาลี (Sultan Haji Muhammad Ali) เกิดกรณีพิพาทเกิดขึ้นในสนามชนไก่ เมื่อไก่ชนของบุตรชายของอัครมหาเสนบดีอับดุลฮักกุลมูบินสามารถชนะไก่ชนของเจ้าชายอลัมบุตรชายของสุลต่าน ทำให้เจ้าชายอลัมอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงชักกริชออกมาปักที่หน้าอกของบุตรชายของอัครมหาเสนบดีจนตาย

          การตายของบุตรชายของอัครมหาเสนบดีทำให้อัครมหาเสนบดีมุ่งตรงไปยังพระราชวังเพื่อถามหาเจ้าชายอลัม แต่เจ้าชายอลัมได้หลบหนีออกจากพระราชวังไป ทำให้อัครมหาเสนบดีบันดาลโทสะ ฆ่าคนในวังไปจำนวนมากรวมถึงสุลต่านมูฮัมหมัดอาลีด้วย และอัครมหาเสนบดีได้ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านองค์ต่อมา นามว่า สุลต่านอับดุลฮักกุลมูบิน (Sultan Abul Hakkul Mubin) และได้แต่งตั้งเจ้าชายมูฮัมหมัดดิยาห์ หลานชายของสุลต่านองค์ก่อนขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี (Bendahara)

          ในช่วงแรกของรัชสมัยก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไปได้ดี แต่ภายในราชสำนักยังคงมีความคุกรุ่นอยู่ภายใน บรรดาญาติของสุลต่านพระองค์ก่อนได้ยุยงให้เจ้าชายมูฮัมหมัดดิยาห์แข็งข้อ และในที่สุดพระองค์ก็ได้สร้างกลอุบายโจมตีพระราชวังและได้แนะนำให้สุลต่านหลบหนีออกไปยังเกาะเจอร์มิน (Cermin) และเมื่อสุลต่านหลบหนีออกไป มูฮัมหมัดดิยาห์ก็ขึ้นเป็นสุลต่านองค์ต่อมา เมื่ออดีตสุลต่านทราบความจริงเข้า สงครามกลางเมืองบรูไนก็ได้อุบัติขึ้น

          อดีตสุลต่านหนีไปสร้างฐานที่มั่นที่กินารุตเป็นเวลาราวๆ สิบปี ในช่วงเวลาดังกล่าวอดีตสุลต่านสามารถต้านทานการโจมตีของสุลต่านได้ สงครามดำเนินมาอย่างยาวนาน จนสุลต่านมูฮัมหมัดดิหาย์เริ่มวิตกกังวัล จึงได้ขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรซูลู และท้ายที่สุดสุลต่านมูฮัมหมัดดิยาห์ได้รับชัยชนะและอดีตสุลต่านได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อสงครามสงบลง สุลต่านได้มอบดินแดนทางตอนเหนือของบอร์เนียว (แถบรัฐซาบาห์ในปัจจุบัน) ให้เป็นรางวัลแด่อาณาจักรซูลู

 

การเข้ามาของราชาผิวขาว

          หลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมือง บรูไนก็ยังคงดำรงฐานะเป็นรัฐอิสระเรื่อยมา และยังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองท่าค้าขายเช่นเคย จนกระทั่งการเข้ามาอังกฤษทำให้บรูไนต้องเผชิญกับภัยคุกคามอีกครั้งหนึ่ง

          อังกฤษในนามของบริษัทอินเดียตะวันออก (East Indies Company) ได้สนใจที่เข้ามามีอิทธิพลในเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญกับจีน และอีกนัยหนึ่ง อังกฤษต้องการลงอิทธิพลของฮอลันดาในดินแดนแถบนี้ลง

          ชาวดายักก่อกบฏและความวุ่นวายขึ้นในซาราวัค ทำให้สุลต่านโอมาร์อาลีไซฟุดดินที่ 2 (Sultan Omar Ali Saifuddin II) ส่ง มูดาฮัสซิม ผู้สำเร็จราชการเข้าไปประจำการในซาราวัคเพื่อปราบกบฏ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เจมส์บรูค (James Brooke) ได้เดินทางมายังในเขตซาราวัคพอดี ทำให้มูดาฮัสซิมขอความช่วยเหลือกับกองกำลังของเจมส์บรูคในการปราบกบฎ แต่แรกเริ่มนั้นเจมส์บรูคได้ปฎิเสธ แต่ในท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 1841 เจมส์บรูคได้ยอมให้ความช่วยเหลือในการปราบกบฎ

          ผลจากการที่เจมส์บรูคสามารถปราบกบฏในซาราวัคได้ ทำให้สุลต่านลงนามในสนธิสัญญาที่จะยกซาราวัคและเซเรียนให้เจมส์บรูคปกครอง และแต่งตั้งเจมส์บรูคเป็น “ราชา” ตั้งแต่นั้นมาเจมส์บรูคก็ได้สมญานามว่า “ราชาผิวขาว” หรือ “White Raja” และเป็นราชาผู้ครองซาราวัค และในท้ายที่สุดซาราวัคก็ตกเป็นของเจมส์บรูคโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1843

          ในปี ค.ศ. 1846 อังกฤษได้ยกกองกำลังมาโจมตีบรูไน และบังคับให้บรูไนลงนามในสนธิสัญญายุติการยึดครองบรูไน และส่งผลให้บรูไนต้องยกเกาะลาบวนให้อยู่ในการครอบครองของอังกฤษ และในปีต่อมาบรูไนก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ในขณะเดียวกันเจมส์บรูคและผู้สืบทอดอำนาจก็ได้ขยายดินแดนซาราวัคด้วยการผนวกเอาดินแดนในอาณัติของบรูไนควบคู่กันไปด้วย

          ในขณะเดียวกัน ชาติอื่นๆ ก็เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังบรูไน โดยปรากฏว่าในปี ค.ศ. 1860 บรูไนได้ให้ ชาร์ลส์ ลี โรเซส (Charles Lee Roses) ชาวสหรัฐอเมริกาเช่าพื้นที่ และให้ บารอน ฟอน โอเวอร์เบค (Baron Von Overbeck) ชาวออสเตรเลียเช่าพื้นที่ในปี ค.ศ. 1877 (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 51)  และมีปรากฏอีกว่า จากการที่บรูไนให้สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเช่าพื้นที่ สร้างความไม่พอใจให้กับสเปน เยอรมนีและฮอลันดาอีกด้วย

 

บรูไนภายใต้ร่มจักรวรรดิอังกฤษ

          หลังจากที่บรูไนได้สูญเสียซาราวัค ลาบวนและซาบาห์ บรูไนก็เริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามของจักรวรรดิอังกฤษ ทำให้ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1888 สุลต่านฮาซิม จาลิลุล อลัม อชามาดิน (Sultan Hashim Alam Aqamaddin) ได้ลงนามในสนธิสัญญาให้บรูไนเป็นรัฐในอารักขาของจักรวรรดิอังกฤษ โดยใจความของสนธิสัญญาระบุว่า บรูไนไม่สามารถยกหรือให้เช่าดินแดนใดๆ ของบรูไนให้กับชาติอื่นๆ โดยปราศจากความยินยอมของอังกฤษและอังกฤษจะเป็นผู้ดูแลด้านการต่างประเทศให้กับบรูไน นั่นทำให้เท่ากับว่าบรูไนได้เสียเอกราชให้กับอังกฤษโดยสิ้นเชิง

          แต่สนธิสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้บรูไนรักษาดินแดนที่มีอยู่ไว้ได้อย่างเช่นที่คาดการณ์ อาณาจักรซาราวัคของราชาผิวขาวยังคงเดินหน้าผนวกเอาอินแดนของบรูไนเรื่อยมา อังกฤษเองก็ยังคงสนับสนุนให้เมืองในเขตบรูไนแข็งข้อต่อสุลต่านบรูไน จนกระทั้งท้ายที่สุดบรูไนได้สูญเสียเขตลิมบัง การสูญเสียลิมบังทำให้บรูไนถูกแยกออกเป็นสองส่วนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พื้นที่สุดท้ายที่บรูไนสูญเสียไปให้กับอังกฤษคือเขตลาวาส ในปี ค.ศ. 1904 ซึ่งทำให้บรูไนเหลือพื้นที่เพียงเกือบหกพันตารางกิโลเมตร จากเดิมที่บรูไนมีพื้นที่ในครอบครองมากกว่าหนึ่งแสนตารางกิโลเมตร

          ในปี ค.ศ. 1906 อังกฤษขยายอิทธิพลการปกครองในบรูไนด้วยการให้สุลต่านลงนามในสนธิสัญญาที่จะให้มีคณะที่ปรึกษาสุลต่าน นั่นเป็นผลให้อังกฤษสามารถแทรกแซงกิจการภายในของบรูไนได้ จากแต่เดิมที่แทรกแซงเฉพาะกิจการภายนอกเท่านั้น แต่สิ่งที่อังกฤษไม่เข้าไปแทรกแซงคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม

 

ทองคำดำผู้เปลี่ยนโฉมบรูไน

          ในวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1926 ชายชาวอังกฤษสองคนนามว่า มาริออตและโคชเรน (F.F. Marriot and T.G. Cochrane) ได้ขี่จักรยานไปตามถนนเลียบชายฝั่งทะเลในแถบซีเรียจรดเขตกัวลาบาไลท์ทางด้านตะวันตกของบรูไน ทันทีที่เขาได้พักผ่อนอยู่ในบริเวณดังกล่าว จมูกของพวกเขาก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นของน้ำมันดิบ และพวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะรายงานไปยังคณะผู้ปกครองบรูไนเพื่อให้มาสำรวจในบริเวณดังกล่าว และความโชคดีของบรูไนก็มาถึงเมื่อการขุดเจาะสำรวจน้ำมันประสบความสำเร็จ ใต้ผืนดินแห่งนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่ง (รงค์ วงษ์สวรรค์, 2527: 76)

          ก่อนการค้นพบน้ำมันแหล่งใหญ่ในเขตซีเรีย อังกฤษได้เริ่มสำรวจน้ำมันในเขตบรูไนมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 และก่อนหน้านี้ก็มีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบ้างในเขตกัวลาบาไลท์ แต่ปริมาณที่ค้นพบก็ไม่คุ้มค่าต่อการขุดเจาะขึ้นมา มีการก่อตั้งบริษัทปิโตรเลียมอังกฤษแห่งมาลายา (British Malaya Petroleum Company) ในปี ค.ศ. 1922 เพื่อสำรวจขุดเจาะน้ำมันในเขตบรูไน ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นบริษัทปิโตรเลียมเชลส์แห่งบรูไน (Brunei Shell Petroleum Company)

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

          ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เพียง 8 วันหลังจากที่ญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ในฮาวาย ญี่ปุ่นยกกำลังพล 10,000 นายเข้ายึดบรูไน และหลังจากนั้นเพียง 6 วัน ญี่ปุ่นก็สามารถยึดครองบรูไนได้ทั้งประเทศ จากนั้นได้บังคับให้สุลต่านอาหมัดทนจุดดินลงนามยินยอมมอบการปกครองให้กับญี่ปุ่น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้บังคับให้ข้าราชการต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น และต้องมีการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนอีกด้วย ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงเงินตราเป็นของตัวเอง เงินนี้ได้รับการขนานนามว่า “ดูอิทปิซาง” (Duit Pisang) หรือ “เงินกล้วย” ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อและทำให้ระบบเศรษฐกิจของบรูไนมีปัญหาในช่วงขณะหนึ่ง

          ในช่วงแรก อังกฤษไม่สามารถปกป้องและคุ้มครองบรูไนได้ เนื่องจากกำลังทหารหลักถูกส่งไปช่วยรบในสมรภูมิในยุโรป แต่ภายหลังเมื่อสงครามทางฝากฝั่งยุโรปเริ่มสงบลง อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรได้กลับมาโจมตีฐานที่มั่นของญี่ปุ่นในเขตบรูไน และในวันที่ 10 มิถุนายน กองกำลังของออสเตรเลียได้ยกพลเข้ามาปลดปล่อยเกาะบอร์เนียวจากการยึดครองของญี่ปุ่น ทำให้เกิดการสู้รับกับญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง และท้ายที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1946

 

ก่อร่างสร้างบรูไน

          ในช่วงก่อนการยึดครองของญี่ปุ่น การบริหารอาณานิคมบรูไน ซาราวัคและบอร์เนียวเหนือขึ้นตรงต่อนิคมช่องแคบ (Straits Settlements) ซึ่งมีศูนย์กลางที่อยู่สิงคโปร์ โดยที่ในช่วงแรกนั้นบรูไนขึ้นตรงต่อซาราวัคอีกทีหนึ่ง

          คณะผู้แทนทั้ง 7 (Tujuh Serangkai) ที่ถูกแต่งตั้งโดยสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดินที่ 3 (พระบิดาของสุลต่านองค์ปัจจุบัน) ได้เริ่มสำรวจความต้องการของประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1953 และในอีก 6 ปีต่อมา องค์สุลต่านได้เดินทางไปยังสหราชอาณาจักรด้วยพระองค์เองเพื่อทรงประชุมร่วมกับฝ่ายอังกฤษเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของบรูไน และในท้ายที่สุดอังกฤษให้การรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

          ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1959 ฝ่ายอังกฤษซึ่งนำโดยเซอร์โรเบิร์ดสก๊อต ผู้บัญชาการและดูแลกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษได้ลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับสุลต่าน ที่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน โดยในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาโดยร่วมว่า สุลต่านจะดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ รัฐบาลบรูไนจะดูและการบริหารราชการด้วยตนเอง อังกฤษจะมีอำนาจเพียงในด้านของการคุ้มครองบรูไนและดูแลด้านการต่างประเทศเท่านั้น ยกเลิกตำแหน่งเรสซิเดนส์ของอังกฤษและให้มีเพียงตำแหน่งคณะทูตอังกฤษเท่านั้น ซึ่งในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งหมดนั้นเท่ากับว่าบรูไนจะได้รับสิทธิปกครองตนเอง

          ผลจากรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้บรูไนมีสภานิติบัญญัติเป็นของตัวเอง โดยที่สมาชิกกิ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งของสุลต่านและอีกกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1962 พรรคประชาชนบรูไนได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งดังกล่าว

 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ

          บรูไนต้องเผชิญเหตุความวุ่นวายจากลัทธิชาตินิยมที่ก่อร่างสร้างตัวพร้อมกับการสร้างประเทศมาเลเซีย โดยในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1962 อังกฤษ มาลายา สิงคโปร์ ซาราวัคและซาบาห์ได้เริ่มหารือกันจัดตั้ง “สหพันธรัฐมาเลเซีย” ขึ้น โดยที่เป็นการรวมเอาดินแดนอาณานิคมอังกฤษในแหลมมลายูและช่องแคบมะลากาขึ้นเป็นประเทศใหม่ ที่สืบทอดเค้าโครงมาจากสหพันธรัฐมาลายาเดิม

          แนวคิดนี้ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยที่ฟิลิปปินส์ที่อ้างสิทธิเหนือรัฐซาบาห์ และอินโดนีเซียที่กล่าวหาว่ามาลายาเป็นทายาทของจักรวรรดินิยมอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลในภูมิภาค

          สุลต่านทรงเห็นด้วยกับการนำบรูไนไปรวมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่พรรคประชาชนบรูไนที่นำโดยอาซาฮารี (Azahari) คัดค้านแผนการดังกล่าว โดยได้มีข้อเสนอให้นำบรูไนไปรวมกับซาราวัคและซาบาห์เพื่อจัดตั้งประเทศใหม่ที่ชื่อว่า “กาลิมันตันอุตาระ” (Kalimantan Utara) หรือ “กาลิมันตันเหนือ” ทั้งนี้เพื่อที่บรูไนจะได้ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการครอบงำของฝากฝั่งคาบสมุทรมลายูและสุลต่านจะได้เป็นสุลต่านของประเทศใหม่อีกด้วย

          หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อกลางปี ค.ศ. 1962 พรรคประชาชนบรูไนได้รับการเลือกตั้ง 16 ที่นั่งจาก 33 ที่นั่ง และเตรียมที่จะเสนอแผนจัดตั้งประเทศใหม่ต่อที่ประชุมสภา แต่สุลต่านได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าวและเลื่อนการเปิดประชุมสภาดังกล่าวจากเดิมที่กำหนดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1962

          เช้าวันรุ่งขึ้นกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกาลิมันตันเหนือ (North Kalimantan National Army / Tentera Nasional Kalimantan Utara) ที่ได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซียได้ก่อความวุ่นวายขึ้นในประเทศ สุลต่านได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและขอความช่วยเหลือจากกองกำลังทหารกุรข่าของอังกฤษ จนในที่สุดเหตุการณ์ได้สงบเรียบร้อยลง และสุลต่านได้ตัดสินพระทัยที่จะไม่เข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย ทำให้ในปี ค.ศ. 1963 สหพันธรัฐมาเลเซียถือกำเนิดขึ้นโดยไม่มีบรูไนร่วมด้วย

 

บรูไนกับเอกราชที่สมบูรณ์

          หลังจากผ่านช่วงเวลาของความวุ่นวาย บรูไนได้กลับมาพัฒนาประเทศอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้บรูไนได้เริ่มแผนพัฒนาประเทศไปก่อนแล้วในช่วงปี ค.ศ. 1953 โดยเน้นการพัฒนาด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ด้านการศึกษาและการคมนาคม และแผนที่สองก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1962 ช่วงก่อนเหตุความวุ่นวาย แผนฉบับนี้เน้นด้านความเป็นอยู่ของประชาชน

          ในปี ค.ศ. 1971 เจ้าชายฮัสซานัลโบเกียห์ได้เดินทางไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อประชุมหารือเรื่องเอกราชของบรูไน โดยในขั้นแรกได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะให้บรูไนมีเอกราชด้านการบริหารราชการแผ่นดินโดยสมบูรณ์ แต่อังกฤษจะคงไว้ซึ่งความช่วยเหลือในด้านการต่างประเทศและการป้องกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นมีข้อตกลงร่วมกันอีกหลายฉบับ จนในที่สุดเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1983 อังกฤษได้ประกาศว่าบรูไนจะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในปีหน้า และในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1984 เจ้าชายฮัสซานัลโบเกียห์ได้อ่านแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพด้วยพระองค์เอง

 

บรูไนหลังสิ้นสุดการเป็นอาณานิคม

          หลังยุคอาณานิคม รัฐบาลสุลต่านยังคงเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และทันทีที่บรูไนได้รับเอกราช บรูไนได้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มีการเปิดมหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน (University of Brunei Darussalam) ในปี ค.ศ. 1987

บรรณานุกรม

    ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน. ประวัติศาสตร์บรูไน A History of Brunei. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2557

    ศิริพร สมัครสโมสร. บรูไน อาณานิคมของอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2541

    รงค์ วงษ์สวรรค์. บุหลันลบแสงสุริยา-บรูไน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน, 2527

    อรอนงค์ กรุณาและคณะ. หน้าต่างสู่โลกกว้าง-มาเลเซีย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2547

    อาณัติ อนันตภาค. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย บรูไนและสิงคโปร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ยิบซีกรุ๊ป, 2557

    Central Intelligent Agency [Homepage on the Internet]. The World Factbook: Brunei. 2015; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/bx.html

    Brunei Tourism [Homepage on the Internet]. Brunei; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.bruneitourism.travel/index.php
    The Government of Brunei Darussalam [Homepage on the Internet]. History of Brunei; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.history-centre.gov.bn

    Nusantara Studies Center [Homepage on the Internet]. ชนพื้นเมืองในรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://nikrakib.blogspot.com /2009/12/blog-post_115.html

    The Government of Brunei Darussalam [Homepage on the Internet]. Flag of Brunei; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: https://web.archive.org/web/19990427213829/http://www.brunei.gov.bn/about_brunei/flag.htm

    Columbus Travel Media Ltd. [Homepage on the Internet]. Brunei Weather, Climate and Geography ; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.worldtravelguide.net/brunei/weather-climate-geography

    Office Holiday [Homepage on the Internet]. Public Holiday in Brunei 2015; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.officeholidays.com/countries/brunei/

    The Government of Brunei Darussalam [Homepage on the Internet]. Sultan of Brunei; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.history-centre.gov.bn/sultanbrunei.htm

    Brunei Shell [Homepage on the Internet]. History of Oil and Gas; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: https://www.bsp.com.bn/main/about/history.htm
    The Commonwealth [Homepage on the Internet]. Brunei Darussalam: History; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://thecommonwealth.org/our-member-countries/brunei-darussalam/history#sthash.GnafvSr1.dpuf

    The World Bank Group [Homepage on the Internet]. International tourism, number of arrival; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://data.worldbank.org/indicator/ST.INT.ARVL

    The Brunei Times [Homepage on the Internet]. Civil War wrecks chaos in the country; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.bt.com.bn/life/2008/08/24/ civil_war_wrecks_chaos_in_the_country

    International Monetary Fund [Homepage on the Internet]. World Economic Outlook Database, October 2015; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.imf.org/external/pubs/ft/weo/2015/02/weodata/index.aspx

    Royal Brunei Airlines [Homepage on the Internet]. Route Map; [Cited 2015 October 25], Available from: https://www.flyroyalbrunei.com/en/thailand/plan/route-map/