บรูไน - ศิลปะการแสดง
บรูไนมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมมลายู การแสดงและเครื่องดนตรีบางอย่างจึงมีความคล้ายคลึงกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย (ดลยา เทียนทอง, 2557:32) วัฒนธรรมของบรูไนโดยทั่วไปมีความเกี่ยวข้องกับดนตรีการร้องรำทำเพลง แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงคลุมเครือและไม่ชัดเจนเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของบรูไน มีคนกล่าวว่า ดนตรี เพลง และการเต้นรำ เป็นเพียงส่วนย่อยจากพื้นฐานของวัฒนธรรมเท่านั้น บางคนมีความเห็นว่าส่วนใหญ่ของวัฒนธรรมบรูไนนั้นจะมีความขัดแย้งกับหลักการของอิสลาม อาทิเช่น การเต้นรำ เครื่องดนตรี พิธีการต่างๆ ตลอดจนความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เป็นต้น (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:79) แต่ในขณะเดียวกันเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการแสดงและเครื่องดนตรีต่างๆ เหล่านี้คือตัวแทนทางวัฒนธรรมและมรดกร่วมกันของคนในชาติ
การแสดงพื้นเมืองของบรูไนที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ อาไดอาได (Adai-Adai) การเต้นรำพื้นเมืองประกอบเพลงของชาวมลายู มีที่มาจากชาวประมงสมัยก่อนที่ร้องเพลงขณะช่วยกันลากอวน ปัจจุบันคือเต้นรำประกอบเพลงบรรเลงสลับกับการท่องโคลงแบบมลายู เครื่องดนตรีหลักคือกลองและไวโอลิน (ดลยา เทียนทอง, 2557:32) นักแสดงอาไดอาได มีทั้งหญิงและชายแต่งกายแบบชาวเล โดยนักแสดงชายสวมชุดพื้นเมือง ส่วนนักแสดงหญิงสวมชุด บาจู กูรง (baju kurong) คือ เสื้อแขนยาวและผ้าถุง คลุมผมด้วยผ้าพื้นเมือง (The Daily Brunei Resources, 2014)
นอกจากนี้ยังมี อาดุก์อาดุก์ (Aduk-Aduk) เป็นการเต้นรำประกอบเพลงพื้นเมืองของชาวเกอดายัน กลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองในบรูไน มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันหยุดหรือช่วงสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว จุดเด่นคือในมือผู้แสดงจะถือกะลามะพร้าว มีเครื่องดนตรีหลักคือกลอง (ดลยา เทียนทอง, 2557:32)
ขณะที่เครื่องดนตรีส่วนใหญ่มีรากฐานจากชาวมลายู เช่น กูลินตัง เครื่องดนตรีประเภทโลหะลักษณะคล้ายฆ้องประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชนิด คือ Gulintang, Canang, Tawak-Tawak, Gong, Gandang Labik เครื่องดนตรีเหล่านี้ใช้บรรเลงในงานพิธีต่างๆโดยเฉพาะงานแต่งงานของชาวบรูไน (Musical instruments of Gulingtangan, 2014) นอกจากนี้ยังมีกัมบุส (gambus) เครื่องดนตรีที่คล้ายกับกีตาร์แต่คอสั้น มี 12 สาย ดีดด้วยปิ๊ก หรือ เกินดัง (gendang) เป็นกลองยาวผิวหน้ากลองมี 2 ด้าน ใช้แสดงในงานมหรสพ เครื่องดนตรีบางชนิดรับอิทธิพลจากจีน ได้แก่ ตาวะก์ตาวะก์ (tawak tawak) เป็นฆ้องทองเหลือง มีลวดลายหน้าฆ้องรูปมังกรและสัตว์ทะเล ขอบด้านข้างหนากว่าฆ้องไทยและเมียนมาร์ มีรูปจระเข้และปลา (ดลยา เทียนทอง, 2557:32)
ปัจจุบันการแสดงพื้นเมืองและเครื่องดนตรีเหล่านี้ยังคงมีอยู่และแสดงในโอกาสต่างๆ สังเกตได้ว่าการแสดงและเครื่องดนตรีของบรูไนมีความคล้ายคลึงกับชาวอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยเฉพาะกูลินตัง ถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะร่วมกันอย่างเด่นชัดของประเทศในภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจมีความนิยมในจังหวะที่แตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันอย่างเด่นชัด
บรรณานุกรม
ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน . (2557). ประวัติศาสตร์บรูไน. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ดลยา เทียนทอง. (2557). บรูไน. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
Musical instruments of Gulingtangan. (19 February 2014). เรียกใช้เมื่อ 17 June 2016 จาก Brunei's Traditional Musical Intrusment: https://hazhn.wordpress.com/2014/02/19/musical-instruments-of-gulingtangan/
The Daily Brunei Resources. (17 December 2014). Brunei Traditional Dance: Adai-Adai. เรียกใช้เมื่อ 15 June 2016 จาก The Daily Brunei Resources: http://bruneiresources.blogspot.com/2014/12/brunei-traditional-dance-adai-adai.html