บรูไน - ประเพณีพิธีกรรม



         บรูไนมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้นงานประเพณีและพิธีกรรมส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เช่น วันอีดิลฟิฏริ (Hari Raya Aidilfitri) และเดือนถือศีลอด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวันสำคัญของศาสนาคริสต์ เช่น วันคริสต์มาส ทางรัฐบาลได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการเช่นเดียวกันกับวันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน อย่างไรก็ตามประเพณีและพิธีกรรมของบรูไนเป็นงานที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไปอาทิเช่น งานที่มีความเกี่ยวข้องกับชาติและสมเด็จพระราชาธิบดี งานที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม และงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

วันชาติบรูไน

            วันชาติบรูไนตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่พ้นจากการเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ส่วนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1984 ถือเป็นวันประกาศเอกราช (uAseanมหานครอาเซียน, 2013) เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของคนในชาติ นอกจากวันที่ 23 กุมภาพันธ์ของทุกปีจะเป็นวันชาติแล้ว ยังเป็นวันเฉลิมฉลองราชวงศ์ กองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ องค์กรต่างๆรวมทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมเดินพาเหรด ณ สนามกีฬาแห่งชาติ (วิทย์  บัณฑิตกุล, 2555: 125)

 

วันเฉลิมพระชนมพรรษา สุลต่าน ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน

            วันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระราชาธิบดี ตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคม มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ประชนชาวบรูไนจะมารวมตัวกัน ณ สวนโอมาร์ อาร์ลี ไซฟุดดิน ใจกลางเมืองบันดาเสรีเบกาวัน ในวันดังกล่าวสมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงมีพระราชดำรัสถึงประชาชน และอีกสองสัปดาห์ถัดจากนั้นจะมีการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ ณ พระราชวังอิสตานา นูรุล อิมาน(วิทย์  บัณฑิตกุล, 2555: 125)

 

เดือนรอมฎอน

            เดือนรอมฎอนเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมกระทำขึ้นในเดือน 9 ตามปฏิทินอิสลาม ชาวมุสลิมจะถือศีลอดในเดือนนี้พร้อมกันทั่วโลกเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม โดยการอดอาหารและน้ำตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก เพื่อรับรู้ความยากลำบากของคนยากจน นอกจากถือศีลอดแล้ว ยังศึกษาอัลกุรอานและทำละหมาดในเวลากลางคืนด้วย (ดลยา เทียนทอง,2557:23) ในเดือนของการถือศีลอดนี้นับเป็นช่วงเวลาที่มีค่าของชาวมุสลิม นอกจากครอบครัวจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกภายในบ้านได้ให้อภัยซึ่งกันและกันในเรื่องที่เคยกระทำผิดต่อกันในช่วงปี ( ASEAN Tourism, 2014 )  

           

เทศกาลฮารีรายออิดิลฟิฏริ

            วันอิดิลฟิฏริ หรือ วันอีดเล็ก ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาว์วาล หรือ เดือน  10 ตามปฏิทินอิสลาม เป็นวันแรกหลังการถือศีลอดสิ้นสุดลง ในวันนี้ชาวมุสลิมทั่วโลกทำบุญด้วยการบริจาคทาน เลี้ยงอาหารญาติมิตร (ดลยา เทียนทอง,2557:23) ทั้งนี้สำหรับชาวบรูไนแล้วถือเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในรอบปี สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนเปิดพระราชวังให้ประชาชนเข้าชมและถวายพระพร นอกจากประชาชนชาวบรูไนที่เข้าถวายพระพรแล้ว ยังมีคณะผู้แทนจากสิงคโปร์ นักการทูตและชุมชนธุรกิจชาวจีนอีกด้วย (Asean Watch, 2013)

            กิจกรรมสำคัญในช่วงเทศการฮารีรายออิดิลฟิฏริมีด้วยกัน 4 วัน คือ วันที่ 1 หลังจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าเพื่อร่วมกันรับประทานอาหารถือเป็นเวลาพบปะสังสรรค์พูดคุยกัน ส่วนวันที่ 2 ถือเป็นวันที่สมาชิกในบ้านสามารถออกไปพบปะผู้คนนอกบ้านได้ เนื่องจากในวันที่ 1 เป็นวันที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวของตนเอง ส่วนวันที่ 2-4 เป็นวันที่ชาวบรูไนเริ่มออกไปพบปะเพื่อนบ้าน เพื่อรับประทานอาหารและพูดคุยกัน ดังนั้นเทศกาลนี้จึงเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ของชาวบรูไนทุกคน เป็นงานที่ทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีและประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน (ASEAN Tourism, 2014 )

                                  

เทศกาลอะเดา กะยอห์

            เขตตูตงได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีเขียวของบรูไน มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณทะเลสาบตาเซะก์ เมริมบุน  เทศกาลดังกล่าวเป็นประเพณีของชาวดูซุน ที่ยึดถือและส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อแสดงความขอบคุณต่อพืชผลที่ได้เก็บเกี่ยวแล้ว ในงานมีการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมาก เพื่อฉลองจิตวิญญาณของความเป็นหนึ่ง ประเพณีนี้จัดขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ที่หมู่บ้านเมอริมบัน มีกิจกรรมเป่าลูกดอก ประกวดร้องเพลง (วิทย์  บัณฑิตกุล,2555:135)

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าบรูไนจะมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทั้งยังมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ งานประเพณีพิธีกรรมที่จัดขึ้นระดับประเทศจะเป็นของราชสำนักและศาสนาอิสลาม แต่งานประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวดูซุน ยังคงมีการจัดขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดกว้างทางสังคมต่อประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงมีพื้นที่ให้ธำรงรักษาไว้ ทั้งนี้เมื่อระยะเวลาผ่านไปประเพณีของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์อาจกลายเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของทุกคนในชาติก็เป็นได้

บรรณานุกรม

    ดลยา เทียนทอง. (2557). บรูไน. กรุงเทมหานคร: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). เนการาบรูไนดารุสซาลาม. กรุงเทพมหานคร.

    ASEAN Tourism. (08 September 2014 ). Ramadhan & the Hari Raya Aidilfitri Celebration in Brunei. เรียกใช้เมื่อ 19 June 2016 จาก http://www.aseantourism.travel/articles/detail/ramadhan-the-hari-raya-aidilfitri-celebration-in-brunei

    Asean Watch. (13 August 2013). เทศกาลฮารีรายอฯ บรูไน สุลต่านเปิดพระราชวังให้ประชาชนถวายพระพร. เรียกใช้เมื่อ 19 June 2016 จาก https://goo.gl/Rm7mw9

    uAseanมหานครอาเซียน. (2013). วันชาติบรูไน. เรียกใช้เมื่อ 19 June 2016 จาก http://www.uasean.com/aroundasean/889