บรูไน - ศาสนาและความเชื่อ
ประเทศบรูไนมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม ทั้งนี้ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ผู้คนในดินแดนนี้มีความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ มีการบูชายัญด้วยสัตว์ที่มีชีวิต ปัจจุบันบรูไนมีชาวมลายูมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี (Sunni) ราวร้อยละ 67 มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาราวร้อยละ 13 และผู้นับถือศาสนาคริสต์ราวร้อยละ 10 แม้ว่าศาสนาอิสลามจะเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ชาวบรูไนสามารถเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันนอกจากวันสำคัญทางศาสนาอิสลามจะเป็นวันหยุดราชการแล้ว วันคริสต์มาสของคริสต์ศาสนายังถือเป็นวันหยุดราชการด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าศาสนาอิสลามยังคงเป็นศาสนาที่มีบทบาทสูงที่สุดในบรูไน ถือเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาแห่งชาติ มีอิทธิพลต่อการปกครอง กฏหมาย การศึกษา สถาปัตยกรรม และเทศกาลสำคัญต่าง ดังนั้นในหัวข้อความเชื่อและศาสนาในบรูไนนี้จึงมุ่งกล่าวถึงศาสนาอิสลาม เพื่อขยายความถึงการเข้ามาเผยแผ่และอิทธิพลที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันตามลำดับดังต่อไปนี้ (ดลยา เทียนทอง, 2557:22)
การเข้ามาและการเผยแผ่ของศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ในปีใดไม่เป็นที่แน่ชัด หากแต่จากบันทึกของจีนในปีค.ศ.977 ชี้ให้เห็นว่ากษัตริย์บรูไนส่งคณะทูตไปยังจีน โดยมีผู้นำคณะเป็นมุสลิม นอกจากนี้บันทึกของเขาจูกัว ได้บรรยายว่า“ชาวจีนใช้เวลา 30-45 วันเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มายังบรูไน และตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาวจีนจำนวนมากตั้งถิ่นฐานตลอดแนวชายฝั่งแม่น้ำคินาบาตันกัน(Kinabatankan) ในบอร์เนียวเหนือ น้องสาวของอองซัมปิง (Ong Sum Ping) ผู้ปกครองชาวจีนได้แต่งงานกับสุลต่านมุฮัมมัด(ค.ศ.1362-1402) เป็นสุลต่านองค์แรกที่ยอมรับศาสนาอิสลามเข้าสู่ราชวงศ์บรูไน เปลี่ยนพระนามจาก อะวัง อะลัก เบอตาตาร์ เป็นสุลต่านมุฮัมหมัดชาห์” (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน,2557:75)
จากบันทึกดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าศาสนาอิสลามอาจเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 แต่มีหลักฐานชัดเจนเป็นบันทึกของชาวจีนดังที่กล่าวมาว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ผู้ปกครองได้เปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลามทั้งยังเปลี่ยนพระนามตามรูปแบบชาวมุสลิม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บรูไนถูกเรียกว่าเป็นประเทศ “ราชวงศ์แห่งอิสลามมาเลย์” มีองค์สุลต่านเป็นประมุขและปกครองด้วยระบบการปกครองแบบอิสลาม ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า “ช่วงแห่งสันติภาพและความสงบสุข” ประเทศนี้จึงได้ชื่อว่า “บรูไนดารุสซาลาม” (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, 2557:77)
อิทธิพลศาสนาอิสลามในปัจจุบัน
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ทรงอิทธิพลในบรูไนมาเป็นเวลาช้านานอย่างน้อยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 จนกระทั่งปัจจุบัน ด้านการเมืองการปกครองสุลต่านทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่รับนับถือศาสนาอิสลามทั้งสิ้น โดยเฉพาะ สุลต่านฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันทรงได้รับการอภิบาลตามรูปแบบอิสลามและขนบธรรมเนียมประเพณีของบรูไน ดังนั้นในสายตาของประชาชนแล้ว พระองค์เป็นสุลต่านที่เคร่งครัดในศาสนาเป็นอย่างมากทั้งยังเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรในด้านการอุทิศตนเพื่อ อัลลอฮฺ เช่น การละหมาด และ การปฏิบัติตามหลักการอิสลามข้อที่ 5 คือการทำพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ถึง 6 ครั้ง ทั้งยังแสดงถึงพระราชศรัทธาในโอกาสงานเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 25 ปี ทรงมีพระราชดำรัสว่า “พระองค์จะยึดมั่นในศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ประจำพระราชวงศ์และประจำตระกูลของข้าราชบริพาร อีกทั้งเป็นศาสนาของประชาชนทั่วไปอีกด้วย” (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:106-107)
ขณะที่ด้านภาษาเมื่อศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ ทำให้การดำรงชีวิตของประชาชนอยู่บนพื้นฐานความเชื่อตามหลักศาสนา ไม่ว่าจะเป็นหลักการปกครองรัฐและหลักในการดำรงชีวิต กฏหมายต่างๆ กระทั่งภาษาพูด ถูกแทนที่ด้วยรูปแบบอิสลาม ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของวรรณกรรมงานเขียนต่างๆ เช่น ศิลาจารึก ตำราด้านการศึกษา หนังสือราชการระหว่างประเทศ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เขียนขึ้นด้วยภาษามลายูตัวอักษรยาวีทั้งสิ้น(ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:78)
ส่วนด้านการศึกษาพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของโรงเรียนสอนศาสนาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่1950 มี 7 แห่ง กระทั่งปีค.ศ.1971 มีจำนวนมากขึ้นถึง 80 แห่ง (Marie-Sybille de Vinne, 2015:269) ปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนมัธยมศึกษาภาษาอาหรับ วิทยาลัยครูสอนศาสนา และสถาบันอิสลามศึกษา ทั้งนี้บรูไนมีโรงเรียนรัฐบาลราว 170 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม(Universiti Brunei Darussalam : UBD) มหาวิทยาลัยอิสลามสุลต่านชารีฟ อาลี (Universiti Islam Sultan Sharif Ali : UNISSA) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งบรูไน(Institut Teknologi Brunei : ITB) (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558:142) ทั้งนี้การจัดตั้งสถาบันอิสลามศึกษาชั้นสูงโดยการใช้ภาษาอาหรับเป็นหลักนั้นประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีค.ศ.1988 มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง 3 ประการ คือ (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:158)
1. เพื่อผลิตนักศึกษาที่มีความสามารถด้านวิชาครุศาสตร์อิสลามและอิสลามศึกษา (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, 2557:158)
2. เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาศาสนาในประเทศ ภายใต้รูปแบบ อะหลิซุนฮฺ วัลญามาอะฮ และมัซฮับชาฟีอีย์ ทั้งยงปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตโดยยึดแนวความคิดมลายู อิสลาม พระมหากษัตริย์ (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:158)
3. เพื่อสนับสนุนให้มีองค์กรการวิจัยทางด้านอิสลามศึกษา (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:158) สถาบันดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แผนก คือ แผนกชารีอะฮฺ(Shariah Studies) แผนกอุศูลุดดีน (Usuluddin Studies) และแผนกภาษาอาหรับ(Arabic Language) เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถเข้าศึกษาต่อได้ที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์ ใน 3 คณะ คือ คณะชารีอะฮฺ อุศูลุดดีน และภาษาอาหรับ แต่ในปัจจุบันสุลต่านฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ได้ทรงเห็นชอบให้มีการเรียนอิสลามศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, 2557:158)
รัฐบาลมีแนวนโยบายพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศระยะยาว Wawasana Brunei 2035 หรือ วิสัยทัศน์บรูไน 2578 โดยวางแนวทางระบบการศึกษาใหม่เรียกว่า ระบบการศึกษาของศตวรรษที่ 21 (The new National Education of the 21st Century – SPN 21) เป็นระบบการศึกษาแนวใหม่จากฝรั่งเศส ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังมีการบรรจุหลักสูตรด้านศาสนา ได้แก่ การศึกษาระบบราชาธิปไตยอิสลามมลายู และความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม (Islamic Religious Knoeledge - IRK) ในหลักสูตรวิชาบังคับ และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558:140)
ดังที่กล่าวมานี้นับได้ว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของบรูไนอย่างแท้จริง เนื่องจากมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมในบรูไน คือ การประกาศใช้ชารีอะห์ เป็นกฎหมายอาญาปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.2014 โดย สุลต่าน ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีค.ศ.2013 องค์สุลต่าน ได้มีพระราชดำรัสในการเปิดงานนิทรรศการประจำปี “ชุมนุมความรู้” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ ว่าจะมีการใช้กฎหมายดังกล่าวในอีก 6 เดือน ต่อจากนี้ และยังทรงตรัสว่า “กฎหมายชารีอะห์นั้นเป็น “คู่มือพิเศษ” มาจากพระอัลลอฮฺ ” (ประชาไท, 2556)
ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวคือประมวลข้อกฎหมายที่มาจากคำสอนของศาสนาและหลักนิติศาสตร์พื้นฐานของศาสนาอิสลาม โครงสร้างทางกฎหมายจะคลอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชนตลอดจนครอบคลุมด้านต่างๆ ในชีวิตประจำวันทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการธนาคาร ธุรกรรมหรือสัญญา ความสัมพันธุ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคมและอื่นๆ ด้วยเหตุนี้บทบาทของชารีอะห์มุ่งที่จะคุ้มครองมนุษย์ใน 5 ประการ ได้แก่ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา เชื้อสาย และทรัพย์สิน รวมถึงรักษาสิทธส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนการจัดระเบียบสังคมทุกระดับให้เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและเป็นธรรม (สามารถ ทองเฝือ, 2557:179-180)
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ในบรูไน มีการดำเนินการเป็น 3 ระยะด้วยกัน จะเริ่มบังคับใช้เป็นระยะกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ภายในสองปี ดังนี้(สามารถ ทองเฝือ, 2557:181) ระยะที่สอง สิบสองเดือนหลังจากประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.2014 ในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายนี้จะบังคับใช้กับความผิดที่มีบทลงโทษตามที่ได้ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานและแนวทางของศาสดานบีมูฮัมหมัดหรือ อัสสุนนะห์ แต่ยังไม่บังคับใช้กับความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิต เช่น ความผิดประเภทลักขโมย มีบทลงโทษด้วยการตัดมือเป็นต้น (สามารถ ทองเฝือ, 2557:181) ระยะที่สาม ยี่สิบสี่เดือนหลังจากประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.2014 ในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงความผิดที่มีโทษประหารชีวิตด้วย ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง เช่น การผิดประเวณี การมีเพศสัมพันธุ์ระหว่างชายกับชายหรือหญิงกับหญิง การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (สามารถ ทองเฝือ, 2557:181) ทั้งนี้ภายหลังการประกาศว่าจะใช้หลักกฎหมายดังกล่าวในช่วงปลายค.ศ.2013 เพื่อการปกครองประเทศ ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษย์วิจารณ์จากฮิวแมนไรท์วอทซ์ เป็นองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศที่ทำวิจัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ด้วยความหวั่นเกรงว่ากฎหมายดังกล่าวอาจไม่ส่งผลด้านบวกต่อบรูไน ทั้งนี้ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชีย ให้ความเห็นว่า “ถ้าบรูไนมีรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย แทนที่จะเป็นแบบอำนาจนิยมหรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณน่าจะไม่ได้เห็นปฏิกิริยาที่ออกมาในแนวถอยหลังแบบนี้ แต่ประชาชนตระหนักดีว่าถ้าพวกเขาเงยหน้าขึ้น พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับคนของสุลต่าน เพราะการขวางเรือหมายความว่าคุณอาจจบที่กระบวนการในศาลซึ่งห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมนัก”(ประชาไท, 2556)
ขณะที่ภายหลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.2014 สหประชาชาติได้เรียกร้องให้บรูไนชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อที่จะนำไปพิจารณาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหลักการด้านมนุษยธรรมสากล ส่วนสื่อออนไลน์มีการตอบโต้การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างหนักจนกระทั่งสุลต่านทรงตรัสเตือนผู้ที่พยายามโจมตี (มติชนต์ออนไลน์, 2557) อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศ องค์สุลต่านยังคงยืนยันในการประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ว่า “เราไม่เคยคิดร้ายต่อผู้อื่นและเราก็ไม่ได้ขอให้พวกเขามายอมรับหรือเห็นด้วยกับเรา แต่ขอให้พวกเขาเคารพเรา เหมือนเช่นที่เราเคารพพวกเขาบ้างก็พอ” (ASTVผู้จัดการออนไลน์, 2557)
ปัจจุบันกฎหมายชารีอะห์ถูกประกาศและมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่แปลกที่บรูไนยังคงถูกจับตามองจากทั่วโลกที่ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงในการใช้กฎหมายดังกล่าว แม้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนยังคงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันด้านสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นหลักที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะถูกละเมิดจากฎหมายฉบับนี้
บรรณานุกรม
ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน . (2557). ประวัติศาสตร์บรูไน. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ดลยา เทียนทอง. (2557). บรูไน. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). รายงานฉบับสมบูรณ์(Final Report) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศอาเซียนที่กลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจ (กัมพูชา สปป.ลาว บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์). กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สามารถ ทองเฝือ. (2557). อิสลามการเมืองในการบริหารรัฐสุลต่านบรูไนดารุสซาลาม. วารสารการเมืองการปกครอง, 174-185.
ASTVผู้จัดการออนไลน์. (05 พฤษภาคม 2557). เป็นเรื่อง! คนดังทั่วโลกแห่ “คว่ำบาตร” เครือโรงแรมของกษัตริย์บรูไนตอบโต้ “กฎหมายชารีอะห์”. เรียกใช้เมื่อ 15 มิถุนายน 2559 จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์: http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000049801
ประชาไท. (24 ตุลาคม 2553). สุลต่านบรูไนเตรียมใช้กฎหมายชารีอะห์เป็นกฎหมายอาญา. เรียกใช้เมื่อ 15 June 2016 จาก ประชาไท: http://prachatai.com/journal/2013/10/49388
มติชนออนไลน์. (30 เมษายน 2557). สุลต่านบรูไนประกาศใช้ "กฎหมายชารีอะห์" 1 พ.ค.นี้. เรียกใช้เมื่อ 15 มิถุนายน 2559 จาก matichon online: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1398847170
Marie-Sybille de Vinne. (2015). BRUNEI From the Age of Commerce to the 21st Century. Singapore: Markono Print Media Pte Lld.