บรูไน - อาหาร
บรูไนตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว โอบล้อมด้วยรัฐซาราวักของมาเลเซีย ทางเหนือติดทะเลจีนใต้ อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฮาลาล มีความคล้ายกับอาหารของชาวอินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิมเช่นเดียวกัน วัตถุดิบสำคัญจึงหลีกไม่พ้นเครื่องเทศและกะทิ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารทะเล แต่ชาวบรูไนนิยมรับประทาน เนื้อวัว เนื้อไก่ และเนื้อแพะ มากกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือชาวบรูไนไม่บริโภคหมูและแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้นการนำแอลกอฮอล์เข้าประเทศจึงมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก หากนำเข้ามาต้องแจ้งให้ศุลกากรทราบ โดยอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าประเทศได้ไม่เกินครั้งละ 2 ขวด และเบียร์ไม่เกิน 12 กระป๋อง ต่อการเดินทางเข้าประเทศ 1 ครั้ง ทั้งนี้เป็นการบริโภคส่วนบุคคลเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามกฎหมาย (ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์, 2558:185)
แม้ว่าจากข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้ชาวบรูไนไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ชาวบรูไนยังคงมีเมนูอาหารหลากชนิดที่รังสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบต่างๆในพื้นที่ออกมาเป็นเมนูยอดนิยมและเป็นเอกลักษณ์ของชาวบรูไนเอง อาทิเช่น อัมบูยัต (Ambuyat) อาหารประจำชาติที่มีลักษณะเฉพาะตัว วัตถุดิบหลักคือ อัมบูลุง (Ambulong) เป็นแป้งสาคูละลายด้วยน้ำเย็นจากนั้นกวนในน้ำร้อนให้ข้นเหนียว (SHAIKH HJ.KHALID et al., 2000:5-6) รับประทานกับซอสผลไม้รสเปรี้ยวที่มีส่วนผสมของทุเรียนเรียกว่า จาจะห์(Cacah) หรือ ซอสกะปิ เรียกว่า เจินจาลู กับเครื่องเคียงอีก หลากชนิด เช่น เนื้อทอด เนื้อและปลาทะเลห่อใบตองย่าง เป็นต้น มีอุปกรณ์สำคัญในการรับประทานเรียกว่า จันดัส (Chandas) เป็นไม้สองง่าม ลักษณะคล้ายตะเกียบ แต่ปลายด้ามจับไม่แยกออกจากกัน เมื่อจะรับประทานให้ใช้ จันดัส ม้วนอัมบูลุง พอคำแล้วนำไปจิ้มน้ำซอส รับประทานกับเครื่องเคียง ทั้งนี้เพื่อความอร่อยควรรับประทานในขณะที่อัมบูลุงยังร้อนอยู่ นอกจากอัมบูยัตที่ถือว่าเป็นอาหารประจำชาติแล้ว บรูไนยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ได้รับความนิยม เช่น (ดลยา เทียนทอง, 2557:28)
เรินดัง หรือ เนื้อผัดเครื่องเทศรสชาติจัดจ้าน นิยมปรุงขึ้นในงานบุญประเพณี ประกอบไปด้วยวัตถุดิบสำคัญ อาทิ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง พริก เคี่ยวด้วยไฟอ่อนจนเปื่อย (ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์, 2558:180)
อูดังซัมบัลเซอไรเบอร์ซันตัน ลักษณะคล้ายปูผัดผงกะหรี่ แต่สำหรับชาวบรูไนใช้กุ้งกุลาดำ ผัดกับวัมบัล หรือ น้ำพริก ใส่กะทิ กระเทียม หอมหัวใหญ่ เพิ่มรสชาติด้วยเกลือและน้ำตาล รับประทานกับข้าวสวย (ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์, 2558:180)
ดากิงมาสะก์ลาดาฮีตัม หรือเนื้อวัวผัดพริกไทยดำ มีวีการปรุงคือใช้เนื้อวัวคลุกเคล้ากับผงขมิ้นและเกลือ นำไปรวนจนแห้ง จากนั้นใส่น้ำมันเล็กน้อย ตามด้วยหอมหัวใหญ่ กระเทียม ขิง พริก และพริกไทยดำบดละเอียด แครอท ปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลือง ซอสหอยนางรม ซอสพริก เติมน้ำเล็กน้อย ตามด้วยมะเขือเทศและโรยผักชี เป็นอันว่าพร้อมรับประทาน (ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์, 2558:180)
เชอรันดังปาดัง หรือไก่ห่อใบเตย เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากมาเลเซีย วิธีปรุงเริ่มจากนำไก่มาหมักกับเครื่องเทศ ตามด้วยกะทิ หัวหอม จากนั้นนำไปย่างหรือทอด(ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์, 2558:180)
มีโกเรง คือหมี่ฮกเกี้ยนผัดไข่ ใส่ ขมิ้น กระเทียม หอมใหญ่ หอมแดง กุ้ง ไก่ หรือ เนื้อ ตามด้วยผักต่างๆ เช่น มะเขือเทศ พริก ผัดจนสุก พร้อมรับประทาน อาหารชนิดนี้ได้รับอิทธิพลจากจีน(ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์, 2558:183)
นอกจากอาหารคาวแล้วยังมีขนมหวานที่ชาวบรูไนเรียกว่า เอบีซี (ABC) เป็นน้ำแข็งใส ในถ้วยใส่เครื่องต่างๆ เช่น ข้าวโพดหวาน เฉาก๊วย เม็งแมงลัก ผลไม้หลาก ด้านบนใส่ไอศกรีม ราดด้วยน้ำเชื่อม พร้อมรับประทาน ขนมเลื่องชื่ออีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กูวิห์เปินยารัม (Kuih penyaram) ขนมพื้นเมืองของชาวบรูไน พบได้ทั่วไปตามท้องตลาด ทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งสาลีเอนกประสงค์ และกะทิ นำไปทอดให้เป็นแผ่นกลมรับประทานกับน้ำเชื่อที่ทำจากน้ำตาลปาล์ม (ดลยา เทียนทอง, 2557:29)
ปัจจุบันชาวบรูไนยังนิยมรับประทานอาหารด้วยมือ แม้กระทั่งในร้านอาหารมีการติดตั้งอ่างล้างมือไว้เพื่อบริการแก่ลูกค้า ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารกับชาวบรูไนห้ามสั่งอาหารต้องห้ามดังต่อไปนี้ 1. สัตว์ที่ตายเอง 2. เลือดสัตว์ 3.สุนัข 4.สัตว์ที่ถูกฆ่าจากจุดประสงค์เพื่อบูชารูปเคารพ 5.สัตว์ที่เชือดโดยไม่ระบุนามของพระเจ้า,สัตว์ดุร้ายที่ใช้เขี้ยวจับเหยื่อเป็นอาหาร เช่น เสือ สิงโต หมี เป็นต้น 6.สัตว์ปีกที่ใช้กรงเล็บจับเหยื่อ เช่น แร้ง เหยี่ยว (กรมประชาสัมพันธ์, 2558)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าบรูไนจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ก็มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตนเองทั้งยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ที่ยังคงมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีศาสนาอิลามเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งยังมีอิทธิพลสูงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดังพิจารณาได้จากเมนูอาหารหลากชนิดที่ได้กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นเมนูฮาลาลทั้งสิ้น ดังนั้นข้อควรระวังที่กล่าวมาจึงมีไว้เพื่อเคารพในข้อจำกัดและความแตกต่างของกันและกัน
บรรณานุกรม
ดลยา เทียนทอง. (2557). บรูไน. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุคส์. (2558). อาหารและวัฒนธรรมการกินคนอาเซียน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสถาพรบุคส์ จำกัด.
กรมประชาสัมพันธ์. (05 มิถุนายน 2558). อาหารและมารยาทในการรับประทานอาหารบรูไนฯ. เรียกใช้เมื่อ 09 มิถุนายน 2559 จาก ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน: http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=3364&filename=aseanknowledge
SHAIKH HJ.KHALID et al. (2000). THE FOOD OF BRUNEI DARUSSALAM . ใน Mohd Ismail Noor, FOOD of ASEAN 6 (หน้า 3-14). Malaysia: ASEAN-COCI(Culture)Malaysia.