บรูไน - ข้อมูลพื้นฐาน



ธงชาติ

          ธงชาติบรูไนมีลักษณะเป็นผืนธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสัดส่วน 1 ต่อ 2 มีสีเหลืองเป็นสีพื้น ซึ่งเป็นสีประจำตนของสุลต่าน มีแถบสีดำและขาวพาดจากด้านซ้ายบนไปยังขวาล่าง โดยสีดำ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวหมายถึงผู้ปกครอง และส่วนที่อยู่ตรงกลางด้านหน้าคือตราประจำชาติบรูไน

          เดิมบรูไนใช้ธงสีเหลืองเป็นธงประจำรัฐ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1906 จึงได้เพิ่มแถบสีดำและสีขาวลงไป เมื่อบรูไนตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ และในปี ค.ศ. 1959 ได้เพิ่มตราประจำชาติลงไปตรงกลางผืนธง พร้อมกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

 

ตราประจำชาติ

          ตราประจำชาติบรูไนในปัจจุบันได้รับการพัฒนามาจากตราประจำราชวงศ์เดิม และประกาศใช้พร้อมกับรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1959 โดยภายในตราสัญลักษณ์ประกอบไปด้วย ธง (Bendera) และฉัตร (Payung Ubor-Ubor) อยู่ด้านบนยอด ซึ่งสองสิ่งนี้ถือเป็นเครื่องราชกุธภัณฑ์ ถัดลงมาเป็นปีก (Sayap) โดยที่ปีกมีจำนวน 4 แฉก สื่อถึงการปกปักรักษาความยุติธรรม ความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ ด้านข้างของตราสัญลักษณ์มีมือทั้งสองข้าง (Tangan) คอยประคองอยู่ เปรียบเสมือนรัฐบาลที่ต้องดูและประเทศ

          ตรงกลางของตราสัญลักษณ์เป็นพระจันทร์เสี้ยวหงายขึ้น พระจันทร์เสี้ยวถือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ตรงกลางพระจันทร์เสี้ยวมีข้อความภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวอักษรยาวีว่า “Sentiasa Berkhidmad Dengan Panduan Tuhan” ซึ่งแปลว่า “น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระอัลเลาะห์เสมอ” และด้านใต้ของพระจันทร์เสี้ยวมีแถบผ้าที่จารึกข้อความว่า “Negara Brunei Darussalam” ที่แปลว่า “บรูไน นครแห่งสันติ”

 

ที่ตั้งและพื้นที่

          บรูไนจัดเป็นประเทศขนาดเล็กอันดับรองสุดท้ายของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ด้านเหนือของเกาะบอร์เนียว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยด้านทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้ ในขณะที่ด้านตะวันออก ตะวันตกและใต้ติดกับเขตรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย บรูไนมีพื้นที่ขนาด 5,765 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดนครพนมเท่านั้น

          สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศบรูไนแบ่งออกเป็นสองส่วนไม่ติดกัน โดยที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านตะวันตก และคั่นด้วยประเทศมาเลเซีย ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกมีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของประเทศเท่านั้น ชายฝั่งทะเลของบรูไนยาว 161 กิโลเมตรโดยมีพรมแดนทางบกยาวทั้งสิ้น 266 กิโลเมตร และทั้งหมดติดกับประเทศมาเลเซีย

          บรูไนตั้งอยู่ในระหว่างเส้นละติจูดที่ 4 องศาถึง 5 องศาเหนือ และอยู่ในเส้นลองจิจูดที่ 114 องศา ถึง 115 องศาตะวันออก จากที่ตั้งนี้เองทำให้บรูไนใช้เขตเวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานสากล 8 ชั่วโมง (GMT +0800) ซึ่งอ้างอิงมาจากเส้นลองจิจูดที่ 120 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียตอนกลาง (Central Indonesian Time) และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงของบรูไน

 

ภูมิอากาศ

          เนื่องจากที่ตั้งของบรูไนอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร สภาพภูมิอากาศของบรูไนจึงจัดอยู่ในเขตป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rainforest Climate-AF) ตามการจัดแบ่งภูมิอากาศของเคปเปน (Koppen) ซึ่งทำให้ประเทศบรูไนมีฝนตกชุกและมีความชื้นสูง ส่วนฤดูกาลมีสองฤดูกาลหลัก คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง ในช่วงฤดูแล้งจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 24-36 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูฝนจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 20-28 องศาเซลเซียส

          จากทำเลที่ตั้งที่อยู่บนเกาะทำให้บรูไนเป็นประเทศที่มีฝนตกชุก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 มิลลิเมตรในเขตชายฝั่งและ 4,000 เมตรในเขตป่า โดยที่เดือนที่มีฝนตกชุกที่สุดคือในช่วงเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม ส่วนเดือนที่ฝนตกน้อยที่สุดจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

          จากการที่ฝนตกชุกทำให้ภัยธรรมชาติส่วนใหญ่ของบรูไนเกิดจากการที่ฝนตกเป็นปริมาณมากซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และบางครั้งในฤดูแล้งบรูไนก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าซึ่งเกิดจากประเทศอินโดนีเซีย

 

ภูมิประเทศ

          บรูไนมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบชายฝั่ง โดยลาดขึ้นไปยังภูเขาอยู่ทางด้านตะวันออก ส่วนด้านตะวันเป็นเป็นเนินเขาขนาดเล็ก กระจายตัวไป จุดที่สูงที่สุดของประเทศคือ ภูเขาปะกอน (Bukit Pagon) สูงจากระดับน้ำทะเล 1,850 เมตร มีแม่น้ำเบลาอิตเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของบรูไน โดยบรูไนยังคงมีพื้นที่ป่าไม้กว่าร้อยละ 85 โดยมากเป็นป่าฝนเขตร้อนและป่าชายเลน

          ฟรานซ์ (Franz) ได้กล่าวถึงสภาพภูมิประเทศของบรูไนว่าสามารถแบ่งสัณฐานออกได้เป็นสามส่วน คือ เขตที่สูงหรือเขตทิวเขา เขตเนินเขา และเขตที่ต่ำหรือที่ราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเขตทิวเขาจะตั้งอยู่ทางด้านใต้ของประเทศ (ลึกเข้าไปในแผ่นดิน) จากนั้นค่อยๆลาดมายังลุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล โดยอำเภอต่างๆ ของบรูไนก็ตั้งตามเขตลุ่มน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำเบลาอิท แม่น้ำบรูไน แม่น้ำเตมบูรอง และแม่น้ำตูตอง

 

การเมืองการปกครอง

          บรูไนเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาไว้ ซึ่งในปัจจุบันระบอบดังกล่าวยังคงใช้กับแพร่หลายในประเทศอิสลามในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย โดยที่พระมหากษัตริย์หรือสุลต่านจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขฝ่ายบริหาร โดยที่บรูไนเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับ ไทย กัมพูชาและมาเลเซีย

          จากประวัติศาสตร์บรูไน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 บรูไนมีการแบ่งโครงสร้างการปกครองออกเป็น 4 ตำแหน่งสำคัญที่ขึ้นตรงต่อสุลต่าน อันประกอบไปด้วย (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 84)

  • เปอร์งีรัญ เบนดาฮารา ดูแลด้านการบริหารประเทศ
  • เปอร์งีรัญ ตะมะงง ดูแลด้านความปลอดภัยและรักษากฎหมาย
  • เปอร์งีรัญ ดีกาตง ดูแลด้านการคลัง
  • เปอร์งีรัญ เปอมันจา ดูแลด้านขนบธรรมเนียมประเพณี

           นอกจากตำแหน่งที่สำคัญทั้งสี่ตำแหน่งแล้ว ยังมีตำแหน่งขุนนางอีก 62 คน และคณะมนตรีอีก 60 คนเพื่อดูแลกิจการด้านต่างๆตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมายังระดับบน นอกจากนี้ในสมัยนั้นยังมีตำแหน่งที่เทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน คือตำแหน่งเปฮิน ดาตู เปอร์ดานามนตรี และนอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญทางด้านศาสนาอีกด้วย

           ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการใช้หลักกฎหมายบรูไน ซึ่งได้อิทธิพลมาจากหลักกฎหมายมะละกาและอาเจห์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่มีพื้นฐานมาจากหลักกฎหมายอิสลามผสมเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น และหลังจากนั้นก็มาการใช้หลักกฎหมายดังกล่าวและปรับปรุงให้เข้ากับสมัยเรื่อยมา

           จนในท้ายที่สุด เมื่อบรูไนเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนกฎหมายให้เข้ากับวิถีทางของชาวตะวันตกมายิ่งขึ้น แต่ยังคงรักษาแนวทางของอิสลามและวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1959 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการในสมัยของสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดินที่ 3 ซึ่งพระองค์เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับคณะ และมีอังกฤษเป็นที่ปรึกษา โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญพูดถึงการแบ่งโครงสร้างการบริหารและข้อกำหนดของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่างๆ

 

ปรัชญาในการปกครองประเทศ

          ประเทศบรูไนได้กำหนดแนวทางในการบริหารประเทศด้วยหลัก MIB คือ มลายู (Melayu) อิสลาม (Islam) และพระมหากษัตริย์ (Berjaya) (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 92)

มลายู คือหมายถึงบรูไนเป็นประเทศของชาวมลายู พูดภาษามลายูและใช้วัฒนธรรมมลายูเป็นวัฒนธรรมหลักของประเทศ

อิสลาม การที่ประชาชนชาวบรูไนนับถือศาสนาอิสลามอย่างมั่นคง ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่น ต้องเชื่อฟังผู้นำ เป็นสิ่งที่หล่อหลอมผู้คนเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกันทำความดีและเป็นศาสนาที่พระเจ้าทรงประทานมาให้

พระมหากษัตริย์ คือหมายถึงองค์สุลต่าน โดยที่ยึดแนวทางว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้สุลต่านปกครองประเทศบรูไนและประชาชนชาวบรูไน โดยที่กำหนดสถานภาพของสุลต่านไว้ว่าทรงเป็นผู้ปกครองประเทศ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำข้าราชการ ผู้นำทางวัฒนธรรมและผู้นำกองทัพ

         

ประมุขของรัฐ

          ประเทศบรูไนมีสุลต่านปกครองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยสุลต่านพระองค์แรกนับจากเจ้าผู้ปกครองบรูไนที่หันมานับถือศาสนาอิสลามพระองค์แรก คือ สุลต่านมุฮัมมัดซาห์ หรือ อวัง อลัค เบตาตาร์ (Muhammad Shah / Awang Alak Betatar) สืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันคือสุลต่านองค์ที่ 29 ที่รู้จักกันในนามของสุลต่านฮัสซานัลโบเกียห์

          สุลต่านฮัสซานัลโบเกียห์มีพระนามเต็มว่า “Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu'izzaddin Waddaulah ibni Al-Marhum Sultan Haji Omar Ali Saifuddien Sa'adul Khairi Waddien” ประสูติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน หรือบรูไนทาวน์ในสมัยนั้น โดยเป็นบุตรชายคนโตสุดของสุลต่านโอมาร์อาลีไซฟุดเดียนที่ 3 สุลต่านองค์ที่ 28 ของบรูไน โดยทรงจบการศึกษาชั้นมัธยมจากสถาบันวิคตอเรีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อนที่จะไปศึกษาวิชาทางการทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ ในสหราชอาณาจักร ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์มกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1961

          พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านองค์ที่ 29 ต่อจากพระบิดาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1967 โดยมีพิธีบรมราชาภิเษกจากพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1968 เนื่องจากในขณะนั้นบรูไนยังคงมีสภานะเป็นรัฐอารักษาของสหราชอาณาจักรอยู่

          ในด้านชีวิตส่วนพระองค์ พระองค์ทรงมีพระมเหสีทั้งสิ้น 3 พระองค์ มีบุตรและธิดารวมทั้งสิ้น 12 พระองค์ ดังรายนามต่อไปนี้

  • Raya Isteri Pengiran Anak Hajah Saleha (สมรสปี ค.ศ. 1965)
    • Princess Hajah Rashidah Sa’adatul Bolkiah
    • Princess Hajah Muta-Wakkilah Hayatul Bolkiah
    • Crown Prince Al-Muhtadee Billah (มกุฎราชกุมาร)
    • Princess Hajah Majeedah Nuurul Bolkiah
    • Princess Hajah Hafizah Sururul Bolkiah
    • Prince Abdul Malik
  • Princess Hajah Mariam (สมรสปี ค.ศ. 1982 และหย่าร้างในปี ค.ศ. 2003)
    • Prince Haji Abdul Azim
    • Princess Azemah Ni’matul Bolkiah
    • Princess Fadzillah Lubabul Bolkiah
    • Prince Abdul Mateen
  • Princess Azrinaz Mazhar Hakim (สมรสปี ค.ศ. 2005 และหย่าร้างในปี ค.ศ. 2010)
    • Prince Abdul Wakeel
    • Princess Ameerah Wardatul Bolkiah

 

เนื่องจากบรูไนปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช สุลต่านฮัสซานัลโบเกียห์จึงทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหาร (Head of Government) อีกด้วย

รายพระนามของสุลต่านแห่งบรูไนตามที่จารึกในประวัติศาสตร์บรูไน

1.  Sultan Muhammad Shah

1363-1402

2.  Sultan Abdul Majid Hasan

1402-1408

3.  Sultan Ahmad

1408-1425

4.  Sultan Sharif Ali              

1425-1432

5.  Sultan Sulaiman             

1432-1485

6.  Sultan Bolkiah      

1485-1524

7.  Sultan Abdul Kahar

1524-1530

8.  Sultan Saiful Rizal 

1533-1581

9.  Sultan Shah Brunei                   

1581-1582

10. Sultan Muhammad Hasan               

1582-1598

11. Sultan Abdul Jalilul Akbar           

1598-1659

12. Sultan Haji Muhammad Ali             

1660-1661

13. Sultan Abdul Hakkul Mubin            

1661-1673

14. Sultan Muhyiddin                     

1673-1690

15. Sultan Nasruddin                    

1690-1710

16. (1) Sultan Husin Kamaluddin          

1710-1730

17. Sultan Muhammad Alauddin          

1730-1737   

16. (2) Sultan Husin Kamaluddin          

1737-1740

18. Sultan Omar Ali Saifuddien I         

1740-1795

19. (1) Sultan Muhammad Tajuddin         

1795-1804

20. Sultan Muhammad Jamalul Alam I       

1804

19. (2) Sultan Muhammad Tajuddin         

1804-1807

21. Sultan Muhammad Kanzul’Alam          

1807-1826

22. Sultan Muhammad Alam                 

1826-1828

23. Sultan Omar Ali Saifuddin            

1828-1852

24. Sultan Abdul Momin                   

1852-1885

25. Sultan Hashim Jalilul Alam Aqamaddin 

1885-1906

26. Sultan Muhammad Jamalul Alam II      

1906-1924

27. Sultan Ahmad Tajuddin                

1924-1950

28. Sultan Omar ‘Ali Saifuddien III      

1950-1967

29. Sultan Haji Hassanal Bolkiah         

1967-Now

(ที่มา: http://www.history-centre.gov.bn/sultanbrunei.htm)

 

การปกครอง

          ประเทศบรูไนแบ่งอำนาจการปกครองเป็นสามส่วนหลักเฉกเช่นประเทศอื่นๆ คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ โดยในฝ่ายบริหารนั้น เนื่องจากบรูไนปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ องค์สุลต่านจึงกำรงตำแหน่งทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร และตามรัฐธรรมนูญของบรูไนยังระบุให้สุลต่านเป็นที่ปรึกษาและประธานของ 5 หน่วยงานหลักดังต่อไปนี้

          คณะองคมนตรี (Privy Council) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสุลต่านในเรื่องการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ตามธรรมเนียมของมาเลย์ โดยสมาชิกขององคมนตรีจะประกอบไปด้วยเชื้อพระวงศ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล

          คณะกรรมการสืบสันตติวงศ์ (Council of Succession) สภาแห่งนี้มีหน้าที่กำกับดูแลการสืบสันตติวงศ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

          คณะกรรมการศาสนา (Religious Council) รู้จักกันในนามของ คณะกรรมการศาสนาอิสลามแห่งบรูไน (Brunei Islamic Religious Council-BIRC) มีหน้าที่กำกับและดูแลนโยบายรัฐและการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักของศาสนาอิสลาม โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยรัฐมนตรี จุฬาราชมนตรี ประธานศาลชารีอะห์ รวมไปถึงบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสุลต่าน

          คณะรัฐมนตรี (Council of Minister) คณะรับมนตรีประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอาวุโส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ทั้งสิ้น 12 กระทรวง รวมไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง โดยทั้ง 12 กระทรวงมีรายนามดังต่อไปนี้

  • กระทรวงการคลัง
  • กระทรวงกลาโหม
  • กระทรวงการต่างประเทศและการค้า
  • กระทรวงศึกษาธิการ
  • กระทรวงการศาสนา
  • กระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ
  • กระทรวงการสื่อสาร
  • กระทรวงมหาดไทย
  • กระทรวงสาธารณสุข
  • กระทรวงการพัฒนา
  • กระทรวงวัฒนธรรม เยาวชนและกีฬา
  • กระทรวงพลังงาน

          ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีของบรูไนมีจำนวนทั้งสิ้น 22 คน โดยมีสุลต่านฮัสซานัลโบเกียห์เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงกลาโหม โดยที่มีองค์มกุฎราชกุมารเป็นรัฐมนตรีอาวุโส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ 12 คนรวมไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 8 คน

           สภานิติบัญญัติ (Legislative Council) สภานิติบัญญัติของบรูไนได้ถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2547 หลังจากถูกระงับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 36 คน โดยประธานสภานิติบัญญัติจะได้รับการแต่งตั้งโดยสุลต่าน โดยสภาแห่งนี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล ตรวจสอบ บัญญัติกฎหมาย อนุมัติงบประมาณรายจ่าย โดยในสมาชิกประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี บุคคลที่มีชื่อเสียง ผู้นำชุมชน โดยทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งจากสุลต่าน

            จากเหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงที่มีการเสนอแนวคิดรวมประเทศมาเลเซีย ทำให้กิจการพรรคการเมืองที่เคยมีมาได้ถูกระงับลง แต่ในปี ค.ศ. 1985 ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการตั้งพรรคการเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการก่อตั้งพรรค Brunei National Democratic Party (BNDP) และต่อมาได้มีการจัดตั้งอีกพรรคการเมืองคือ Brunei National United Party (BNUP) ซึ่งถึงแม้จะมีพรรคการเมือง แต่ก็ถูกควบคุมและสอดส่องดูแลโดยสุลต่านอย่างเข้มงวด แต่ต่อมาภายหลังพรรค BNDP ได้ถูกยุบลง เนื่องจากมีแนวทางที่ไม่สอดคล้องกันกับรัฐบาลของสุลต่าน

 

ตุลาการ

          บรูไนใช้กฎหมายสองระบบ โดยระบบแรกวางรากฐานโดยอังกฤษ โดยมีพื้นฐานมาจากระบบกฎหมายของอังกฤษ โดยระบบกฎหมายดังกล่าวมีการใช้โดยทั่วไปในประเทศบรูไน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ดูแลระบบกฎหมายดังกล่าว ส่วนอำนาจการตัดสินคดีอยู่ที่ศาลสูงสุด เป็นระบบสามศาลคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทรณ์และศาลฎีกา และนอกจากนี้ยังมีศาลแพ่งที่คอยตัดสินข้อพิพาทเรื่องการเงิน

          ระบบกฎหมายอีกระบบคือ “กฎหมายอิสลาม” หรือที่รู้จักกันในนามของกฎหมายชารีอาห์ (Shariah) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับชาวมุสลิม โดยมีศาลแยกต่างหากจากกัน และตัดสินตามแนวทางของศาสนาอิสลาม โดยที่แบ่งย่อยเป็นอีก 4 หน่วยงานคือ (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 99-100)

  • แผนกมุฟตี เป็นแผนกที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆที่ถูกส่งขึ้นมาตีความ
  • แผนกกอฎี เป็นแผนกที่ทำหน้าพิพากษาคดีความต่างๆ
  • แผนกชารีอะห์ เป็นแผนกที่ให้คำปรึกษากับสุลต่านเกี่ยวกับกิจการของมุสลิม
  • แผนกสืบสวน มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน จับกุมผู้กระทำผิด

 

กองทัพบรูไน

          กองทัพแห่งชาติบรูไนถือกำเนิดเมื่อ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 โดยมีพัฒนาการมาจากกองทัพมลายูบรูไน โดยต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพหลวงแห่งบรูไน ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความเป็นกองทัพของพระราชา และในปัจจุบันกองทัพแห่งชาติบรูไนได้ใช้ชื่อว่า The Royal Brunei Armed Forces (RBAF) โดยทำหน้าที่ปกปักรักษาประเทศบรูไนและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ โดยมีการแบ่งโครงสร้างของกองทัพเป็นห้าหน่วยงานหลักคือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทหารบริการและกองฝึกอบรม และนอกจากนี้บรูไนยังมีกองทหารกุรข่ามาประจำการอยู่ด้วย เพื่อเป็นทหารราชองครักษ์และรักษาความปลอดภัยของบ่อน้ำมัน

 

การปกครองส่วนท้องถิ่น

          เนื่องจากบรูไนเป็นประเทศขนาดเล็ก จึงแบ่งการปกครองออกเป็น “อำเภอ” (Daerah) มีทั้งสิ้น 4 อำเภอ และในแต่ละอำเภอประกอบไปด้วย “ตำบล” (Mukim) และหน่วยย่อยสุดคือ “หมู่บ้าน” (Kampong) โดยที่อำเภอทั้ง 4 ประกอบไปด้วย

          เบลาอิต (Belait) เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดและเป็นอำเภอที่ใหญ่ที่สุดของบรูไน มีขนาดพื้นที่ 2,724 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศบรูไน แต่มีประชากรเพียง 60,744 คน โดยมีกัวลาเบลาอิตเป็นเมืองหลวง โดยชื่ออำเภอเบลาอิตมาจากชาวเบลาอิต ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อำเภอเบลาอิทประกอบไปด้วย 8 ตำบล คือ

  • บูกิตซาวัต (Bukit Sawat)
  • กัวลาบาไล (Kuala Balai)
  • กัวลาเบลาอิท  (Kuala Belait)
  • ลาบิ (Labi)
  • เลียง (Liang)
  • เมอลิลาส (Melilas)
  • เซอเรีย (Seria)
  • ซูกัง (Sukang)

           บรูไนและมัวรา (Brunei and Muara) เป็นอำเภอที่มีประชากรเยอะที่สุด โดยมีประชากรจำนวน 279,924 คน ซึ่งเป็นประชากรกว่า 2 ใน 3 ของบรูไน และนอกจากนี้ บรูไนและมัวรายังเป็นอำเภอที่เล็กที่สุดของบรูไนอีกด้วย โดยมีพื้นที่เพียง 571 ตารางกิโลเมตร มีเมืองบันดาร์เสรีเบกาวันเป็นเมืองหลวงของอำเภอและเมืองหลวงของประเทศ อำเภอบรูไนและมัวราประกอบไปด้วย 18 ตำบล โดยที่ 6 ตำบลเป็นตำบลที่เป็นหมู่บ้านกลางน้ำ โดยทั้ง 18 ตำบลประกอบไปด้วย

  • เบอรากัสเอ (Berakas A)
  • เบอรากัสบี (Berakas B)
  • กาดงเอ (Gadong A)
  • กาดงบี (Gadong B)
  • เกียงเกห์ (Kianggeh)
  • กาลินัส (Kalinas)
  • โกตาบาตู (Kota Batu)
  • ลูมาปัส (Lumapas)
  • เมนตีรี (Mentiri)
  • เปิงกาลันบาตู (Pengkalan Batu)
  • เซงกุรอง (Sengkurong)
  • เซอราซา (Serasa)
  • บุรองปิไงอาเยอร์ (Burong Pingai Ayer)
  • เปรามู (Peramu)
  • ซาบา (Saba)
  • สุไหงเกอบุน (Sungai Kebun)
  • สุไหงเกดายาน (Sungai Kedayan)
  • ตามอย (Tomoi)

          เตมบุรง (Temburong) เตมบุรงเป็นอำเภอที่ไม่มีพื้นที่ทางบกติดกับอำเภออื่นๆ และแยกตัวออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ โดยมีรัฐซาราวัคของประเทศมาเลเซียขั้นกลาง อำเภอเตมบุรงมีพื้นที่ 1,304 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียง 8,852 คน ซึ่งเป็นอำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุด มีเมืองเปกันบังการ์เป็นเมืองหลวง ในอำเภอเตมบุรงประกอบไปด้วย 5 ตำบลคือ

  • อาโม (Amo)
  • บังการ์ (Bangar)
  • บาตูอาโปย (Batu Apoi)
  • โบกอก (Bokok)
  • ลาบู (Labu)

          ตูตอง (Tutong) เป็นอำเภอที่อยู่ระหว่างอำเภอเบลาอิตกับบรูไนและมัวรา มีพื้นที่ขนาด 1,166 ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งสิ้น 43,852 คน มีเมืองเปกันตูตองเป็นเมืองหลวง อำเภอตูตองประกอบไปด้วย 8 ตำบล คือ

  • เกรียม (Keriam)
  • กิอูดัง (Kiudang)
  • ลามูนิน (Lamunin)
  • เปกันตูตอง (Pekan Tutong)
  • รัมไบ (Rambai)
  • ตันจงมายา (Tanjong Maya)
  • เตลีไซ (Telisai)
  • อูกง (Ukong)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

          องค์กรระหว่างประเทศ บรูไนเป็นสมาชิกของเครือรัฐจักรภพ (1 มกราคม พ.ศ. 2527) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (7 มกราคม พ.ศ. 2527) สหประชาชาติ (21 กันยายน พ.ศ. 2527) องค์กรความร่วมมืออิสลาม องค์การการค้าโลก องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก พร้อมกันนั้นบรูไนยังได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมในหลายครั้ง

          ความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียง ความสัมพันธ์ระหว่างบรูไนกับประเทศที่มีพื้นที่ติดกันอย่างมาเลเซียนั้นมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น จะมีอยู่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่บ้างเช่น กรณีข้อพิพาทในเขตลิมบัง แต่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาที่หยุดการสำรวจปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าว และในที่สุดได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เมื่อบรูไนได้ยุติการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว

          ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศสิงคโปร์นั้นแน่นแฟ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกัน และต่างเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งกันและกัน ดังจะเห็นได้จากบรูไนผูกค่าเงินของตัวเองเข้ากับเงินตราของประเทศสิงคโปร์

          ความสัมพันธ์กับประเทศไทย ไทยกับบรูไนได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ในระดับกงสุลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2526 และทันทีที่บรูไนได้รับเอกราช ไทยก็ยกระดับความสัมพันธ์เป็นระดับเอกอัคราชทูต และเมื่อสถาปนาความสัมพันธ์แล้ว ไทยกับบรูไนได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในหลายครั้ง

          ไทยกับบรูไนมีความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่นกันมาโดยตลอด บรูไนนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภคจากไทย เช่น ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาล และวัสดุก่อสร้าง ส่วนไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากบรูไน และมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศบรูไนจำนวน 15,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มที่ลดลง แรงงานส่วนมากทำงานในภาคการก่อสร้าง

          ความสัมพันธ์กับประเทศอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างบรูไนกับอังกฤษมีความแนบแน่นกันโดยตลอด เนื่องจากบรูไนเป็นอดีตอาณานิคม ถึงแม้บรูไนจะเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์แล้ว อังกฤษยังคงช่วยเหลือบรูไนในด้านการทหาร ทั้งการจัดหาอาวุธและฝึกอบรม รวมทั้งให้ทหารกุรข่าประจำการที่บรูไนเพื่อเป็นทหารราชองครักษ์และพิทักษ์บ่อน้ำมัน

 

ประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์

          บรูไนมีประชากรทั้งสิ้น 429,646 คน เทียบเท่ากับจำนวนประชากรในจังหวัดบึงกาฬ ประกอบไปด้วยชาวมาเลย์ร้อยละ 65.7 ชาวจีนร้อยละ 10.3 และอื่นๆอีกร้อยละ 24 ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษและภาษาจีนถิ่น โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 25-54 ปี) มีสูงถึงร้อยละ 46.9 รองลงมาคือประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0-14 ปี) มีร้อยละ 23.82 อัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 1.62 อัตราการเกิดอยู่ที่ 17.32 คนต่อประชากร 1,000 คน ส่วนอัตราการตายอยู่ที่ 3.52 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการอพยพเข้าอยู่ที่ 2.43 คนต่อประชากร 1,000 คน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองร้อยละ 77.2 มีสัดส่วนประชากรผู้ชายต่อผู้หญิงในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน (ผู้ชาย 0.98 คนต่อผู้หญิง 1 คน)

 

ศาสนา

          ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนบรูไนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุนหนี่มัสฮับซาฟิอีย์ ร้อยละ 78.8 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 8.7 และอื่นๆอีกร้อยละ 12.5

 

วันหยุดราชการ

          วันหยุดราชการของบรูไนส่วนมากล้วนเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลาม โดยบรูไนมีวันหยุดราชการที่อ้างอิงตามปฎิทินของศาสนาอิสลาม ได้แก่ วันเกิดศาสนามูฮัมหมัด (Muhammad Birthday) วันเสด็จขึ้นสวรรค์ของศาสดามูฮัมหมัด (Israk Mikraj) วันเริ่มต้นการถือศีลอด (First Day of Ramadhan) วันละศีลอด (Hari Raya Aidil Fitri) วันประกาศใช้คำภีร์อัลกุอ่าน (Nuzul Al-Quran) วันสิ้นสุดการทำพิธีฮัจญ์ (Hari Raya Aidil Adha) วันขึ้นปีใหม่ของปฎิทินอิสลาม (Al-Hijra)

          นอกจากนี้ยังมีวันหยุดราชการที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐ ได้แก่ วันชาติ (23 กุมภาพันธ์) วันก่อตั้งกองทัพ (31 พฤษภาคม) วันเฉลิมพระชนมพรรษา (15 กรกฎาคม) ส่วนวันหยุดราชการอื่นๆ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันตรุษจีน วันคริสต์มาส

 

เพลงชาติบรูไน

          “Ya Allah lanjutkanlah Usia

Kebawah Duli Yang Maha Mulia

Adil berdaulat menaungi nusa

Memimpin rakyat kekal bahagia

Hidup sentosa Negara dan Sultan

Ilahi selamatkan Brunei Darussalam”

“ขออัลเลาะห์ทรงอำนวยพรแด่องค์สุลต่าน

ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ให้ทรงปกครองอาณาจักรด้วยความยุติธรรมและสง่างาม

และให้ประชาจงเป็นสุขชั่วกาลนาน

ขอสันติสุขจงมีแด่ชาติและองค์สุลต่าน

ขอพระเจ้าทรงคุ้มครองบรูไน นครแห่งสันติสุข”

          เพลงชาติบรูไนเป็นเพลงชาติที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงชาติของสหราชอาณาจักร โดยเพลงชาติบรูไนใช้ชื่อว่า “Allah Peliharakan Sultan” ซึ่งแปลได้ว่า “ขอพระเจ้าจงคุ้มครององค์สุลต่าน” เพลงชาติบรูไนประพันธ์โดยท่านเปองิรัน ฮาญี โมฮัมหมัด ยุซุฟ บิน เปองิรัญ อับดุล ราฮิม และประพันธ์ทำนองโดย ฮาญี อาวัง เบซาร์ บิน ซากับ เมื่อปี ค.ศ. 1947 ในสมัยที่บรูไนยังคงเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ และต่อมาได้กลายเป็นเพลงชาติของบรูไนเมื่อได้รับเอกราชแล้ว โดยที่เนื้อร้องทั้งหมดเป็นภาษามาเลย์

 

กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน

          บันดาร์เสรีเบกาวันเดิมนั้นมีชื่อว่า บรูไนทาวน์ (Brunei Town) จามประวัติศาสตร์บรูไนนั้น บรูไนได้ถือว่าเป็นนครรัฐนครรัฐหนึ่ง ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอาณาจักรและเหลือเพียงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของบันดาร์เสรีเบกาวันก็คือประวัติศาสตร์ของประเทศบรูไน และผู้คนทั่วโลกก็เรียกขานชื่อเมืองนี้ว่าบรูไนทาวน์จนกระทั่งปี ค.ศ. 1970 สุลต่านฮัสซานัล โบเกียห์ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “บันดาร์เสรีเบกาวัน” ตามสร้อยพระนามของพระราชบิดาเพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ “เสรีเบกาวัน” เป็นคำในภาษาสันสกฤตว่า “ศรีภววัน” ส่วนคำว่าบันดาร์เป็นคำในภาษามาเลย์ที่แปลได้ว่าเมืองที่มีท่าเรือ ซึ่งเป็นคำที่มีอิทธิพลมาจากภาษาอาหรับ

 

ชนชาติในบรูไน

มาเลย์

          มาเลย์ถือว่าเป็นชนชาติหลักของประเทศบรูไน โดยถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยชาวมาเลย์ในบรูไนนั้นสืบเชื้อสายเดียวกับชาวมาเลย์ในคาบสมุทรมลายู และชาวมาเลย์ในเกาะสุมตรา โดยคาดว่าชาวมาเลย์อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่โบราณ จากประวัติศาสตร์ของบรูไนที่ปรากฏก็พบว่าชาวมาเลย์นั้นอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ยุคสมัยดังกล่าว และผู้ปกครองของชาวบรูไนก็เป็นชาวมาเลย์สืบมา

          ชาวมาเลย์ในบรูไนพูดภาษามาเลย์ ซึ่งกลายเป็นภาษาราชการ โดยที่เพลงชาติก็ร้องเป็นภาษามาเลย์ ภาษามาเลย์ที่พูดกับในบรูไนมีความแตกต่างกับภาษามาเลย์ที่พูดกันในคาบสมุทรมลายูเล็กน้อยในเรื่องของสำเนียงและคำศัพท์บางคำ และในบรูไนเองก็มีการแบ่งสำเนียงย่อยออกได้อีกสามสำเนียง ได้แก่ บรูไนมาเลย์ที่ใช้ในราชการ เกอดายันใช้ในชนบท และกัมปงอาเยอร์ใช้ในชุมชนกลางน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ของบรูไน

          ชาวมาเลย์ในบรูไนนับถือศาสนาอิสลามเฉกเช่นชาวมาเลย์ในส่วนอื่นๆเช่นกัน โดยที่ศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลแทนที่การนับถือภูติผีและพราหมณ์-ฮินดูดังเดิม ซึ่งศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มาพร้อมกับการค้า และจากประวัติศาสตร์บรูไน ชาวมาเลย์ในบรูไนนับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว

 

ชาวจีน

          ชาวจีนมีเพียงร้อยละ 10 ของประเทศ โดยจากประวัติศาสตร์ บรูไนได้ทำการค้าขายติดต่อกับชาวจีนมานานแล้ว จึงมีชาวจีนอพยพมาอยู่ที่บรูไนอย่างเนืองๆ ชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากในบรูไนส่วนใหญ่เป็นชาวฮกเกี้ยน ที่มาจากมณฑลฟูเจี้ยนในปัจจุบัน และบางส่วนเป็นชาวจีนแคะและจีนกวางตุ้ง

          ชาวจีนเก่งเรื่องการพาณิชย์มาตั้งแต่อดีต และเฉกเช่นกับชาวจีนในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชาวจีนมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ โดยที่ธุรกิจห้างร้านในบรูไนส่วนมาดำเนินการโดยคนจีน

 

อิบาน

          ชาวอิบานเป็นสาขาหนึ่งของชาวดายัก ซึ่งชาวดายักคือประชากรหลักของประชากรในเกาะบอร์เนียว โดยชาวดายัคที่อาศัยอยู่ทางชายฝั่งทางเหนือของเกาะบอร์เนียวในเขตรัฐซาราวัคและบรูไนมีชื่อเรียกขานว่าชาวดายักทะเล (Dayak Laut) ซึ่งชาวดายักทะเลนี้เองที่รู้จักกันในนามของชาวอิบาน

          ชาวอิบานอาศัยอยู่ในแถบนี้มานาน และปัจจุบันชาวอิบานส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์และนับถือภูตผี โดยชาวอิบานบ้านมีเอกลักษณ์มีลักษณะเป็นเรือนยาว หรือที่รู้จักกันในนามของ “Long House” เป็นบ้านที่มีลักษณะเป็นเรือนแถวยาว อาศัยอยู่กันหลายครอบครัว ในอดีตเมื่อชาวอิบานรบชนะศัตรู ก็จะตัดหัวศัตรูมาประดับไว้ที่บ้านอีกด้วย

 

วัฒนธรรมชาวบรูไน

          วัฒนธรรมหลักของบรูไนคือวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ และศาสนาอิสลามมีอิทธิพลอย่างมาต่อวัฒนธรรมของชาวบรูไน ชาวบรูไนมีบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่ทันสมัย และประชาชนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บนหมู่บ้านที่สร้างขึ้นบนน้ำ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนของชาวบรูไนที่มีมาแต่โบราณ มีการเรียกลักษณะบ้านเรือนแบบนี้ว่า “Kampong Ayer” ซึ่งแปลว่า หมู่บ้านน้ำ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลให้ทันสมัยมีระบบคมนาคมที่เข้าถึงง่าย

          ส่วนวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเกิด การแต่งงาน การตาย ล้วนปฏิบัติตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลามเป็นหลัก และมีการผสมวัฒนธรรมมาเลย์ร่วมด้วย รวมทั้งอาหารการกิน โดยที่ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักฮาลาลของศาสนาอิสลามเท่านั้น โดยมีคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน และเครื่องปรุงส่วนผสมเป็นของที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากก็นำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง

          การแต่งกายของชาวบรูไนเป็นเช่นเดียวกับชาวมาเลย์ในถิ่นอื่นๆ โดยมากนิยมสวมใส่ Kebayaya Panjang ซึ่งเป็นเสื้อที่ปล่อยให้ยาวเลยเอวลงไปและคลุมฮิญาบ ส่วนผู้ชายใส่เสื้อมลายู สวมหมวกสีดำ สวมกางเกงและนุ่มโสร่งทับ แต่โดยมากแล้วนิยมนุ่งโสร่งเมื่ออาศัยอยู่ที่บ้าน โดยเสื้อผ้าที่ชาวบรูไนใส่ต้องไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามและไม่นิยมใส่สีเหลือง ซึ่งเป็นสีของราชวงศ์

 

การศึกษา

           ประเทศบรูไนให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยรัฐบาลกำหนดการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี โดยแบ่งเป็นช่วง อนุบาลและประถมศึกษา 7 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มัธยมปลายหรืออาชีวศึกษาอีก 2 ปี ประเทศบรูไนจัดการศึกษาในโรงเรียนรัฐให้สอดคล้องกับปรัชญาในการปกครองประเทศ คือ มลายู อิสลามและสุลต่าน ส่วนโรงเรียนเอกชน รัฐบาลก็เข้ามาดูแลให้การศึกษาสอดคล้องกัน รัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนให้ตลอดการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนของรัฐบาล ในปัจจุบันบรูไนมีการเรียนการสอนในสามภาษาคือ มลายู อังกฤษและจีน ตามชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศบรูไน

           นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนสอนศาสนาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยผู้ที่เลือกสายนี้จะต้องเรียนภาคปกติในช่วงเช้าและเรียนศาสนาในช่วงบ่าย โดยโรงเรียนสอนศาสนามีการเรียนการสอนในด้านศาสนาและภาษาอาหรับที่แตกต่างไปจากการศึกษาภาคปกติ

           ในระดับอุดมศึกษา บรูไนมีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวคือ มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม (Universiti Brunei Darussalam) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1985 และนอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนให้ทุนการศึกษาต่อในต่างประเทศอีกด้วย

 

สภาพเศรษฐกิจ

             ถึงแม้ว่าบรูไนจะไม่ใช่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เนื่องจากบรูไนเป็นประเทศที่มีประชากรน้อย แต่สภาพเศรษฐกิจของบรูไนนับว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดีประเทศหนึ่ง โดยมีผลผลิตมวลรวมประชาชาติรายหัวที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก (ที่มา: http://www.imf.org/external/pubs/ft/weo/2015/02/weodata/index.aspx)

              รายได้ของบรูไนส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ โดยคิดเป็นร้อยละ 80-90 ของรายได้การส่งออก (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 191) แต่กระนั้นด้วยความที่บรูไนเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและไม่ใช่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยี บรูไนจึงต้องนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภคและสินค้าทางเทคโนโลยีมาจากประเทศ แต่กระนั้นก็ไม่ทำให้บรูไนขาดดุลการค้าแต่อย่างไร

              ด้วยความที่บรูไนตระหนักว่าน้ำมันย่อมมีวันหมด รัฐบาลจึงได้ตั้งหน่วยงาน Economic Development and Cooperation ขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบรูไน โดยลดการพึ่งพาแหล่งรายได้จากน้ำมัน โดยเน้นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันบรูไนเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และหน่วยงานอย่าง Brunei Investment Agency (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 193) เองก็นำรายได้จากการขายน้ำมันไปลงทุนซื้อพันธบัตรในประเทศชั้นนำต่างๆ

              ประเทศบรูไนมีค่าเงินเป็นของตนเองคือ ดอลลาร์บรูไน (BND) และผู้อัตราแลกเปลี่ยนกับค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเงินคือ Treasury Board, Currency Board และ Brunei Investment Agency โดยไม่มีธนาคารกลางดังเช่นประเทศทั่วไป

 

การคมนาคมขนส่ง

          บรูไนมีระบบการคมนาคมขนส่งที่มาตรฐาน และเนื่องจากมีการจำหน่ายน้ำมันในอัตราที่ถูก ทำให้ชาวบรูไนนิยมมีรถยนต์ไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก ส่วนการขนส่งสาธารณะมีรถโดยสารประจำทาง แต่มีข้อจำกัดที่ไม่ได้ให้บริการตลอดเวลาและครอบคลุมน้อย นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง (แท็กซี่)

          บรูไนมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่เป็นของรัฐบาลสามแห่ง ตั้งอยู่ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน มัวราและกัวลาเบลาอิท และมีท่าเรือของเอกชนอยู่อีกสามแห่ง คือที่ซีเรีย มูลูตและตันหยงซือรีรัง โดยมีท่าเรือมัวราเป็นท่าเรือหลักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

          สายการบินรอยัลบรูไน (Royal Brunei Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของบรูไน และเป็นสายการบินหลักที่ให้บริการจากบรูไนเชื่อมไปยังเมืองสำคัญๆ เช่น กรุงเทพ สิงคโปร์ ฮ่องกง เมลเบิร์น ดูไบและลอนดอน (ที่มา: https://www.flyroyalbrunei.com/en/thailand/plan/route-map/) โดยสารการบินแห่งชาติบรูไนตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1974

 

การท่องเที่ยว

          บรูไนตระหนักอยู่เสมอว่าวันหนึ่งทรัพยากรที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาลอย่างน้ำมันต้องมีวันหมดลง ทำให้บรูไนหันมาพึ่งพารายได้จากทางอื่นมากขึ้น หนึ่งในสิ่งที่รัฐพยายามส่งเสริมคือด้านการท่องเที่ยว โดยที่ให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในด้านวัฒนธรรม กีฬาและธรรมชาติ แต่กระนั้นเองบรูไนก็ยังคงไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ โดยที่ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบรูไนราวๆปีละสองแสนคนเท่านั้น

          สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของบรูไนส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในบริเวณกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน และไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

          มัสยิดสุลต่านฮัจญีโอมาร์อาลีไซฟุดดิน เป็นมัสยิดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยที่สุดในประเทศบรูไน โดยเอกลักษณ์ที่สำคัญคือยอดโดมสีทองเด่นตระง่านและมัสยิดสร้างจากหินอ่อนอิตาลี โดยที่มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1958 ในสมัยของสุลต่านโอมาร์อาลีไซฟุดดิน

          หมู่บ้านน้ำ หมู่บ้านน้ำนี่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของบรูไน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงให้กับบรูไน โดยที่เป็นบ้านเรือนประชาชนที่สร้างอยู่บนแม่น้ำในเขตกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน และเป็นลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวบรูไนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ด้วยการนั่งเรือรับจ้างไปเที่ยวชมได้

          นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั้งสองแล้ว บรูไนยังมีโรงแรมและรีสอร์ทสำหรับการพักผ่อน มีชายฝั่งทะเล ป่าฝนเขตร้อนให้ทัศนศึกษา อีกทั้งยังมีสวนสนุกให้บริการอีกด้วย

 

การสาธารณสุข

          ประเทศบรูไนให้ความสำคัญกับการสาธารสุขแก่ประชาชนชาวบรูไน โดยรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจำนวนร้อยละ 2.5 ของปริมาณผลผลิตมวลรวมในประเทศ และมีนโยบาย “Health for All” (ดลมนรรจน์ บากาและชัยวัฒน์ มีสัณฐาน, 2557: 240) โดยที่มุ่งหวังจะให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ทุกคน โดยไม่เลือกเชื้อชาติ และรัฐบาลให้บริการด้านสาธารณสุขโดยไม่คิดค่าบริการแก่ประชาชนทุกคน

          ผลจากการที่รัฐบาลทุ่มเทด้านสาธารณสุข ส่งผลให้ชาวบรูไนมีอายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 77 ปี และมีจำนวนแพทย์ 1.44 คนต่อประชากร 1,000 คน และมีจำนวนเตียงต่อประชากร 2.8 เตียงต่อประชากร 1,000 คน โดยที่โรงพยาบาล Raja Isteri Pengiran Anak Saleha Hospital (RIPAS Hospital) เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นโรงพยาบาลขนาด 550 เตียง

บรรณานุกรม

    Central Intelligent Agency [Homepage on the Internet]. The World Factbook: Brunei. 2015; [Cited 2015 Oct 25]. Available from: https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/bx.html

    Brunei Tourism [Homepage on the Internet]. Brunei. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.bruneitourism.travel/index.php

    The Government of Brunei Darussalam [Homepage on the Internet]. History of Brunei. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.history-centre.gov.bn

    Nusantara Studies Center [Homepage on the Internet]. ชนพื้นเมืองในรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://nikrakib.blogspot.com /2009/12/blog-post_115.html

    The Government of Brunei Darussalam [Homepage on the Internet]. Flag of Brunei. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: https://web.archive.org/web/19990427213829/http://www.brunei.gov.bn/about_brunei/flag.htm

    Columbus Travel Media Ltd. [Homepage on the Internet]. Brunei Weather, Climate and Geography. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.worldtravelguide.net/brunei/weather-climate-geography

    Office Holiday [Homepage on the Internet]. Public Holiday in Brunei 2015. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.officeholidays.com/countries/brunei/

    The Government of Brunei Darussalam [Homepage on the Internet]. Sultan of Brunei. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.history-centre.gov.bn/sultanbrunei.htm

    Brunei Shell [Homepage on the Internet]. History of Oil and Gas. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: https://www.bsp.com.bn/main/about/history.htm

    The Commonwealth [Homepage on the Internet]. Brunei Darussalam: History. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://thecommonwealth.org/our-member-countries/brunei-darussalam/history#sthash.GnafvSr1.dpuf

    The World Bank Group [Homepage on the Internet]. International tourism, number of arrival. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://data.worldbank.org/indicator/ST.INT.ARVL

    The Brunei Times [Homepage on the Internet]. Civil War wrecks chaos in the country. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.bt.com.bn/life/2008/08/24/civil_war_wrecks_chaos_in_the_country

    International Monetary Fund [Homepage on the Internet]. World Economic Outlook Database, October 2015. [Cited 2015 Oct 25]. Available from: http://www.imf.org/external/pubs/ft/weo/2015/02/weodata/index.aspx

    Royal Brunei Airlines [Homepage on the Internet]. Route Map. [Cited 2015 October 25], Available from: https://www.flyroyalbrunei.com/en/thailand/plan/route-map/

    ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน. (2557). ประวัติศาสตร์บรูไน A History of Brunei. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    ศิริพร สมัครสโมสร. (2541). บรูไน อาณานิคมของอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

    รงค์ วงษ์สวรรค์. (2527). บุหลันลบแสงสุริยา-บรูไน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน,.

    อรอนงค์ กรุณาและคณะ. (2547). หน้าต่างสู่โลกกว้าง-มาเลเซีย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง

    อาณัติ อนันตภาค. (2527). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย บรูไนและสิงคโปร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ยิบซีกรุ๊ป.