บรูไน - ชาติพันธุ์



         บรูไน มีชื่อเต็มว่า เนการาบรูไนดารุสซาราม เป็นประเทศขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อที่ 5,765 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้ติดต่อกับ รัฐซาราวักของมาเลเซีย ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้ ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสุลต่านฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน บรูไนมีการแบ่งแยกพื้นที่การปกครองเป็น 4 อำเภอ คือ 1. บรูไน-มัวรา 2. บือเลต 3. ตูตง 4. เติมบูรง                                                               

         ส่วนจำนวนประชากรในประเทศจากข้อมูลในปีค.ศ.2010 แสดงให้เห็นว่ามีอยู่ราว 414,400 คน เป็นผู้ชาย 219,100 คน ผู้หญิง 195,300 คน (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:136)  หากจำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์พบว่า ชาวบรูไนเชื้อสายมลายูมีจำนวนประชากรมากที่สุด คือ 273,600 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ชาวจีน 45,500 คน คิดเป็นร้อยละ 15  และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ได้แก่  Iban, Penan, Kedayan, Tutong, Belait, Dusun, Murut และ Bisaya รวมกันราว 95,400 คน คิดเป็นร้อยละ6 และร้อยละ 12 (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558:136) แต่ละกลุ่มมีวิถีการดำรงชีพและลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมแตกต่างกัน สามารถขยายความได้พอสังเขปดังนี้                                             

ชาวมลายู                                                                                                                           

         ชาวมลายูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งภาคพื้นคาบสมุทรและภาคพื้นทวีป ในส่วนของภาคพื้นคาบสมุทรไม่เพียงแต่บรูไนเท่านั้นที่มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว เป็นสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาประชากรทั้งหมดของประเทศ แต่ยังมีอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนภาคพื้นทวีปคือชาวจาม ในกัมพูชาและเวียดนาม                                                                                             

         ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ชาวมลายูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในบรูไน ทั้งยังใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ แม้แต่องค์สุลต่านฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ทรงอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวเช่นกัน ทั้งยังทรงมีพระราชศรัทธาในศาสนาอิสลามอย่างแน่วแน่ ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่าชาวบรูไนส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูผู้นับถือศาสนาอิสลาม หรือกล่าวอีกชื่อหนึ่งว่า ชาวมลายูมุสลิม ดังนั้นวิถีการดำรงชีวิตจึงเป็นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม เช่น หลักการปกครอง, การพิจารณาคดีความตามหลักกฏหมายชารีอะห์ และการศึกษา เป็นต้น การประกอบอาชีพนั้นชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่นิยมรับราชการและทหาร ทั้งยังได้รับโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญระดับสูงทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน          

ชาวจีน                                                                                                                              

         ชาวจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอาศัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับชาวจีนในบรูไน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าชาวจีนและดินแดนแห่งนี้มีการติดต่อกันมาเป็นระยะเวลากว่าพันปี อย่างเร็วที่สุดคือในปีค.ศ.1375 ตรงกับสมัยราชวงศ์หมิงของจีน ได้ส่ง Ong Sun Ping ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของราชสำนักจีนมายังบรูไนเพื่อติดต่อทำการค้า ในเวลาต่อมายังได้เชื่อมสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานกับบุตรสาวของสุลต่าน Muhammad Shah (Lee Khoon Choy, 2013:530)  แต่ช่วงที่ชาวจีนอพยพเข้ามาในบรูไนเด่นชัดที่สุดคือราวคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นระยะที่บรูไนตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันมีแรงงานชาวจีนอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน เนื่องจากการค้นพบทรัพยากรน้ำมันในปีค.ศ.1929 ส่งผลให้บรูไนต้องการแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 จำนวนชาวจีนในบรูไนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 26 และปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 15 ชาวจีนเหล่านี้มีบางส่วนนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋าและขงจื๊อ ประกอบอาชีพก่อสร้าง ธุรกิจ การค้า การโรงแรม การขนส่ง การทำเหมืองแร่ และโรงงาน (ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน , 2557:138)                                                       

         อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาสำคัญของชาวจีนในบรูไนคือ แม้ว่าบางครอบครัวจะดำรงชีวิตอยู่ในบรูไนมาหลายช่วงอายุคนแต่ยังคงอยู่ในสถานะคนไร้สัญชาติ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากถูกยกเว้นการจ้างแรงงาน และไม่สามารถถือครองที่ดินภายในประเทศได้ แต่ปัจจุบันทางการบรูไนได้ออกหลักฐานที่เรียกว่า “red IC holders” เป็นบัตรประจำตัวเพื่อแสดงว่าผู้ที่ถือบัตรนี้คือผู้อาศัยถาวร (David Deterding and Salbrina Sharbawi, 2013:5) และหากเมื่อใดก็ตามที่ชาวจีนเหล่านี้หันมารับนับถือศาสนาอิสลามจะเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อการขอสถานะเป็นผู้อาศัยถาวรภายในประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น (MINORITIES IN BRUNEI, 2013)            

กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ                                                                                                               

          กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในบรูไน ประกอบไปด้วย Dusun ,Iban, Murut, Kedayan, Tutong, Penan ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 6 กลุ่มนี้ ชาว Dusun เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดราวร้อยละ 6.3 รองลงมาคือชาว Iban ร้อยละ 4.7 กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้บางส่วนยังคงศรัทธาในความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บางส่วนเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ บางกลุ่มมีภาษาเป็นของตนเอง เช่น ชาว Kedayan มีถิ่นอาศัยในบรูไน ซาบาห์ ซาราวัก และลาบวน ใช้ภาษา Kedayan ในการสื่อสาร ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ชาวนา และชาวประมง (MINORITIES IN BRUNEI, 2013)                                                                     

          ประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองประสบปัญหาเช่นเดียวกับชาวจีน คือ เป็นบุคคลไร้สัญชาติ ทั้งนี้ส่งผลต่อการจ้างงาน การได้รับการศึกษา การสาธารณสุข เนื่องจากไม่มีสถานะในการเป็นพลเมืองของรัฐ แม้แต่เป็นผู้พำนักถาวร เช่น สิทธิ์ที่ชาวจีนได้รับ ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวอาจมีส่วนสืบเนื่องมาจากกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่ได้ทำการแจ้งเกิดกับหน่วยงานของรัฐบาล ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาบุคคลไร้สัญชาติขึ้นกระมั่งกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆที่ตนควรได้รับจากรัฐ (BRUNEI 2013 HUMAN RIGHTS REPORT, 2013)                                                  

สรุป                                                                                                           

         อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าบรูไนดารุสซาราม แปลว่า “นครแห่งสันติสุข” กอปรกับทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้บรูไนเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ชาวบรูไนมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 26 ของโลก ถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาค ทั้งยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลสามารถจัดสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าบรูไนเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแต่ยังคงประสบปัญหาการว่างงาน ปัญหานี้อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่ของประเทศ เนื่องจากข้อมูลในปีค.ศ.2014 มีตำแหน่งงานว่างถึง 44,274 ตำแหน่ง ขณะที่มีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 12,275 คน แต่รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการและบริษัทต่างๆ จ้างแรงงานท้องถิ่นให้มากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้แรงงานท้องถิ่นไม่เลือกงาน(สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558:143) เนื่องจากชาวบรูไนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มลายูนิยมอาชีพรับราชการและทหาร ส่วนชาวจีนมักประกอบอาชีพก่อสร้าง ธุรกิจ การค้า การโรงแรม การขนส่ง การทำเหมืองแร่ และการทำโรงงาน(ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, 2557:138)                                                                                     

          ทั้งนี้สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นนอกจากชาวมลายูที่ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างเต็มที่แล้ว ยังมีชาวจีนและกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองต่าง ได้แก่ Iban, Penan, Kedayan, Tutong, Belait, Dusun, Murut และ Bisaya ยังคงมีประเด็นปัญหา คนไร้สัญชาติ และการที่รัฐบาลพยายามกดดันให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ละทิ้งความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติตลอดจนศาสนาคริสต์ และหันมารับนับถือศาสนาอิสลาม (World Directory of Minorities and Indigenous Peoples, 2016)                                                                              

          อย่างไรก็ตามการที่บรูไน ได้ชื่อว่า “นครแห่งสันติสุข” ความหมายดังกล่าวเป็นที่ทราบดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันเราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การที่ประชาชนภายในประเทศไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องใดๆนั้น อาจเนื่องมาจากระบอบการปกครองและกฎหมายชารีอะห์ที่มีบทลงโทษรุนแรงตามความผิดที่กระทำ ทั้งนี้ปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่มลายูมุสลิมยังคงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสนอให้รัฐทราบถึงผลกระทบที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้รับ                                                               

บรรณานุกรม

    ดลมนรรจ์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน . (2557). ประวัติศาสตร์บรูไน. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). รายงานฉบับสมบูรณ์(Final Report) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)ในประเทศอาเซียนที่กลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจ (กัมพูชา สปป.ลาว บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์). กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

    David Deterding and Salbrina Sharbawi. (2013). Brunei English A New Variety in a Multilingual Society . Hongkong.

    Lee Khoon Choy. (2013). GOLDEN DRAGON AND PURPLE PHOENIX The Chinese and Their Multi-Ethnic Descendants in Southeast Asia. Singapore: World Scientific Publishing Co.Pte.Ltd.

    BRUNEI 2013 HUMAN RIGHTS REPORT. (2013). เรียกใช้เมื่อ 07 July 2016 จาก http://www.state.gov/documents/organization/220391.pdf

    MINORITIES IN BRUNEI. (2013). เรียกใช้เมื่อ 07 July 2016 จาก http://factsanddetails.com/southeast-asia/Brunei/sub5_10b/entry-3610.html

    World Directory of Minorities and Indigenous Peoples. (2016). Brunei Darussalam - Dusun,Murut, Kedayan, Iban, Tutong, Penan. เรียกใช้เมื่อ 15 June 2016 จาก World Directory of Minorities and Indigenous Peoples: http://minorityrights.org/minorities/dusun-murut-kedayan-iban-tutong-penan/