ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Database of Southeast Asian Sociocultural Information

ประวัติศาสตร์ บ้าน และอัตลักษณ์ภูมิภาค



  • ลิขสิทธิ์ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • รูปแบบลิขสิทธิ์ : ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง (CC BY-NC-ND)

รัฐบาลอินโดนีเซียนำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของหมู่เกาะในรูปแบบของการจัดแสดง เพื่อสะท้อนคามเป็นหนึ่งเดียวของชาติ Taman Mini Indonesia Indah เมืองจำลองที่สร้างขึ้นจาร์กาตา ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นได้สร้างเมืองจำลองในจังหวัดสุลาเวสีตอนใต้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินตามแนวทางของนักวิชาการท้องถิ่น รูปแบบการจัดแสดงไม่แตกต่างไปจากเมืองจำลองที่จาร์กาตา บ้านทำหน้าที่บอกเล่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พบในพื้นที่จังหวัด บทความจะพยายามแสดงให้เห็นถึงข้อคำนึงทางประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงในเมือง จำลอง ทั้งของผู้สร้าง/วางแผน ผู้ที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ ผู้สร้าง/วางแผนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุทดแทน หากกลับเน้น “ความจริงแท้” ทางวัฒนธรรมในการออกแบบ นักวางแผนใช้เมืองจำลองสะท้อนความเป็นภูมิภาคที่ผูกโยงกับความเป็นมาของ พื้นที่ และอยู่ในกระแสของโลกสมัยใหม่ การแสดงออกถึงประเพณีในแบบดังกล่าวนี้แตกต่างไปจากการนำเสนอวัฒนธรรมของรัฐ ที่ไม่ได้ใส่ใจต่อกระบวนการวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง

เกริ่นนำ

ในสังคมอินโดนีเซียร่วมสมัย รัฐมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้อยู่ภายใต้ความสมานฉันท์แห่งชาติ ในขณะที่นโยบายรัฐกลับมีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างความต้องการขจัดความแตก ต่าง ซึ่งเป็นแนวทางของการรวมรัฐเป็นศูนย์กลาง กับการหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้นภายใต้ความประสงค์ของรัฐ อาทิ การกล่าวถึงความสำคัญของความแตกต่างเพื่อการท่องเที่ยว และรายได้เข้ารัฐที่มาจากต่างประเทศ


พิพิธภัณฑ์รัฐ (ซึ่งมีจำนวนประมาณ 140 แห่ง) พยายามแก้ไขความขัดแย้งที่กล่าวถึง เทเลอร์ (Taylor) นิยามแนวคิด nusantaraที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ตามต่างจังหวัด (nusantara หมายถึงหมู่เกาะ แต่บ่อยครั้งใช้ในความหมายของชาติ)


…ผู้ชมจะได้ชมลักษณะทางกายภาพ (ภูมิประเทศ) จากนั้นเป็นการเรียนรู้ความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ในแต่ละเขตภูมิภาค ต่อมาพิพิธภัณฑ์นำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมและประวัติของแต่ละจังหวัด ในส่วนสุดท้าย ส่วนการจัดแสดง nusantaraเปรียบเทียบวัฒนธรรมท้อง ถิ่นในพื้นที่กับแห่งหนตำบลอื่นในอินโดนีเชีย แต่ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้สร้างความแตกแยกเพราะอยู่ภายใต้อินโดนีเชียที่ เป็นหนึ่ง (Taylor 1994:80-81)


ภาพโดยทั่วไปนำเสนอด้วยตุ๊กตาชายและหญิงที่สวมใส่ชุดแต่งงานของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ แต่ความแตกต่างเช่นนี้ปรากฏอยู่ภายใต้ Taman Mini Indonesia Indah(หรือ เรียกได้ว่า “Beautiful Indonesia”) ในจาร์กาตา เพื่อเป็นทางออกให้กับความขัดแย้ง สถานที่ดังกล่าวในรูปแบบของเมืองจำลองจัดแสดง “เผ่าพันธุ์” หลากหลายของอินโดนีเชีย บ้านพื้นถิ่นต่างๆ ได้รับการจำลองและจัดวางอยู่รอบทะเลสาบที่ขุดขึ้นมา เกาะต่างๆ เป็นภาพตัวแทนของเกาะในดินแดนหมู่เกาะของอินโดนีเชีย การจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้านเข้ามาเป็นสิ่งที่สร้างความ สมบูรณ์ให้กับการนำเสนอ (Perberton 1994)


จังหวัดสุลาเวสีตอนใต้ได้พัฒนาเมืองจำลอง “ขนาดย่อม” ของตนเอง แม้ว่าเมืองจำลองดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยแนวคิดของการสร้าง Taman Mini Sulawesi เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับเกาะเพียง 4 เกาะ และขาดความสนใจต่อจังหวัดอีก 3 แห่ง จนในที่สุดเกิดเป็น “Sulawesi Selatan Dalam Miniatur” หรือ เมืองจำลองสุลาเวสีใต้ (South Sulawesiin Miniature) โดยการใช้บ้านเป็นตัวแทนชนเผ่า 4 กลุ่มหลัก (etnis) ของจังหวัดสุลาเวสีใต้ นอกจาก “ชนสี่กลุ่ม” (four etnis) ที่ได้วางแผนไว้แต่แรก เมืองจำลองยังจัดแสดงบ้าน ที่ทำหน้าที่เป็นภาพตัวแทนของอำเภออีก 23 แห่งในทำนองของ “Beautiful Indonesia” นโยบายที่มาควบคู่กับการจัดตั้งเมืองจำลองคือ กระแสของการ “สำรวจและขึ้นทะเบียน” จารีตประเพณี

(inventarasasi) ด้วยกระบวนการสำรวจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ภูมิภาคต่างๆ ได้สำรวจและขึ้นทะเบียนความเชื่อและการปฏิบัติในท้องถิ่น ภายใต้โครงการของกระทรงการศึกษาและวัฒนธรรม  การดำเนินงานดังกล่าวได้สร้างชุดแบบแผนทางการของประเพณีวัฒนธรรมที่แท้ ชุดคำอธิบายนี้สร้างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมที่ยังไม่ได้มีการสำรวจมา ก่อน ในสุลาเวสีใต้กระบวนการสำรวจและขึ้นทะเบียนประเพณีที่แท้สามารถนิยามด้วย “Lagligologi”อันหมายถึงมหากาพย์ คำว่า I La Goligo อธิบาย จุดกำเนิดของผู้ปกครองในยุคก่อนอาณานิคม และยังเป็นคำอธิบายสุวาเวสีตอนใต้ก่อนยุคสมัยใหม่ (นั่นหมายถึงช่วงเวลาก่อนวัฒนธรรมอิสลามและก่อนอาณานิคม) กระบวนการอธิบายประวัติศาสตร์เช่นนี้มาจากความคิดในการจัดวางลำดับเหตุการณ์ ไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา Errington (1989b) กล่าวว่าวิธีการสร้างความรู้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นพร้อมๆกับพัฒนาการของ รัฐ-ชาติ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมไปกับเรื่องราวของการกำเนิดรัฐ


เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่งของพัฒนาการอุทยานคือ การนำเอาวัฒนธรรมมารับใช้การท่องเที่ยว ปี 1991 ได้รับการประกาศให้เป็น “ปีการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย” นี่เองที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการสำรวจและสร้าง “ประเพณี” ดังจะเห็นได้ว่าในปี 1990 ชาวสุลาเวสีตอนใต้เริ่มจัดงานวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ด้วยการจัดแสดงวิถีชีวิตพื้นถิ่น ณ ย่านใจกลางเมือง Ujungpandang (Karabosi) เป็นเวลาแรมสัปดาห์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น (1990-1991) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียสนับสนุนการจัดเทศกาลอินโดนีเซียในสหรัฐ อเมริกา นักแสดงและช่างหัตถศิลป์จำนวนมากจากสุลาเวสีตอนใต้เข้าร่วมงานดังกล่าวหลาย สัปดาห์ หรือแม้แต่การแสดงงานต่อเรือโบราณ (perahu) ในวอชิงตัน ในปีเดียวกันนั้น อุทยานเมืองจำลองสุลาเวสีใต้เปิดตัวสู่สาธารณชน อิทธิพลการออกแบบ “Beautiful Indonesia” ปรากฏอย่างชัดเจนในรูปลักษณ์ของเมืองจำลอง ทะเลสาปที่เกาะสุลาเวสีปรากฏอยู่ตรงกลาง แผนผังอธิบายเส้นทางของรถเคเบิลให้บริการท่องเที่ยวทั่วพื้นที่ แม้ขนาดของเมืองจะย่อมกว่าก็ตามที แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบอยู่ในทิศทางที่ต่างไปจาก “Beautiful Indonesia” อย่างสิ้นเชิง ความพยายามคำนึงถึงทั้งความเก่าและความทันสมัยในการออกแบบเมืองจำลองสุลาเว สีนี้เองย้ำถึงการสร้างความจริงแท้และความตระหนักเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง ที่กรอบในการทำงานที่ต่างออกไป หากเราจะพูดอย่างรวบรัด อาจกล่าวได้ว่า “Beautiful Indonesia” ในจาการ์ตาคือตัวแทนการรวมอำนาจของรัฐบาลแห่งชาติ หรือการวาดภาพของประเพณีราชสำนักจนถึงการสร้างรูปแบบการแต่งกาย เมืองจำลองสุลาเวสีตอนใต้คือมุมมองที่มาจากปริมณฑล


การริเริ่มโครงการมาจากนักวิชาการท้องถิ่น ทั้งนักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการพูดถึงประวัติศาสตร์ภูมิภาคจากมุมมองของท้อง ถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การต่อต้านลัทธิอาณานิคม มุมมองประวัติศาสตร์ไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดของ Pemberton ดังที่ปรากฏใน “Beautiful Indonesia” การสร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นนี้เป็นเสมือนการต่อรองกับผู้ ที่มีอำนาจจากส่วนกลาง

เมืองจำลองสุลาเวสีตอนใต้

เมืองจำลองแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำ Jeneberangชานเมือง Ujungpandang(หรือที่เคยรู้จักกันในนาม Macassar) เมืองจำลองดังกล่าวสร้างในพื้นที่ที่เป็นป้อมศตวรรษที่ 17 Benteng Somba Opu ป้อมค่ายดังกล่าวเคยทำหน้าที่พิทักษ์ปากแม่น้ำ Jeneberangในขณะที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ Goaเรียก ได้ว่าเป็นเมืองท่าสำคัญในแผ่นดินตอนใต้ จนกระทั่งชาวดัตช์เข้ามามีอิทธิพลการค้าและยึดเมือง Macassar ได้ในที่สุดเมื่อปี 1669 ด้วยความช่วยเหลือของผู้ปกครองทางเหนือของชาวบูกี (Buginese) แห่งนคร Bone and Soppeng ป้อมค่าย Benteng Somba Opuอัน หมายถึง “นครหลวงที่ป้องกันอย่างแน่นหนา” เป็นที่มั่นสุดท้ายในการสู้รบ เมื่อมีการทำสนธิสัญญา ป้อมค่ายนี้ได้รับการตกลงให้คงสภาพไว้ แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ป้อมค่ายกลับถูกทำลายด้วยกระบวนการต่อต้านของชาว Macassar และสัมพันธมิตร


เลียวนาร์ด อันดายา (Leonard Andaya) บันทึกไว้เมื่อปี 1981 ว่า สงครามในครั้งนั้นยังคงเป็น “ความขื่นขม” สำหรับชาว Macassar เพราะอาณาจักรของอินโดนีเซียแท้กลับถูกทำลายด้วยชนอินโดนีเซียอื่นที่เข้า ข้างชาวตัตช์หรือผู้ล่าอาณานิคม (1981:2) ในการประเมินประวัติศาสตร์ภายหลังอิสรภาพ และการเสาะหาวีรบุรุษแห่งชาติ ชาวบันกีและมากาซซาร์ได้โต้เถียงกันมาตลอดว่าระหว่างสุลต่านฮาซานุด ดิน(Sultan Hasanuddin) แห่งเกา (Goa)กับ อารุง ปาลักกา (Arung Palakka) แห่งเมืองโบน-โซปเปง (Bone-Soppeng) ใครคือวีรบุรุษที่แท้ของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามนครสุดท้ายฮาซานุดดินได้รับการบูรณะและปรับปรุงเป็นอุทยาน วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสุลาเวสีตอนใต้


วิธีการจัดการโบราณสถานแห่งนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย กำแพงเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการขุดค้นและสร้างขึ้นใหม่ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ยังคงสภาพตามที่ได้พบครั้งแรก เพื่อสะท้อนให้เห็นความเสียหายจากสงครามกับชาวดัตช์ ลักษณะเช่นนี้ต่างออกไปจากแหล่งประวัติศาสตร์อื่นๆ ของอินโดนีเซียที่เป็นการสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ดังเช่นบุโรพุทโธ นักโบราณคดีซ่อมแซมโบราณสถานด้วยความระมัดระวังให้สอดคล้องตามงานช่างที่ ปรากฏ ป้อมค่ายพยายามสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมในรูปแบบของบ้านเรือนและการตีความ อื่นๆ ที่ผูกโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน สภาพทั่วไปแสดงนัยของการเข้าสู่ยุคใหม่ของสุลาเวสีตอนใต้ สุลาเวสีจึงไม่ใช่ดินแดนที่เป็นเอกเทศอีกต่อไป แต่เป็นดินแดนที่เป็นอิสระในเครือข่ายการค้าและการพาณิชย์ของโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้ อุทยานยังเสริมความรู้เกี่ยวกับอาณานิคมในอดีต พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางจัดแสดงตึกอาณานิคมที่จำลองอย่างที่เรียกว่า “ทุกกระเบียดนิ้ว” อาคารดังกล่าวเป็นเรือนพักของข้าหลวงชาวดัตช์ เทคนิคการก่อสร้างสะท้อนความเป็นท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ตั้งชื่อตามปราชญ์กาเรียง ปาตติงกาโลงแห่งตาลโล (Karaeng Pattingaloang of Tallo) พันธมิตรหลักของแผ่นดินเกา (Goa) เขามีชื่อเสียง ทั้งการใช้ภาษายุโรปหลายภาษาและการทำสนธิสัญญาระหว่างเกาและพันธมิตรและ ประเทศมหาอำนาจต่างชาติ ในปัจจุบัน ป้อมค่ายยังคงกำแพงหลักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของขอบเขต ส่วนพื้นที่ด้านในอุทยานประกอบด้วยบ้านจำลองตามลักษณะของวัฒนธรรมชนเผ่า 4 กลุ่มใหญ่ (etnis) และพิพิธภัณฑ์กาเรียง ปาตติงกาโลง และหอประชุมใหญ่และพื้นที่สำหรับการแสดง หรือบารุงกา ซอมบา โอปู (Baruga Somba Opu)
ทางเข้าอุทยานเป็นสะพานเชื่อมเหนือแม่น้ำเจเนเบรัง (Jeneberang River) ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวในบริเวญอูจุงปานดัง (Ujungpandang) เมื่อข้ามไปด้านใน คุณจะผ่านพื้นที่นิทรรศการที่ประกอบด้วยกระท่อมเล็กๆ (ที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมมากนัก) กลุ่มเรือนดังกล่าวเป็นส่วนการปกครองของรัฐบาล กองกำลังทหาร มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และอื่นๆ จากนั้น ส่วนอยู่รอบนอกแสดงบ้านเรือนดั้งเดิมที่มาจากพื้นที่การปกครองย่อยหลายแห่ง ในสุลาเวสีตอนใต้ อาคารเหล่านี้นำเสนอความเป็นภูมิภาคมากกว่ากลุ่มทางวัฒนธรรม (etnis) เรือนที่จัดแสดงสะท้อนความหลากหลายของบ้านในพื้นที่อิสลามของสุลาเวสีตอนใต้ บ้านที่คัดเลือกมาจัดแสดงในอุทยานดูจะมีลักษณะเกี่ยวพันกับอำนาจเหนือ ธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน ส่วนการจัดแสดงดังกล่าวสะท้อนความหลากหลายของลักษณะปลีกย่อยของอาคาร แต่มีโครงสร้างหลักร่วมกัน รวมถึงการสะท้อนความแตกต่างของอาคารที่ตั้งอยู่ใจกลางอุทยานภายในป้อม ความหมายของ “ความเป็นดั้งเดิม” ดูจะไม่ทันสมัย บางสิ่งที่เป็นของหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางเมืองสมัยใหม่ ลักษณะเช่นนี้ตรงข้ามกับความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ จากบ้านของส่วนการปกครองย่อย เป็นที่ตั้งของหอศิลป์ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยคุณลักษณะสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน มีส่วนที่เป็นเรือนชานและจตุรัสตรงกลางสำหรับการแสดงทางวัฒนธรรม พื้นที่ภายนอกกำแพงนี้เชื่อมโยงกับพื้นที่ตลาดศิลปะหรือปาซาร์ เสนี (Pasar Seni)


เมื่อเดินต่อเข้าไปในป้อม คุณผ่านแถวบ้านที่มีขนาดเล็กและมีลักษณะการก่อสร้างที่เหมือนกัน ผนังรอบไม้ไผ่ ด้านหน้าเป็นไม้ และมุงหลังคาด้วยหญ้า กลุ่มอาคารดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคม และเป็นเรือนพักของชาวบ้านที่ย้ายจากภายนอกป้อม เนื่องจากการเวนคืนที่ดินในการทำทางเข้าสู่อุทยาน ขนาดและรูปแบบบ้านที่ธรรมดานี้เปิดทางให้กับการจัดแสดงหลักของอุทยานที่นำ เสนอวัฒนธรรม 4 กลุ่ม (etnis) ส่วนการจัดแสดงจะเน้นขนาดที่ใหญ่และเป็นการจำลองบ้านของผู้ปกครองและพ่อค้า
ส่วนในของอุทยานใช้เส้นทางการชมด้วยถนนสายหลักที่มีการปลูกต้นปาล์มสลับกับ ทุ่งนาที่ยังคงมีการเพาะปลูก สะพานเป็นจุดเชื่อมทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนใน และป้ายบอกทางสลักไว้ว่า Kawasan Rumah Adat(ส่วนจัดแสดงบ้านแบบ ดั้งเดิม/ประเพณี) ประกอบด้วย 4 กลุ่มวัฒนธรรมของสุลาเวสีตอนใต้ มากาสซาร์ (Macassar) บูกิส (Bugis) แมนดาร์ (Mandar) โตรายา (Toraja)


Etnisยังคงเป็นคำที่ไม่ได้รับการบัญญัติ แต่เป็นคุณศัพท์ “ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสังคมหรือระบบวัฒนธรรมหรือสังคม ซึ่งมีความหมายหรือสถานภาพที่มาจากการปฏิบัติสืบเนื่อง ศาสนา หรือภาษา” ในอุทยาน Etnisใช้ในลักษณะที่เป็นคำนาม ซึ่งหมายถึงกลุ่มเฉพาะ หรืออย่างที่คาน (Kahn) เอ่ยถึงกรอบความคิดทางมานุษยวิทยาที่ว่าด้วยกลุ่มเฉพาะที่มีอัตลักษณ์ของตน เอง และแตกต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่น ทั้งนี้ มาจาก “หน่วยวัฒนธรรม” (bits of culture) ที่บอกได้อย่างชัดเจน แนวคิดของการแบ่งกลุ่มสังคมวัฒนธรรมทางตอนใต้ของสุลาเวสีเป็น 4 กลุ่มพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ตัวอย่างเช่นเอกสารชิ้นหนึ่งที่พิมพ์ขึ้นในทศวรรษ 1970 ของกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม กล่าวถึงกลุ่มต่างๆ ในลักษณะที่พัฒนามาจาก “หน่อ” (rumpan) เดียวกันเฉกเช่นไผ่ แต่ละกลุ่มแยกย่อยออกไปแต่มีหน่วยที่ร่วมกันบางอย่าง อย่างไรก็ตาม เอกสารอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1985 จากหน่วยงานเดียวกันกลับกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่มหรือ 4 suku bangsa utama ในช่วง 2 – 3 ทศวรรษมานี้ ทางการสร้างชุดอธิบายความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตำแหน่งของการจัดวางบ้านจำลองยังสัมพันธ์กับลำดับความสำคัญของกลุ่ม ชาติพันธุ์ทั้งสี่ เช่น บูกิสหันหน้าชนกับโทรายา เพื่อย้ำความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน แมนดาร์ตั้งใกล้กับมากาสซาร์ เพื่อบ่งบอกความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีมาแต่เดิม และเหนืออื่นใดแมนดาร์และมากาสซาร์ถูกจัดเป็นส่วนย่อยของบูกิสไปในขณะเดียว กัน


ภายในส่วน Kawasan Rumah Adatปรากฏรูปแบบบ้านที่แตกต่างตามที่พบได้ในโทราจา“imposing, curving roofs atop an up-swept ridge pole”รวมถึงบ้านหลังคาทรงสูงที่เป็นของมุสลิม ดังที่ปรากฏในบูกิส มาคาสซาร์ และแมนดาร์


แม้ว่า “Beautiful Indonesia” จะเป็นเมืองจำลอง แต่ความยิ่งใหญ่กลับเป็นฉายานามของสุลาเวสีใต้ หรืออย่างน้อยที่สุดคุณศัพท์ดังกล่าวสามารถนิยามส่วนใจกลางของ Kawasan Rumah Adatเปม เบอร์ทัน (Pemberton) กล่าวถึงการจำลอง “BeautifulIndonesia” ไว้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นประหนึ่งอินโดนีเซียในอุดมคติ สถานที่อันสมบูรณ์ของการนำเสนอวัฒนธรรมด้วยการมองจากระยะไกล (1994:153)ในขณะที่สจ๊วร์ต (Stewart) แสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้เมืองจำลองในการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ “สำหรับหน้าที่พื้นฐานของการจำลองคือการนำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กลับมามี ชีวิตโดยปราศจากสื่อกลาง แต่นั่นกลับเป็นการลบประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ และปล่อยเราให้จมอยู่กับสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันขณะ” (Stewart 1993:60) บ้านต่างๆ ใน Kawasan Rumah Adatมาจากความพยายามในการจำลองบ้านแบบ เดิมให้ถูกต้องมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านขนาดใหญ่ของผู้ปกครอง คหบดี และพ่อค้า ในสุลาเวสีใต้ บ้านเป็นเครื่องหมายสำคัญของการจดช่วงชั้นและสถานภาพ ขนาดของบ้านเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่ง บ้านที่แสดงฐานะทางสังคมที่แตกต่างขึ้นอยู่กับจำนวนเสาเรือน จำนวนฝาเรือน จำนวนของขั้นบันได หรือตำแหน่งของส่วนขยายเรือน (โปรดดู Robinson 1993) ขนาดของบ้านที่ใหญ่โตเมื่อเปรียบเทียบกับชาวบ้านทั่วไปเป็นเครื่องหมายสำคัญ ที่บ่งบอกฐานะช่วงชั้นทางสังคมในสุลาเวสีตอนใต้ ปราสาทของของชนชั้นสูงประกอบด้วยเครื่องทรงศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งย้อนกลับไปในสมัยก่อนอิสลาม เครื่องทรงเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของราชอำนาจ บ้านกำหนดพฤติกรรมของผู้ที่เข้าหา เพื่อการแสดงออกที่เหมาะสม เช่น จำนวนขั้นบันไดจะเป็นเลขคี่ เพื่อให้ผู้มาเยือนก้าวเท้าที่ถูกต้องเข้าสู่เคหสถาน ครั้นเมื่อเข้าสู่ชายคาเรือน ผู้เยี่ยมเยือนจะนั่งบน tampingเป็น เฉลียงที่อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นห้องรับรอง (ชานเรือน – ผู้แปล) ผู้เยือนจะเข้ามาในบริเวณดังกล่าวเมื่อได้รับการเชื้อเชิญ ด้วยเหตุนี้เอง ตำแหน่งของผู้เข้าเยี่ยมจะอยู่ต่ำกว่าผู้ที่เป็นเจ้าของเรือน


ผู้วางแผนเมืองจำลองในสุลาเวสีใต้ประกอบด้วยนักวิชาการหลายสาขา นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และสถาปนิก โดยได้รับการแต่งตั้งจากผู้ปกครองเพื่อการสร้างบ้านที่เป็นตัวอย่างของ 4 ชาติพันธุ์ในสุลาเวสีใต้ นักวิชาการพยายามอย่างมากที่จะแสดงความจริงแท้ของวัฒนธรรม ความจริงแท้ที่ปรากฏอยู่ตามอาคาร อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางประการเกิดขึ้น เพราะในช่วงปี 1950 – 1965 กบฎอิสลามได้จับกุมชาวบ้านและรื้อหรือเผาทำลายบ้านขนาดใหญ่ของคหบดี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศักดินา


ผู้อำนวยการของอุทยาน (ในฐานะนักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์) ได้พยายามซื้อบ้านที่ผุพัง เพื่อย้าย บูรณะใหม่ และนำมาจัดแสดง แต่การเจรจากับเจ้าของกลับไม่ประสบความสำเร็จ เขาได้จ้างให้สถาปนิกคัดลอกทุกรายละเอียดของตัวอาคาร อาทิ บ้านวาโย (Wajo House) ซึ่งเป็นเรือนที่มีความสวยของพ่อค้าชาวบูกิส เจ้าของคนปัจจุบันปฏิเสธที่จะขายบ้านแม้สภาพจะแย่เต็มที เพราะบางบ้านมีผู้พำนัก นั่นคือ วิญญาณของสุนัขที่คุ้มครองครอบครัวของเขา ฉะนั้นหากเราพิจารณาถึงทัศนคติในการทำงานของผู้อำนวยการ เราจะเล็งเห็นต้นขั้วของความพยายามในการพัฒนาอุทยานพิพิธภัณฑ์ที่คงบริบททาง ประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทัศนคติในยุคใหม่ต่อการอนุรักษ์อดีต


ตามแผนดั้งเดิมในการพัฒนาอุทยาน คณะกรรมการมีทุนในการสร้างบ้านจำนวน 4 หลัง (แต่ละหลังนำเสนอ/เป็นตัวแทนแต่ละกลุ่มหรือ etnis) และส่วนพิพิธภัณฑ์และอาคารขนาดใหญ่เพื่อการประชุมและการแสดง (the Baruga) Macassarese นำเสนอด้วยบ้านขนาดใหญ่ทีสร้างขึ้นโดยช่างจากพื้นที่คายัง[1] (Kajang)บ้านของพ่อค้าวาโย (Wajo) เป็นตัวแทนของชาวบูกิส (Bugis) และชาวโตรายา (Toraja) นำเสนอด้วยบ้านจำลองขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า tongkonanในตำบลตานา โตรายา (Tana Toraja) 


ส่วนภูมิภาคมานดาร์ (Mandar) กลับไม่ปรากฏบ้านที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะการเกิดจลาจลขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง นักพัฒนาอุทยานแก้ปัญหาด้วยการใช้ Lontara หรือสมุดใบลานที่บันทึก ความรู้ต่างๆ ก่อนยุคอาณานิคม สมุดนี้เป็นข้อมูลสาแหรกอ้างอิงอำนาจของชนชั้นปกครอง นักพัฒนาเหล่านั้นนำเอาเนื้อหาภายในมาประยุกต์ใช้ในการสร้างบ้านจำลองของชน ชั้นปกครอง[2] ที่พำนักของชนชั้นสูงที่สร้างขึ้นกลายเป็นตัวแทนของศูนย์กลางการจัดช่วงชั้น ทางสังคม เครื่องสูงภายในเรือนเป็นศูนย์รวมอำนาจของวิญญาณและพลังจักรวาล ด้วยเหตุนี้ สมุดใบลานจึงเป็นแหล่งอ้างอิงความจริงแท้ในสายสัมพันธ์ต่ออำนาจที่มีมาแต่ อดีต และการบอกว่าสิ่งใดเป็นประเพณี การสร้างความชอบธรรมดังกล่าวกลายเป็นวิธีการในการสร้างความจริงแท้ไปกลายๆ


บ้านในพื้นที่ คาวาซาน รูมาห์ อาดาท์ (Kawasan Rumah Adat) สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือจากภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ช่างยังคงยึดเทคนิคการก่อสร้างแบบเดิมและยังคงปฏิบัติพิธีกรรมให้ถูกต้อง ตลอดขบวนการก่อสร้าง สิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากขนบปฏิบัติได้แก่ การสร้างอาคารจากพิมพ์เขียวที่จัดเตรียมโดยสถาปนิก แต่ยังคงยึดความถูกต้องของบ้านที่จำลองมา ดังในกรณีของมานดาร์และโลนตารา ในขณะที่การสร้างปราสาทโซโลของพื้นที่ชวาตอนกลาง ซึ่งถูกเพลิงไหม้เมื่อ 1989 รูปแบบดั้งเดิม (asli) ของอาคารกลับแทนที่ด้วยเทคนิคสมัยใหม่(Pemberton 1994:185) เช่น เสาไม้ถูกแทนที่ด้วยเสาคอนกรีต ในอุทยานสุลาเวสีตอนใต้ เราพยายามใช้เทคนิคดั้งเดิม รวมไปถึงการปฏิบัติพิธีกรรมที่ถูกต้อง การดำเนินการเช่นนี้ช่วยสนองวิญญาณของไม้และ “วิญญาณ” ของเรือน (see Errington 1989a:74-5)

ความจริงแท้ : ประเพณีประดิษฐ์ซ้ำ

เรือนดั้งเดิม 4 หลังจากพื้นที่คาวาซาน รูมาห์ อเดท์ (Kawasan Rumah Adat) สร้างขึ้นจากกองทุนของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และหอประชุม เหล่านักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุทยานให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ พวกเขาได้ตั้งไว้ นอกจากนี้ ในขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ละตำบลได้รับการร้องขอให้บริจาคบ้านหนึ่งหลังเพื้อเป็นตัวแทนประเพณีของ ภูมิภาค ด้วยการออกจดหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่นในปี 1990 กระทรวงการท่องเที่ยวเสนอแผน ด้วยการให้ภูมิภาคต่างๆ สร้างบ้านตามแบบการก่อสร้างพื้นๆ และใส่รายละเอียดการตกแต่งที่แตกต่าง แผนของกระทรวงการท่องเที่ยวต่างไปจากแนวคิดของผู้ริเริ่มอุทยานโดยสิ้นเชิง ยุทธวิธีการสร้างบ้านตาม “แบบแผน” ของรัฐบาลแห่งชาติแสดงให้เห็นถึงการมองประวัติศาสตร์แบบรวบ มากกว่าการสดุดีความหลากหลาย


แต่เพื่อให้การทำงานปราศจากความขัดแย้ง คณะกรรมรับผิดชอบการสร้างอุทยานรวมกลุ่มบ้านประเภทที่ “ไม่จริงแท้” (unauthentic) ไว้ในพื้นที่ที่แยกออกไป โดยให้ชื่อว่า Kawasan Rumah Tradisional(ที่ ตั้งของบ้านแบบประเพณี – Location for Traditional Houses)พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเบนเตง โซมบา โอปู (Benteng Somba Opu) ตำบลหลายแห่งตอบรับต่อการบิดเบือนข้อกำหนดของกระทรวงการท่องเที่ยว การสร้างความจริงแท้มาจากการจำลองบ้านที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ เรือนเหล่านั้นจะอยู่ในเขตกำแพงรายล้อมไปกับเรือน 4 หลังที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสังคม (etnis) และใช้ชื่อเรียกขานที่ต่างออกไปว่า Kawasan Rumah Adatหรือสถานที่สำหรับบ้าน อาดาท (adat หมายถึงขนบหรือประเพณี)


ใน “บิวติฟูล อินโดนีเซีย” ที่จาการ์ตา Rumah Adatหมายถึงเรือนที่ เลียนแบบของจริง โดยส่วนมากพบในลักษณะจำลอง ส่วนในสุลาเวสีใต้ กลับหมายถึงบ้านที่จริงแท้มากที่สุดในแง่ของการถอดแบบจากวัตถุที่มีอยู่จริง ในอดีต ในขณะที่ Rumah Tradisionalกลับหมายถึงบางสิ่งที่เรียบ เคียงอดีตมาใช้ในปัจจุบัน แต่กลับมีลักษณะพื้นๆ (โครงไม้ที่รองรับพื้นและหลังคา ระเบียงด้านหน้า หน้าต่าง 3 บานด้านหน้าพร้อมบานเกล็ดไม้ ความแตกต่างระหว่าง adat (ซึ่งหมายถึงประเพณี – tradition) และ tradisional อยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงกับอดีต ในบริบทของอุทยานสุลาเวสี คำยืม tradisional มีคุณค่าทางวัฒนธรรมน้อยกว่า adat


เออริงตัน (Errington) ให้ความเห็นดังนี้ “การคิดค้นรัฐ-ชาติสร้างจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชุมชนกับสิ่งต่างๆ และกับอดีตของตนเอง” (1989b:51) สิ่งต่างๆ ที่หมายถึงในที่นี้เป็นช่องทางให้เราสร้างความสัมพันธ์กับอดีต เรื่องราวชีวิตของวัตถุโดยเฉพาะวัตถุที่เข้าไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ สามารถเปลี่ยนแปลงความหมายไปได้อย่างมาก นั่นอาจจะหมายถึงเจ้าของวัฒนธรรมไม่สามารถควบคุมความหมายของสิ่งของนั้น (see Errington 1989b:56) บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของอุทยานเป็นกลุ่มวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่แปลก บ้านเหล่านั้นยังคงคุณค่าความจริงแท้ (โดยเฉพาะคุณค่าทางวัฒนธรรม) เพราะสภาพของการก่อสร้าง ความถูกต้องในเทคนิคและขบวนพิธี (บ้านขนาดใหญ่คือสินทรัพย์ที่ศักดิ์สิทธิ์) การสร้างบ้านมานดาร์ข้ามเวลามีพลังอย่างมาก แม้ว่าบ้านดังกล่าวจะสูญหายไปจากความทรงจำร่วม แต่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่นี้เผยสิ่งที่ซ่อนเร้นจากสาธารณชน เมื่อบ้านมีตัวตนขึ้นจริง บ้านนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์เหนืออดีตของสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้น นั่นคือ ตัวตนของมานดาร์ (Mandar identity) รูมาห์ มานดาร์ (Rumah Mandar) ไม่ได้มีสถานภาพเป็นวัตถุที่นำกลับมาสู่โลกปัจจุบัน หรือหมายถึงวัตถุที่เหลือรอดข้ามกาลเวลา แต่เป็นวัตถุที่อยู่เหนือความทรงจำประวัติศาสตร์ วัตถุที่สร้างขึ้นจากอดีตด้วยภาพที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการสร้างช่างให้ความระมัดระวังกับ “ความจริงแท้” ทั้งการใช้เทคนิคและพิธีกรรมที่เชื่อมโยง เช่น การเลือกตำแหน่งของเสากลาง ซึ่งเปรียบเสมือนจุดยึดเหนี่ยวลำนาวาชีวิตมนุษย์ (see Errington 1989a) หรือการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคการตั้งเสาขนาดใหญ่ของโครงไม้


เพมเบอร์ตัน (Pemberton) อธิบายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ “บิวติฟูลอินโดนีเซีย” ในฐานะที่เป็นทางเชื่อมระหว่างอดีตและอนาคตในปัจจุบันด้วยกระบวนการที่แบน ราบคือ มีเพียงวัตถุใหม่เท่านั้น (1994:169) ในแนวคิด nusantaraเนื้อหา เริ่มด้วยการนำเราไปรู้จักกับภูมิศาสตร์โดยรวมของอินโดนีเซีย จากนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ และปิดท้ายด้วยสังคม (see Taylor 1994) เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมนำเสนอด้วยภาพวาดขนาดใหญ่ของคู่บ่าวสาวที่แต่งกาย ชุดชวา แต่มีแขกที่มาร่วมจากทั่วทุกภูมิภาค (เราสังเกตจากเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกัน) (Pemberton 1994) ในทางตรงข้าม พิพิธภัณฑ์ในเมืองจำลองของสุลาเวสีมีวัตถุที่ได้จากการขุดค้น อิฐจากป้อม โดยมากเคยเป็นส่วนประกอบของสูตรและตัวอย่างของจารึกมากาสารีสช่วงต้น สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นหม้อทำกับข้าวและหม้อต้มปลา และอาวุธ ลูกปืน และลูกปืนใหญ่ การจัดแสดงยิ่งย้ำถึงความรุนแรงด้วยการแสดงให้เห็นถึงความหายนะของกำแพงป้อม ค่าย ภาพวาดที่ห้อยอยู่บนเพดานด้วยการมองภาพจากกระจกเป็นวัตถุชิ้นสำคัญ ภาพดังกล่าวเป็นการสำเนาภาพวาดป้อมค่ายของดัตช์ ฉะนั้น แทนที่พิพิธภัณฑ์จะลบเลือนอดีต หรือทำอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้แบนราบ พิพิธภัณฑ์กลับต้องเคารพต่ออดีตและนำมาสู่ปัจจุบัน จากที่กล่าวมาทั้งหมด อุทยานสุลาเวสีใต้ใช้เวลาเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน อุทยานเสนอประวัติศาสตร์จริงแท้ของสุลาเวสีใต้เรื่องหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของการสร้างความกลมกลืน (homogenising definitions) ด้วยนิยามรัฐชาติ


สถาปัตยกรรมของหอประชุม (Baruga) “อ้างอิง” จากรูปแบบดั้งเดิมของวิธีการก่อสร้างและขนาดอันใหญ่โตมโหฬารชวนให้ระลึกถึง ปราสาทต่างๆ ในอดีต แม้ว่าสถาปนิกจะถอดแบบมาจากปราสาทด้วยการสร้างจั่ว 5 ตำแหน่งรองรับหลังเส้นหลังคา แต่จั่ว 3 ใน 5 นั้นเปิดรับผู้คนเข้าสู่ตัวอาคารด้วยความสบายใจ คือทำให้เป็นสถานที่เพื่อประชาชนมากขึ้น ขนาดของหอประชุมเป็นที่ประทับใจของผู้ชมชาวอินโดนีเซียอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการถ่ายภาพกับบารูกาเป็นที่ระลึก


อุทยานนำเสนอมุมมองเชิงวิชาการที่ไม่ได้ทิ้งมุมมองของคนทั่วไป การสร้างมุมมองประวัติศาสตร์แบบเดี่ยวไม่สามารถคงอยู่ได้เมื่อเผชิญกับมุม มองเชิงแข่งขัน ดังเรื่องราวของการเปรียบเทียบกาวาซา รูมาห์ (Kawasan Rumah) แม้ว่าผู้ที่สร้างอุทยานจะเห็นว่าส่วนสถานที่ตั้งบ้านดั้งเดิม (Kawasan Rumah Adat) เป็นส่วนที่มีแสดงความคิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากที่สุด แต่ความผิดเพี้ยนยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตัวอย่างเช่นบ้านที่เป็นตัวแทนของตำบลลูวู (Luwu) ไม่ได้มาจากการจำลองบ้านของลูวูที่มีอยู่จริง แต่เป็นมุมมองของผู้รู้ชาวลูวูทีทรงอิทธิพลต่อปราสาทลูวูที่ควรเป็น อาคารขนาดใหญ่ 2 หลัง (ครัวและเรือนหลัก) เชื่อมกันด้วยทางเดินที่มีโครงสร้างด้านบนเฉกเช่นสัญลักษณ์ของผู้ปกครองลูวู หรืออาจหมายถึงเขาพระสุเมรุตามตำนานฮินดู อันเป็นที่สถิตย์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เอกลักษณ์ของบ้านดังกล่าว หากเปรียบเทียบกับบ้านที่มาจากพื้นที่อื่น จะแสดงให้เห็นความคิดของลูวูที่เน้นความเป็นศูนย์กลาง แนวคิดนี้คือจุดกำเนิดขนบประเพณีสุลาเวสีใต้ที่เฉพาะ (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย) บางทีอาจกล่าวได้ว่า การมองเช่นนี้บ่งชี้ “ความจริงแท้” ได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือ อำนาจชอบธรรมของผู้รู้ที่จะนิยามว่าสิ่งใดคือประเพณีที่จริงแท้

การนิยามประเพณีเป็นได้อย่างชัดเจนจากการสร้างแบแผนเดี่ยวใน Kawasan RumahTradisional และ กระบวนการสร้างสถาปัตยกรรมด้วยการตกแต่งให้เกิดความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงอุทยานหลังจากการเดินทางเยือนเกาะซีเลยาร์ (Selayar) บนเกาะแห่งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นบ้านเก่ามากมายที่เหลือรอดจากยุคจลาจลอิสลามดารูล (Darul Islam Rebellion) อย่างไรก็ตาม บ้านบนเกาะที่ปรากฏใน Kawasan RumahTradisional ไม่ มีลักษณะเหมือนกับบ้านที่ข้าพเจ้าได้เห็นเลย หรือไม่เหมือนแม้กระทั่ง “บ้านจำลอง” ที่สร้างขึ้นในพิพิธภัณฑ์โดยรัฐบาลท้องถิ่นบนเกาะนั้น บ้านสร้างขึ้นจากการออกแบบมาตรฐานแต่ตกแต่งด้วยไผ่ ภายใน ห้องด้านหน้าเป็นพื้นที่ของบาร์ที่ใช้ไผ่ติดตั้งโดยรอบ พื้นที่ว่างระหว่างทางเดินและผนังประมาณหนึ่งเมตร ผู้ดูแลพยายามอธิบายว่าการก่อนสร้างยึดแนวปฏิบัติตามประเพณีด้วยการแบ่ง พื้นที่สำหรับการนอนมากกว่าการแบ่งพื้นที่เป็นเพียงห้องๆ หนึ่ง ผู้อำนวยการอุทยานบอกกับข้าพเจ้าภายหลังว่า อาคารดังกล่าวได้รับการออกแบบให้เป็นบาร์ ซึ่งสร้างโดยองค์กรสตรีจากซีเลยาร์เพื่อการขายอาหารและเครื่องดื่ม ราวไม้ไผ่ใช้จัดแสดงงานหัตถกรรมซึ่งรัฐบาลซีเลยาร์กำลังประชาสัมพันธ์เป็น อุตสาหกรรมขนาดย่อม บ้านใน Kawasan RumahTradisionalจึงใช้เพื่อการจัดแสดงงานหัตถกรรมตามแบบ “ฉบับดั้งเดิม” ด้วยประการฉะนี้

การจัดที่ทางอัตลักษณ์

จริงแล้วๆ อุทยานเป็นรูปแบบหนึ่งที่รัฐให้การสนับสนุนการนำเสนอ “ความเป็นอื่น” ความหมายเช่นว่านี้สามารถเข้าใจได้เมื่อมองภาพรวมของอินโดนีเซียที่มีความ หลากหลายภายใต้เอกภาพแห่งชาติเช่นนั้นหรือ และความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบนำเสนอที่เป็นอุทยานกับหนทางที่จะให้เจ้าของ วัฒนธรรมมีส่วนร่วมจะเป็นไปในลักษณะเช่นใด


ชาวบูกิส มากาซารีส มานดาร์ และโตรายา ทั้งหมดนำเสนอตนเองในฐานะผู้คนที่ยึดมั่นในระบบช่วงชั้นของอำนาจ ในชีวิตสาธารณะ ชนชั้นสูงท้องถิ่นส่งเสริมรูปแบบช่วงชั้นทางสังคมตามประเพณี และเป็นสิ่งแสดงออกถึงการนำระบบราชสำนักในชวาเพื่อสร้างความชอบธรรมของอำนาจ ภายใต้ระบบใหม่ (adoption of Javanese court custom as a defining feature of legitimation of authority under the New Order) (see Magenda 1988; Robinson 1993)


บ้านโดยเฉพาะอย่างความหมายของส่วนต่างๆ ของบ้าน มีความสำคัญในการกำหนดลำดับชั้น บ้านมีคุณลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะ “ที่สั่งสมพิธีกรรม” (ritual attractors) (Fox 1993) และสถานที่รวมศูนย์และเชื่อมต่อกับอำนาจวิญญาณ ผู้คนที่อาศัยในอุทยานไม่ได้ปฏิบัติต่อบ้านแบบทางโลก เช่น พวกเขาคงประกอบพิธีกรรมให้เหมาะสมเพื่อให้การอยู่ร่วมกับวิญญาณอย่างเป็นสุข ก่อนที่จะย้ายเข้าไปพำนักอาศัย
อุทยานไม่ได้เป็นอนุสรณ์สถานที่แช่แข็ง และเฝ้ารอเพียงการมาเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว และอุทยานไม่ได้แยกออกจากชีวิตของคนท้องถิ่น พื้นที่คงสภาพของหมู่บ้านในชนบท อุทยานคิดถึงกระทั้งการซื้อต้นไม้จากผู้ที่อาศัยก่อนหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าต้นไม้จะคงอยู่ บ้านต่างๆ จึงได้รับร่มเงาจากต้นมะม่วง ต้นมะพร้าว ต้นกะบก บ้านของชนโตรายาตั้งอยู่บนเนินเล็กๆ ที่รายล้อมด้วยต้นมะพร้าว และทุ่งข้าวนาลุ่มที่ยังคงใช้ในการผลิต สภาพแวดล้อมเช่นนี้ย่อมสร้างความรู้สึกของหมู่บ้าน “จริงๆ”


ใน Kawasan Rumah Tradisional บ้านต่างๆ จะตั้งชิดกันอย่างแน่นหนา ส่วนบ้านใน Kawasan Rumah Adatมี ผู้คนอาศัยอยู่ในฐานะของผู้ดูแล ผู้ที่อาศัยปฏิบัติตนในสองลักษณะ ในทางหนึ่ง พวกยังคงยึดขนบประเพณี “แท้จริง” และในอีกทางหนึ่ง พวกเขาประดิษฐ์แบบแผนวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ระหว่างเทศกาลวัฒนธรรมที่จะต้องมีการแสดงในตอนกลางคืน การแสดงใน Kawasan Rumah Tradisional ที่ จัดขึ้นในหนึ่งคืนเป็นการแสดงสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง ชายคนหนึ่งถูกฆาตกรรมโดยคนรักของน้องสาว ด้วยความละอายของครอบครัวที่มีต่อความสัมพันธ์ทางเพศอย่างลับๆ กับน้องสาว การแสดงอื่นๆ ได้จัดขึ้นตามตารางที่กำหนด แต่การแสดงเกี่ยวกับฉากฆาตกรรมกลับจบลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำชายที่ จะเป็นฆาตกรและน้องสาวของเขาออกไป ก่อนที่เขาจะเป็นเหยื่อรายต่อไป


อุทยานกรุยทางไปสู่เครือข่ายการขนส่งมวลชนใหม่ๆ รถประจำทางขนาดเล็กเดินทางมาถึงสะพานที่เป็นทางเข้า Becak(รถ สามล้อถีบ) ให้บริการในอุทยาน ส่วนรถยนต์และแท็กซี่มีจำนวนไม่มากนัก คนขายผักจากชนบทเกา (Goa) นำผลิตผลของเข้าสู่เมืองด้วยจักรยาน และใช้อุทยานเป็นที่ขายสินค้าเป็นครั้งคราว ด้วยการข้ามแม่น้ำด้วยแพและเดินทางต่อเข้ามายังอุทยาน และมุ่งสู่เมือง ร้านขายอาหารข้างทางอาศัยร่มเงาของต้นไม้และเฉลียงเรือนบางหลัง โรงแรมเล็กๆ สองแห่งที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเปิดให้บริการในพื้นที่ใกล้กับสะพาน พื้นที่ดังกล่าว Ujungpandangเป็นที่หมายตาของโครงการพัฒนาเมือง


บ้านบางหลังเป็นที่พำนักของนักแสดงชาวมากาซารีส ผู้ได้รับสินจ้างเล็กน้อยเป็นค่าเฝ้ายาม เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลาฝึกฝนทักษะการแสดงของพวกเขา บ้านบารูกา (Baruga) เป็นพื้นที่ใช้งานของกลุ่มนักเต้นที่มาแสดงทุกวันเสาร์ อุทยานยังใช้เป็นสถานที่จัดงานวัฒนธรรมหลายงาน และรวมถึงเทศกาลวัฒนธรรมที่จัดขึ้นทุกเดือนตุลาคม


อุทยานต้อนรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากยิ่งขึ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยในภูมิภาคใช้บ้านเป็นสถานที่ในการจัดสัมมนาเกี่ยวกับ วัฒนธรรมท้องถิ่น เด็กนักเรียนจากชนบทมาทัศนศึกษา เมื่อเดือนมกราคม 1996 ช่วงต้นของเดือนบำเพ็ญศีลด้วยการอดอาหาร (Ramadan) นักเรียนจากโรงเรียนอิสลามทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันอาทิตย์ที่อุทยาน นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังใช้อุทยานเป็นสถานที่แสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นเมื่อมีการจัด ประชุมอย่างเป็นทางการ แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่ได้เข้ามาเยี่ยมชมอุทยานมากนัก เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางถึงสนามบิน ก็จะมุ่งหน้าไปยังตำบลตามนา โตรายาทางเหนือ


อุทยานเป็นพื้นที่ทางสังคมมากกว่าการใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมอย่าง เป็นทางการ อุทยานยังคงมีความหมายต่อผู้คนในสุลาเวสีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ภายในและรอบๆ อุทยาน (แต่ไม่จำเป็นเสมอไป) จึงกล่าวได้ว่าอุทยานเป็นสถานที่ของปัจจุบัน พร้อมไปกับที่รวบรวมวาทกรรมทางประวัติศาสตร์

การเปรียบเทียบแนวคิดทางประวัติศาสตร์

แนวคิดหลักของอุทยานได้ใช้ความทรงจำประวัติศาสตร์เป็นฐานคิด หากพิจารณารูปแบบการจัดแสดงอย่างเป็นทางการของอุทยานจะเห็นความแตกต่างของ การบอกเล่าประวัติศาสตร์ 2 ชุด ชุดหนึ่งใช้ “ความจริงแท้” ของบ้านใน Kawasan Rumah Adatซึ่งตรงข้ามแบบบ้านทั่วไปใน Kawasan Rumah Tradisional ที่ เน้นประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ร่วมกัน การบอกเล่าประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ชุดนี้ไม่ใช่วิธีการนำอดีตมาจัดแสดงในปัจจุบันเท่านั้น อุทยานยังเป็นสถานที่จาริกของชาวมากาซารีส พวกเขาอัญเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษมาสถิตย์ลงที่นี่ สิ่งที่เป็นสัญญาณบ่งถึงพลีกรรมดังกล่าวคือ ปืนใหญ่เก่าและเศษซากจากสงครามการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม กิจกรรมถือเป็นการเผยสิ่งที่ถูกฝังหรือลืมเลือนมานานแสนนาน ปืนใหญ่และเศษซากตั้งอยู่เคียงข้างสุสานเล็กที่ฝังร่างนักสู้ผู้ที่เคยใช้ ปืนใหญ่นั้น สุสานประกอบด้วยแคร่ไม้ไผ่ ซึ่งมีอาหารและเครื่องดื่มตั้งวางไว้ ผู้ที่ดูแลจะกางมุ้งในตอนกลางคืน และเก็บในตอนเช้า บนปราการใกล้กันนั้นมีแคร่ไม้ไผ่ลักษณะคล้ายกันแต่ทำจากไม้ไผ่ตั้งอยู่ สถานที่ทั้งสองแห่งดึงดูดให้ผู้จาริกถวายเครื่องบูชา จุดธูปและเทียน และระลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษ สุสานที่อยู่บนปราการได้ถูกย้ายไปด้วยการประกอบพิธีกรรมให้กับพัฒนาใหม่ ข้าพเจ้าพบเห็นการจาริกมายังปราการ พวกเขาอธิบายถึงสุสามว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของบรรพบุรุษที่สืบสายมาจากราชวงศ์ เกา นักโบราณคดีที่ทำการขุดค้นกำแพงกล่าวว่า ไม่มีซากมนุษย์ถูกฝังในกำแพงดังกล่าว ฉะนั้นในสายตาของพวกเขาปราการจึงไม่ใช่สุสาน แต่นัยสำคัญกลับอยู่การสร้างความทรงจำใหม่หรือสายสัมพันธ์กับบรรพบุรษของคน ที่มองว่าตนเองสืบทอดมาจากกษัตริย์แห่งเกา การสร้างตำนานบรรพบุรุษที่สัมพันธ์กับการต่อสู้เจ้าอาณานิคมในอดีต ถือเป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่มากกว่าการอ้างอิงทางวิชาการ การขุดค้น หรือการบูรณะกำแพง ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ของบุคคลที่กล่าวอ้างไม่ได้สำคัญต่อผู้ที่สืบ ทอดความทรงจำเช่นนั้น


ใน Kawasan Rumah Tradisionalยังมีหอศิลป์อีก 3 แห่ง แต่ละแห่งจัดแสดงผลงานของศิลปินหนึ่งคน ศิลปินทุกคนเลือกใช้ความทรงจำประวัติศาสตร์ในการสร้างผลงานของพวกเขา ศิลปินคนหนึ่งวาภาพหมู่บ้าน กิจกรรมหลายๆ ประเภทไม่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยว ศิลปินอีกคนวางเรื่องราวจากจารึกประวัติศาสตร์ คนที่สาม บาคเทีย ฮาฟิด์ (Bachtiar Hafid) เขียนงานที่เชื่อมโยงกับอุทยานแห่งนี้ เขาอดอาหารและบำเพ็ญสมาธิเพื่อให้เกิดจินตภาพในการสร้างงาน ในระหว่างสมาธิเขาได้พบกับบุคคลประวัติศาสตร์ รวมถึงสุลต่านฮาซานุดดิน (Sultan Hasanuddin) เขาได้สร้างภาพของสุลต่านขึ้นใหม่ด้วยการใส่ songkat (หมวก แขกขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับอิสลาม) แทนที่ผ้าโพกศรีษะของชาวมากาซารีสอย่างที่พบเห็นในภาพเหมือนที่มีมาก่อนหน้า เขายังวาดภาพฉากการต่อสู้และปราการที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงการเห็นวิญญาณ ซึ่งคือสายสัมพันธ์ต่อประวัติศาสตร์ หรือการมองกลับไปในอดีต แม้ว้าบ้านจะสร้างขึ้นใหม่และมีผู้พำนักอยู่ไม่นานนัก แต่การปรากฏตัวของวิญญาณก็สร้างความจริงแท้ให้กับบ้านได้เช่นกัน


แนวคิด อาดาท (adat) คือการใช้วัฒนธรรมในฐานะที่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ทั่วทุกแห่ง แต่ “วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถูกท้าทาย อยู่เพียงช่วงเวลาหนึ่ง และปรากฏขึ้นมาอย่างปัจจุบันได้” (Kahn 1993:14) การพรรณาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในสุลาเวสีใต้เชื่อมโยงนัยสัมพันธ์กับชาตินิยม จากผลพวงความทันสมัยมากกว่าเป็นการสืบต่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อนมาจากนักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ผลของการสร้างข้อมูลเช่นนั้นก่อให้รูปแบบของความเป็นอื่น และการจัดวางที่ทางของพวกเขาเองต่ออินโดนีเซียร่วมสมัย วิธีการสร้างเรื่องราวเช่นนี้ต่างไปจาก “บิวติฟูล อินโดนีเซีย” ที่เป็นเพียงการลอกเลียน อุทยานสุลาเวสีใต้คือการสร้างสิ่งประดิษฐ์วัฒนธรรม “ที่จริงแท้” ในบริบทของอุทยานพิพิธภัณฑ์ (museum park) นักวิชาการนำวิสัยทางวิชาการมาใช้ในการร่างบุคลิกของอุทยาน ผู้คนเหล่านี้ซาบซึ้งต่อความงดงามของวัตถุและสร้างสิ่งเหล่านี้ให้มีคุณค่า ในบริบทเฉพาะดังกล่าว ในงานเขียน “การก่อร่างมินังกาเบา” (Constitutingthe Minangkabau) คาห์น (Kahn) ได้แสดงความเห็นว่า “การสร้างวัฒนธรรมเฉพาะขึ้นในโลกสมัยใหม่จะสามารถเข้าในได้เมื่อพิจารณาใน บริบทที่กว้างกว่าของการสร้างความเป็นอื่นทางวัฒนธรรม” (the construction of particular cultures in the modern world has to be understood in the boarder context of the construction of cultural otherness in general” (1993:15) ความซับซ้อนของกระบวนการสร้างวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ เป็นวิถีทางที่นักวิชาการในพื้นที่ได้สร้างขึ้นมาจากความเชื่อและแบบแผน วัฒนธรรม แต่ผู้คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของการสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัยของ อินโดนีเซียอย่างยิ่งยวด เมื่อถึงตรงนี้แล้วใครคือ “เรา” และ “เขา” ในวาทกรรมทางมานุษยวิทยาสำหรับกรณีเช่นนี้

บทสรุป

ความหมายของการกล่าวถึงอดีตในปัจจุบันอยู่ที่ใดกัน ความสำคัญของแนวคิดในการอนุรักษืหรือรื้อฟื้นอดีตในวิถีการเมืองและวัฒนธรรม ร่วมสมัยคือสิ่งใด แพมเบอร์ตัน (Pemberton) (1994) ให้กับชวาภายใต้การปกครองใหม่ของรัฐบาลซูฮาโต เขากล่าวถึง “บิวติฟูล อินโดนีเซีย” อุทยานกอปรด้วยบ้านที่ว่างเปล่าสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอินโดนีเซีย และพิพิธภัณฑ์กลับลบและกลบอดีต พร้อมกับการเชิดชูอนาคต อนาคตที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลการปกครองใหม่ ในทางตรงข้าม อุทยานที่สุลาเวสีใต้กลับเป็นแหล่งอัตลักษณ์ร่วมสมัยและความเข้มแข็งทางการ เมืองเมื่อกล่าวย้อนกลับไปถึงอดีต ปัจจุบันยืนเคียงข้างไปกับอดีตที่อยู่ในความจดจำ และโอบคลุมอนาคตโดยชนสุลาเวสีใต้ สุลาเวสีใต้แข็งแกร่งในฐานะที่ยังคงความเป็นออสระจากศูนย์กลาง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของการจัดวางที่ทางของอำนาจที่ครองโดย “ชนท้องถิ่น” เอง


อุทยานสุลาเวสีใต้ปฏิเสธวิธีการจัดแสดงที่ไม่ใส่ใจต่อประวัติศาสตร์ (ahistoricism) ของการปกครองใหม่ แต่ตีกรอบการทำงานที่สร้างบริบทประวัติศาสตร์ที่จะอธิบายความหมายต่ออดีตที่ นำมาพูดในปัจจุบัน (see Pemberton 1994:234-5) หากลองพิจารณางานแต่งานของลูกสาวซูฮาโตที่จัดขึ้นใน “บิติฟูล อินโดนีเซีย” แพมเบอร์ตันไม่รั้งรอที่จะกล่าวว่า “เราคงปฏิบัติตนได้เยี่ยงราชาและราชินี เพราะเราเองก็เช่นกันในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะกลายเป็นตำนาน” (1994:180) เราจะเห็นว่าการสร้างอุทยานสุลาเวสีใต้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจจากศูนย์ กลาง หากเป็นการจัดแสดงประเพณีที่เป็นอิสระ รูปแบบของบ้านมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งสะท้อนแนวคิดศูนย์อำนาจของการปกครองท้องถิ่น ขนาดของบ้านและตำแหน่งที่ตั้งล้วนสะท้อนช่วงชั้นทางสังคม ความหมายทีประจักษ์ ณ ที่นี้คือ “เรายืนยันอิสระภาพจากศูนย์กลาง เพราะเราคือลูกหลานของจักรวรรดิอารยะดั้งเดิม” การย้ำต่อรูปแบบอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มีลำดับชั้นคือการนำอดีตมาบอกเล่า ณ ปัจจุบัน
 
แปลและเก็บความจาก
Kathryn Robinson. “History, Houses and Regional Identities,” The Australian Journal of Anthropology, 1997 8:1, 71-88.

 

close